ไทยพลาดที่นั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ไทยได้คะแนนน้อยสุดในบรรดา 5 ชาติเอเชียที่ลงชิงที่นั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ชาติที่ได้รับเลือกคือกาตาร์ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย อินเดีย ขณะที่ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ให้เลิก คสช.-กฎอัยการศึก ปรับปรุงสิทธิมนุษยชนให้มีมาตรฐานก่อนไปเสนอตัวชิงที่นั่งยูเอ็น

22 ต.ค. 2557 - เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ แห่งองค์การสหประชาชาติ มีการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) หรือ UNHRC จำนวน 15 ที่นั่ง หลังสมาชิกคณะมนตรีของ UNHRC ชุดเก่าหมดวาระ

สำหรับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติชุดใหม่จะเริ่มทำงานวันที่ 1 ม.ค. 2558 มีวาระทำงาน 3 ปี

โดยสมาชิกในทวีปเอเชีย มีโควตาที่จะได้รับเลือกเข้าไปเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จำนวน 4 ชาติ จากทั้งหมด 15 ที่นั่ง โดยมีชาติที่สมัคร 5 ชาติ ได้แก่ กาตาร์ บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และไทย

ผลการลงมติโดยสมาชิกในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ แห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งชาติที่จะผ่านการรับรองต้องได้เสียงอย่างน้อยเกินกึ่งหนึ่งหรือ 97 เสียง ผลปรากฏว่า อินเดีย ได้รับการรับรอง 162 เสียง อินโดนีเซีย 152 เสียง บังกลาเทศ 149 เสียง กาตาร์ 142 เสียง จึงได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ส่วนไทยได้รับการรับรอง 136 เสียง จึงไม่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 มีการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council - UNHRC) วาระปี พ.ศ.2553-2556 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก จำนวน 14 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งปรากฎว่าไทยได้รับคะแนนเสียง 182 เสียงเป็นอันดับ 2 จาก 14 ประเทศ รองจากมัลดีฟส์ ซึ่งได้ 185 เสียง ทำให้ไทยได้เข้าเป็นสมาชิก UNHRC เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการจัดตั้ง UNHRC เมื่อปี พ.ศ. 2549

ขณะที่อินเดีย และอินโดนีเซีย ถือเป็นชาติที่ได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นวาระที่สองติดต่อกัน

อนึ่ง ก่อนมีการลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ โดยแบรด อดัม ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ไทยปฏิบัติตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ ให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ก่อนที่จะเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกสมัย

โดยข้อเสนอของฮิวแมน ไรท์ วอทซ์ รวมไปถึงเรื่อง ยกเลิกกฎอัยการศึก ยกเลิก คสช. ยุติการเซ็นเซอร์ เปิดกว้างด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยุติการทรมานและควบคุมตัวบุคคลโดยไม่เปิดเผย การมีความรับผิดชอบต่อสถานการณ์รุนแรงทางการเมืองและเหตุการละเมิดสิทธิ รวมทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ และไม่ใช้วิธีปราบปรามยาเสพย์ติดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท