Skip to main content
sharethis

เลขาธิการ กสทช.เสนอควรมีรัฐธรรมนูญก่อนจัดทำชุดร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่หลายฝ่ายกังวลช่องว่างด้านสิทธิส่วนบุคคลพร้อมทั้งยังขาดความพร้อมในหลายๆ ด้าน

ในงานสัมมนาวิชาการ “จับจ้องมองกฎหมายสื่อและไอซีทียุค สนช.2558” ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 มีการอภิปรายเกี่ยวกับชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งผ่านการพิจารณาอนุมัติหลักการจาก ครม.แล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ดังนี้

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า รัฐบาลควรดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลภายหลังจากที่ประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทั้งหมด นอกจากนี้ร่างกฎหมายชุดนี้ยังมีช่องว่างด้านการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

ฐากรกล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศและมีประชาชนเพียงร้อยละ 28 เท่านั้นที่มีความสามารถในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ส่วนประชาชนอีกร้อยละ 72 ยังไม่มีความสามารถในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขก่อนที่ไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

ด้านคณาธิป ทองรวีวงศ์ รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น กล่าวว่า ร่างกฎหมายที่กลายเป็นประเด็นในสังคมเพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มาตรา 35 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ที่มีการให้ความหมายคำว่าพฤติกรรมอันตรายไว้กว้างมาก และให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงสิ่งที่สงสัยว่าเป็นสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายได้ และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดักรับข้อมูลที่เกี่ยวกับความผิดอาญา เมื่อกฎหมายเหล่านี้มาอยู่รวมกันจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารของประชาชนได้ เพราะมีหลักการที่เหมือนกันคืออนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถดักรับข้อมูลของประชาชนได้ อีกทั้งยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานเดียวกันอีกด้วย

คณาธิปกล่าวต่อว่า ประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งต่างจากในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องน่าแปลกที่กฎหมายนี้มาอยู่ภายใต้กฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และถูกคลุมด้วยวัตถุประสงค์ใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของความมั่นคงและความเป็นส่วนตัวของประชาชน แต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ พร้อมทั้งตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความมั่นคงและคุ้มครองสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานเดียวกันตามโครงสร้างใหม่ของหน่วยงานไอซีที

กษิติธร ภูภราดัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบาย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงสร้างใหม่ของหน่วยงานไอซีทีแห่งชาติว่า มีคณะกรรมการจำนวนมากและยังไม่สามารถแบ่งอำนาจหน้าที่ได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังพบปัญหาว่าบางหน่วยงานทำหน้าที่ไม่สอดประสานกัน เช่น คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติและคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหน่วยงานทั้งสองนี้ขึ้นตรงกับสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติ ทั้งที่มีแนวคิด หลักการ วัตถุประสงค์ และวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน

ด้านอลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ร่างกฎหมายที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนโดยไม่ต้องขอหมายศาลควรจะต้องมีหลักคานอำนาจเจ้าหน้าที่ในการเข้าถึงข้อมูลให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเรื่องของความมั่นคงและสิทธิส่วนบุคคล รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่านโยบายอาจจะยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริง เพราะประเทศไทยยังขาดความพร้อมในหลายๆ ด้าน เช่น ขาดความรู้และความสามารถในการผลิตซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ทำให้ยังต้องพึ่งพาต่างประเทศ ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง และยังไม่มีการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับระบบการว่าจ้าง การเตรียมพร้อมคนและการศึกษาเมื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

ในขณะที่จอน อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษากสทช.กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.กสทช.ว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติงานของกสทช. ซึ่งประกอบไปด้วยสาระสำคัญ 7 ประการ ได้แก่

1. การจัดแผนแม่บทต่างๆ ของกสทช.ต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2. แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ต้องเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบ ภายหลังจากผ่านมติของกสทช.
3. การจัดสรรคลื่นความถี่ “ต้องเพียงพอสำหรับการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐเพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ...”
4. ยกเลิกการกำหนดวิธีการคัดเลือกผู้ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุโทรทัศน์ประเภทธุรกิจโดยการประมูล
5. ยกเลิกการกำหนดวิธีการคัดเลือกผู้ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมโดยการประมูล
6. ยกเลิกกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้วโอนเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
7. ยกเลิกการแบ่งกสทช.เป็นกสท.และกทค.

จอนชี้ว่า โดยภาพรวมแล้วร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของประชาชน อำนาจการดูแล การจัดสรรคลื่นความถี่ และเงินทุนเพื่อส่งเสริมภาคประชาชน เพราะความเป็นอิสระของกสทช.จะหมดไป เนื่องจากต้องขึ้นตรงต่อรัฐบาล ภาคประชาชนและธุรกิจจะได้รับคลื่นความถี่น้อยลงเพราะต้องจัดสรรให้รัฐอย่างเพียงพอก่อนตามข้อกำหนดที่เพิ่มเข้ามา การตัดข้อกำหนดเรื่องการประมูลจะเอื้อให้สามารถคัดเลือกได้โดยวิธีอื่น ซึ่งอาจไม่ใช่วิธีที่โปร่งใส และภาคประชาชนอาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากเงินกองทุนเพราะไม่มีการระบุไว้ในเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลแต่อย่างใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net