Skip to main content
sharethis

21 ต.ค.2557 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น ศาลนัดสอบคำให้การจำเลยทั้ง 26 คนในคดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ โดยในวันนี้มีการนำจำเลยทั้ง 26 คนจากเรือนจำเดินทางมายังศาล ท่ามกลางการรอต้อนรับจากญาติผู้ต้องขังเกือบร้อยคนที่เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ เนื่องจากผู้ต้องขังมีภูมิลำเนาอยู่ในหลายจังหวัด อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้ญาติและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในคดีเข้าไปในห้องพิจารณาโดยอ้างว่าห้องคับแคบ มีเพียงตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ 1 คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์ในห้องพิจารณา นั่นคือ นายคิงสลีย์ แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International commission of Jurist - ICJ) องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีที่ตั้้งอยู่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์  เจ้าหน้าที่จาก ICJ ระบุว่าให้ความสนใจในคดีนี้เนื่องจากโดยหลักการแล้วพลเรือนไม่ควรขึ้นศาลทหาร ประกอบกับ ICJ ติดตามเรื่องสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสอบคำให้การให้ห้องพิจารณาคดีศาลทหารเริ่มต้นในช่วงสายและเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 13.30 น. โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ชี้แจงกับญาติผู้ต้องขังส่วนหนึ่งว่า วันนี้จะยื่นประกันผู้ต้องขังคดีขอนแก่นโมเดลที่อยู่ในความดูแลของ กนส.ทั้ง 11 ราย โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดรายละ 4 แสนบาท คาดว่าจะทราบผลประกันตัวภายในเย็นวันนี้ โดยการยื่นประกันครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สอง หลังจากในครั้งแรกยื่นประกันตัวเมื่อครั้งอัยการยื่นฟ้องและศาลไม่ให้ประกันโดยระบุเหตุผลว่า “จำเลยยังไม่มาให้การต่อศาล คดีมีโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี”

เขากล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมคดีผู้ต้องขังทั้ง 26 คนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดเพื่อให้ต่อสู้คดีไปทิศทางเดียว และจะมีการนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งเพราะจำเลยยังไม่เห็นว่าพยานหลักฐานที่ใช้ในการกล่าวหามีอะไรบ้าง แต่โดยความเห็นของทนายแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาร้ายแรงเกินไปสำหรับรรยายหลักฐานที่มีอยู่

วิญญัติยืนยันว่าด้วยว่าทาง กนส.จะทำให้คดีนี้กลับไปสู่ศาลปกติให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด เพราะไม่มั่นใจว่าการพิจารณาโดยศาลเดียวจะทำให้จำเลยได้รับความเป็นธรรม (ศาลทหารไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา) และสถานการณ์ปัจจุบันยืนยันว่าเป็นสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่ภาวะสงครามหรือจราจลจึงไม่จำเป็นต้องให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร

ด้านเบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความของผู้ต้องขังที่เหลืออีก 15 คน ได้ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยเขตอำนาจศาลว่าศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณาคดีขอนแก่นโมเดลหรือไม่ ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 24 ธ.ค.57 สำหรับการนัดตรวจพยานศาลยังไม่มีคำสั่งนัด เนื่องจากต้องรออ่านคำวินิจฉัยเขตอำนาจศาลก่อน นอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้จะยื่นประกันตัวจำเลย 2 รายซึ่งป่วยเป็นโรคเก๊าต์และโรคหัวใจ

ทั้งนี้ผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดล 22 คนถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 พ.ค.หรือหลังรัฐประหาร 1 วัน ที่อพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ทั้งหมดถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 7วัน จากนั้นมีการทยอยจับกุมเพิ่มเติมอีก 4 รายรวมเป็น 26 ราย ในจำนวนนี้เป็นหญิง 2 ราย ทั้งหมดถูกคุมขังตัั้งแต่วันจับกุมจนปัจจุบัน เมื่อฝากขังจนครบ 7 ผลัดที่เรือนจำขอนแก่น อัยการทหารจึงยื่นฟ้องในวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมาโดยไม่มีการนำตัวจำเลยมาศาลหรือเทเลคอนเฟอเรนซ์แต่อย่างใด  ผู้ต้องหาส่วนใหญ่อายุ 40-60 ปี และอายุสูงสุดคือ 72 ปี หลายรายมีโรคประจำตัวเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภูมิแพ้ เก๊าต์ ผู้ต้องหามีหลากหลายอาชีพตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียน เกษตรกร คนทำเครื่องจักรสาน คนขายไม้กวาด คนขายอาหารอีสาน ช่างเคาะพ่นสีรถยนต์ นักการเมืองท้องถิ่น พ่อค้าขายปลาสด ทำธุรกิจให้เช่าเครื่องเสียง เป็นต้น โดย จ.ส.ต.ประทิน จันทร์เกศ พนักงานรักษาความปลอดภัยของธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาขอนแก่น  ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1

สำหรับข้อหาที่จำเลยทั้ง 26 คนถูกกล่าวหา ได้แก่

(1)ร่วมกันฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง

(2)ร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สินให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้ายหรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือรู้ว่าจะมีผู้ก่อการร้ายแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้

(3)เป็นซ่องโจร

(4)มีและร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย

(5)มีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

(6)พาอาวุธปืนติตัวไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันควร

 (7)มีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ได้รับใบอนุญาต

(8)มีเครื่องยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

(9)มีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

"แผนการลงมือขอนแก่นโมเดลนั้น แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1.ระดมมวลชนให้มากที่สุด 2. เจรจาปลดอาวุธเจ้าหน้าที่ 3. เจรจาเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร 4. ทำลายสถาบันการเงินและนำเงินมาแจกจ่ายให้ประชาชน (ปฏิบัติการโรบินฮูด) “ทั่วปฐพีหนี้เป็นศูนย์” ซึ่งหากกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อเหตุที่ จ.ขอนแก่น สำเร็จ อาจมีการก่อเหตุที่ภาคเหนือ การที่ทหารจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาได้ ทำให้แผนการก่อเหตุต่างๆ หยุดชะงัก" พล.ต.ธวัช สุกปลั่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2557

 

หมายเหตุ : เวลาประมาณ 16.00 น. เพจกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้แจ้งว่า ตามที่ได้มีการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยคดีขอนแก่นโมเดล ในช่วงเช้า ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลย

"ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว คดีขอนแก่นโมเดล เพราะว่าคดีที่จำเลยถูกฟ้องมีอัตราโทษสูงและเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งเป็นการกระทำผิดในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร แม้โจทก์ไม่คัดค้าน แต่ก็ยังมิได้มีการสืบพยานโจทก์ จึงขอฟังพยานหลักฐานโจทก์สักระยะหนึ่งก่อน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net