Skip to main content
sharethis


จากเหตุการณ์ควบคุมตัว ศิริพร ฉายเพ็ชร หรือ เอ๋ เจ้าหน้าที่ฝ่ายฝึกอบรมโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ที่สถานีตำรวจ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. วันที่ 20 พ.ย.2557 โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนที่จะแจ้งเหตุผลการคุมตัวว่าเนื่องจากมีการเผยแพร่ภาพชูป้าย “ยกเลิกกฎอัยการศึก” และ “ไม่เอา คสช.” บนดอยหลวงเชียงดาว ลงในเฟซบุ๊ก

กรณีดังกล่าวทหารได้เจรจาให้ศิริพรลงชื่อในข้อตกลงที่จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เธอแสดงเจตจำนงไม่ยินยอมโดยมีทนายให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น.เธอจึงได้รับการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ให้ลงบันทึกประจำวันไว้โดยระบุว่า “รับทราบข้อความที่ได้ให้ปากคำ แต่ไม่ยินยอมที่จะเซ็นชื่อ” 

“เราแสดงเจตจำนงบริสุทธิ์ เราเชื่อว่าเราไม่ได้ทำผิดอะไร เรามีสิทธิที่จะแสดงออกตามความคิด ความเชื่อของเรา” ศิริพร กล่าวกับประชาไทถึงเหตุผลของการไม่ลงชื่อในข้อตกลงของทหาร

นี่อาจเป็นการย้ำอีกครั้งสำหรับการสร้างบรรทัดฐาน ‘หากถูกทหารเชิญตัว ไม่ต้องเซ็นยอมรับตามเงื่อนไข สุดท้ายก็ปล่อยเหมือนกัน’ ซึ่งก็ไม่รับประกันว่าจะเกิดอะไรหลังจากนั้นหรือไม่ แต่กรณีการโพสต์ปุ๊บติดตามปั๊บคือตัวอย่างที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากข่าวสด วันที่ 21 พ.ย. 2557 ระบุว่า มีการโพสต์ข้อความผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เวลา 14.00 น. วันที่ 19 พ.ย. 2557 เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรเชียงดาว จ.เชียงใหม่ และทหารกองกำลังผาเมืองจึงได้ตั้งด่านตรวจเข้ม จนได้คนที่ถ่ายภาพและเขียนข้อความดังกล่าว

ล่าสุดประชาไทคุยกับศิริพร ภายหลังจากถูกปล่อยตัวโดยย้อนเก็บรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ศิริพรเล่าว่า หลังจากเธอไปทำกิจกรรมที่เชียงดาวและไปเที่ยวพักผ่อนต่อที่ยอดดอยหลวง มีสิ่งผิดสังเกตในวันนี้ (20 พ.ย.2557) ตั้งแต่ตอนเช้า คือ มีนายทหารมาคุยด้วยและมาขอถ่ายรูปพร้อมกับรถ เมื่อถามหาเหตุผลก็ได้รับคำตอบว่าถ่ายไว้เพื่อเป็นที่ระลึก จากนั้นตนเองก็ไปเล่นน้ำที่น้ำตกกับน้องๆ แม้จะรู้สึกว่าผิดปกติแต่ก็ไม่ได้คิดอะไร

จนกระทั่งตอนเย็นขณะกำลังขับรถจากเชียงดาวไปแม่ริมเพื่อไปเยี่ยมเพื่อน ผ่านด่านตรวจยาเสพติด เหตุการณ์เกิดเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจราว 6 นายได้เข้าปิดล้อมและตรวจค้นรถอย่างละเอียด มีการถ่ายรูปรถไว้ อีกทั้งยังยึดบัตรประจำตัวประชาชนไว้ด้วย โดยยังไม่แจ้งข้อกล่าวหา

ระหว่างนั้นเธอได้ยินทหารพูดกันว่า “ให้หาเสื้อผ้าชุดที่ใส่โพสต์ไว้เป็นหลักฐาน” ขณะที่มีตำรวจนายหนึ่งบอกน้องที่มาด้วยกันว่า “ให้ยอมรับสารภาพว่าเป็นคนทำ”

ด้วยความสงสัยจึงสอบถามกับเจ้าหน้าที่ คำตอบที่ได้คือ การตรวจค้นยาเสพติดเป็นการตรวจค้นปกติ แต่ยังมีอีกข้อหาหนึ่งคือเรื่องโพสต์รูปบนเฟซบุ๊ก เพื่อดูหลักฐานรูปถ่ายเธอและน้องอีกหนึ่งคนที่เดินทางมาด้วยกันจึงต้องขับรถย้อนกลับไปที่สถานีตำรวจ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

“รู้ใช่ไหมตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์อะไร การแสดงสัญลักษณ์ที่มีปัญหามันผิดกฎหมาย” ศิริพรกล่าวถึงคำพูดเพื่อปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ทหาร

ศิริพรเล่าว่า ที่สถานีตำรวจ ทหารนำภาพที่มีคนชูป้าย “ยกเลิกกฎอัยการศึก” และ “ไม่เอา คสช.” นั่งบนป้ายจุดสูงสุดยอดดอยหลวงเชียงดาว สูง 2,225 เมตร จากระดับน้ำทะเลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มาให้เธอดูและให้ยืนยันว่าใช่คนในภาพหรือไม่ ซึ่งเธอก็รับว่าเป็นคนเขียนข้อความและถ่ายภาพเองโดยที่น้องที่อยู่ในภาพไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่เธอไม่ได้โพสต์เผยแพร่เพียงแต่ส่งให้เพื่อนๆ ดูในกลุ่มไลน์ และก็ถือเป็นสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น

ส่วนเจ้าหน้าที่ตอบว่า เข้าใจว่าเธอมีสิทธิจะแสดงความเห็น แต่ขอให้ทำหลังจากผ่านช่วงระยะที่ 2 ไปก่อน แล้วจากนั้นจะทำอะไรก็ทำได้ ซึ่งหลังระยะที่ 2 นี้ก็คือหลังเดือนกันยายน 2558 ดังนั้นตอนนี้จึงต้องขอให้ลงชื่อยอมรับข้อตกลงที่จะไม่เคลื่อนไหว ไม่เช่นนั้นจะมีความผิด และหากรับแล้วทำผิดอีกก็จะถูกควบคุมตัว 7 วัน แต่เธอยืนยันเจตจำนงไม่ยอมลงชื่อ

ศิริพรกล่าวว่า การพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยดี ไม่มีการข่มขู่ แต่เป็นการพูดในเชิงขอร้อง เพราะไม่เช่นนั้นเขาอาจต้องเดือดร้อน เนื่องจากตั้งแต่มีการโพสต์รูปขึ้นเฟซบุ๊กเมื่อวานนี้ (19 พ.ย. 2557) ก็มีคำสั่งให้ตามหาตัวคนที่โพสต์ ในฐานะที่ดูแลพื้นที่นี้จึงต้องตรวจเช็คทุกกลุ่มที่เดินทางมาเที่ยวดอยหลวงเชียงดาว

“เขาตามหารถคันนี้ 2 วัน จนมาเจอเราตอนทุ่มวันนี้ ไม่ได้หลับไม่ได้นอน” ศิริพรกล่าวถึงคำสั่งที่เจ้าหน้าที่ทหารบอกกับเธอ 

เมื่อสอบถามถึงความยากลำบากของการดำเนินชีวิตต่อไป ศิริพรกล่าวว่า เธอรู้อยู่แล้วว่าต่อไปอาจต้องถูกติดตาม เพราะเธอก็เป็นหนึ่งของคนที่ทำกิจกรรมกับนักศึกษากลุ่มดาวดิน (ข่าวกลุ่มดาวดิน) และตอนนี้เจ้าหน้าที่ก็รู้แล้วว่าเธอเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่าความเห็นของเธอไม่ใช่สิ่งผิด และการแสดงความเห็นนั้นก็ไม่ได้เป็นความผิด 

ทั้งนี้ ศิริพร เป็นนักพัฒนาที่ทำงานร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งมีบทบาทในการทำงานด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ล่าสุด เธอเป็น 1 ใน 102 คนแรก ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ ‘ยกเลิกกฎอัยการศึก อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน’

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net