Skip to main content
sharethis

กรณี ครม.ผ่านชุดร่างกม.เศรษฐกิจดิจิทัล ผอ.สพธอ.แจงจำเป็นต้องร่างกฎหมายแบบท็อปดาวน์-ทำเงียบๆ เพื่อให้ผ่านออกมาก่อน ชี้กระบวนการร่างยังอีกไกล พร้อมรับฟังความเห็น ด้านประธานทีดีอาร์ไอชี้ ผ่าน กม.ทั้งที่ยังไม่นิ่ง สร้างภาระกฤษฎีกา เสนอให้ตัวแทนคนเห็นต่างเข้าให้ความเห็น

อ่านแนวคิดและสาระสำคัญจาก สพธอ. ที่ด้านล่าง

29 ม.ค. 2558 ในเวทีเสวนา NBTC Public Forum 1/2558: “ทรัพยากรคลื่นความถี่และทิศทางการสื่อสารภายใต้ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล” ณ อาคารหอประชุมชั้น 1 สำนักงาน กสทช. มีการพูดถึงชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และกำลังจะเข้า สนช.

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) และสมาชิก สนช. ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล นำเสนอแนวคิดและสาระสำคัญของชุดร่างกฎหมายดังกล่าว (ดูที่ด้านล่าง) พร้อมกล่าวว่า การร่างกฎหมายถ้าไม่ทำแบบท็อปดาวน์ (จากบนลงล่าง) และทำแบบเงียบๆ คงไม่สามารถออกมาได้ โดยยกตัวอย่างว่ามีบทเรียนจากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งร่างมาแล้ว 17-18 ปียังไม่ออกเป็นกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม สุรางคณา ระบุด้วยว่า กระบวนการร่างกฎหมายยังมีอีกมาก และการที่ ครม.เห็นชอบแล้ว ไม่ได้แปลว่าเห็นชอบทั้งฉบับ แต่เป็นการเห็นชอบให้มีกฎหมาย พร้อมย้ำว่า หลังผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะตกผลึกระดับหนึ่งแล้วจะมีการรับฟังความเห็นตลอดทาง

นอกจากนี้ สุรางคณา กล่าวถึงกรณีมีการวิจารณ์ร่างกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมากด้วยว่า เชื่อว่าคนเซ้นสิทีฟกับคำว่า "ความมั่นคง" กลัวว่าจะคุกคามความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งขอชี้แจงว่า ความมั่นคงนี้มุ่งคุ้มครองการรักษาความลับข้อมูล ความถูกต้องครบถ้วน (Intrigity) และสภาพพร้อมใช้งานของระบบเท่านั้น

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของชุดกฎหมายนี้อยู่ที่วิธีคิดในการทำร่างกฎหมายนี้ หากจะทำเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ไม่มาพร้อม open government เปิดให้มีปรึกษาหารือ จะเกิดปัญหาความไว้วางใจ โดยจากประสบการณ์ที่มีส่วนร่างกฎหมายทั้งในสภาเลือกตั้งและแต่งตั้ง รัฐบาลมักพยายามอธิบายว่าเส้นทางยังอีกไกล แต่ที่เคยทำมา เวลากฤษฎีกาพิจารณากฎหมายจะทำตามนโยบายรัฐบาล เพราะเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล หากมีข้อสังเกตในชั้น ครม. กฤษฎีกาจะนำไปพิจารณาด้วย

เขากล่าวต่อว่า แต่ชุดกฎหมายนี้ผ่านโดยไม่ได้ความเห็นจากหน่วยงานรัฐเลย และโดยธรรมชาติ กฤษฎีกาไม่ใช่เวทีเปิด สิ่งที่กฤษฎีกาจะทำต่อไปไม่ใช่เวทีรับฟังสาธารณะ ใครจะได้โอกาสไปชี้แจงบ้างไม่อาจทราบได้ เพราะฉะนั้น คนจะไม่มั่นใจในกระบวนการว่า กฤษฎีกาจะแก้กฎหมายในเรื่องใหญ่อย่างนโยบาย

สมเกียรติชี้ว่า จากการทำวิจัยเกี่ยวกับกฤษฎีกา กฤษฎีกามักบ่นปัญหาหนึ่งว่า หากรัฐบาลไม่มีทิศทางที่ชัด เช่น ยังมีข้อคิดที่ยังไม่ตกผลึก กฤษฎีกาจะแก้อย่างไร เพราะมีหน้าที่แก้ตามสิ่งที่รัฐบาลอยากจะเห็น เพราะฉะนั้น การส่งร่างกฎหมายให้กฤษฎีกาเป็นการสร้างภาระให้กฤษฎีกาเยอะมาก

ทั้งนี้ สมเกียรติ กล่าวถึงข้อเสนอต่อ สพธอ. และรัฐบาล ว่า ถ้าจะให้ร่างนี้เกิดปัญหาน้อยและกฎหมายออกมาใช้ได้จริง จะต้อง หนึ่ง รัฐมนตรีต้องทำหนังสือถึงกฤษฎีกาว่าพร้อมให้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานอื่น ไม่เฉพาะตัวแทนรัฐบาล โดยอาจมอบหมายให้คนที่เห็นต่างกันมากๆ ส่งผู้แทนเข้าไปช่วยติดตาม นำเสนอความเห็นในชั้นกฤษฎีกา สอง เมื่อกฎหมายไปถึงสภาแล้ว สนช. ควรมีแนวว่าพร้อมจะรับเอาร่างคู่ขนานของภาคประชาสังคมไปประกอบการพิจารณาประกบร่างของรัฐบาล และให้โควต้ารัฐบาลในการพิจารณาชั้น กมธ.แก่คนที่เห็นต่างกับรัฐบาล รวมถึง สนช.เองรับจะเสนอชื่อคนเห็นต่างเข้าไปอยู่ในชั้นกมธ.ด้วย จะแก้ไขข้อผิดพลาดในกระบวนการก่อนหน้าให้เสียหายน้อยลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net