"ชุมชนพึ่งตนเอง" ทางออกหรือทางตัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 


ภาพจากชาวบ้านกลุ่ม "ตนรักบ้านเกิด" ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

ความคิดว่าด้วยการพึ่งตนเอง (self-reliance) ปรากฏในหลายสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะด้านจิตวิทยา และสาขาว่าด้วยการพัฒนา แม้ว่าความคิดนี้จะระบุว่า เป็นการค้นหาศักยภาพความสามารถที่ตนเองมีอยู่เพื่อนำออกมาใช้ ซึ่งจะนำไปสู่สู่ความภาคภูมิใจ ก่อให้เกิดพลังความสามารถ ที่จะกำหนดวิถีชีวิต เส้นทางเดินได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้นในด้านการพัฒนาแล้ว การพึ่งตนเองยังเป็นส่วนสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานภายนอกด้วย

แต่ในทางปฏิบัติการพึ่งตนเองได้กลายเป็นเรื่องที่ทำให้รัฐ หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงต่อการพัฒนา ลดบทบาทการสนับสนุนชุมชนและประชาชนผู้ยากไร้ลง ในหลายประเทศแนวคิดเรื่องการพึ่งตนเอง เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการตัดลดงบประมาณด้านสวัสดิการทางสังคมจากภาครัฐ และส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จัดหาเงินกู้ในรูปของสถาบันการเงินขนาดเล็กพร้อมไปกับการส่งเสริมให้เกิดรายได้จากภาคการเกษตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยรัฐทำหน้าที่ให้ความรู้ จัดฝึกอบรม และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อให้เอกชนเข้ามาบุกเบิกลงทุนและช่วงชิงทรัพยากรเพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

การส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเองนั้นมีวิธีคิดที่สำคัญอยู่ว่า ชาวบ้าน พึ่งตนเองไม่ได้ เป็นภาระที่ต้องคอยรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก ดังนั้นในโลกของทุนนิยมเสรีจึงต้องทำให้ชาวบ้านเหล่านี้สามารถพึ่งตนเองให้ได้เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐลง อย่างไรก็ตามในยุคสมัยของการพยายามรวมรัฐ-ชาติ ของไทย ที่อำนาจรัฐยังแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปไม่ถึงในชนบท ประชาชนในท้องถิ่นห่างไกลดำรงชีวิตด้วยการพึ่งตนเองอยู่แล้ว โดยไม่ต้องให้บุคคลภายนอกมาบอกให้เขาเหล่านั้นต้องพึ่งตนเอง บทความเรื่อง ครอง จันดาวงศ์ กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวอีสาน เป็นตัวอย่างอันดีของการพึ่งตนเอง ของชาวอีสานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากข้าราชการและรัฐบาล

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ ไม่เพียงแต่ชาวนาอีสานจะลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้เพื่อปกป้อง และเรียกร้องความเป็นธรรม ชาวบ้านเหล่านี้ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการเข้าร่วมช่วยเหลือขบวนการเสรีไทยที่เคลื่อนไหวในบริเวณเทือกเขาภูพานด้วย บทความอีกเรื่องที่ทำให้เห็นว่า การพึ่งตนเองเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างใกล้ชิดคือ บทความเรื่อง คนกลุ่มใหม่ในชนบทกับการเมืองท้องถิ่น ที่แสดงให้เห็นถึงการเกิดเครือข่ายทางการเมืองที่เปลี่ยนโฉมหน้าคนชนบทจากผู้ที่เคยถูกกำหนดบทบาททางการเมืองให้เป็นเพียงผู้สนับสนุนนักการเมือง ได้กลายเป็น “ผู้เล่น” และกลายเป็นนักการเมืองเอง ทำให้การเมืองส่วนกลางลดบทบาทด้านการพัฒนาลง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้กลายเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางอีกต่อไป

สิ่งสำคัญอีกประการที่พบในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้คือ การพึ่งตนเองของชาวบ้าน ชาวชนบทนั้น แทบจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ เลย แต่การพึ่งตนเองเหล่านั้นเกิดจากการสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ และทักษะการดำรงชีวิตในถิ่นอาศัย รัฐ ดังเช่น การใช้ชีวิตในฤดูน้ำหลาก ของชาวบ้านตาลเอน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากบทความเรื่อง นิเวศภูมิปัญญากับการปรับตัวในช่วงฤดูน้ำหลากของชาวบ้านตาลเอนฯ หรือบทความเรื่องพลวัตรในสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนชาวลัวะอพยพฯ นอกจากนั้นบทความเรื่อง ชุมชนพึ่งตนเอง : แนวทางแห่งวิถีชีวิตอิสระของคนพิการ และความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้สูงอายุในศูนย์บริการผู้สูงอายุฯ ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพึ่งตนเองได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องให้บุคคลภายนอกมาบอกให้ต้องพึ่งตนเอง

การพึ่งตนเองในงานพัฒนาจึงเป็นกลไกกำกับความสัมพันธ์ (dispositif) ซึ่งเป็นเครื่องมือของอำนาจ เพื่อผลักภาระการจัดสวัสดิการทางสังคม และการสร้างหลักประกันการดำรงชีพให้กับประชาชน กลายเป็นเรื่องของธุรกิจเอกชนที่ประชาชนมีภาระต้องจ่าย หรือมิเช่นนั้นก็ให้ประชาชนรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือกันเอง โดยรัฐหันไปสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ให้เข้ามาลงทุนในกิจการดังกล่าวแทน การพึ่งตนเองจึงอาจเป็นทางออกสำหรับการพัฒนาโดยองค์กรภาครัฐที่ไม่สามารถจะเข้ามาดำเนินการพัฒนา ชาวบ้าน ชาวชนบท ที่รู้เท่าทันและเปลี่ยนแปลงจนองค์กรการพัฒนาทั้งหลายเหล่านี้ตามไม่ทัน โดยหันไปจับมือกับภาคธุรกิจเพื่อให้เข้ามายึดฉวยทรัพยากรในชนบทแทน เพื่อทำให้ทรัพยากรกลายเป็นสินค้า สะสมทุนเร่งการเติบโตของรัฐ ภายใต้ข้ออ้างที่ว่า การเข้ามาของการลงทุนจะนำพาชาวบ้านไปสู่การพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

ในขณะที่อีกด้านหนึ่งการพึ่งตนเองของชาวบ้านก็คือ การลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐ และการเข้ามาของนายทุนส่วนกลาง ซึ่งการพึ่งตนเองแบบนี้ ไม่เคยถูกกล่าวถึงในสาขาวิชาว่าด้วยการพัฒนาที่สอนกันอยู่ในสถาบันการศึกษา ดังเช่นภาพปกวารสารฉบับนี้ ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย ชู 3 นิ้ว กลางทุ่งนา ให้กำลังใจนักศึกษากลุ่ม 'ดาวดิน' ด้วยห่วงใยความปลอดภัยในชีวิตของลูกๆ นักศึกษา ปฏิบัติการให้กำลังใจกลางทุ่งนาในฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต ท่ามกลางสถานการณ์การคุกคามจากบริษัทเหมืองแร่ทองคำ และฝ่ายความมั่นคง นับเป็นความกล้าหาญ และสะท้อนถึงการพึ่งตนเองอย่างถึงที่สุดโดยไม่มีหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานใดยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
 

 

สรุปบทความตีพิมพ์วารสาร สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร

 ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2557)

ชื่อเรื่อง

ผู้เขียนบทความ

ครอง จันดาวงศ์กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน

 

สมชัย ภัทรธนานันท์

คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

การตระหนักรู้ในตนเอง การมองโลกในแง่ดี ความพึงพอใจในชีวิตและ    ความผาสุกทางจิตวิญญาณของผู้สูงอายุในศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

กนิษฐา ลิ้มทรัพย์

นิสิตปริญญาโทจิตวิทยาชุมชน คณะสังคมศาสตร์

 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

พลวัตในสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนชาวลัวะอพยพ กรณีศึกษา บ้านน้ำมีด ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน

จิรัฐติกาล  ไชยา

นักศึกษาปริญญาโท

ชนบทศึกษาและการพัฒนา มธ.

ชุมชนพึ่งตนเอง : แนวทางแห่งวิถีชีวิตอิสระของคนพิการ

Self-Reliance Community:

The Way for Independent Living of Persons with Disabilities

 

อ.ดร.วรอนงค์ โกวิทเสถียรชัย อาจารย์ประจำ ภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล

 

คนกลุ่มใหม่ในชนบทกับการเมืองท้องถิ่น

 

 

ชัยพงษ์  สำเนียง

สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่

 

นิเวศภูมิปัญญาการปรับตัวช่วงฤดูน้ำหลากในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

Ecological Wisdoms and an adaptation of local people during flooding in Phranakhon Si Ayutthaya

 

คมลักษณ์  ไชยยะ

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

บทวิจารณ์หนังสือ

พัฒนา กิติอาษา, สู่วิถีอีสานใหม่ (Isan becoming : agrarian change the sense of mobile community in Northeastern Thailand)

อิทธิพล โคตะมี

นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท