ควรบวชภิกษุณีหรือไม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มีข่าวว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเตรียมตรวจสอบมติของมหาเถรสมาคมที่ห้ามบวชภิกษุณีโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และริดรอนเสรีภาพการเข้าถึงศาสนา  ซึ่งตามวินัยปิฎก  เล่ม  7  หน้า  320  ถึง  326  เป็นเรื่องประวัติความเป็นมาของนางภิกษุณีซึ่งพระพุทธเจ้าเคยตรัสห้ามพระนางมหาปชาบดี  โคตมี  ถึงสามครั้งมิให้บรรพชาเป็นภิกษุณี  แม้พระอานนท์เถระทูลขอให้บรรพชามาตุคามอีกถึงสามครั้ง  พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสห้ามเช่นเคยว่า  การที่มีสตรีมาบวชในพระพุทธศาสนา  จะทำให้พระธรรมวินัยตั้งอยู่ไม่ได้นานเท่าที่ควร  แม้ภายหลังทรงอนุญาตให้สตรีบวชได้แต่ก็ทรงวางเงื่อนไขไว้  8  ประการ  เรียกว่าครุธรรม  นอกจากนี้ภิกษุณีจะต้องบวชในภิกษุณีสงฆ์ก่อน  แล้วจึงบวชในภิกษุสงฆ์ 

ยิ่งไปกว่านั้นภิกษุณีจะต้องรักษาศีลถึง  311  ข้อ  ซึ่งแม้ภิกษุตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันต้องรักษาศีลให้ครบถ้วน  227  ข้อ  ก็ยังยากนักดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและเห็นได้ตามข่าวในสื่อต่างๆ  ประกอบกับในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในฝ่ายเถรวาทว่าภิกษุณีได้ขาดสายจากการบวชโดยพระพุทธเจ้าแล้ว  หากมีการบวชภิกษุณีได้ก็มิใช่ภิกษุณีที่มีสายตรงมาจากการบวชโดยไม่ขาดสายจากพระพุทธเจ้า

อย่างไรก็ดีมีการอ้างหลักการในรัฐธรรมนูญชั่วคราวและหลักการพึ่งพาพุทธบริษัท  4  เพื่อสนับสนุนให้มีการบวชภิกษุณี  แต่การอ้างดังกล่าวก็มิได้เป็นการอ้างตามหลักในพระไตรปิฎก  ทั้งธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นก็มิจำต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายหรือตรรกะเหตุผลของปุถุชนทั่วไป  เนื่องจากเป็นเรื่องของสงฆ์โดยแท้  โดยพระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นผลดีผลเสียของการบวชภิกษุณีดังที่กล่าวมาแล้ว  กลายเป็นว่าบุคคลที่กำลังเรียกร้องให้มีการบวชภิกษุณีหรือกระทั่งบุคคลที่ประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณีเองก็กำลังพยายามจะกระทำการฝ่าฝืนความประสงค์ของพระพุทธเจ้าเองทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มบวชเข้ามาเป็นสาวกของท่านเลย  หากได้บวชเข้ามาเป็นภิกษุณีแล้วยังเป็นที่สงสัยว่าจะประพฤติปฏิบัติตนตามวินัยของพระพุทธองค์ได้มากน้อยเพียงใด

ฝ่ายสนับสนุนให้มีการบวชภิกษุณีอาจอ้างว่าพระภิกษุจำนวนมากก็ประพฤติปฏิบัติตนเสื่อมเสียอยู่แล้ว  หากมีการอนุญาตให้บวชภิกษุณี  เหล่าภิกษุณีจะพิสูจน์ตนเองว่าประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยให้เท่าเทียมหรือเคร่งครัดยิ่งกว่าภิกษุในปัจจุบันเสียอีก  แต่ข้ออ้างดังกล่าวก็ยากที่จะเป็นจริงได้เนื่องจากตามพระไตรปิฎกนั้นภิกษุณีจะต้องพึ่งพาภิกษุมาก  แม้ภิกษุณีที่บวชมาแล้ว  100  ปี  ก็ต้องทำอภิวาท  ลุกขึ้นต้อนรับ  อัญชลีกรรมและสามีจิกรรมแก่ภิกษุผู้บวชในวันนั้น  (ไม่ถึง  1  วัน) 

ภิกษุณีจะตั้งตนเป็นอิสระจากภิกษุเลยย่อมไม่ได้และอาจเป็นเหตุทำให้พระธรรมวินัยตั้งอยู่ไม่ได้นานเท่าที่ควรดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้  ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วสตรีแม้จะมิได้บวชเป็นภิกษุณีก็สามารถปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์จนบรรลุธรรมขั้นสูงได้ในเพศฆราวาสหรือแม้เพียงบวชชี  โดยไม่กระทบต่อความตั้งมั่นของพระธรรมวินัยเลย

ท้ายสุดแล้วหากยังมีกระแสผลักดันให้มีการบวชภิกษุณีจนมหาเถรสมาคมยินยอม  ตลอดจนครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยินยอม  ก็เป็นเรื่องที่พุทธบริษัท  4  จะต้องร่วมกันประคับประคองให้พระธรรมวินัยตั้งอยู่โดยมั่นคงโดยมีสำนึกว่าพุทธศาสนิกชนรุ่นเราได้รับเอาความเสี่ยงที่พระธรรมวินัยจะสั่นคลอนมากยิ่งขึ้นเอาไว้บนบ่าของตนแล้ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท