Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่างก็ได้คัดเลือกคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของตัวเอง คือ สปช.คัดเลือกตัวแทน 20 คน และ สนช.คัดเลือกตัวแทน 5 คน ทั้งสองส่วนนี้จะไปประกอบกับตัวแทนที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)อีก 11 คน รวมเป็นคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน มีภาระหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะใช้กับสังคมไทย โดยเป็นที่แอบอ้างกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปการเมืองให้ดำเนินต่อไป และจะเป็นเครื่องมือในการสร้างแผ่นดินที่งดงามสำหรับสังคมไทยตามความฝันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะ คสช. แต่ไม่น่าจะใช่ความฝันของประชาชนไทย

ทั้งนี้ คงต้องอธิบายว่า แม้ว่าคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นคณะกรรมการที่เพิ่งเลือกขึ้นใหม่ แต่คณะกรรมการนี้จะไม่ร่างรัฐธรรมนูญตามเจตจำนงอิสระ เพราะในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ พ.ศ.2557 ได้กำหนดกรอบไว้แล้วว่า รัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ที่จะร่างออกมาจะมีลักษณะเช่นไร กรอบที่วางไว้มี 10 ข้อ โดยหลักการสำคัญก็คือ การลดอำนาจของฝายบริหารที่จะมาจากนักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง ตัดสิทธินักการเมืองที่ไม่มีความผิดตามใจชอบ มอบอำนาจมากขึ้นให้กับองค์กรอิสระจากตุลาการ และให้ระบบราชการบริหารราชการแผ่นดินได้โดยอิสระจากรัฐบาล โดยหวังว่า ระบบการเมืองเช่นนั้นจะควบคุมไม่ให้นักการเมืองทุจริตคอรับชั่น และไม่ให้พรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมหาเสียงกับประชาชนได้อีก

คงจะต้องขอบอกว่ากระบวนการเตรียมร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้นถือว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเห็นอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กรรมการจะร่างออกมา ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญอำมาตย์นิยมที่ร้ายแรงเสียยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่ถูกคณะ คสช.ฉีกทิ้งอย่างไม่ใยดี แต่การไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังมีเหตุผลมากกว่านั้น เพราะสมมตว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่จะดีวิเศษอย่างไร ยุคแห่งการใช้รัฐธรรมนูญถาวรก็จะเป็นเพียงละครสลับฉาก คอยวันเวลาว่า เมื่อไรจะมีนายทหารผู้ชาญศักดารายเดิมหรือรายใหม่จะมาก่อรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วก็ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญถาวรชุดใหม่ ให้เสียเงินเสียทองกันเป็นพันล้านอีกครั้งหนึ่ง

ที่กล่าวมาไม่ใช่เรื่องที่กล่าวเกินจริง แต่เป็นการสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของไทยเอง รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถือเป็นฉบับที่ 19 และเป็นฉบับที่ 16 ในรัชกาลปัจจุบัน ฉบับที่กำลังจะตั้งกรรมการร่างขึ้นใหม่นี้จะเป็นฉบับที่ 20 และไม่มีประชาชนคนไทยคนใดเลยที่คิดเลยว่าฉบับที่ 20 นี้จะเป็นฉบับสุดท้ายที่คงอยู่ถาวรตามชื่อที่อ้าง ประเทศก็คงจะต้องมีการรัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วร่างใหม่ไปอีกเรื่อยๆ จนถึงฉบับที่ร้อย ภายใต้จารีตของชนชั้นนำปัจจุบัน ที่ไม่เคยเคารพกติกาหรือรัฐธรรมนูญฉบับใด แม้กระทั่งฉบับที่ร่างโดยพวกตัวเอง

ความจริงแล้วในทางหลักการของระบบการเมืองประชาธิปไตยสากล ต้องถือกันว่า รัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายสูงสุด และศักสิทธิ์ เพราะเป็นกฎหมายที่มาจากประชาชน กฎหมายอื่นใดที่มีข้อความขัดรัฐธรรมนูญถือเป็นโมฆะ รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายมหาชนที่แสดงถึงรูปแบบของรัฐ การได้มาซึ่งอำนาจ และการดำเนินการบริหารบ้านเมือง แต่มิได้หมายความว่า หลักการในกฎหมายรัฐธรรมนูญจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตลอดกาล รัฐธรรมนูญทุกฉบับจึงบอกวิธีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ด้วย เพื่อให้การใช้กฎหมายยืดหยุ่นตามสภาพการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น ประเทศประชาธิปไตยอันก้าวหน้าเช่นในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ ค.ศ.1787(พ.ศ.2330) จึงมีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวมาจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่เคยมีการล้มล้างหรือฉีกรัฐธรรมนูญเลย มีเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 27 ครั้ง ในประเทศอินเดีย ตั้งแต่เป็นเอกราชและประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ.2493 ถึงปัจจุบัน ก็ใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวมาโดยตลอด ไม่เคยมีการรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญ ประเทศเหล่านี้จึงขาดแคลนอาชีพผู้เชี่ยวชาญร่างรัฐธรรมนูญ ต่างจากประเทศไทย มีผู้เชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมาก สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญตามใจคณะรัฐประหารได้ทุกคณะ

ประเทศที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจำนวนมาก ก็เช่นประเทศเฮติ ตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ ค.ศ.1801 (พ.ศ.2344) มาจนถึงปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญ 23 ฉบับ แต่ถ้านับตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา มีเพียง 7 ฉบับ หมายความว่า ถ้านับจาก พ.ศ.2475 ประเทศไทยมีการใช้รัฐธรรมนูญมากกว่าเฮติเกือบ 3 เท่า ส่วนประเทศโบลิเวียนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ค.ศ.1826 (พ.ศ.2369) มาถึงปัจจุบัน ใช้รัฐธรรมนูญมา 17 ฉบับ ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าประเทศไทย

ดังนั้น จึงต้องขอย้ำว่า สถิติการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอันมากมายของประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องอันน่าภูมิใจ แต่เป็นสถิติอัปยศ ชนชั้นนำไทยควรจะต้องเรียนรู้ที่จะเลิกฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ ถ้าไม่พอใจรัฐธรรมนูญมาตราใดหรือหมวดใด ควรจะต้องหาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบอารยชนสากลและเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยเสียบ้าง

แต่ก็ต้องขอย้ำว่า จารีตการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ในประเทศไทย เป็นความนิยมในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น ประชาชนคนทั่วไปที่เป็นชาวบ้านไม่เคยไปเข้าร่วมฉีกรัฐธรรมนูญด้วยเลย ในทางตรงข้าม ก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหารพฤษภาคม พ.ศ.2557 ก็ได้มีขบวนการประชาชนที่พยายามต่อสู้เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น ก็เป็นฉบับอำมาตย์ที่เป็นผลิตผลของการรัฐประหาร พ.ศ.2549 และไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ขบวนการประชาธิปไตยอยากเห็นการแก้รัฐธรรมนูญตามครรลองที่ถูกต้อง มากกว่าการใช้อำนาจปืนมาฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แม้ว่าการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะถูกขัดขวางอย่างหนักจากศาลรัฐธรรมนูญและพลังฝ่ายขวาในสังคมไทยก็ตาม

เมื่อมาถึงขณะนี้ สิ่งที่ขบวนการประชาธิปไตยน่าจะทำก็คือ การไม่รวมและไม่สนใจรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อบอกกับชนชั้นนำในสังคมไทยว่า ต้องเลิกใช้รถถังฉีกรัฐธรรมนูญ และเมื่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดเป็นผลพวงของการรัฐประหาร ก็ต้องปฏิเสธการรัฐประหารไปด้วย กระบวนการต่อสู้เช่นนี้จะทำได้ก็ด้วยการยืนยันในความถูกต้องชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ต้องถือว่า ฉบับ พ.ศ.2540 มีผลบังคับใช้ จึงสามารถที่จะปฏิเสธผลพวงรัฐประหารได้ทั้งหมด

เมื่อถึงขณะนี้ จึงต้องขอบอกว่า ใครจะเป็นใครในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และจะร่างกันมาแบบใด จึงไม่จำเป็นสนใจติดตามเลย ปล่อยพวกเขาร่างกันตามใจชอบ จะเอาอย่างไรก็แล้วแต่พวกเขา เพราะในใจถือว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 เท่านั้นที่ชอบธรรม ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 จะถูกต้องเหมาะหมดโดยไม่มีจุดอ่อน แต่การแก้ไขต้องเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยของประชาชน ไม่ใช่การรัฐประหาร กระบวนการเช่นนั้นจึงจะยอมรับได้

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 486 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net