เมื่อ ‘บุหรี่’ ถูก ‘กระชับพื้นที่’ ในสถานที่ทำงาน

กระแสการรณรงค์และการออกกฎห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ทำงานนั้นมีอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยเหตุผลเรื่องการอยู่ร่วมกัน-สุขภาพ-ค่าใช้จ่ายของรัฐและนายจ้าง ที่ต้องเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ส่วนไทยไปไกลถึงขั้นมีแนวคิดจะออกใบสั่งให้คนสูบบุหรี่แล้ว

 

 

 

 

เมื่อบริษัทผลิตบุหรี่ในสหรัฐฯ จำกัดพื้นที่พนักงานสูบบุหรี่

เว็บไซต์ Business Insider รายงานว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นไปบริษัท Reynolds American ผู้ผลิตบุหรี่ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา จะห้ามพนักงานสูบบุหรี่ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ ซิการ์ หรือไปป์ บริเวณโต๊ะทำงานส่วนตัว, ห้องประชุม ทางเดินและลิฟต์ หลังจากที่ปัจจุบันที่ห้ามสูบบริเวณโรงอาหารและศูนย์ออกกำลังกายอยู่แล้ว แต่กระนั้นบริษัทฯ ยังอนุโลมอนุญาตให้พนักงานรับนิโคตินทางอื่นได้อยู่ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ลูกอมรสบุหรี่ และ "Eclipse" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์บุหรี่แบบไร้ควันของบริษัทฯ เอง โดยระเบียบใหม่นี้จะเริ่มใช้เมื่อพื้นที่สูบบุหรี่ของบริษัทฯ สร้างเสร็จ

บริษัทฯ ระบุว่าจากข้อมูลด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทฯ พบว่าปัจจุบันอัตราส่วนของพนักงานที่สูบบุหรี่มีประมาณเกือบ 1 ใน 5 จากพนักงานทั้งหมด 5,200 คน โดยบริษัทฯ ระบุว่าถึงเวลาที่จะปรับเปลี่ยนกฎการสูบบุหรี่นี้และเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เพื่อการอยู่ร่วมกันของทั้งพนักงานและผู้ที่มาติดต่อที่สูบและไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกฎนี้ก็สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน

สำหรับส่วนแบ่งทางการตลาดบุหรี่ในสหรัฐฯ นั้น บริษัท Reynolds American มีส่วนแบ่งอยู่ร้อยละ 25, บริษัท Lorillard มีส่วนแบ่งร้อยละ 15 และบริษัท Altria บริษัทแม่ของแบรนด์บุหรี่ชื่อดังอย่าง Marlboro มีส่วนแบ่งร้อยละ 50 ซึ่งบริษัท Altria เองก็ห้ามพนักงานสูบบุหรี่ในโรงงาน ทางเดินและลิฟต์ เหมือนกัน

ราคาที่ต้องจ่าย

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (US-CDC) เมื่อปี 2011 ระบุว่าการสูบบุหรี่ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียเม็ดเงินถึงปีละกว่า 193,000 ล้านดอลลาร์ จากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของคนอเมริกัน มีการประมาณการกันว่าค่าใช้จ่ายจ้างพนักงานที่สูบบุหรี่มีต้นทุนสูงกว่าพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 18% และช่องว่างดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2018 เพราะแผนประกันสุขภาพที่นายจ้างต้องจ่ายภาษีให้รัฐเพิ่ม ตามมาตรการปฏิรูปกฎหมายประกันสุขภาพที่ผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรสเมื่อปี 2010

ภาคเอกชนเองจึงเหลือแค่ 2 ทางเลือกคือ 1.ลดสวัสดิการหรือ 2.ลดแนวโน้มต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่จะเพิ่มขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเพิ่ม และการเลือกทางเลือกที่ 2 นั้นจึงต้องกระทบกับพนักงานที่สูบบุหรี่ไปโดยปริยาย

บริษัทหลายแห่งมีมาตรการริเริ่มเพื่อลดการสูบบุหรี่พนักงานเช่นในปี 2011 บริษัท Macey เครือข่ายห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นในสหรัฐฯ เริ่มเก็บสมทบค่าประกันสุขภาพเดือนละ 35 ดอลลาร์ จากพนักงานที่ยอมรับว่าสูบบุหรี่ โดยพนักงานสามารถชะลอการจ่ายได้หากสมัครเข้าโปรแกรมเลิกบุหรี่ ด้านบริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่อย่าง PepsiCo ใช้มาตรการหนักกว่านั้น โดยพนักงานที่สูบบุหรี่จะต้องจ่ายค่าประกันปีละ 600 ดอลลาร์ ขณะที่สำนักพิมพ์ Gannett เรียกเก็บค่าประกันจากพนักงานที่สูบบุหรี่ 60 ดอลลาร์ต่อเดือน  

บริษัทขนส่ง Union Pacific และบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลสวนอย่าง Scotts Miracle-Gro มีนโยบายไม่รับคนที่สูบบุหรี่เข้าทำงานเลย นอกจากนี้ Union Pacific ยังเสนอช่องทางเข้าถึงฟิตเนสส์ฟรีแก่พนักงาน ส่วน Scotts Miracle-Gro ยังลดเงินสมทบประกันสุขภาพเดือนละ 60 ดอลลาร์สำหรับพนักงานและคู่สมรสที่ตรวจสอบน้ำหนักระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตเป็นประจำ

มีการประเมินว่าร้อยละ 59 ของบริษัทที่เสนอโปรแกรมเพื่อสุขภาพที่ดีในปี 2010 ร้อยละ 28 จ่ายโบนัสสำหรับพนักงานที่เลิกบุหรี่ ลดน้ำหนัก หรือบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพ และ 1 ใน 10 ให้ส่วนลดประกันภัยสำหรับพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ รับการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือเข้าร่วมโปรแกรมลดน้ำหนัก

แม้ว่าการออกมาตรการเหล่านี้อาจจะช่วยให้ภาคเอกชนลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับด้านสุขภาพให้แก่พนักงาน แต่ทั้งนี้พบว่าโครงการการให้พนักงานเลิกบุหรี่มีอัตราความสำเร็จแค่ร้อยละ 25 เท่านั้น

 

การสูบบุหรี่กับประเด็นเสรีภาพที่สวิตเซอร์แลนด์

ในเดือนกันยายนปี 2012 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้มีการลงประชามติ “การห้ามสูบบุหรี่ภายในสถานที่ทำงานและสถานที่สาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ” ซึ่งความเห็นของคนสวิสแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายโดยฝ่ายสนับสนุนการห้ามสูบบุหรี่อย่างพรรคสังคมนิยมมองว่าการบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่อย่างจริงจังจะช่วยยกระดับและคุ้มครองสุขภาพพลเมืองชาวสวิสได้ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านระบุว่ากฎนี้เปรียบเสมือนการจำกัดสิทธิพลเมือง และถือว่าเป็นการล่าแม่มดตามล่าลงโทษผู้ที่ประพฤติต่างจากผู้อื่น

แต่ผลการลงประชามติใน 26 รัฐทั่วประเทศปรากฏว่าคนสวิสร้อยละ 66 ใน 25 รัฐ ไม่เห็นด้วยที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ยกเว้นเจนีวาเพียงรัฐเดียวที่เสียงสนับสนุนการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะนี้

หลังการลงประชามติตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีและโล่งอกใจต่อผลการลงประชามติที่ออกมา โดยให้เหตุผลว่าหากมีการบังคับใช้กฎหมายนี้ทั่วประเทศจริง จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจร้านอาหาร ที่มีการแบ่งสัดส่วนที่นั่งสำหรับลูกค้าที่สูบบุหรี่ หรือเปิดพื้นที่เฉพาะให้แก่ผู้ที่ต้องการสูบบุหรี่ชัดเจนอยู่แล้ว

ทั้งนี้ในสวิตเซอร์แลนด์ โรงแรม ร้านอาหาร และบาร์ต่างๆ ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดพื้นที่พิเศษเพื่อให้มีการสูบบุหรี่ และชาวสวิสซึ่งมีอัตราการสูบบุหรี่ค่อนข้างสูง ทำให้สวิตซอร์แลนด์จัดการกับเรื่องนี้ล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี ซึ่งมีการห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะมานานแล้ว

โดยเมื่อปี 2010 สวิตเซอร์แลนด์เคยบังคับใช้กฎหมายลักษณะนี้แล้ว แต่กลับมีการบังคับใช้อย่างไม่ทั่วถึงทั้งประเทศ เปิดช่องโหว่ให้เกิดความไม่เท่าเทียม และตามมาด้วยข้อยกเว้นจำนวนมากในแต่ละรัฐ เช่นบางรัฐไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างเด็ดขาด แต่บางรัฐกลับอนุญาตให้สูบได้ภายในพื้นที่ที่จัดไว้

 

แนวคิด ‘ออกใบสั่ง’ คนสูบบุหรี่พื้นที่ห้ามสูบประเทศไทย

ที่ในสหรัฐฯ กองทุนการสนับสนุนการณรงค์งดสูบบุหรี่ของรัฐต่างๆ มักจะถูกบริษัทบุหรี่กับนักการเมืองบ่อนทำลายจนกองทุนต้องถูกยุบไปหลายกองทุนและการสู้บริษัทบุหรี่ที่นั่นนั้นเป็นสิ่งที่ยากเย็นมาทุกยุคทุกสมัย แต่สำหรับประเทศไทยบ้านเราถือว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการรณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และเราอาจจะไปไกลกว่านี้อีกหากแนวคิด ‘ออกใบสั่ง’ คนสูบบุหรี่พื้นที่ห้ามสูบประเทศไทย ถูกนำไปใช้จริง

เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า แนวทางการลดการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะให้ได้ผลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1. ทำให้ทุกคนรู้ถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสอง 2. ทำให้คนรู้ถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ 3. บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไทยยังมีปัญหาทั้งหมด ถึงแม้คนไทยจะมีความรู้เรื่องอันตรายของควันบุหรี่มากขึ้น แต่การรับรู้กฎหมายยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเรื่องสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ ทั้งที่มีการประกาศสถานที่ห้ามสูบแล้ว แต่ยังขาดการรณรงค์หรือให้ข้อมูลอย่างจริงจัง ส่วนการบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินการยาวนาน ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการจะปรับคนที่ทำผิดกฎหมายซึ่งต้องแก้ไข ควรมีการให้ความรู้เรื่องสถานที่ห้ามสูบด้วยการติดสติกเกอร์แสดงสัญลักษณ์ห้ามสูบ

ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ส่วนขั้นตอนที่ยาวนานในการดำเนินการกับผู้ทำผิดกฎหมายสูบบุหรี่ เสนอว่าควรปรับด้วยการออกเป็นใบสั่ง เหมือนคนทำผิดกฎจราจร ผู้ที่ทำผิดแล้วถูกใบสั่งก็ต้องไปเสียค่าปรับตามเวลาที่กำหนดภายใน 2 สัปดาห์ โดยให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ได้รับแจ้งเป็นผู้ออกใบสั่ง ส่วนประชาชนทั่วไปเมื่อเจอคนฝ่าฝืนกฎหมายโดยสูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบ เช่น ในร้านอาหาร ควรแจ้งให้เจ้าของร้านทราบ เพื่อตักเตือนผู้กระทำผิด หากเจ้าของร้านนิ่งเฉยก็จะมีความผิดด้วย แต่ถ้าตักเตือนแล้วไม่เชื่อ ผู้สูบบุหรี่จะมีความผิดเพียงคนเดียว และเจ้าของร้านจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ สธ. รับทราบ

“ถ้ามีการปรับแก้กฎหมายให้ขั้นตอนการเอาผิดสั้นลง จะต้องมีการระบุด้วยว่าเมื่อพบเจอผู้ที่สูบในพื้นที่ห้ามสูบจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ไหน อย่างไร เพราะปัจจุบันปัญหาส่วนหนึ่งคือ ประชาชนไม่ทราบว่าจะต้องแจ้งใคร หากปรับเป็นรูปแบบของใบสั่งได้จะลดเวลาในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ จากที่ปัจจุบันต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายก็ไม่อยากทำ ท้ายที่สุดจะช่วยลดการฝ่าฝืนการสูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบ เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นและจริงจัง ซึ่งปัจจุบันแทบจะไม่มีการเอาผิดเลย” ศ.นพ.ประกิตกล่าว

 

เกร็ดตัวเลขเกี่ยวกับบุหรี่ในไทย

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีการสำรวจ การสูบบุหรี่ของคนไทยทั้งประเทศครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2519 พบว่า มีผู้สูบบุหรี่จำนวน ทั้งสิ้น 8.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30.1 จากการสำรวจใน 2544 พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำจำนวน ทั้งสิ้น 10.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.6 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 11 ปี

ผลจากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ปี 2554 พบว่าประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 53.9 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน หรือร้อยละ 21.4 โดยเป็นผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ 9.9 ล้านคน(ร้อยละ 18.4) และเป็นผู้ที่สูบบุหรี่นานๆ ครั้ง 1.6 ล้านคน (ร้อยละ 2.9) โดยอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 20 เท่า คือร้อยละ 41.7 และ 2.1 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ในช่วงปี 2544-2552 พบว่าอัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง แต่ในปี2554 มีอัตราการสูบเพิ่มขึ้นจากปี 2552 คือจากร้อยละ 18.1 เป็นร้อยละ 18.4 โดยเพิ่มขึ้นในผู้ชายจากร้อยละ 35.5 เป็น 36.1 ส่วนผู้หญิงอัตราการสูบยังคงที่

จากผลการสำรวจในปี 2554 พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ 17.9 ปี โดยมีอายุน้อยลง เมื่อเทียบกับปี 2550 (18.5 ปี) และพบว่าทุกกลุ่มวัยมีอายุเริ่มสูบบุหรี่น้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน (15-24 ปี) เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุน้อยลงค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่น คือจากปี 2550 เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่อายุเกือบ 17 ปี และในปี 2554 ลดลงเป็น 16.2 ปี

ข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2552 พบว่าการควบคุมการสูบบุหรี่เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วย แก้ปัญหาความยากจนในเมืองไทย เพราะคนไทยที่สูบบุหรี่มากที่สุดคือ กลุ่มคนที่ “เกือบจน” และ “จนที่สุด” โดยกลุ่มคนที่จนที่สุดเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 450 บาท เป็นค่าบุหรี่ จากรายได้เดือนละ 2,094 บาท หรือเกือบ 1 ใน 4 ของรายได้และในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 586 บาทต่อเดือน

 

ประกอบการเขียน:

Companies Get Tougher with Employees Who Smoke (Pat Wechsler, Bloomberg Businessweek,30-6-2011)
http://www.businessweek.com/magazine/companies-get-tougher-with-employees-who-smoke-07012011.html

US tobacco giant Reynolds bans smoking in its offices (Business Insider, 23-10-2014)
http://www.businessinsider.com/afp-us-tobacco-giant-reynolds-bans-smoking-in-its-offices-2014-10

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท