Skip to main content
sharethis

กลุ่มสมาคมห้องสมุดชาวอเมริกันจัดงานสัปดาห์ "หนังสือถูกแบน" เป็นประจำทุกปี เพื่อท้าทายการร้องเรียนและสั่งห้ามหนังสือบางเล่ม โดยในปีล่าสุดเน้นประเด็นหนังสือที่พูดถึงชนชั้นและความยากจนที่ถูกร้องเรียนคัดค้านเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาไม่นานมานี้

22 ต.ค. 2557 สำนักงานฝ่ายเสรีภาพทางปัญญาของสมาคมห้องสมุดชาวอเมริกันหรือเอแอลเอ (ALA) จัดงานสัปดาห์ "หนังสือถูกแบน" ติดต่อกันเป็นปีที่ 32 เมื่อช่วงวันที่ 21-27 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งงานหนังสือดังกล่าวนี้เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการอ่าน โดยมุ่งถ่วงดุลอำนาจการควบคุมเนื้อหาและการสั่งแบนหนังสือ ซึ่งในสหรัฐฯ มักจะมีการสั่งห้ามไม่ให้มีหนังสือบางเล่มในห้องสมุดหรือในโรงเรียน

งานหนังสือถูกแบนมักจะมีธีมในแต่ละปีต่างกัน โดยนำมาจากประเด็นเช่นเรื่องศาสนา ชาติพันธุ์ เพศสภาพ เรื่องความสัมพันธ์เชิงชู้สาว เรื่องที่ถูกกล่าวหาว่ามีเนื้อหาทางเพศโจ่งแจ้ง รวมถึงเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่ามีการใช้ภาษาหยาบคาย

เดอะ การ์เดียนระบุว่าสิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้คือมีความพยายามสั่งแบนหนังสือที่เกี่ยวกับความยากจนและเรื่องชนชั้นเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มสูงขึ้นและมีการทำให้คนจนดูเป้นคนไม่ดี การนำหนังสือที่แสดงให้เห็นสภาพชีวิตตามความเป็นจริงของผู้คนที่ต้องต่อสู้กับความยากจนจึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

เดอะ การ์เดียนระบุอีกว่ามีงานวิจัยจำนวนหนึ่งระบุว่าการอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน ประเด็นทางสังคม หรือสถานการณ์ที่ต่างออกไปจากชีวิตปกติทำให้คนเรามีความรู้สึกเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในช่วงเวลาที่มีการแบ่งแยกชนชั้นทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแค่ความรวยและความจนเท่านั้นที่แบ่งแยกผู้คนออกจากกัน แต่เป็นความไม่รู้และการขาดการเชื่อมโยงกับสังคมที่เป็นตัวแบ่งแยกคนด้วย

ประเทศสหรัฐฯ มักจะมีวัฒนธรรมการคัดค้านเนื้อหาของหนังสือที่บางครั้งก็มาจากข้ออ้างที่ไม่เป็นความจริงและการคัดค้านก็ไม่ได้มาจากฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมเท่านั้น แม้ว่าบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตราแรกจะระบุให้มีการคุ้มครอง "การเข้าถึงแนวความคิดต่างๆ รวมถึงเสรีภาพในการพูด" ก็ตาม

มีองค์กรหลายองค์กรที่คอยต่อต้านการเซนเซอร์เนื้อหาจากหนังสือ เช่น เอแอลเอและกลุ่มแนวร่วมต่อต้านการเซนเซอร์แห่งชาติหรือเอนซีเอซี แต่ในการสั่งห้ามหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐศาสตร์สังคมช่วงไม่นานมานี้มีอะไรไม่ชอบมาพากล

เดบอราห์ คาลด์เวลล์-สโตน รองผู้อำนวยการของเอแอลเอกล่าวว่า พวกเขาเห็นว่ามีการพยายามคัดค้านหนังสือที่มีเนื้อหาประเด็นเกี่ยวกับเรื่องความยากจนและเรื่องชนชั้น หรือเป็นหนังสือที่มีมุมมองทางการเมืองแบบทางเลือกต่อสถานการณ์ความยากจน

นักเขียนรายหนึ่งชื่อโทนี มอร์ริสัน มักจะตกเป็นเป้าการคัดค้านดังกล่าว เธอบอกว่านักเขียนที่ถูกคัดค้านเนื้อหาเหล่านี้เป็นเพราะพวกเขาเขียนถึงเรื่องเชื้อชาติและชนชั้น มักจะมีการนำเสนอภาพชาวแอฟริกันอเมริกันในสหรัฐฯ ที่เผชิญความยากลำบาก มอร์ริสันกล่าวอีกว่าหนังสือที่ถูกคัดค้านเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นหนังสือเรื่องแต่ง แต่หนังสือที่ไม่ใช่เรื่องแต่งที่มีการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นเรื่องชนชั้นทางเศรษฐกิจก็เริ่มถูกคัดค้านมากขึ้น

โจแอน เบอร์ติน ผู้อำนวยการบริหารของเอนซีเอซีเปิดเผยว่าหนังสือที่มักจะถูกร้องเรียนส่วนมากเป็นหนังสือที่ถูกมองว่า "ต่อต้านทุนนิยม" ซึ่งในกลุ่มสังคมบางกลุ่มกล่าวหาว่าหนังสือเหล่านี้ทำลายคุณค่าของความเป็นคริสต์และคุณค่าความเป็นอเมริกัน

หนึ่งในหนังสือที่ถูกคัดค้านเล่มหนึ่งคือหนังสือที่ชื่อว่า "กรรมกรคนจน : คนที่ไม่มีใครมองเห็นในอเมริกา" (The Working Poor: Invisible in America) เขียนโดย เดวิด เค ชิปเลอร์ ถูกร้องเรียนโดยกลุ่มผู้ปกครองในเท็กซัส นอกจากนี้ยังมีหนังสือของบาร์บารา แอเอนริช ที่ถูกผู้ปกครองกล่าวหาว่าส่งเสริมแนวคิดแบบสังคมนิยมและแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ผิดๆ โดยหนังสือของแอเอนริชเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้ของคนรายได้น้อยและมีการโต้แย้งมายาคติความเข้าใจผิดต่อเรื่องความยากจน เช่นโต้แย้งมายาคติเรื่องความเป็นคนไม่เอาถ่าน

นอกจากนี้ยังมีการคัดค้านเนื้อหาที่มุ่งสำรวจเรื่องความไม่สงบในสังคม โดยก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ที่นักศึกษาจำนวนมากในเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด พากันเดินออกจากชั้นเรียนเพื่อประท้วงต่อต้านการนำเสนอของคนกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่าเนื้อหาการสอนวิชาประวัติศาสตร์ขั้นสูงควร "ส่งเสริมให้เห็นประโยชน์ของระบบบรรษัทเอกชนเสรี" และ "ไม่ส่งเสริมให้เกิดความวุ่นวายหรือการต่อสู้เรียกร้องในสังคม"

เดอะ การ์เดียนระบุว่าการคัดค้านหนังสือที่ระบุถึงเรื่องปัญหาสังคมจะทำให้ความตึงเครียดของปัญหาต่างๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป้นปัญหาความไม่เท่าเทียม ปัญหารายได้ต่ำ ปัญหาความยากจน และความรู้สึกไม่ปลอดภัย การทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงงานวรรณกรรมที่พูดถึงประเด็นเหล่านี้ได้อย่างเสรีจึงถือเป็นประเด็นความยุติธรรมทางสังคมที่ควรเรียกร้อง

งานหนังสือถูกแบนถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2525 เพื่อตอบโต้กระแสการคัดค้านไม่ให้มีหนังสือบางเล่มในโรงเรียน ร้านหนังสือ และห้องสมุด โดยการให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับหนังสือ ทั้งบรรณารักษ์ คนขายหนังสือ ผู้จัดพิมพ์ นักข่าว ครู อาจารย์ และผู้อ่าน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันในประเด็นนี้

เอแอลเอระบุว่ามีหนังสือถูกร้องเรียนคัดค้านไม่ให้มีวางแผงจำนวนมากกว่า 11,300 เล่มนับตั้งแต่ปี 2525 จนถึงตอนนี้ ใน 10 อันดับหนังสือที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดมีหนังสือนิยายเรื่อง เดอะ ฮังเกอร์ เกม (the Hunger Games) ของซูซานน์ คอลลิน รวมอยู่ด้วย โดยถูกร้องเรียนในเรื่องประเด็นศาสนาและจัดเรตอายุผู้อ่านไม่เหมาะสม


เรียบเรียงจาก

Poverty and class: the latest themes to enter the US banned-books debate, The Guardian, 21-10-2014

ข้อมูลเกี่ยวกับ Banned Books Week
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net