โพลล์เผยคนไม่เชื่อสื่อ อยากเห็นการปฏิรูป-มีการสอบใบอนุญาต

“กรุงเทพโพลล์ร่วมปฏิรูปประเทศไทย : ปฏิรูปสื่อเพื่อลดความขัดแย้ง” ชี้ประชาชนส่วนใหญ่ 74.5% เห็นว่าข่าวที่สื่อนำมาเสนอเชื่อถือไม่ค่อยได้ ไม่ได้นำเสนอความจริงทั้งหมด 78.5% ระบุว่าจำเป็นต้องปฏิรูปสื่อด้วย 89.9% เห็นว่าควรมีการสอบใบอนุญาตวิชาชีพสื่อ
 
18 ต.ค. 2557 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตระหนักและให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้วยการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อประเด็นต่างๆ ที่จะทำการปฏิรูป ซึ่งการสำรวจครั้งนี้เป็นการสะท้อนความเห็นของประชาชนที่มีต่อการปฏิรูปสื่อสารมวลชน ภายใต้หัวข้อ “กรุงเทพโพลล์ร่วมปฏิรูปประเทศไทย :ปฏิรูปสื่อเพื่อลดความขัดแย้ง”  โดยสำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,088 คน พบว่า
 
ประชาชนส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 91.8  ติดตามข่าวจากทีวี รองลงมาร้อยละ 35.0  ติดตามข่าวจากโซเชียลมีเดีย เช่น facebook twitter และร้อยละ 34.7 ติตามจากเว็บไซต์ต่างๆ ส่วนข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนต้องคิดพิจารณาก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อข่าวนั้นๆ มากที่สุดคือ ข่าวจากทีวี (ร้อยละ 55.1) รองลงมาคือข่าวจากโซเชียลมีเดีย (ร้อยละ 47.9) และ ข่าวจากจากเว็บไซต์ต่างๆ (ร้อยละ 33.0) 
 
ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 86.6  มีความเห็นว่าการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในปัจจุบันมีอิทธิพลมากถึงมากที่สุดต่อการชี้นำทางความคิดของประชาชน ขณะที่มีเพียงร้อยละ 10.5 เท่านั้นที่เห็นว่ามีอิทธิพลน้อยถึงน้อยที่สุด ที่เหลือร้อยละ 2.9 ไม่แน่ใจ
 
เมื่อถามถึงความเป็นอิสระของสื่อมวลชนจากนายทุนหรือนักการเมืองในการนำเสนอข่าว ประชาชนร้อยละ 64.8 เห็นว่าสื่อไม่เป็นอิสระ ถูกครอบงำ และซื้อได้ถ้าหยิบยื่นให้ ขณะที่ร้อยละ 26.2 เห็นว่า สื่อเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำ และซื้อไม่ได้ ที่เหลือร้อยละ 9.0 ไม่แน่ใจ
 
นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 74.5 เห็นว่า ข่าวที่สื่อนำมาเสนอเชื่อถือไม่ค่อยได้ เพราะไม่ได้นำเสนอความจริงทั้งหมด รองลงมาร้อยละ 20.7 เห็นว่าเชื่อถือได้ ตรงตามข้อเท็จจริง และร้อยละ 2.2 เห็นว่าสื่อเชื่อถือไม่ได้เลย เพราะข้อมูลไม่เป็นความจริง สร้างข่าวขึ้นมาเอง ที่เหลือร้อยละ 2.6 ไม่แน่ใจ
 
สำหรับความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวการเมืองของสื่อมวลชน ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.4 ระบุว่าสื่อไม่ค่อยเป็นกลาง รองลงมาร้อยละ 30.2 ระบุว่าเป็นกลาง และร้อยละ 10.0 ระบุว่าไม่เป็นกลางเลย ที่เหลือร้อยละ 5.4 ไม่แน่ใจ 
 
เมื่อถามถึงการปฏิรูปประเทศไทยในครั้งนี้ สื่อมวลชนจำเป็นต้องถูกปฏิรูปด้วยหรือไม่ พบว่าประชาชนมากถึงร้อยละ 78.5 ระบุว่าจำเป็นต้องปฏิรูปสื่อด้วย ขณะที่มีเพียงร้อยละ 16.4 ที่ระบุว่าไม่จำเป็นต้องปฏิรูปสื่อ และที่เหลือร้อยละ 5.1 ไม่แน่ใจ
 
สุดท้ายเมื่อถามว่าสื่อมวลชนในประเทศไทยควรมีการสอบใบอนุญาตวิชาชีพสื่อมวลชน เหมือนวิชาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ ทนายความ หรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 89.9 เห็นว่าควรมีการสอบใบอนุญาต ขณะที่มีเพียงร้อยละ 6.9 เท่านั้นที่ระบุว่า ไม่ควรมีการสอบ และที่เหลือร้อยละ 3.2 ไม่แน่ใจ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท