Skip to main content
sharethis

นักข่าวไฟแนนเชียลไทม์วิจารณ์โครงการทำหมันหมู่เป็นการยึดติด 'การทำยอด' จากยุคสมัยเผด็จการเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แทนที่อินเดียจะพัฒนาระบบการวางแผนครอบครัว การควบคุมประชากรที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้หญิงในอินเดียต้องทำหมันภายใต้เครื่องมือที่ไม่สะอาดอย่างไม่มีทางเลือก

17 พ.ย. 2557 - จากที่ก่อนหน้านี้อินเดียเกิดเรื่องอื้อฉาวกรณีที่มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งเสียชีวิตจากโครงการทำหมันหมู่ของรัฐบาล ทำให้ เอมี แคซมิน นักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ในกรุงนิวเดลีเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้

แคซมินระบุว่าโครงการทำหมันหมู่ของรัฐบาลอินเดียเกิดขึ้นในช่วงยุคที่มืดที่สุดหลังจากอินเดียพ้นจากการเป็นอาณานิคมอังกฤษ คือช่วงหลังจากเดือน มิ.ย. 2518 ที่นายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและระงับสิทธิในทางประชาธิปไตยทั้งหมดของประชาชน ช่วง 21 เดือนที่มีการปกครองในระบอบเผด็จการนั้นเองทางการอินเดียได้ออกโครงการทำหมันหมู่ซึ่งมีลักษณะเชิงรุก โดยมีประชาชนมากกว่า 8 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายถูกหลอกล่อ จ้างวาน หรือบังคับให้ทำหมัน เพื่ออ้างว่าเป็นการควบคุมประชากร ขณะที่ในปัจจุบันจะมีการทำหมันกับผู้หญิงเสียส่วนใหญ่

แม้ว่ามาตรการฉุกเฉินดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่หมดสมัยไปแล้ว แต่กรณีการเสียชีวิตของผู้หญิงมากกว่าสิบคนที่เข้าร่วมการทำหมันหมู่ในโรงพยาบาลร้างที่แถบชนบทของรัฐฉัตติสครห์ยังคงสะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของอินเดียยังคงถูกหลอกหลอนโดยวิธีคิดและวิธีการแบบมาตรการฉุกเฉินในเรื่องของการควบคุมประชากรและการวางแผนครอบครัว

แคซมินระบุว่าประเทศอินเดียอาศัยการทำหมันเป็นวิธีการคุมกำเนิดหลักเพียงวิธีเดียวซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการที่ต้องการทำให้เป้าหมายอันทะเยอทะยานของตนเองสำเร็จ

บทความไฟแนนเชียลไทม์ระบุว่าถึงแม้การทำหมันในอินเดียจะเป็นไปตามความสมัครใจ แต่ก็มีการส่งเสริมด้วยการจ่ายเงินให้ผู้ที่ยอมทำ และมีการพยายามยัดเยียดจากกลุ่มคนทำงานด้านสาธารณสุขที่ได้รับค่าจ้างจากจำนวนคนที่พวกเขาพาเข้าร่วมหรือทำหมันได้สำเร็จ แต่ปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดที่ส่งผลกระทบในอินเดียคือพวกเขาการขาดวิธีการอื่นๆ ในการคุมกำเนิดในพื้นที่ชนบท

ในปี 2556 มีผู้หญิงในอินเดียรับการทำหมันราว 4.6 ล้านคน โดยร้อยละ 77 ในจำนวนนี้ไม่เคยใช้วิธีการคุมกำเนิดวิธีการอื่นมาก่อน นักรณรงค์กล่าวว่าทางการอินเดียล้มเหลวในการทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการคุมกำเนิดชั่วคราวด้วยวิธีการอื่นที่มีความทันสมัย บีบให้ผู้หญิงต้องใช้วิธีการทำหมันซึ่งทำให้การทำหมันไม่ได้เป็นเรื่องความสมัครใจตามที่กล่าวอ้าง

"ทางเลือกอื่นของผุ้หญิงอยู่ที่ไหน ... ผู้หญิงไม่มีทางเลือกอื่นพวกเธอจึงต้องใช้วิธีทำหมัน" ปูนัม มุตเทรจา ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธีประชากรของอินเดียกล่าว

นอกจากเรื่องไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว นักสิทธิมนุษยชนยังวิจารณ์เรื่องสภาพการทำหมันที่ล้าหลัง ไม่ถูกสุขอนามัย และมีลักษณะแบบอุตสาหกรรม โดยในการทำหมันหมู่มักจะทำด้วยเครื่องมือที่ไม่สะอาดและทำในสถานที่ที่จัดไว้ชั่วคราว

เช่นในสถานทำหมันของรัฐฉัตติสครห์ มีแพทย์คนเดียวคอยทำหมันผู้หญิง 83 คนภายใน 5 ชั่วโมง ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าแพทย์ที่ทำหมันนำเครื่องมือแพทย์จุ่มสารฆ่าเชื้อโรคเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะทำหมันคนอื่นต่อ แต่ตอนนี้แพทย์คนดังกล่าวถูกประณามจากการตกเป็นผู้ต้องสงสัยฆาตกรรมหญิงที่เสียชีวิตจากการทำหมันหมู่ ตัวเขาเองกล่าวหาว่าสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตมาจากยาที่ให้ทานหลังการทำหมันไม่ได้มาตรฐาน

แคซมินระบุว่าอัตราการเกิดในอินเดียลดลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ 40 ปีที่ผ่านมา แต่ว่าการลดจำนวนคนเกิดมาจากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่ามาจากการทำหมันหมู่ รัฐในอินเดียที่มีอัตราการเกิดต่ำมักจะเป็นรัฐที่มีความมั่งคั่ง ผู้หญิงมีการศึกษาและได้รับการส่งเสริมที่ดี เทียบกับรัฐที่ยากจนกว่าจะมีอัตราการเกิดสูงกว่าและมักจะมีวิธีการแก้ปัญหาด้วยการทำหมันหมู่

ทางการอินเดียเคยกล่าวให้คำมั่นในที่ประชุมนานาชาติว่าพวกเขาจะนำวิธีการคุมกำเนิดที่ทันสมัยมากขึ้นให้เป็นทางเลือกกับผู้หญิงในอินเดีย เพื่อให้คู่รักสามารถวางแผนการมีลูกได้ แต่สภาพที่เกิดขึ้นจริงในอินเดียคือระบบสาธารณสุขที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่คนทำงานให้คำปรึกษาเบื้องต้น งานคัดกรอง รวมถึงการดูแลติดตามผลในเรื่องการให้ผู้หญิงวิธีการคุมกำเนิดแบบทันสมัยและเป็นวิธีการที่ทำให้กลับมามีลูกได้

แม้สภาพสาธารณสุขในอินเดียจะยังย่ำแย่ แต่แทนที่รัฐบาลล่าสุดของอินเดียจะใช้งบประมาณสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ แต่พวกเขากลับเพิ่มเงินค่าจ้างวานให้กับการทำหมันผู้หญิงในรัฐบางรัฐ โดยเพิ่มจาก 600 รูปี (ราว 300 บาท) เป็น 1,400 รูปี (ราว 750 บาท)

บทความไฟแนนเชียลไทม์ระบุว่ามีผู้หญิงชาวอินเดียเสียชีวิตจากการให้กำเนิดลูกทั้งโดยทันทีหรือหลังจากนั้นไม่นานรวมแล้วราว 56,000 คนต่อปี คิดเป็นอัตราส่วนจะมีหญิงเสียชีวิต 190 คนจากการให้กำเนิดลูก 100,000 ครั้ง เทียบกับจีนอยู่ในอัตราส่วน 32 คน ต่อ 100,000 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีอัตราส่วนเด็กที่เสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอดจำนวน 309,000 คน จากจำนวนเด็กที่เกิดใหม่ 26 ล้านคน นับเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนเด็กที่เสียชีวิตในวันแรกเกิดทั่วโลก โดยปัญหาการเสียชีวิตจากการคลอดลูกนี้เป็นเพราะผู้หญิงมีลูกติดต่อกันเร็วเกินไป ซึ่งการทำหมันไม่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้เลย

"หลังจากผ่านช่วงภาวะฉุกเฉินมามากกว่า 30 ปีแล้ว รัฐบาลอินเดียควรจะโละทิ้งโครงการทำหมันหมู่แทนที่จะยึดติดกับวิธีการนี้ และจัดหาบริการวางแผนครอบครัวแทน" แคซมินระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

India’s efforts to control its population are still stuck in the past, FT, 14-11-2014
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net