Skip to main content
sharethis

29 ต.ค.2557 เพจคืนความสุขด้วยประกันสังคมคนทำงาน รายงานว่า เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีราชดำเนินเสวนา "ปฏิรูปประกันสังคม ปฏิรูปประเทศไทย"

สุนี ไชยรส คปก.กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวถึงการให้ความสำคัญต่อร่างพ.ร.บ.ที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้าชื่อ โดยหลักการประกันสังคมต้องการขยายให้เกิดความครอบคลุม แล้วขยายสิทธิถึงเพิ่มสิทธิผู้ประกันตน ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมมีผลกระทบต่อผู้ประกันตนจำนวนมาก แม้ว่าสนช.จะมาจากนอกระบบจะทำการปฏิรูปทั้งทีให้เวลารับฟังความคิดเห็น สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เมื่อเห็นปัญหาควรหยุดไว้ก่อนแล้วนำมาทำกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมเสียเวลา 1-2 เดือน เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนนำข้อเสนอหลักการเข้าบรรจุในร่างด้วย

พิสิษฐ ลี้อาธรรม สปช. กล่าวว่าหลักการที่มีการนำเสนอนั้นมีความก้าวหน้า ด้วยหลักการเป็นองค์กรอิสระนั้นมีมาตั้งแต่เริ่มการร่างประกันสังคมในอดีตแล้ว แต่วันนี้ก็ยังไม่ได้เป็นองค์กรอิสระในการบริหารจัดการ และยังมีปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนโดยตรง แม้ว่าหากสนช.มีการนำร่างพ.ร.บ,ประกันสังคมเข้าสู่การพิจารณาโดยไม่ใส่ใจเสียงท้วงติงจากผู้ประกันตนที่ต้องการมีส่วนร่วม เมื่อร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมเข้าสู่การพิจารณาของสปช.ก็จะต้องมีการนำมาดูอีกครั้งเพื่อรับฟังข้อเสนอดีๆจากผู้ประกันตน

นันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ตัวแทนกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมมีหลายข้อที่ถือว่ามีความก้าวหน้าพรุ่งนี้ (30 ต.ค.)จะมีการนำเสนอเข้าประชุม สนช.ทำการพิจารณา เพื่อเป็นกฏหมายประกันสังคมฉบับใหม่มาบังคับใช้ต่อผู้ประกันตน ในฐานะคนทำงานเห็นว่าเป็นร่างกฏหมายที่ดีมีความครอบคลุม และให้สิทธิเพิ่มขึ้น เรื่องการแข่งขันกันในการให้บริการกองทุนต่างๆ เช่น หลักประกันสุขภาพ ข้าราชการ ประกันสังคมนั้นถือว่าดี เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี จึงเห็นว่าอย่าให้มีการชะลอร่างฉบับนี้เลยเพราะตอนนี้ส่วนของข้าราชการสำนักงานประกันสังคมพร้อมแล้วที่จะทำงานบนความเปลี่ยนแปลงนี้

มนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้หากต้องปฏิรูปจริงจะต้องทำให้ครอบคลุมคนทำงานทุกคน ที่มาของตัวแทนต้องมาจากการเลือกตั้งโดยผู้ประกันตน ร่างของรัฐบาลไม่มีเรื่องอค์กรอิสระที่ขบวนการแรงงานพยายามเสนอมาตลอด แรงงานจะเคลื่อนไหวให้รัฐบาลนำร่างนี้ออกมาก่อนเพื่อพูดคุยกันใหม่ มีการทำประชาพิจารณ์ เพราะร่างนี้ไม่เคยมีการประชาพิจารณ์มาก่อนอย่างที่อ้าง เมื่อแรงงานไม่ยินยอมให้ร่าง พ.ร.บ.รัฐบาลเข้าสนช.พรุ่งนี้ก็ต้องคิดกันว่าจะเคลื่อนไหวให้ถึงที่สุดอย่างไร เพราะหากผ่านวาระ1 ผู้ประกันตนก็จะได้ร่างกฏหมายประกันสังคมฉบับรัฐบาลฝ่ายเดียวที่ขาด 4 หลักการของแรงงานเข้าไป

วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังมอบความทุกข์ให้กับประชาชน ทุกข์ที่ 1 ผู้ประกันตน คือ การตัดสิทธิกรณีลาออกจากงาน เพราะการที่คนงานลาออกจากงานเพื่อรับสิทธิเพียงร้อยละ 30 เป็นเงินประมาณเดือนละ 2,000-3,000บาท เป็นเวลา 3 เดือน เป็นเงินที่น้อยมากต่อการดำรงชีพ แต่ที่เขาลาออกอาจเพราะความจำเป็นอย่างมาก ทุกข์ที่ 2 การบริการที่ใกล้บ้าน แต่การเข้าถึงซึ่งสุขภาพที่ดีด้านการดูแลสุขภาพ การรักษา และวินิจฉัยโรค ไม่สามารถทำให้เข้าถึงการตรวจสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ในฐานะผู้นำยังคงได้รับเสียงร้องเรียนอยู่ตลอดเวลา การรักษาพยาบาลควรมีมาตรฐานเดียว

การที่ขบวนการแรงงานร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้รัฐบาลรับ 4 หลักการเข้าพิจารณาบรรจุในร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ประโยชน์ทดแทน ยืดยุ่น อิสระ โปร่งใสตรวจสอบได้ การได้มาของระบบตัวแทนในคณะกรรมการบริหารประกันสังคม ตนเชื่อว่าไม่ได้มีคนเก่งเพียงกลุ่มเดียวเหมือนปัจจุบัน และยังเชื่อว่าผู้ประกันตนดูออกว่าใครคือคนที่เก่ง ดี ไม่โกงกินแล้วเลือกมาเป็นตัวแทน หากไม่เก่งจริงก็ไม่ต้องลงสมัคร

การใช้เงินของกองทุนปัจจุบันมัความไม่สอดคล้อง โปร่งใส ผู้ประกันตนไม่ได้รับประโยชน์จริง การที่นำเงินไปต่างประเทศดูงานนั้นประโยชน์ที่ได้คืออะไร อยากบอกว่าใช้เงินคนที่ทุกข์ยากที่ใช้ทั้งเลือดเนื้อทำงานจ่ายเงินสมทบประกันสังคมที่คาดหวังต่อการได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการที่ดี การใช้เงินประชาสัมพันธ์โฆษณาแล้วผู้ประกันตนได้อะไร ใช้เงินมากมายไปกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตน ฉะนั้นหากต้องการปฏิรูปต้องร่วมมือกันทำ ไม่ใช่ยังจะใช้วิธีการเดิมๆ ฝ่ายเดียวในฐานะที่เคยอดข้าวประท้วงให้ได้กฏหมายประกันสังคมพ.ศ. 2533 มา ไม่อยากเห็นว่าแรงงานต้องใช้รูปแบบเดิมเพื่อบอกควมต้องการให้หยุดนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมเข้าสนช.ก่อนให้กลับมาคุยกันสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะเงินผู้ประกันตนจำนวนมากเราต้องการบริหารเองอย่างมีส่วนร่วม

บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่าการปฏิรูประบบประกันสังคมนั้นเดิมอยู่ในรัฐบาลประชาธิปไตย และมีความพยายามหลายครั้งที่จะปฎิรูปภายใต้รัฐบาลรัฐประหารแต่ไม่เคยได้ ซึ่งตามประวัติศาสตร์การรัฐประหารไม่เคยสร้างกฏหมายที่ดีให้กับแรงงานเลย

ประเด็นต่อมา ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่จะเสนอเข้า สนช.พรุ่งนี้ได้ถูกร่างขึ้นช่วงปี 2548 และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นช่วงปี 2549 ประมาณ 5 ครั้งและเมื่อปี 2550 และมีคุณมนัส โกศล เข้าเป็นสนช. การนำเสนอร่างกฏหมายนั้นก็มีการเสนอร่างประกบ โดยมีกำหนดให้สนช. 20 คนเสนอร่างกฏหมายได้ ไม่ใช่เหมือนปัจจุบันที่มีเพียงร่างเดียวไม่มีการเปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่คิดที่จะสร้างขบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ถึงไม่ฟังเสียงทักท้วงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net