การเมืองของการผลิต(วัฒนธรรม)อินดี้ในบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สำหรับวัยรุ่นที่โตในยุค 1990 คงคุ้นเคยกับคำว่า“อินดี้”เป็นอย่างดี  หากเราใช้ช่วงปีที่เกิดเป็นการแบ่ง“รุ่น”อย่างคร่าวๆอาจกล่าวได้ว่าอินดี้คือคนที่เกิดหลังสงครามเวียดนาม(ยุติในปี ค.ศ.1975) ฉะนั้นหากนับถึงปัจจุบันคนรุ่นนี้ก็อยู่ในช่วงวัยกลาง 30 ขึ้นไป  ที่จริงปรากฏการณ์ของรุ่นอินดี้เป็นที่สนใจศึกษาในงานวิชาการด้านวัฒนธรรมศึกษาและสังคมวิทยา ในแง่ของชนชั้นกับการผลิตและการบริโภควัฒนธรรมมาตั้งแต่ปลายยุค 1990  โดยส่วนใหญ่เป็นงานศึกษาในบริบทของสังคมตะวันตก  สำหรับงานศึกษานอกบริบทตะวันตกเพิ่งเริ่มมีในช่วงไม่ถึง 10 ปี สำหรับข้อเขียนสั้นๆชิ้นนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงคนรุ่นอินดี้ในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียกับการผลิตวัฒนธรรมผ่านความหลากหลายของรูปแบบวัฒนธรรม(cultural forms)และความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจของการดำเนินชีวิต(economic of life)

 (1)

เมืองบันดุงอยู่ในชวาตะวันตก เกาะชวา เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของอินโดนีเซียรองจากจาการ์ต้าและสุราบายา บันดุงเป็นเมืองที่สร้างโดยดัชท์ อีสต์ อินเดีย (เนเธอแลนด์)ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18  และช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ดัชท์ อีสต์ อินเดีย เคยคิดจะย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ต้ามาที่บันดุง ปัจจุบันเมืองบันดุงมีประชากรราว 2.4 ล้านคน ในจำนวนนั้นราว 1.5 ล้านคนเป็นคนวัยหนุ่มสาวที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี หากคุยกับคนอินโดนีเซียพวกเขาจะกล่าวถึงบันดุงในแง่ของเป็นเมืองของคน(ท้องถิ่น)รุ่นใหม่และทันสมัย ต่างไปจากจาการ์ต้าที่เป็นเมืองหลวงและเมืองการค้า  ยอร์คยาการ์ต้าเป็นเมืองเก่า ในขณะบาหลีเป็นเมืองท่องเที่ยว ขณะเดียวกันบันดุงก็เป็นเมืองแห่งการช็อปปิ้งแบบที่พ่อค้าหัวใสทำเสื้อยืดสกรีน “Bandung, You Never Shop Alone”ขายกันเต็มเมือง ด้วยเวลาเดินทางจากจาการ์ต้าไปบันดุงเพียงแค่ 3 ชั่วโมงกว่า ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เมืองบันดุงจึงเต็มไปด้วยนักช็อปปิ้งมือเติบจากเมืองหลวง ย่านดาโก้และถนนเชียแฮมพลาสซึ่งมี Factory Outlet ของแบรนด์เนมดังนับ 10 แห่งจะเต็มไปด้วยลูกค้าที่มาจับจ่ายสินค้า แต่หากเราลัดเลาะจากย่านดาโกไปตามถนนเรียวและซอยเล็กซอยน้อยในถนนเรียว โลกของการช็อปปิ้งจะเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่งในทันที่ เพราะย่านนี้คือย่านของอินดี้

(2)

อินดี้และชุมชนการผลิตวัฒนธรรมในบันดุงเกิดขึ้นในช่วงกลาง ค.ศ. 1990 จุดเริ่มต้นของอินดี้มาจากดนตรี( พั๊งค์, เฮฟวี่เมตัลและอินดี้ป็อป)และสตรีทแฟชั่น วงดนตรีอินดี้ป็อปชื่อดังอย่าง Pure Saturday ออกอัลบั้มแรกในปี ค.ศ. 1996 งานรวมเพลงวงพั๊งค์ Bandung’s Burning ออกในปี ค.ศ. 1997 โดย Riotic Record ซึ่งต่อมาเริ่มออกแบบเสื้อผ้าในแบรนด์ Riotic พร้อมกับเปิด Distros ( Distributor Store) เป็นร้านที่ขายทั้งเสื้อผ้าแฟชั่นและเทปเพลงไปในตัว รวมทั้งใช้เป็นที่แสดงดนตรีในบ้างครั้ง ก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ.1996 UNKL347( ใช้ชื่อในตอนแรกเปิดว่า 347) แบรนด์เนมของสตีทแฟชั่นที่ถือว่าเป็นแรงบันดัลใจให้กับอินดี้รุ่นหลังๆ ก็ถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มวัยรุ่นสเก็ตบอร์ดที่คิดสนุกออกแบบเสื้อผ้าให้กับเพื่อนๆกันเอง การเชื่อมโยงของดนตรี(band)และแบรนด์สินค้า(brand)เกิดขึ้นผ่าน Distro ที่เป็นห้องแถวคูหาขนาดเล็กๆที่พวกวัยรุ่นใช้เป็นที่วางขายงานสินค้าแฟชั่นและงานเพลง  ต่อมาได้กลายเป็นการสร้างเครือข่ายการค้าระหว่างกลุ่ม Distro นับ 100 แห่งอันเป็นรากฐานสำคัญของการผลิตทางวัฒนธรรมในยุคเริ่มแรกของอินดี้ในบันดุง  

Distro ได้กลายสถานที่ที่พวกวัยรุ่นบันดุงมาสุมหัวกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ที่สำคัญ Distro เหล่านี้เกิดขึ้นมามีนัยยะของการโต้ตอบกับ Factory Outlet ของสินค้าแบรนด์เนมจำนวนมากที่เกิดขึ้นในบันดุงเช่นกัน เนื่องจากบันดุงเป็นเมืองของอุตสาหกรรมสิ่งทอและการ์เมนต์เช่นเดียวกับอีกหลายๆเมืองในประเทศกำลังพัฒนาที่มีแรงงานราคาถูกเป็นจุดดึงดุดการลงทุนของบริษัทเสื้อผ้าและสิ่งทอข้ามชาติ  แต่โรงงานของสินค้าแบรนด์เนมเหล่านี้ไม่ได้สร้างนักออกแบบแฟชั่นท้องถิ่น Distro จึงได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะและที่ที่สร้างโอกาสให้กับนักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นล่าง  เราจะพบว่านักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่จำนวนมากทั้งในบันดุงส่วนใหญ่ไม่ได้จบการศึกษาด้านออกแบบแฟชั่นหรือด้านศิลปินแต่อย่างใด  จำนวนหนึ่งเคยเป็นเด็กขายของใน Distro มาก่อน พวกเขาเรียนรู้การออกแบบด้วยตนเองจากแมกกาซีนในยุค 1990 และผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตในยุคกลาง 2000  พวกเขาเพิ่มทักษะการออกแบบด้วยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่วนมากในช่วงแรกเรียนรู้สไตล์การออกแบบของแฟชั่นในกระแสนิยมในโลกตะวันตกแล้วก็ปรับและออกแบบเพิ่มให้เป็นในสไตล์ของตนเอง อาจกล่าวได้ว่า Distro เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองบันดุง เป็นแหล่งชุมนุมพบปะของกลุ่มคนในแวดวงดนตรี การออกแบบแฟชั่น ศิลปะและกิจกรรมวัฒนธรรมซึ่งเท่ากับเป็นทั้งศูนย์เรียนรู้และยังช่วยสร้างการขยายพื้นที่สร้างสรรค์ของงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้กระจายตัวมากขึ้นมากขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า Distro คือพื้นที่ที่ก่อให้เกิดการอย่างแบบมีส่วนร่วม(active participant) และเปรียบเสมือนการสร้างชีวิตประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมด้วยตนเองและเพื่อตนเองแบบกลุ่มอินดี้ที่เติบโตในยุคหลังเผด็จการซูฮาร์โต  ยิ่งในยุคหลังเศรษฐกิจตกต่ำในปี ค.ศ. 1997 การสื่อสารในชุมชนอินดี้ยิ่งเกิดมากขึ้นการเกิดขึ้นของนิตยสาร Ripple Magazine (ปี 1999 -2003)ช่วยเป็นช่องทางในการแนะนำสินค้าและดนตรีใหม่ให้กับชุมชนอินดี้ รวมทั้งการเกิดขึ้นของอาร์ทสเปซต่างๆเช่น If Venue, BTW SPACE ,Common Room และ Bandung Creative City Forum ได้ช่วยสร้างพื้นที่ทางการเมืองในชีวิตประจำวันของอินดี้ในบันดุงเป็นอย่างมากขึ้นนอกเหนือจาก Distro ในช่วงก่อนหน้านั้น

(3)

การเกิดขึ้นของอินดี้ในบันดุงยังเป็นช่วงรอยต่อของเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองของอินโดนีเซียจากการเป็นสังคมเผด็จ(ในยุคประธานาธิบดีซูฮาร์โต)สู่สังคมประชาธิปไตย ทั้งในแง่การเมืองเชิงโครงสร้างและการเมืองในชีวิตประจำวัน ในยุคเผด็จการซูฮาร์โตการจำกัดเสรีภาพของการใช้สื่อและการผลิตสื่อทั้งในส่วนของสื่อกระจายเสีย สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดนตรีมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก แม้จะเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารที่นำพาเอาคอมพิวเตอร์และระบบอินเตอร์เน็ตมาช่วยค่อยๆกะเทาะกำแพงขวางกั้น ข้อมูลข่าวสารระหว่าง “ท้องถิ่น”และ “โลก(ภายนอก)” แต่ในอินโดนีเซียในยุคนั้นยังไม่ใช่สิ่งที่เกิดได้ง่ายและรวดเร็วดังเช่นประเทศอื่นๆในแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ ที่เข้าถึงเทคโนโลยีในยุคข้อมูลข่าวสารได้ก่อนอินโดนีเซีย  ปี ค.ศ. 1997 การล้มสะลายของเผด็จการซูฮาร์โตอันมีปัจจัยสำคัญจากการคอรัปชั่นและเศรษฐกิจตกต่ำในเอเชีย  ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียเบ่งบานพร้อมๆกับการเกิดขึ้นเปิดเสรีในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เยาวชนในอินโดนีเซียได้มีโอกาสเข้าถึงและเรียนรู้ปรากฏการทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายนอกมากขึ้น Distro เหล่านี้จะเสมือนเป็น “การรื้อสร้าง”และ “สร้างความหมายใหม่”ให้กับ“ความเป็นท้องถิ่น”ของบันดุง(locality)กับประเทศอินโดนีเซียและโลก หากเราเดินไปตาม Distro ต่างๆในย่านถนนเรียวผู้เขียนบอกได้เลยเราไม่มีทางเจอเสื้อยืดสกรีนแบบ I Love Bandung แน่นอน เสื้อยืดที่เราจะเจอจะเป็นเสื้อในสไตล์แบบโลโก้วงดนตรีร็อกต่างๆ(ทั้งวงท้องถิ่นและวงต่างประเทศ) สไตล์ฮิป ฮอป (หรือเสื้อในสไตล์แบบ global subculture) และอีกหลากสไตล์ที่ดูมีความ “ร่วม”กับวัฒนธรรมโลก นอกจากนี้ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยม Dsitro ของแบรนด์ Homeless Dawg ที่ตั้งอยู่ในชุมชนเขตชานเมืองบันดุง และพบว่าเขามีลูกค้าต่างชาติจำนวนมากมายเยี่ยมร้านของเขา(ที่เขายินดีเรียกว่าเพื่อน) ภายในร้านเขาตบแต่งด้วยรูปถ่ายของลูกค้าที่มาเยี่ยมร้าน พร้อมๆกันนั้นเขาก็เรื่องเล่ามากมายถึงเพื่อนเหล่านั้นที่ยังติดต่อกันอยู่ Distro เล็กๆเก่าๆแห่งนี้จึงเหมือนเป็นการย่อชุมชนโลกเข้ามาไว้ด้วยกัน

แม้อินโดนีเซียจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในยุคหลังปี 2000 แต่การผลิตทางวัฒนธรรมของอินดี้(ดนตรี, แฟชั่น, ศิลปะ)ส่วนใหญ่เป็นงานและ/หรือกิจกรรมที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของอินโดนีเซีย ดังนั้น การที่เยาวชนจำนวนมากในบันดุง (รวมทั้ง จาการ์ต้า ยอร์คยาจาร์ต้าและบาหลี)สร้างตัวตนจากพื้นที่ดนตรีจึงเป็นการสร้างตัวตนบนพื้นที่ที่เป็นอิสระจากการจัดการและควบคุมของรัฐ(ยุคหลังซูฮาร์โต)ค่อนข้างมาก แม้ว่าบ้างครั้งรัฐจะเข้ามาควบคุมในบ้างครั้งในแง่ของการเผยแพร่และการจัดการแสดงดนตรี(โดยเฉพาะกับแทรช เมตัล) แต่นั้นเป็นการควบคุมการใช้สื่อและการสื่อสาร แต่ไม่อาจควบคุมการรูปแบบทางวัฒนธรรมได้ทั้งหมด  การรวมกลุ่มและการสร้างสรรค์งานไม่ว่างานเพลง, แฟชั่นงาน, กราฟฟิค ยังคงดำเนินอยู่ พวกเขารวมกลุ่มและสร้างแนวร่วมที่อาจเรียกได้ว่ามีความเป็นชุมชน(Komunitas) แต่ชุมชนเหล่านี้ไม่ได้มีความยั่งยืนในตนเอง เพราะในขณะ UNKL347 ได้กลายเป็นสินค้าแบรนด์เนมยี่ห้อดังในตลาดแฟชั่นโลก ปัจจุบันมีสาขา 7 แห่งในเมืองใหญ่ๆทั่วโลก Riotic หนึ่งในตำนานอินดี้ของบันดุงกลับต้องปิด Distro ของตนเองไป( มีข่าวว่ากำลังเตรียมจะกลับมาเปิดอีกครั้ง) นักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่ในบันดุงหลายคนเห็นว่า UNKL 347 กลายเป็นสินค้าโหล( mass product)และเกิดกระแส Anti-distro

(4)

ผ่านมา 20 ปีชุมชนอินดี้ในบันดุงกำลังก้าวเข้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงอีกขั้นหนึ่ง แผนงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอินโดนีเซียที่ประกาศในปี ค.ศ.2011 อาศัยโมเดลจากเมืองบันดุง ผู้ว่าการรัฐบันดุงคนปัจจุบันริดวาน คามิล(เพิ่งได้รับเลือกเมื่อปี 2013)เป็นสถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้ง Bandung Creative City Forum ได้ให้การสนับสนุนแผนงาน Creative Bandung อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะสนับสนุนให้บันดุงเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน Creative City ของ UNESCO  และอาจจะไม่น่าแปลกใจหากอินโดนีเซียมีนโยบายระดับชาติที่หนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเต็มที่เพราะโจโค่ จาโควีได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มอินดี้จำนวนมากแปลกใจที่กุสตาฟแต่สำหรับกุสตาฟ อิสคันดาร์นักกิจกรรมวัฒนธรรมจาก Common Room Network เห็นว่าอินดี้ในบันดุงเป็น “ขบวนการคิดเอง ทำเอง”(DIY movement)ที่มีรากฐานมาจากวัยรุ่นชนชั้นล่าง  เขาเห็นว่าโครงการต่างๆของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศที่กำลังจะเกิดกับอินดี้เป็นสิ่งที่ท้าทายของการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนอินดี้ในบันดุง  ซึ่งคงต้องตามดูกันต่อไป

จริงๆแล้วปรากฎการณ์ของการเกิดและการเปลี่ยนแปลงของอินดี้ในบันดุง นั้นมีทั้งลักษณะเฉพาะและลักษณะร่วมกับอินดี้ที่เกิดขึ้นในเอเชียไม่ว่าจะเป็นในไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย ลาวฯลฯ คนรุ่นอินดี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมและเสรีนิยมใหม่  ซึ่งยังเป็นประเด็นที่เรายังไม่ได้ศึกษากันมากนัก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปัจจุบันมีคนรุ่นหนุ่มสาวอยู่กว่า 100 ล้านคน ทั้งหมดนี้อาจจะไม่ใช่คนที่แสดงตัวตนร่วมในวัฒนธรรมอินดี้  แต่จำนวนหนึ่งแสดงตนอย่างแน่นอนเช่นในบันดุงที่ได้กล่าวมา

 

 


[1] ส่วนหนึ่งของงานวิจัย Creative City and the Sustainable Life: A Study on the Making of Cultural Spaces in Osaka and Bandung โครงการปัญญาชนสาธารณะเอเชีย( 2013-2014) มูลนิธินิปปอน  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท