ผลกระทบเผาโรงเรียนชายแดนใต้ จนท.ลงพื้นที่ยิบ ชาวบ้านเร่งเรียนรู้สิทธิขั้นพื้นฐาน

ชาวบ้านทุ่งยางแดงกังวลหนัก รีบหาความรู้เรื่องกฎหมาย เหตุเจ้าหน้าที่ลงปฏิบัติการในพื้นที่ขนานใหญ่หลังกรณีเผา 6 โรงเรียน นักสิทธิชี้มีญาติผู้ถูกคุมตัวร้องเรื่องซ้อมทรมานอีก แถมการคุมตัวส่อเค้าจะไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดิม

นส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พย.ที่ผ่านมา ตนพร้อมทีมงานได้เดินทางไปจัดอบรมความรู้เรื่องกฎหมายให้กับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งประมาณ 100 คนที่ทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี จากการอบรมพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ใกล้บริเวณที่มีเหตุการณ์การเผาโรงเรียนหกโรงในเขตอำเภอมายอและอำเภอทุ่งยางแดง ปัตตานี เมื่อ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องการให้มีการจัดอบรมเสริมความรู้ในเรื่องกฎหมาย เนื่องจากหลังจากที่เกิดเหตุการณ์แล้วต่างพบว่า มีปัญหาเรื่องของการที่จะต้องตอบคำถามทางเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติการกวาดล้างค่อนข้างมาก

นส.พรเพ็ญระบุว่า สิ่งที่บรรดาชาวบ้านในย่านดังกล่าวอยากเสริมความรู้เช่น ในการตอบคำถามเจ้าหน้าที่ และในการที่อยู่ในพื้นที่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นั้น จะต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างไรจึงจะรักษาสิทธิของตนเองได้ด้วย เช่นในยามที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้าน มีคำถามหลายประการ เช่นจะตรวจค้นได้ในกรณีใดบ้าง จะนำสิ่งของต่างๆออกไปได้หรือไม่ เมื่อมีบุคคลในบ้านถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปจะสามารถติดตามตัวพวกเขาได้จากที่ไหน อย่างไร การเข้าเยี่ยมคนที่ถูกนำตัวไปจะทำได้อย่างไร นานแค่ไหน และอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะในยามที่การทำงานของเจ้าหน้าที่บกพร่องไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย ชาวบ้านจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง

หลังจากที่มีการอบรมที่มีเจ้าหน้าที่ไปร่วมรับฟังแล้ว ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่วนใหญ่คำถามของชาวบ้านต่อเจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ให้ความชัดเจนในเรื่องของระเบียบต่างๆ เช่นในเรื่องของการควบคุมตัว เวลาในการควบคุมตัว การเข้าเยี่ยมจะทำได้แค่ไหนอย่างไร ซึ่งดูเหมือนว่า แม้เมื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันไปแล้ว ก็ยังไม่ชัดเจนนัก

ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า จากประสบการณ์ของชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ญาติถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปสอบปากคำพบว่า ในช่วงสามวันแรกของการที่ต้องไปให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่นั้น พวกเขาได้เยี่ยมก็จริงแต่เป็นเวลาที่สั้นมากกล่าวคือเพียงสองสามนาทีเท่านั้น และจากการ เท่าที่ได้ข้อมูลจากชาวบ้านนั้น มีผู้ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปสอบปากคำห้าคน

นส.พรเพ็ญบอกเล่าต่อไปว่า ในบรรดาผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ต่อไปนั้น หนึ่งในนั้นซึ่งถูกควบคุมตัวตั้งแต่ 14 ตค.จนถึง 15 พย.ถูกควบคุมตัวไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหารแห่งเดียว ซึ่งตนคาดว่า เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลได้เจ็ดวัน และโดยทั่วไปจะต้องมีการขอออกหมายภายใต้พรก.บริหารราชการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินและย้ายผู้ถูกควบคุมตัวไปไว้ยังสถานที่อื่น ซึ่งก่อนหน้านี้มักจะใช้สถานที่ของตำรวจซึ่งเป็นสถานที่ที่ระบุไว้ว่าจะใช้เป็นที่ควบคุมตัว และก่อนหน้านี้ มาตรฐานในการควบคุมตัวคือมีการตรวจรับตัวบุคคล ตรวจร่างกายเพื่อให้ชัดเจนว่าไม่ได้ถูกทำร้ายมาก่อน เป็นต้น แต่สำหรับบุคคลดังกล่าวนี้ยังคงถูกควบคุมตัวไว้ที่ค่ายอิงคยุทธฯต่อไป ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่า ได้มีการกำหนดเพิ่มเติมให้สถานที่กล่าวคือค่ายอิงคยุทธฯ ให้เป็นสถานที่ที่จะใช้เพื่อควบคุมตัวบุคคลในการสอบปากคำได้หรือไม่ เพราะในข้อมูลที่รับรู้หลังสุด ยังไม่มีชื่อของค่ายอิงคยุทธฯอยู่ในบัญชีสถานที่ดังว่า

นอกจากนั้นนส.พรเพ็ญกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวรายหนึ่ง ได้ยื่นจดหมายร้องเรียนขอให้ตรวจสอบว่ามีการซ้อมและทำร้ายร่างกายบุคคลในครอบครัวที่ถูกนำตัวไปสอบปากคำหรือไม่ โดยญาติของผู้ถูกควบคุมตัวตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการทำร้ายร่างกายบุคคลในครอบครัวหรือไม่ระหว่างการสอบปากคำที่ค่ายอิงคยุทฯ เพราะพบเห็นร่องรอยที่หน้า มีสภาพอิดโรย มีอาการซึมเศร้าและร้องไห้ในวันแรกๆ เต็มไปด้วยความหวาดกลัว และระหว่างการเข้าเยี่ยมไม่ได้โอกาสพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว  ซึ่งเรื่องนี้จะมีการยื่นคำร้องต่อประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ที่จะลงพื้นที่ในวันจันทร์ที่ 17 พย.

ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวตบท้ายว่า คดีการเผาโรงเรียนที่ทุ่งยางแดงนับว่าเป็นกรณีที่หลายฝ่ายติดตามอยากเห็นผล แต่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำคดีด้วยความรอบคอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้มีการคลี่คลายความขัดแย้งที่ยั่งยืนมากกว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดความรุนแรงปะทุหลายกรณีจนยากจะแยกแยะได้ว่า เป็นการจงใจสร้างเหตุการณ์ใหม่หรือว่าเป็นการแก้แค้นกันไปมา ดังเช่นในวันที่ 15 พย.ก็มีการสังหารคนพุทธหลายรายในสามจังหวัด ตนจึงอยากเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีคลี่คลายปัญหาที่โปร่งใสเพื่อไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม รวมทั้งหาวิธีการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้กับคนพุทธในพื้นที่ให้มากขึ้นในขณะเดียวกัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท