Skip to main content
sharethis
 
 
เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2557 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ที่ศาลปกครองกลาง ศาลอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่พิพากษายืนให้ยกฟ้อง คดีที่มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (กรีนพีซ เอส อี เอ) ยื่นฟ้อง กรมวิชาการเกษตรและอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 เรื่องละเลยต่อหน้าที่ปล่อยให้มีการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอ นอกพื้นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ส่วนแยกพืชสวน ต.ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เป็นเหตุให้พันธุ์มะละกอดังกล่าวออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมไปสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกร จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องที่อนุญาตให้ทดลองปลูกมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) ในภาคสนามหรือในสภาพพื้นที่เปิดและให้ผู้ถูกฟ้องดำเนินการตรวจสอบสอบมะละกอในแปลงเกษตรกรซ้ำทั้งหมด รวมทั้งผู้ได้รับการจำหน่าย จ่ายแจกจากผู้ถูกฟ้องที่ 1 และเกษตรที่ได้รับต่ออีกทอดหนึ่งจากผู้รับจำหน่าย จ่าย แจก โดยให้กำหนดมาตรการในการควบคุม แพร่กระจายมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรมไปสู่แปลงเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมด้วย
 
ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรมวิชาการเกษตร ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ 1(1) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี2545 ในการดำเนินโครงการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดศึกษาทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอ เพื่อการศึกษาวิจัยตามที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้นำเข้าซึ่งสิ่งต้องห้ามตามมาตรา 8 พ.ร.บ.กักพืช ปี 2507 โดยไม่ได้เป็นการดำเนินการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ขณะที่ข้อเท็จจริง ยังรับฟังได้ว่ากรมวิชาการเกษตร ได้ยุติการทดลองมะละกอจีเอ็มโอแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.47 และแม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอที่เกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรที่ไม่อาจปฏิเสธผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการครอบครองสิ่งต้องห้ามที่เป็นวัตถุเสี่ยงภัยของหน่วยงานทางปกครอง ที่ต้องถือว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมการดำเนินการทดลองมะละกอตัดต่อพันธุกรรม แต่ภายหลังเมื่อปรากฏข่าวทางสื่อว่าพบการปนเปื้อนดังกล่าว ต่อมาอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 ก.ค. 47 ให้หยุดจำหน่าย จ่ายแจกเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าพันธุ์มะละกอทุกชนิด และให้ตรวจสอบการจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดและต้นกล้าพันธุ์มะละกอที่แจกจ่ายไป รวมถึงการตรวจสอบทำลายการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอในพื้นที่ต่าง ดังนั้นเมื่อผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้ดำเนินการดังกล่าว และผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้ยุติการทดลองทั้งหมดแล้ว ถือว่าผู้ถูกฟ้องได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการตรวจสอบและทำลายการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอแล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง
 
ภายหลัง นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการปนเปื้อนขอพืชจีเอ็มโอจะหมดไป ตรงกันข้าม กลับพบว่ามีการขยายเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ และเชื่อว่ากรมวิชาการเกษตรจะใช้คำพิพากษานี้ไปสร้างความชอบธรรมในการทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิดต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net