Skip to main content
sharethis

วงเสวนาโดย ณัฐกร วิทิตานนท์ - บดินทร์ เทพรัตน์ - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เล่าเรื่องเชียงใหม่กับภาพยนตร์ นับตั้งแต่ฉากหลังในภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ การยืมเป็นฉากหลังแทนย่านอินโดจีน การเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของโรงหนังแสตนด์อะโลน จนถึงเชียงใหม่ที่เป็นแหล่งผลิตภาพยนตร์ และโอกาสเติบโตของโปรดักชั่นเฮ้าส์และคนทำหนังที่เชียงใหม่

19 พ.ย. 57 เวลา 13.00 น. ห้องประชุมชั้น 4 อาคาร 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มปันยามูฟวี่คลับ จัดงานเสวนาเรื่อง “เชียงใหม่ในหนัง หนังกับเชียงใหม่” โดยมีวิทยากร ได้แก่ ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์และหัวหน้าสตูดิโอคำม่วน, บดินทร์ เทพรัตน์ กลุ่มฉายหนังปันยามูฟวี่คลับ และดำเนินรายการโดย ชลธิดา พระเมเด หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารฮิป

 

เชียงใหม่ในภาพยนตร์ต่างประเทศ

 

"นัยยะสำคัญของเชียงใหม่ในหนังฝรั่ง เกิดขึ้นหลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุด ประมาณปี 1975 ที่มีความต้องการพูดเรื่องปัญหาเวียดนาม ที่สหรัฐส่งทหารเข้ามาทำสงคราม จึงมีการมองหาฉากที่พอจะเทียบเคียงกับเวียดนามได้ เพราะย่านอินโดจีนยังเป็นประเทศปิด จึงมีการเลือกมาถ่ายที่เชียงใหม่กว่า 10 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังเกี่ยวกับสงครามโดยตรง"

ณัฐกร วิทิตานนท์ กล่าวว่างานวิชาการหรืองานข้อมูลในต่างประเทศมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับหนังในมิติต่างๆ จำนวนมากและหาได้ทั่วไป แต่ในเมืองไทยแทบจะยังไม่มีใครศึกษามีการวิเคราะห์ถึงเมืองสำคัญที่เป็นฉากหลังของหนังเรื่องต่างๆ หรือการจัดเที่ยวตามรอยสถานที่ในหนังบางเรื่อง

ณัฐกรกล่าวตนเคยเขียนบทความเรื่องเชียงใหม่ในหนังตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน ช่วงปี 48-49 ที่มีหนังหลายเรื่องมาถ่ายทำที่เชียงใหม่ และประสบความสำเร็จ ทำให้เริ่มสนใจเชียงใหม่ในหนังขึ้นมา และเสนอว่าเชียงใหม่ในหนังกับเชียงใหม่ในชีวิตจริงไม่เหมือนกัน เชียงใหม่ในหนังมันสวยงาม น่าอยู่ แต่เชียงใหม่ในชีวิตจริงมันค่อนข้างเต็มไปด้วยปัญหา

ต่อมาได้พบว่าวารสาร Compass ได้เสนอข้อมูลว่าหนังต่างประเทศเรื่องแรกที่เข้ามาถ่ายทำในไทย ยังเลือกเชียงใหม่เป็นฉากหลัง ได้แก่ หนังเรื่องนางสาวสุวรรณ พ.ศ. 2466 (1923) โดยมีฉากมาดูการทำไม้ที่เชียงใหม่ ในเรื่องนี้ทีมงานเบื้องหลังล้วนเป็นชาวต่างชาติ ทำให้ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นหนังไทยแท้ และเท่าที่พบ ต่อมาก็มีหนังสารคดีสวีเดนเรื่องข้าวกำมือเดียว พ.ศ. 2483 (1940) กับหนัง Emmanuelle พ.ศ. 2517 (1974)

นัยยะสำคัญของเชียงใหม่ในหนังฝรั่ง เกิดขึ้นหลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุด ประมาณปี พ.ศ. 2518 (1975) ที่มีความต้องการพูดเรื่องปัญหาเวียดนาม ที่สหรัฐส่งทหารเข้ามาทำสงคราม จึงมีการมองหาฉากที่พอจะเทียบเคียงกับเวียดนามได้ เพราะย่านอินโดจีนยังเป็นประเทศปิด จึงมีการเลือกมาถ่ายที่เชียงใหม่กว่า 10 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังเกี่ยวกับสงครามโดยตรง

ฉากในภาพยนตร์ Final Run (1989) (ที่มาของภาพ: http://thailandonfilm.blogspot.com)

ภาพยนตร์สัญชาติออสเตรเลีย Au Nord de Chiang Mai (1992) (ที่มาของภาพ: http://thailandonfilm.blogspot.com)

ฉากในภาพยนตร์ Sniper 3 (2004) (ที่มาของภาพ: http://thailandonfilm.blogspot.com)

 

อีกจุดเปลี่ยนหนึ่ง คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 (2003) พบหนังที่มาถ่ายเชียงใหม่เฉลี่ยปีละ 1-2 เรื่อง เชื่อกันว่าเป็นผลมาจากความสำเร็จในหนังเรื่ององค์บาก พ.ศ. 2546 (2003) ทำให้ต่างประเทศเข้ามาใช้ฉากในเมืองไทยมากขึ้น และเลือกเชียงใหม่ เพราะต้นทุนการผลิตถูกกว่าในภาคอื่น

แต่เชียงใหม่ในหนังฝรั่ง มักถูกสมมติให้เป็นที่อื่นในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย รวมแล้ว 13 เรื่อง จากทั้งหมด 33 เรื่อง โดยเฉพาะสมมติให้เป็นเวียดนามและพม่า และมักจะเป็นหนังแนว Action มากที่สุด อีกทั้งภาพย้ำของเชียงใหม่ในหนังต่างประเทศจะเป็นประเด็นชนกลุ่มน้อย ยาเสพติด และมักจะมีช้างอยู่ในหนังด้วย ส่วนฉากสำคัญที่มีบ่อยในหนัง คือกาดหลวง และวัดต่างๆ โดยระยะหลังมักจะชอบให้มีการปล่อยโคมอยู่ในหนังด้วย

ส่วนใหญ่เป็นหนังสัญชาติอเมริกันมากที่สุด ประมาณ 20 เรื่อง ตามด้วยฮ่องกง 4 เรื่อง ญี่ปุ่นและฝรั่งเศส ประเทศละ 2 เรื่อง แต่ที่น่าสนใจคือหนังจีนเรื่อง Lost in Thailand พ.ศ. 2555 (2012) ซึ่งมาถ่ายในเชียงใหม่กว่า 80% และประสบความสำเร็จอย่างสูงในเมืองจีน ส่งผลให้คนจีนอยากมาเที่ยวเมืองไทย มีคนวิจัยโดยถามคนจีนที่มาเที่ยวเมืองไทยถึงสถานที่ที่อยากมา และพบว่าส่วนใหญ่เป็นสถานที่ที่อยู่ในหนัง

ณัฐกรเห็นว่าหนังฝรั่งเรื่องหนึ่ง ที่ตนเห็นว่าบอกเล่าความเป็นเชียงใหม่ที่ค่อนข้างสมจริง คือเรื่อง The Elephant King พ.ศ. 2552 (2009) ซึ่งใช้ฉากเชียงใหม่เกือบทั้งเรื่อง และให้ภาพเชียงใหม่ที่แตกต่างจากในหนังไทย

 

เชียงใหม่ในภาพยนตร์ไทย

 

"เชียงใหม่ในหนังมักเน้นย้ำภาพที่ไม่เกิดในชีวิตจริงเลย คือเมืองร้างไร้รถยนต์ติดขัด และอากาศดี ทั้งที่ความจริงในปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้น มายาคติของเชียงใหม่ในหนังไทยกับหนังต่างประเทศมีความแตกต่างกันชัดเจน โดยหนังไทยย้ำเรื่องความน่าอยู่ของเมือง ส่วนหนังต่างประเทศพูดถึงปัญหา"

ณัฐกร กล่าวว่าเชียงใหม่ในหนังไทย อาจเริ่มนับได้ตั้งแต่เรื่องสาวเครือฟ้า (2477) ที่เป็นหนังไทยแท้ที่มาถ่ายเชียงใหม่ โดยเชียงใหม่ในหนังช่วงต้นๆ ก่อนปี 2500 มักมีพล็อตคล้ายคลึงกัน คือเรื่องเกี่ยวกับสาวเชียงใหม่ที่มีศรัทธาในรักมั่นคงมีอันต้องถูกชายหนุ่มจากเมืองกรุงหลอก และท้ายที่สุดก็กลายเป็นโศกนาฏกรรมความรัก ภาพเชียงใหม่ในหนังไทยช่วงต้นๆ จึงค่อนข้างอ่อนแอ สยบยอม และมีลักษณะเป็นผู้หญิง

ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ไทยซึ่งถ่ายทำที่ จ.เชียงใหม่ (ที่มาของภาพ: http://www.thaifilm.com/forumDetail.asp?topicID=2450)

ช่วงสงครามเย็น ปี 2501-2510 พบหนังที่มาถ่ายเชียงใหม่ 8 เรื่อง โดยเริ่มมีหนังแนวอื่น คือหนังผีและหนังบู๊ ช่วงทศวรรษ 2510 ช่วงนี้เชียงใหม่เริ่มขายได้ มีหนังราว 32 เรื่อง และหลายเรื่องเริ่มใช้ชื่ออำเภอต่างๆ ถูกใช้เป็นชื่อหนัง เช่น สันกำแพง (2511), วังบัวบาน (2515) สวรรค์เวียงพิงค์ (2516), สักขีแม่ปิง (2516), แม่อายสะอื้น (2523)

ภาพจากหนัง 2 สิงห์ 2 แผ่นดิน (2515) (ที่มาของภาพ: http://thailandonfilm.blogspot.com)

ภาพจากหนังความรักของคุณฉุย (2532) (ที่มาของภาพ: คัดลอกจาก youtube.com)

แต่ยุคที่เฟื่องฟูที่สุดของหนังไทยคือทศวรรษ 2520 โดยช่วงนี้พบเชียงใหม่ในหนังกว่า 43 เรื่อง ช่วงนี้มีลักษณะเป็นหนังรักวัยรุ่นมากขึ้น และปลายๆ ยุคเป็นหนังรักวัยผู้ใหญ่มากขึ้น เช่น ดอกไม้ร่วงที่แม่ริม (2522) จ่ากำแพงดิน (2521)

ช่วงทศวรรษ 2530 พบราว 29 เรื่อง มีหนังตลกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเป็นยุคที่หนังไทยถูกยึดครองโดยหนังแนว “กระโปรงบานขาสั้น” หรือหนังวัยรุ่นนักเรียน เดินตามความสำเร็จของกลิ้งไว้ก่อนฯ (2534) ซึ่งแทบทุกเรื่องในแนวนี้มักมาถ่ายที่เชียงใหม่

ช่วงต้นทศวรรษ 2540 หนังไทยซบเซาลง จึงไม่มีหนังเชียงใหม่มากนัก จนมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากหนัง The Letter (2547) และเพื่อนสนิท (2548) โดยช่วงนี้เกิดกระแสท้องถิ่นนิยมมากขึ้น หนังพยายามถ่ายทอดเชียงใหม่ให้มีเอกลักษณ์ โดยมีการพยายามพูดคำเมืองในหนัง อีกทั้ง หนังเชียงใหม่ในยุคนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ คือหนังได้รางวัลหลายเรื่อง ประสบความสำเร็จด้านรายได้ หรือได้รับคำวิจารณ์เชิงบวก

ณัฐกรประเมินว่าเกือบ 70% ของหนังที่มาถ่ายที่เชียงใหม่เป็นหนังรัก เชียงใหม่ในหนังไทยค่อนข้างโรแมนติค สถานที่ยอดนิยมที่ใช้ในการถ่ายทำ มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ, วัด, สถาบันการศึกษา, ห้างสรรพสินค้า, ที่พัก, ร้านอาหาร, สถานีรถไฟ, สนามบิน, แลนด์มาร์คต่างๆ ของเมือง อีกทั้ง เชียงใหม่ในหนังมักเน้นย้ำภาพที่ไม่เกิดในชีวิตจริงเลย คือเมืองร้างไร้รถยนต์ติดขัด และอากาศดี ทั้งที่ความจริงในปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้น มายาคติของเชียงใหม่ในหนังไทยกับหนังต่างประเทศมีความแตกต่างกันชัดเจน โดยหนังไทยย้ำเรื่องความน่าอยู่ของเมือง ส่วนหนังต่างประเทศพูดถึงปัญหา

 

เชียงใหม่ในมุมมองคนทำหนัง

 

"ข้อดีของเชียงใหม่คือโลเกชั่นขอใช้ได้ไม่ยาก และถูกกว่าที่ กทม.ไปหลายเปอร์เซ็นต์ การเคลื่อนย้ายทางโลจิติสก์ใช้เวลาไม่นาน ใช้เวลาย้ายไปจุดต่างๆ น้อยกว่ากรุงเทพฯ ราว 4 เท่า ซึ่งการออกกองในภาพยนตร์ เวลาคือเงิน วันหนึ่งออกกองใช้เงินต่ำสุด 3 แสนบาท จึงต้องพยายามประหยัดเวลา ทำให้โปรดักชั่นหลายอันเลือกมาใช้เชียงใหม่ เพราะการเคลื่อนย้ายสะดวก มีสถานที่รองรับ ทั้งกองถ่ายและดารา และมุมหลายมุมในเชียงใหม่ค่อนข้างสวยงาม"

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล "มะเดี่ยว" เล่าประสบการณ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเชียงใหม่

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ตั้งแต่ปี 2546 และได้เปิดสตูดิโอคำม่วนราวปี 2553 ซึ่งตอนแรกก็อยู่ที่กรุงเทพ และเพิ่งขยับขยายมาที่เชียงใหม่ในช่วงสองปีนี้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตงานค่อนข้างถูกกว่ากรุงเทพไปราว 3-4 % และมีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างเยอะ แต่ก็พบว่าเชียงใหม่ยังขาดทรัพยากรทั้งด้านบุคคล และอุปกรณ์ แม้จะมีโปรดักชั่นเฮาท์เล็กๆ อยู่ในเชียงใหม่บ้าง แต่คุณภาพของคนก็ยังไม่สามารถจะใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่ใช้ถ่ายหนังจริงได้ ยังต้องใช้คนมาจากกรุงเทพอยู่ เพราะต้องใช้แรงงานที่มีความสามารถ ทักษะสูง ซึ่งเชียงใหม่ยังผลิตไม่ทัน

ขณะเดียวกัน เชียงใหม่ก็มีจุดเด่นคือคนทำงานโพสต์โปรดักชั่นมาอยู่ค่อนข้างเยอะ โดยมีบริษัททำกราฟฟิคในเชียงใหม่เยอะ แต่ปัญหาคือยังไม่สามารถมารวมกันได้ และยังต้องใช้เวลาในการสร้างคน โดยที่สตูดิโอคำม่วนพยายามทำ คือดึงโปรดักชั่นจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อให้งานต่อเนื่อง

ข้อดีของเชียงใหม่คือโลเกชั่นขอใช้ได้ไม่ยาก และถูกกว่าที่ กทม.ไปหลายเปอร์เซ็นต์ การเคลื่อนย้ายทางโลจิติสก์ใช้เวลาไม่นาน ใช้เวลาย้ายไปจุดต่างๆ น้อยกว่ากรุงเทพฯ ราว 4 เท่า ซึ่งการออกกองในภาพยนตร์ เวลาคือเงิน วันหนึ่งออกกองใช้เงินต่ำสุด 3 แสนบาท จึงต้องพยายามประหยัดเวลา ทำให้โปรดักชั่นหลายอันเลือกมาใช้เชียงใหม่ เพราะการเคลื่อนย้ายสะดวก มีสถานที่รองรับ ทั้งกองถ่ายและดารา และมุมหลายมุมในเชียงใหม่ค่อนข้างสวยงาม

ชูเกียรติ กล่าวถึงมายาคติเกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ ว่าแม้จะส่งผลดีในการด้านการท่องเที่ยว แต่ตนไม่เคยมองเชียงใหม่แบบ exotic ไม่ได้มองว่าเชียงใหม่ต้องขี่ช้าง กางร่ม เชียงใหม่สำหรับตนเป็นเรื่องของผู้คน ไม่ได้ขายทิวทัศน์หรือการท่องเที่ยว และภาพของความเป็นเมืองแบบคนทั่วโลก การใช้ชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งค่อนข้างเวิร์ค เพราะเห็นว่าทำให้เกิดกระแสว่าจังหวัดอื่นๆ ก็สามารถจะเล่าเรื่องของตนเองผ่านหนังได้

ชูเกียรติกล่าวว่าเมืองมีความเปลี่ยนแปลงและเติบโตตลอดเวลา การอนุรักษ์วิถีดั้งเดิมก็ควรทำ แต่ปัญหาที่สำคัญกว่า คือเราจะอยู่กันต่อไปในอนาคตอย่างไร จะจัดการเมืองที่ผู้คนมาอยู่กันเยอะขึ้น จะจัดการขยะอย่างไร หรือการขนส่งมวลชนจะทำอย่างไร พอคิดถึงการอนุรักษ์อย่างเดียว เราจะไม่สามารถจัดการกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้

 

โรงหนัง และชุมชนภาพยนตร์ในเชียงใหม่

 

"เป็นเมืองใหญ่ ที่มีนักศึกษา ศิลปิน ชาวต่างชาติ และชนชั้นกลางที่มีเวลาสนใจในงานศิลปะอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้มีการจัดเสวนาและจัดฉายภาพยนตร์ค่อนข้างมาก"

บดินทร์ เทพรัตน์ กล่าวว่าเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ ที่มีนักศึกษา ศิลปิน ชาวต่างชาติ และชนชั้นกลางที่มีเวลาสนใจในงานศิลปะอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้มีการจัดเสวนาและจัดฉายภาพยนตร์ค่อนข้างมาก

หากดูโรงภาพยนตร์ในเชียงใหม่ ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 โรงใหญ่ โดยโรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์จะดำเนินการด้วยระบบสายหนัง โดยสายหนังจะเป็นคนซื้อขาดมาจากเจ้าของหรือผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทย นำหนังเข้าฉายในโรง และแบ่งรายได้ในลักษณะ 50-50% หรือขึ้นอยู่กับการเจรจา คนที่เลือกหนังมาฉายจึงคือสายหนัง

โรงหนังในปัจจุบันมีลักษณะแข่งขันกันที่ตลาดเฉพาะกลุ่ม niche market ไม่ได้เน้นแข่งขันเรื่องหนังทุนสูงหรืคุณภาพของโรงหนัง โดยโรงหนังที่มีหนังนอกกระแสฉายมาก และถูกใช้จัดเทศกาลภาพยนตร์หลายครั้งในเชียงใหม่ คือที่โรงหนัง SFX ที่ห้าง Maya

ส่วนโรงหนังเก่าแก่ที่มีอยู่ตอนนี้คือโรงหนังวิสต้า ซึ่งเคยมีหลายสาขา แต่ปัจจุบันเหลือสาขาเดียว คือที่กาดสวนแก้ว ก่อนหน้านี้ เคยมีการจัดเทศกาลหนังยุโรป เคยจัดชมรมคนรักหนัง เพื่อฉายหนังหาดูยาก ปัจจุบันฉายเฉพาะหนังพากย์ไทย เพื่อดึงดูดลูกค้าที่ไม่ชอบดูหนัง soundtrack หนังมีระยะเวลาในการฉายนานกว่า และลดราคาตั๋วลง

บดินทร์เล่าต่อถึงชุมชนภาพยนตร์ในเชียงใหม่ ชุมชนแรก คือ FilmSPACE ที่จัดฉายหนังที่ดาดฟ้าตึกภาควิชา media arts and design ฉายหนังในอารมณ์หนังกลางแปลง ฉายครั้งแรกเมื่อปี 2005 และฉายอาทิตย์ละครั้งทุกวันเสาร์ มีการประกาศโปรแกรมฉายรวดเดียว 1 ปี โดยมีการกำหนดธีมในแต่ละเดือน ต่อมา มีการเปลี่ยนชื่อเป็น untitled for film และเปลี่ยนเป็นฉายตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม

ชุมชนต่อมา คือกลุ่มปันยามูฟวี่คลับ เกิดขึ้นจากการได้ไปจัดฉายเรื่อง “แสงศตวรรษ” ที่เชียงราย เมื่อปี 2553 และเน้นการเสวนาหลังหนังฉาย กลุ่มไม่ได้มีที่จัดฉายของตนเอง แต่ตระเวนไปจัดฉายหลายๆ ที่ และร่วมงานกับกลุ่มหรือพื้นที่ศิลปะต่างๆ

อีกพื้นที่หนึ่งคือ Documentary Art Asia เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนคนทำสารคดีในเอเชีย เป็นพื้นที่ตึกสามชั้นย่านวัวลาย มีห้องสมุด กิจกรรมจัดแสดงภาพถ่าย และจัดฉายหนังทุกวันจันทร์และพฤหัส

นอกจากนั้นเชียงใหม่ยังเคยมีการจัดเทศกาลภาพยนตร์กันเอง เช่น ดอยสะเก็ดฟิล์มเฟสติวัล จัดในช่วงปี 2553 ซึ่งจัดฉายหนังหลายพื้นที่มาก มีหนังฉายมากกว่า 80 เรื่อง, Lifescapes South East Asian Film Fesival ฉายหนังอาเซียนลุ่มน้ำโขงและมีการจัดเสวนาต่างๆ โดยจัดได้สองครั้ง คือปี 2011-12 หรือเทศกาลภาพยนตร์สารคดีจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดโดยการสนับสนุนของกงสุลสหรัฐฯ ในปี 2552 และ 2554

 

ย้อนอดีตโรงหนังเชียงใหม่

ณัฐกร วิทิตานนท์ กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อมูลพัฒนาการของโรงหนังในเชียงใหม่ โดยโรงหนังยุคแรกๆ มีชนชั้นนำเก่าหรือเป็นเจ้าเก่าที่มาบุกเบิก โรงหนังแห่งแรกในเชียงใหม่ ชื่อพัฒนากร (2466) ตั้งอยู่ย่านถนนช้างคลาน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นศรีเวียง (2483) และเวียงพิงค์ (2517) ตามลำดับ โดยมีเจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่ เข้ามาเป็นเจ้าของ อีกโรงหนังที่มีชื่อเสียงในย่านกาดหลวง คือศรีนครพิงค์ (2488) ที่มีเจ้าแก้วนวรัฐเป็นเจ้าของ เน้นฉายหนังฝรั่งและแนวคาวบอย และเจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่ ยังมาทำโรงหนังใหม่อีกแห่ง ชื่อสุริวงศ์ (2497)

ต่อมา เป็นยุคทุนท้องถิ่นใหม่ มีคนเข้ามาทำโรงหนังหลายคน หลายศูนย์กลาง เช่น เลิศ ชินวัตร ที่เป็นเจ้าของโรงหนังสามโรง (ศรีวิศาล, ชินทัศนีย์, นครเชียงใหม่) หรือนายณรงค์ โพธิพูนสวัสดิ์ (เสี่ยปุ้ย) สร้างโรงหนังเมืองฟ้า และฟ้าธานี

ยุคกำนันนั้ม นครปฐม หรือนายวีรศักดิ์ จุลนิพิฐวงษ์ ได้กลายมาเป็นเจ้าของโรงหนังขนาดใหญ่หลายแห่งในเมืองเชียงใหม่ โดยใช้วิธีเช่าหลายๆ โรงหนังมา จนสามารถกุมทิศทางของโรงภาพยนตร์ในเชียงใหม่ได้ เช่น แสงตะวัน, ฟ้าธานี, มหานคร, โชตนา

หลังจากนั้นเป็นยุควิสต้า โดยเสี่ยทอมมี่ (ธวัชชัย โรจนะโชติกุล) หันมาจับธุรกิจโรงหนัง เริ่มจากวิสต้า เจริญเมือง เริ่มเปิดปี 2535 ทำจนเครือวิสต้าสามารถผูกขาดโรงหนังทุกโรงที่มีในเชียงใหม่ จนปัจจุบันเหลือที่วิสต้า กาดสวนแก้วเพียงแห่งเดียว ภายใต้การเข้ามาโรงหนังของทุนใหญ่จากเมืองหลวง ทั้งในเครือเอสเอฟซีนีม่า และเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์

โดยสรุป ทำเลที่ตั้งของโรงหนังเชียงใหม่ในอดีตมักจะกระจุกตัวอยู่แต่ในย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญ ก่อนที่ต่อมาจะเกิดกระจายตามการขยายของเมือง อีกทั้ง โรงหนังดั้งเดิมจะมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ แต่ละแห่งจะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งแทบหาไม่ได้จากโรงหนังในยุคปัจจุบัน และโรงหนังแบบ Standalone เดิม จะสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนรายรอบด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net