Skip to main content
sharethis
 
แม้ภาคประชาชนจะออกมาประท้วงตั้งแต่ปี 2012 หลังพบเรื่องอื้อฉาวด้านความปลอดภัยภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศ แต่ทั้งนี้เกาหลีใต้ก็ยังคงมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานนิวเคลียร์ขึ้นเป็นเท่าตัวภายในปี 2024 (ที่มาภาพ: presstv.ir)
 
21 พ.ย. 2014 สำนักข่าว Yonhap และ presstv.ir รายงานว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับเทศบาลเขตยูลจิน (Uljin) ซึ่งห่างจากกรุงโซลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 330 กิโลเมตร ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 2 แห่ง คือฮานึล 3 และ 4 (Hanul No.3, Hanul No.4) โดยมีกำหนดการแล้วเสร็จภายในปี 2022
 
ทั้งนี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดหลังที่รัฐบาลได้บรรลุข้อตกลงกับเทศบาลเขตยองด็อก (Yeongdeok) เมื่อปี 2012 ที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งให้เสร็จภายในปี 2017 ซึ่งเกาหลีใต้มีนโยบายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้ได้ 11 แห่งภายในปี 2024
 
รัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่าว่าพลังงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นสิ่งสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเกาหลีใต้มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร รวมทั้งยังต้องการเป็นหนึ่งในผู้นำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย โดยปัจจุบันเกาหลีใต้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลัก 3 แหล่ง คือ ก๊าซธรรมชาติเหลว ถ่านหิน และพลังงานนิวเคลียร์ และเกาหลีใต้มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เดินเครื่องอยู่ 4 แห่ง มีเตาปฏิกรณ์รวมกันกว่า 23 ชุด สามารถผลิตไฟฟ้ารวมกันกว่า 20,716 เมกะวัตต์ เป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 35 เท่าตัว นับตั้งแต่เกาหลีใต้เริ่มต้นใช้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ครั้งแรกในปี 1978 
 
อนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2014 ที่ผ่านมาปาร์ค กึน-เฮ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้แถลงทางโทรทัศน์เนื่องในวันฉลองอิสรภาพว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อย่างหนาแน่น โดยได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่น และจีน ร่วมกับเกาหลีใต้ก่อตั้งหน่วยงานที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยการใช้พลังงานนิวเคลียร์เหมือนสหภาพยุโรปที่มีองค์กร The European Atomic Energy Community (EAEC หรือ Euratom) ซึ่งทำหน้าที่ศึกษาวิจัยความปลอดภัยการใช้พลังงานนิวเคลียร์ของกลุ่มประเทศยุโรป 
 
ทั้งนี้หลังเกิดเหตุโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะของญี่ปุ่นระเบิดเนื่องจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011 นั้น พร้อมกับความกลัวการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือและเรื่องอื้อฉาวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ ทำให้ชาวเกาหลีใต้รู้สึกหวาดกลัวกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้เผชิญแรงกดดันจากภาคประชาชนอย่างหนักตั้งแต่ปี 2012 หลังพบเรื่องอื้อฉาวด้านความปลอดภัยภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศ และเมื่อต้นปี 2014 ที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกมาระบุว่าจะลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ลง แต่ล่าสุดรัฐบาลเกาหลีใต้กลับกับลำเดินหน้าแผนเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานนิวเคลียร์ขึ้นไปอีก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net