Skip to main content
sharethis

27 พ.ย. 2557 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แถลงข่าวเรื่อง การคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ ปี 2557 และแนวโน้มอุตสาหกรรม: ปัจจัยเสี่ยงและโอกาส โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2558 จะมีภาคการลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ภาครัฐมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายการลงทุนให้ได้ 87% จากงบประมาณที่ตั้งไว้ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณปี พ.ศ. 2557 มีการเบิกจ่ายงบลงทุนเพียงแค่ 65% (ผลจากวิกฤตการณ์การเมือง) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ทำต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในปี พ.ศ. 2558 ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท

ส่วนการท่องเที่ยวพร้อมที่จะฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพหากมีการยกเลิกกฎอัยการศึก คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2558 จะอยู่ที่ระดับ 4-5% มีกรณีพื้นฐานอยู่ที่ 4.5% โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวภาคการลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 5-5.8% อัตราการเติบโตของภาคการบริโภคจะอยู่ที่ 3-3.2%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต พยากรณ์ว่า ดุลการค้าจะเกินดุล 23-24 พันล้านดอลลาร์  และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.5-9.5  พันล้านดอลลาร์ มูลค่าการส่งออกเติบโตได้ประมาณ 5-6% อัตราการขยายตัวของมูลค่านำเข้าอยู่ที่ระดับ 4-5%      

ทางคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต คาดการณ์ว่าหากเศรษฐกิจไทยขยายตัวในช่วงระหว่าง 4-5% อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2558 จะอยู่ที่ 2.2-2.7% ไตรมาสสองอยู่ที่ 6.2-8.0% ไตรมาสสามอยู่ที่ 7.5-8.5% ไตรมาสสี่อยู่ที่ 0.2-1%  โดยที่กรณีพื้นฐานที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด เศรษฐกิจทั้งปีจะเติบโตได้ที่ 4.5% โดยที่เศรษฐกิจไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2558 จะอยู่ที่ 2.2% ไตรมาสสองอยู่ที่ 7.2% ไตรมาสสามอยู่ที่ 8.5% ไตรมาสสี่อยู่ที่ 0.2% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า  

อนุสรณ์ แสดงความเห็นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีความผันผวนอย่างมากตามทิศทางปริมาณการค้าของโลกและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และวิกฤตการณ์การเมืองภายในประเทศ โดยที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2554 อยู่ที่ 0.1% พ.ศ. 2555 อยู่ที่ 6.5% พ.ศ. 2556 อยู่ที่ 2.9% พ.ศ. 2557 อยู่ที่ 1% และในปี พ.ศ. 2558 น่าจะเติบโตได้ที่ 4-5% อัตราการเติบโตโดยในเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2554-2558 อยู่ที่  3% ซึ่งถือว่ามีอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยอันเป็นผลมาจากความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอยลงจากคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และการขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชันที่เพิ่มต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ การเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดปัญหาวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะในอนาคตและคุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชนไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

อนุสรณ์ วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเสี่ยงและโอกาสที่จะต้องจับตา ได้แก่

1. การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาและการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ จะสร้างแรงกดดันต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นซึ่งจะมีผลต่อความผันผวนของตลาดการเงินและค่าเงินบาท เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง 

2. ทิศทางราคาน้ำมันโลกยังอยู่ในช่วงขาลงและทรงตัวอยู่ที่ระดับ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลโดยระดับราคามีโอกาสดีดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง การปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งต้วขึ้นเล็กน้อย 

3. การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น มีผลทำให้ค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างชัดเจน และเกิดภาวะ Yen Carry Trade และ Euro Carry Trade

4. ความเสี่ยงจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันเป็นผลมาจากการไม่จัดการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

5. โอกาสและความเสี่ยงอันเกิดจากการปฏิรูปเศรษฐกิจและการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ 

อนุสรณ์ ประเมินแนวโน้มความเสี่ยงและโอกาสของภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมใน ปี พ.ศ. 2558 ว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 65% ซึ่งยังไม่ได้เป็นระดับที่จะมีการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติมจำนวนมาก จะมีเฉพาะบางอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่จะมีการลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่มเพราะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 75-85% เช่น ปูนและวัสดุก่อสร้าง IC และ Semiconductor เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น จะมีการควบรวมกิจการมากขึ้นระหว่างผู้ประกอบการภายในประเทศและระหว่างกิจการในประเทศกับต่างประเทศ

สินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าคงทนและผลิตจำหน่ายในประเทศขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อย เช่น ยานยนต์ HDD (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) อุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างขยายตัวดีและมีความเสี่ยงต่ำ อุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้ายังคงเติบโตต่ำและความสามารถในการแข่งขันลดลง ยังคงมีการทยอยย้ายฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอาหารยังคงขยายตัวได้ดีและยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง อุตสาหกรรมปิโตรเลียมขึ้นอยู่นโยบายพลังงานของประเทศในอนาคตว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และพลาสติกมีความเสี่ยงและต้นทุนลดลง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากการส่งออกในกลุ่มอาเซียน

ภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยพยากรณ์ว่าอัตราการเข้าพักโรงแรมฟื้นตัวจากระดับ 47%ในไตรมาสสองปี พ.ศ. 2557 มาอยู่ระดับ 65% ในปี พ.ศ. 2558 (แต่ต้องยกเลิกกฎอัยการศึกและมีเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ)  

ราคาสินค้าเกษตร รายได้และผลผลิตภาคเกษตรโดยรวมยังคงหดตัวแต่ขยายตัวติดลบน้อยลง  ยกเว้นปศุสัตว์ สินค้าประมงและปาล์มน้ำมัน ที่ขยายตัวเป็นบวก

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลก อนุสรณ์ ธรรมใจ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปี พ.ศ. 2558 น่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.8% โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนโดยเติบโตได้ในระดับ 3.2% การจ้างงานดีขึ้นอย่างชัดเจน การลดลงของหนี้สินภาคครัวเรือน สถานะของดุลการค้าดีขึ้นพร้อมกับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 1.1-1.2% (จากที่เติบโตเพียง 0.8-0.9% ในปี พ.ศ. 2557) เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอและขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งว่าจะได้รัฐบาลที่มีแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังแทนการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าหรือไม่ คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ระดับ 1.2% ในปีหน้า

ส่วนเศรษฐกิจจีนปีหน้าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยโดยน่าจะเติบโตได้ในระดับ 7.2-7.3% ทางด้านอาเซียนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักอันดันหนึ่งของไทย (คิดเป็นสัดส่วน 26-27% ของมูลค่าส่งออก) ในปี พ.ศ. 2558 เติบโตเพิ่มขึ้น 5.8-6% (เทียบกับ 5.5% ในปี พ.ศ. 2557) การส่งออกของไทยจึงขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2558 จากอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าโลกที่ระดับ 5% ตามทิศทางของเศรษฐกิจโลกแต่ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยส่วนใหญ่ของไทยไม่ดีขึ้นเพราะความสามารถในการแข่งขันของไทยค่อนข้างทรงตัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net