Skip to main content
sharethis
สปช.พลังงานเสียงแตกไม่เห็นด้วย หากนำสัมปทานปิโตรเลียม 21 มาพิจารณาเพราะแทรกแซงการบริหารงานของรัฐ ระบุควรปฏิรูปเพื่อวางยุทธศาสตร์ระยะยาว รองปลัดกระทรวงพลังงานย้ำหากไม่เปิดสัมปทาน 21 ไทยต้องพึ่งแอลเอ็นจีทั้งหมด กระทบค่าครองชีพพุ่ง
 
24 ต.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสมาชิกกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเครือข่ายที่เรียกตัวเองว่าภาคประชาชนที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช.ร่วมด้วยออกมาเรียกร้องให้นำเรื่องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เข้าสู่ที่ประชุม สปช. เนื่องจากการทำงานของ สปช.เป็นเรื่องปฏิรูปที่ควรมองไปถึงการวางแผนงานระยะยาวของประเทศ แต่การเปิดสัมปทานรอบ 21 เป็นเรื่องการบริหารงานของรัฐบาล โดยหาก นำเรื่องการบริหารงานของทุกกระทรวงเข้าสู่ที่ประชุม สปช. รัฐบาลจะทำงานไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายต่อประเทศชาติ
 
ส่วนกรณีที่มีการให้ข้อมูลของเครือข่ายคัดค้านสัมปทานรอบ 21 ออกมาว่าที่ผ่านมาเอกชนจ่ายผลตอบแทนภาครัฐไม่ครบถ้วน แบ่งได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นนั้น นายมนูญ  กล่าวว่า  ผู้ให้ข้อมูลต้องมองข้อมูลให้ครบถ้วน กำไรจะต้องเกิดจากเม็ดเงินลงทุนหักจากรายได้ ต้องมองถึงรายได้สุทธิเป็นหลักและน่าจะมองด้วยว่าอนาคตประเทศจะเป็นอย่างไร หากไม่มีแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ขึ้นมา ผลกระทบจะเป็นอย่างไร โดยในที่ประชุม สปช.ตนจะเสนอให้ที่ประชุมมองถึงยุทธศาสตร์ของประเทศระยะยาวและจะปฏิรูปอย่างไรให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดของทุกภาคส่วนในสังคมนี้ และต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เท็จจริง ไม่ใช่นำข้อมูลมาสร้างความสับสนและเกิดความแตกแยกต่อสังคม
 
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุประเทศไทยเปิดสัมปทานปิโตรเลียมไปแล้ว 20 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2514 เดิมจะเปิดทุก ๆ 2-3 ปี แต่ครั้งที่ 21 เปิดล่าช้ามาถึง 7 ปี เนื่องจากมีการคัดค้านการเปิดสัมปทาน โดยสำรองก๊าซในขั้นพิสูจน์แล้วเมื่อสิ้นปี  2556 มี  8.4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต แต่ความต้องการใช้สูงถึง 1.7 ล้านล้านลูกบาศ์กฟุตต่อปี หรือหากใช้ก๊าซฯ เฉพาะในประเทศไม่รวมนำเข้าจะเหลือแค่ 4.9 ปี แต่หากรวมนำเข้าจากเมียนมาร์และเอลเอ็นจีราคาปัจจุบันก๊าซอ่าวไทยจะใช้ได้ 6-8 ปี
 
“หากไม่เปิดสัมปทานใหม่ ก็ไม่มีการสำรวจและผลิตจากแหล่งในประเทศ ก็ต้องนำเข้าก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะข้อมูลขณะนี้ตั้งแต่ปี 2561-2562 ยังไม่มีแหล่งก๊าซฯ คอนเฟิร์มชัดเจน เมียนมาร์ก็มีนโยบายในอนาคตไม่ส่งออกก๊าซฯ หากนำเข้าแอลเอ็นจีทั้งหมดจะกระทบต่อประชาชนนักลงทุนค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นมาก โดยปัจจุบันแอลเอ็นจี มีราคาถึงประเทศไทย 15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะเดียวกันต้องเจรจากับกัมพูชา เพื่อหาทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน” นายคุรุจิต กล่าว 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net