Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ปฏิกิริยาเกือบทั้งหมดต่อกรณีสังหารหมู่ที่ออฟฟิศของนิตยสารล้อเลียนชื่อดังในฝรั่งเศส "ชาร์ลี เอบโด" ล้วนแต่ประณามพฤติกรรมของมือปืนทั้งสิ้น 
 
พิสูจน์ได้จากการแสดงออกของผู้คนกว่า 1 ล้านคนที่ชุมนุมกันแน่นกรุงปารีส ด้วยข้อความที่ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการปิดปากสื่อด้วยความรุนแรง แบบที่เกิดขึ้นกับ "ชาร์ลี เฮปโด" แม้แต่ผู้นำศาสนา คอลัมนิสต์ และนักการเมืองต่างๆ ที่ถึงแม้ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ชาร์ลี เอบโดเขียน ก็ยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การสังหารนักข่าวเหล่านี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้อย่างยิ่ง
 
อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า คนที่ไม่เห็นด้วยกับการสังหารหมู่ในปารีสเมื่อสัปดาห์ก่อน ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเสมอไป และอาจเห็นด้วยกับการลงโทษชาร์ลีเฮปโดในวิธีอื่นด้วยซ้ำ ดังที่จะอธิบายต่อไปนี้
 
ในทัศนคติของผู้เขียนนั้น การพูดขึ้นมาลอยๆว่า "ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการฆ่านักเขียนการ์ตูนของชาร์ลี เอบโด" ไม่สามารถบอกอะไรได้เลย เนื่องจากอุดมการณ์หรือแนวคิดเกือบทั้งหมดในโลกนี้ (และผู้คนส่วนใหญ่ในโลกนี้) ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าพลเรือนที่ไม่มีอาวุธอยู่แล้ว 
 
ลองสมมติดูว่า ถ้าหากวันพรุ่งนี้ มีมือปืนบุกไปยิงถล่มมหาวิทยาลัยของนักวิชาการที่เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 (สมมติว่าชื่อ "สมชาย เจียม") แล้วสังหารนักวิชาการคนดังกล่าว กับเพื่อนร่วมงานอีก 10-20 ราย เดาได้เลยว่า ในวันต่อมาจะต้องมีเสียงประณามจากทุกภาคส่วนของสังคมว่า ความรุนแรงเช่นนี้รับไม่ได้เด็ดขาด ต่อให้ "พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หรือ "หมอตุลย์" ก็ต้องให้สัมภาษณ์ทำนองนี้
 
ดังนั้น สิ่งที่เราต้องถามลึกลงไปอีกคือ "คุณเห็นด้วยกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แบบที่ชาร์ลี เฮปโด (หรือสมชาย เจียม) ทำหรือไม่?"
 
คำตอบต่อคำถามข้างต้นต่างหาก ที่จะสามารถตัดสินทัศนคติที่แท้จริงของคนคนนั้น หรือกลุ่มกลุ่มนั้น ที่เราควรนำมาวิเคราะห์
 
เหตุผลที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะผู้เขียนสังเกตว่า หลายๆคน (ทั้งไทยและเทศ) พูดกันเกร่อว่า ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่ปารีสนะ แต่ข้อความประณามแบบนี้มักจะตามมาด้วยข้อความว่า
 
"แต่ชาร์ลี เอบโดเป็นคนไปหาเรื่องเขาก่อน"
 
"แต่การล้อเลียนศาสนาแบบชาร์ลี เอบโด ไม่ถือว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น"
 
"แต่การเสียดสีศาสดามูฮัมหมัด เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้"
 
"แต่ชาร์ลี เอบโดเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ เหยียดมุสลิม เป็นเครื่องมือของพวกตะวันตก ฯลฯ"
 
ผู้เขียนเคยได้ยินว่า "ซัลมาน รัชดี" นักเขียนนิยายวิพากษ์ศาสนาที่ถูกกลุ่มอิสลามขู่ฆ่า ชอบเรียกคนพวกนี้ว่า "กองทัพแต่" (The But Brigade) เพราะชอบพูดว่า ฉันไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนั้นนะ แต่...
 
ในประเทศไทย หากเกิดกรณีแบบที่สมมติจริงๆ วันต่อมาบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ก็คงพูดเหมือนๆกัน ไม่เห็นด้วยกับการบุกไปยิงสมศักดิ์ เอ๊ย สมชาย เจียมนะ...
 
"แต่สมชายเป็นคนไปหาเรื่องเขาก่อน"

"แต่การวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์แบบสมชาย ไม่ถือว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น"

"แต่การเสียดสีสถาบัน เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้"

"แต่สมชายเป็นพวกเสื้อแดงที่ถูกจ้างมาเพื่อทำลายชาติของเรา ฯลฯ"
 
ขอยกตัวอย่างบทความหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติข้างต้น เป็นบทความชื่อ "Killing is not the answer" (การฆ่าไม่ใช่คำตอบ) เขียนโดย Wong Chun Wai และตีพิมพ์ในสื่อจำนวนหนึ่ง ตอนแรกของบทความก็เริ่มต้นด้วยดี ประณามการฆ่าหมู่ที่ปารีสตามสูตร แต่ไม่กี่ย่อหน้าถัดมา ก็เข้าสูตร "กองทัพแต่" จนได้:
 
"แน่นอนว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็น ไม่รวมสิทธิที่จะดูหมิ่นสิ่งที่ผู้คนเห็นว่าศักดิ์สิทธิ์และสำคัญต่อศาสนาใดๆ ก็ตาม รวมทั้งผู้นับถือศาสนานั้นๆ เป็นล้านๆ คนด้วย 
 
ศาสดามูฮัมหมัด พระเยซู พระพุทธเจ้า และบรรดาเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ไม่สมควรถูกนำมาเปรียบเทียบกับนัการเมืองซึ่งเป็นเพียงมนุษย์ และสามารถถูกวิจารณ์หรือเสียดสีได้จากบรรดาแม็กกาซีนทั้งหลาย
 
เมื่อเราพูดถึงศรัทธาของผู้คนแล้ว การใช้เหตุผล ไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้ และข้ออ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ก็ไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน"
 
ล่าสุด สันตปาปาฟรานซิส ก็ระบุว่า ตนไม่เห็นด้วยกับเหตุรุนแรงในปารีส แต่ก็ยืนยันว่า สื่อมวลชนไม่มีสิทธิ์ที่จะเสียดสีและล้อเลียนศาสนา เพราะศาสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
 
โป๊ปฟรานซิสยกตัวอย่างด้วยซ้ำว่า การวิจารณ์ศาสนา เหมือนกับการไปด่าพ่อล่อแม่ คือผู้ที่ปากเสียเช่นนี้ อาจจะโดนชกปากเอาง่ายๆ 
 
ดังนั้น เราสามารถพูดได้ว่า จริงๆ แล้วทั้งคนเขียนบทความข้างต้น และโป๊ปฟรานซิส ก็คิดแบบเดียวกันกับมือปืนที่บุกไปฆ่านักข่าวชาร์ลี เอบโดเลยทีเดียว คือมองว่าการล้อเลียนศาสนา ไม่ถือว่าเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และยืนยันว่า ศาสนาอยู่เหนือหลักการเสรีภาพในการแสดงความเห็น
 
เป็นความคิดแบบ "species" เดียวกัน เพียงแต่เห็นด้วยการบทลงโทษที่ "รุนแรง" น้อยกว่าเท่านั้นเอง 
 
หมายความว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการวิจารณ์ศาสนาอิสลาม อาจจะใช้วิธีอื่นในการปิดกั้นคำพูดที่ตนไม่ชอบ โดยไม่ต้องถึงกับบุกไปฆ่าผู้ที่ดูหมิ่นศาสนาอิสลามทิ้ง เช่น ใช้กฎหมายจับเข้าคุก ปิดเว็บไซต์ หรือเฆี่ยนตี ทั้งนี้ อย่าลืมว่าประเทศแถบตะวันออกกลาง 14 ประเทศ ยังมีกฎหมายห้ามวิจารณ์หรือดูหมิ่นศาสนาอิสลาม และยังมีการบังคับใช้กฎหมายแบบนี้อยู่เรื่อยๆด้วย
 
บล็อกเกอร์คนหนึ่งในซาอุดิอารเบีย ก็เพิ่งถูกตัดสินให้โดนเฆี่ยน 1000 ครั้ง ด้วยข้อหา "หมิ่นอิสลาม"
 
ข้อห้ามต่อเสรีภาพเช่นนี้ ร้ายแรงน้อยกว่าการฆ่าหรือประหัตประหารก็จริง แต่ก็เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานอยู่ดี ไม่ต่างจากการกฎหมายอาญามาตรา 112 ของไทย ที่ไม่ได้ร้ายแรงเหมือนการเชือดคอฆ่ากันโต้งๆ แต่ก็ขัดต่อหลักการแสดงความคิดเห็นในประชาธิปไตยอยู่ดี 
 
ต่อให้คนคนหนึ่ง ประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับการบุกไปยิงสมชาย เจียม แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าสมชาย เจียม ไม่มีสิทธิ์พูดในสิ่งที่เขาพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย ก็เท่ากับว่าบุคคลนั้น "คิดแบบเดียวกัน" กับหลักการของมือปืนอยู่ดี
 
ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว การวิจารณ์ เสียดสี และล้อเลียนแนวคิดใดๆ ก็ตามบนโลก ถือเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่ต้องได้รับการปกป้องทั้งสิ้น ไม่ว่าแนวคิดนั้นจะถือว่า "ศักดิ์สิทธิ์" เพียงใดจากคนกลุ่มไหนบนโลก ไม่ว่าจะเป็นศาสนา สถาบันการปกครอง หรือแม้แต่แฟชั่น
 
การประณามความรุนแรงที่ปารีส แต่ไม่ได้เชื่อในเสรีภาพข้างต้น ไม่มีประโยชน์อันใดเลย
 
ผู้ที่ยืนยันในหลักการเสรีภาพและสิทธิการแสดงความคิดเห็นจริง จะต้องไม่พอใจแต่เพียงการประณามความรุนแรงลอยๆ แต่ต้องมุ่งมั่นที่จะยกเลิกการปิดกั้นการแสดงความเห็นด้วย และต้องยืนยันในสิทธิ์ของการวิจารณ์ เสียดสี และล้อเลียน ทุกแนวคิด ทุกลัทธิ และทุกศาสนา
 
ทั้งในโลกมุสลิม และในประเทศไทย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net