Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

บทนำ

การเต้นซาปินเป็นการเต้นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศมาเลเซีย ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในรัฐยะโฮบารู ซึ่งรัฐนี้การเต้นซาปินได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและยังถูกยกเป็นการเต้นประจำรัฐยะโฮบารูและยังถูกยกเป็นศิลปะการแสดงประจำชาติของมาเลเซีย การเต้นซาปินในมาเลเซียเป็นการเต้นที่ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมอาหรับ ซึ่งได้เข้ามาเผยแพร่พร้อมกับการเข้ามาของศาสนาอิสลามทำให้การเต้นซาปินได้ผูกโยงกับศาสนา ซึ่งในช่วงก่อนแสดงนั้นจะสังเกตเห็นได้ว่าจะมีการกล่าวถึงพระนามของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซล.)ในภาษามลายูจะเรียกว่าซอลาวัตนบีโดยรูปแบบของการเต้นจะมีการเต้นระหว่างชายกับชายเพื่อป้องกันความไม่เหมาะสม ในปัจจุบันก็ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการเต้นโดยจะเต้นระหว่างชายกับหญิงเนื่องจากเข้าสู่ยุคสมัยใหม่การเต้นซาปินจะมีการจัดแสดงในช่วงของงานแต่งงาน งานเมาลิด งานเฉลิมฉลองวันเกิดของสุลตาน งานวันชาติของมาเลเซีย รวมไปถึงมีการแข่งขันกันในระดับประเทศด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะสามารถรับชมการแสดงในช่วงเวลาดังกล่าว ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่มีการท่องเที่ยวคึกคักเป็นอย่างมากซึ่ง 1 ปี มีไม่กี่ครั้ง

การเต้นซาปินถึงแม้จะมีการผูกโยงเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม แต่ในความเป็นจริงของหลักศาสนาจะพบว่าการแสดงนี้ มันขัดกับหลักศาสนาเป็นอย่างมาก ซึ่งก็คือ ในหลักศาสนาอิสลามจะไม่มีการเต้น ห้ามชายหญิงเต้นคู่กัน รวมไปถึงมีการห้ามเล่นเครื่องดนตรีบางชนิดซึ่งมันผิดต่อหลักศาสนา และถ้าจะร้องเพลงต้องห้ามมีเสียงเครื่องดนตรีประกอบแต่ข้อห้ามเหล่านี้กลับถูกละเลยในยุคสมัยใหม่ในปัจจุบันอิสลามถูกนำไปสู้กระบวนการความเป็นสมัยใหม่ของอิสลามที่ถูกดัดแปลงไปจากเดิมที่เป็นอยู่ทำให้สิ่งเหล่านี้สามารถผ่อนปรนกันได้ ผนวกกับข้อคิดเห็นของบรรดานักวิชาการหลายท่านเห็นต่างกัน รวมไปถึงการสร้างให้เป็นการแสดงประจำชาติของรัฐบาลมาเลเซียที่ต้องการนำอัตลักษณ์เหล่านี้มาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว ทำให้เป็นการยากที่จะต่อต้านหรือละทิ้งศิลปะการแสดงซาปิน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้ในอนาคต

การเข้ามาของการเต้นซาปินในมาเลเซีย

ซาปิน (Zapin) เป็นการแสดงของชาวตะวันออกกลางกลุ่มประเทศอาหรับ ได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งผู้ที่นำเข้าก็คือพ่อค้าชาวอาหรับที่เข้ามาเผยแพร่พร้อมกับนำศาสนาอิสลามเข้าสู่ดินแดนแถบนี้ ซัมเปง เป็นคำอาหรับที่เรียกแทนการเต้นไม่มีความหมาย แต่เดิมเรียกว่า ซาเปน ซึ่งตรงกับภาษารูมีของมาเลเซียว่า ซาปิน[1]นิยมแสดงมากบริเวณ รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย 

การเต้นซาปิน ที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรมลายูโดยชุมชนชาวอาหรับที่ตั้งถิ่นฐานในรัฐยะโฮร์ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ซึ่งเป็นประเพณีเฉพาะของชาวอาหรับมาเลย์และได้แพร่หลายไปทั่วคาบสมุทรมลายูจนเป็นที่ยอมรับในรูปแบบศิลปะแห่งชาติของมาเลเซีย การเต้นซาปินจะมีทั้งรูปแบบอาหรับและมลายูซึ่งทั้ง 2รูปแบบเป็นที่ยอมรับในรัฐยะโฮร์และมาจากประเพณีของชาวอาหรับบนคาบสมุทรชายฝั่งทางใต้ของเยเมน 

1.  ซาปินอาหรับคือการเต้นที่แข็งแกร่งมีความกระตือรือร้นสะท้อนให้เห็นถึงประเพณีเต้นรำของ Hadhramicเครื่องดนตรีที่ใช้คือ Gambus, Marwas, Dokdrumซึ่งมีกลิ่นอายของตะวันออก ปัจจุบันแสดงโดยคนในชุมชนอาหรับในยะโฮร์

2.  ซาปินมลายู มีต้นกำเนิดจากการปรับตัวทางวัฒนธรรมโดยผสมกลมกลืนซาปินอาหรับ ผู้แสดงส่วนใหญ่คือชาวมาเลย์และมาเลย์เชื้อสายอาหรับ เพลงประกอบจะเป็นเช่นเดี่ยวGambusและมีนักดนตรีกลองเล่นเชื่อมและร้องเพลงประกอบ

ในระยะแรกของการเต้นซาปินจะเกิดขึ้นในราชสำนักของสุลต่านหรือบ้านของขุนนางก่อน เพราะเป็นการจับคู่เต้นจับคู่ระหว่างชายกับหญิง ผู้หญิงที่สามารถฝึกเต้นซาปินได้นั้นก็คือเป็นบริวารของสุลต่านหรือขุนนางผู้ใหญ่เท่านั้น การเต้นซาปินจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชายและผู้หญิงได้พบกัน ส่วนผู้หญิงทั่วๆไป ไม่มีโอกาสได้ฝึกเต้นเนื่องจากวัฒนธรรมของชาวมุสลิมไม่นิยมให้ผู้หญิงเข้าสังคมกับผู้ชาย[2]ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคการล่าอาณานิคม อังกฤษก็ได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างหลายๆอย่างบทบาทอำนาจของสุลต่านลดลงตามไปด้วยเมื่อสิ้นสุดยุคการล่าอาณานิคมแนวคิดการสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมา ทำให้การเต้นซาปินไม่ใช่แค่เพียงการเต้นเฉพาะในราชสำนักสุลต่านเท่านั้น แต่ยังได้รับการแพร่หลายไปยังบุคคลธรรมดาหรือสามัญชนก็สามารถใช้การแสดงนี้ได้ ทางรัฐบาลมาเลเซียได้มีการยกระดับและประกาศศิลปะการแสดงการเต้นซาปินขึ้นเป็นมรดกของประเทศและรัฐบาลก็ได้มีการส่งเสริม อนุรักษ์ศิลปะการแสดงนี้เพื่อไม่ให้สูญหายไปเพราะการเข้ามาของวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

การเต้นซาปินจึงไม่ใช่แค่เพียงจะใช้การแสดงเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้น แต่กลับได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและได้มีการจัดการแข่งขันการเต้นซาปินยิ่งใหญ่ในระดับประเทศอีกด้วย ไม่ใช่เพียงแค่นั้นการเต้นซาปินได้แสดงในวันสำคัญทางศาสนาของอิสลามด้วย อาทิเช่นงานเมาลิด งานฮารีรายอ วันชาติมาเลเซีย เดือนเซาวานซึ่งเป็นวันปีใหม่ของศาสนาอิสลาม เป็นต้นซึ่งงานเหล่านี้จะจัดแค่ปีละครั้งรัฐบาลจึงได้มีการให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและในการจัดแสดงแต่ละครั้งจะมีการจัดในหอประชุมใหญ่และมีผู้เข้าร่วมรับชมเป็นจำนวนมาก

ความขัดแย้งของการเต้นซาปินต่อหลักศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งการป้องกัน ดังนั้นจึงมีคำสอนเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างมนุษย์โดยหลักของศาสนาไม่ได้แค่เรื่องของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์เท่านั้น

ฉะนั้น ศาสนาอิสลามที่เข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยคนอาหรับนั้นทำให้ต้องเลิกขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู พุทธคริสต์ และลัทธิอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องของศาสนาอิสลามเพื่อขจัดสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม[3]อย่างไรก็ตามเท่าทีเราทราบกันทุกวันนี้ว่า ประเพณีเก่าๆของอิสลามเป็นศาสนาที่ชื่นชมความสวยงามและเรียกร้องให้ทุกๆ อย่างไปสู่ความสวยงาม ดังที่ศาสดามูฮัมมัด ได้ทรงตรัสไว้ว่า “แท้จริงพระองค์นั้นทรงสง่างามยิ่ง และพระองค์อัลลลอฮทรงโปรดปรานความสวยงาม ศิลปะคือการสร้างสรรค์ในสิ่งสวยงาม” ซึ่งไม่ขัดต่ออิสลาม

ส่วนการเต้นรำ ศาสนาอิสลามได้แยกการเต้นรำระหว่างผู้หญิงออกจากผู้ชาย แต่ทว่าอิสลามก็ไม่ขัดข้องหากเป็นการเต้นระบำพื้นเมือง พระศาสดาทรงอนุญาตให้พระนางอะอีชะห์ดูการเต้นรำของชาวฮาบาชี่ (ชาวเอธิโอเปีย) เนื่องในงานวันอีด การที่ผู้หญิงเต้นรำต่อหน้าผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ แต่ห้ามเต้นต่อหน้าผู้ชาย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเย้ายวนอันจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมแรกๆจะมีการเผยแพร่ศาสนาทางเสียงดนตรีและเสียงดนตรีเท่านั้นที่ศาสดาท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล) อนุญาตให้มีการบรรเลงเพื่อรำลึกถึงประเพณีดังเดิมของอิสลามเพื่อให้อิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญด้านศีลธรรมมากกว่าด้านความสวยงามส่วนในกรณีของซาปินจะมีการเต้นคู่ชายหญิงและหญิงคู่หญิงแต่ผู้ชมที่มาชมจะมีการผสมผสานชายกับหญิงซึ่งก็มีความขัดแย้งต่อศาสนาโดยหลักของการเต้นซาปินเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งเรื่องของวัฒนธรรมระหว่างกับอิสลาม เพราะในศาสนาอิสลามไม่ได้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมมากนัก วัฒนธรรมเป็นวิถีที่จะบ่งบอกถึงชนเผ่าเท่านั้น ซึ่งการเต้นซาปินปัจจุบันนี้ขัดแย้งต่อศาสนาเนื่องจากเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ซึ่งเห็นได้ชัดว่าได้มีการขัดแย้งต่อหลักศาสนาอย่างเห็นได้ชัดไม่ใช่แค่การเต้นเท่านั้นและยังเอาเครื่องคนตรีสมัยใหม่มาผสมผสานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งต่อหลักศาสนาอิสลามตามหลักความเป็นจริงแล้วการเต้นซาปินเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่คนอาหรับได้นำการเต้นซาปินมาเผยแพร่ศาสนาอิสลามในรัฐยะโฮ ซึ่งการเต้นซาปินเป็นการเต้นที่ผสมผสานและแอบแฝงความเป็นอัตลักษณ์ของศาสนาอิสลาม                                                                                                                                  

ในสังคมมาเลเซียมองการเต้นซาปินเป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัว และพิจารณาความขัดแย้งทางสังคมเล็กน้อยโดยส่วนใหญ่คนในมาเลเซียจะให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ความเป็นมลายูผนวกกับความเป็นอิสลาม ทำให้รัฐบาลมาเลเซียได้สนับสนุนของการเต้นซาปินเพื่อไม่ให้หายสาบสูญเนื่องจากเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ผูกโยงกับศาสนาอิสลามซึ่งคนในประเทศส่วนใหญ่นับถือ อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหรืออีกอย่างหนึ่งเรียกว่าบรรทัดฐานของสังคมขึ้นมาอะไรก็ตามที่สังคมคิดว่าดีถึงแม้จะขัดแย้งกับหลักการศาสนาก็ตามแต่การที่เราคิดที่จะเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นมันต้องใช่เวลา เพราะการเปลี่ยนวัฒนธรรมหรือประเพณีสิ่งหลาวนั้นเป็นไปได้อยาก เพราะการเต้นซาปินได้เข้ามาในรัฐยะโฮเป็นเวลาหลายปีแล้วและทำให้คนในมาเลเซียมีการซึมซับเกี่ยวประเพณีหลาวนี้[4]ในบางรัฐของมาเลเซียอย่างรัฐกลันตันและรัฐโกตาบารูซึ่งเป็นรัฐที่อิสลามมีความเคร่งครัดเป็นอย่างมาก นักวิชาการอิสลามหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอุลามะ พยายามที่จะให้นำกฎหมายชารีอะมาปกครอง ขจัดสิ่งที่แปลกปลอมและสิ่งที่ขัดกับศาสนาอิสลามออกไปให้หมด เหลือให้ความเป็นบริสุทธิ์ของอิสลามคงอยู่ ทำให้การเต้นซาปินในสองรัฐนี้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไรและยังเป็นการขัดต่อหลักศาสนาอีกด้วย

การเต้นซาปินกับการท่องเที่ยวมาเลเซียในปัจจุบัน

ในอดีตที่ผ่านมา การเต้นซาปินได้เป็นที่รู้จักในสังคมทั้งในชนบทและในเมือง การแสดงนี้ถูกแสดงในโอกาสงานพิธีสำคัญๆ เช่นงานแต่งงาน  งานเฉลิมฉลองวันเกิดศาสดามูฮัมหมัด[5]และวันชาติมาเลเซีย เป็นต้น และหากพูดถึงการเต้นซาปินอาหรับที่เข้ามาแพร่หลายในช่วงแรก ซึ่งเป็นการเต้นที่สะท้อนวัฒนธรรมอาหรับและมีการสรรเสริญพระศาสดาและได้รับการตอบรับในทุกชนชั้นในรัฐยะโฮร์ ซึ่งจะเห็นถึงการพัฒนาของการเต้นซาปินจากรูปแบบดั้งเดิมและได้มีการผสมผสานด้วยบังซาวัน และอิทธิพลจากอื่นๆ

การเต้นซาปินในตอนนี้ถูกพิจารณาให้เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ประจำชาติมาเลเซีย[6] ผู้หญิงเริ่มได้รับอนุญาตให้ร่วมทำการแสดงได้ และได้มีการจัดแข่งขันการเต้นซาปินซึ่งเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่ การแข่งขันเหล่านี้ถูกจัดขึ้นในราชสำนัก มีการมอบของรางวัลให้กับผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีการคิดค้นสร้างสรรค์ท่าเต้นที่สวยงาม แต่ท่าเต้นที่ไม่เหมาะสมจะไม่ได้รับการยอมรับ ในความเป็นจริงแล้วการเต้นซาปินแบบดั้งเดิมนั้นมีเพียงนักเต้นชายเท่านั้น เนื่องจากป้องกันความไม่เหมาะสมของศาสนาอิสลามระหว่าง 2 เพศ แต่ซาปินร่วมสมัยอนุญาตให้ผู้หญิงที่จะดำเนินการเต้นร่วมกันกับผู้ชายได้และจะพบว่าการเต้นซาปินมีหลากหลายประเภทมาก เช่น ซาปินเติงลูซาปินซินดัง และ ซาปินกำปงมังกิส ส่วนใหญ่ของรูปแบบการปรับเปลี่ยนเหล่านี้จะตั้งชื่อตามสถานที่ที่ค้นพบรูปแบบนั้นขึ้น ในขณะเดียวกันมีนักออกแบบท่าเต้นหลายคนที่กำลังมองหาวิธีที่จะทำให้การเต้นซาปินผสมผสานรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อสร้างการแสดงออกทางศิลปะใหม่ที่ผ่านการเต้น ซึ่งก็จะหมายความว่าเราสามารถคาดหวังความแปรปรวนของรูปแบบการเต้นซาปินมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 รัฐบาลสนับสนุนนาฏศิลป์รูปแบบต่าง ๆ ของมาเลเซีย โดยตั้งโครงการตามัน บูดายา ขึ้นในทุกรัฐและการเต้นซาปินก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของรัฐยะโฮร์ในปัจจุบันนี้มีการประกวดการเต้นซาปินระดับชาติในระดับเยาวชนเพื่อเป็นสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมคงอยู่ต่อไป และเราสามารถเห็นการเต้นซาปินในวันสำคัญต่างๆ ของประเทศมาเลเซียและรัฐยะโฮร์ นอกจากนั้นซาปินยังถูกแสดงที่อิสตานะ บูดายาหรือที่เรียกว่าพระราชวังแห่งวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโรงละครแห่งชาติที่ให้ผู้ชมและนักท่องเที่ยวสามารถได้เยี่ยมชมการแสดงในระดับท้องถิ่นต่างๆ และระดับชาติ พร้อมกับฉาก แสง สี เสียงดนตรีที่ห้อมล้อมด้วยวังแห่งวัฒนธรรมที่ออกแบบมาอย่างเป็นศิลปะ โดยจะมีนักเต้นจากโรงเรียนนาฏศิลป์ท้องถิ่น เช่น อัสวารา (ASWARA) มาทำการแสดง รอบอิสตานะ บูดายามีโรงแรมระดับ1 ถึง 4ดาวไว้รองรับนักท่องเที่ยว

เมื่อไม่นานมานี้การเต้นซาปินได้ถูกจัดแสดงในเทศกาลการเต้นพื้นบ้านของมาเลเซีย หรือการเต้นในคืนพระจันทร์เต็มดวง งานนี้จัดขึ้นภายใต้การร่วมมือของคณะเต้นรำของอาคาเดมิค เซินนีบูดายาและวาริซาน เกอบังซาอันกับกระทรวงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมและกัวลาลัมเปอร์โจเซฟกอนซาเลส ผู้สร้างและผู้อำนวยการศิลปะกล่าวว่า "นี่เป็นหนึ่งในการโชว์ที่ต้องการรองรับนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นทุกคน เนื่องจากชาวมาเลเซียหลายคนยังไม่ได้ตระหนักถึงมรดกแห่งชาติตัวผมเองอยากให้ประชาชนในมาเลเซียและชาวต่างชาติได้มาสัมผัสกับการแสดงและชื่นชมความงามของมรดกทางวัฒนธรรมของการเต้นรำแบบดั้งเดิมของเรา"

การเต้นซาปินเป็นหนึ่งในนโยบาย “Malaysia Truly Asia” ของรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2542และได้รับกระแสตอบรับจากทั่วโลกเป็นอย่างดีการที่นำเอาศิลปะการแสดงมาเป็นจุดขายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวผนวกกับการแสดงที่ประกอบไปด้วยนาฏศิลป์ที่ได้รับอิทธิพลจากมาเลย์ อินเดีย จีน โปรตุเกส ไทย อินโดนีเซีย อาหรับ ส่งผลให้นโยบายนี้เปิดโอกาสให้นักท่องท่องเที่ยวได้มาสัมผัสกับการแสดงที่เป็นวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงได้ตื่นตาตื่นใจกับท่าเต้นอันอ่อนช้อยและมีพลังของการเต้นซาปินจะเห็นว่าแม้การเต้นซาปินจะถูกจัดให้เป็นศิลปะการแสดงแห่งชาติ แต่รัฐบาลยังส่งเสริมให้ประชาชนมาเลเซียทุกคน รวมถึงนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสที่จะเข้าชมการแสดงการเต้นซาปินอีกด้วย

สรุป

การเต้นซาปินยังคงมีการแสดงอยู่ในมาเลเซียถึงแม้มันจะขัดต่อหลักศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในประเทศและเป็นศาสนาหลักประจำชาติ แต่มันยังคงได้รับการผ่อนปรนเนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคความเป็นสมัยใหม่และอิสลามได้ถูกกระบวนการความเป็นโลกสมัยใหม่ท้าทาย ทำให้บางสิ่งบางอย่างที่ขัดกับหลักศาสนาอิสาลามได้รับการผ่อนปรน โดยบางทัศนะของนักวิชาการอิสลามในมาเลเซียมองว่าสามารถกระทำการเต้นซาปินได้แต่ต้องเต้นระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงหรือผู้ชายกับผู้ชาย แต่นักวิชาการอิสลามบางรัฐที่อิสลามเคร่งครัดอย่างรัฐกลันตัน รัฐโกตาบารู มองว่ามันเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการถึงแม้จะมีการเต้นผู้หญิงกับผู้หญิง ผู้ชายกับผู้ชาย แต่การแสดงการเต้นซาปินในปัจจุบันได้มีการเอาเครื่องดนตรีสมัยใหม่มาใช้ในการแสดงผนวกกับแสง สี เสียงที่อลังการ ทำให้สิ่งเหล่ากลับทำให้จิตใจของมนุษย์นั้นหมกหมุ่นและลงลืมไม่ระลึกถึงพระเจ้า เพราะในอิสลามการที่เราระลึกถึงพระเจ้าตลอดเวลาทำให้เรามาจิตใจที่สงบและสามารถละทิ้งเรื่องที่ไร้สาระ

อย่างไรก็ตามการเต้นซาปินกลับกลายเป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงประจำชาติของมาเลเซียเนื่องจากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติและไม่ต้องการให้การเต้นซาปินสูญหายไปผนวกกับรัฐบาลต้องการสร้างจุดขายความเป็นเอกลักษณ์ของชาติและความหลากหลายที่มีอยู่ภายในประเทศไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้การเต้นซาปินถูกชูขึ้นมาและเป็นการยากที่จะมีกระแสต่อต้านของนักวิชาการสมัยใหม่ เนื่องจากการเต้นซาปินได้ฝั่งลึกภายในจิตใจของคนมลายูในมาเลเซียซึ่งคนส่วนใหญ่ยอมรับ ถ้าหากทีจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกไม่ให้การเต้นซาปินเกิดขึ้นก็จะเกิดกระแสการต่อต้านของคนมลายูต่อนักวิชาการอิสลามสมัยใหม่ ดังนั้นสิ่งที่ทำให้การเต้นซาปินยังคงดำเนินอยู่ก็คือการที่คนมลายูในมาเลเซียส่วนใหญ่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเพราะในการเต้นก็จะมีการกล่าวสรรเสริญพระนามของศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) และยังร่วมไปถึงได้นำมาใช้ในพิธีการสำคัญทางศาสนาเช่น วันฮารีรายอ วันเมาลิด และยังใช้ในงานพิธีทางราชการและของราชวงศ์สถานการณ์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปัจจุบันในมาเลเซียนับวันยิ่งเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ และกระแสการต่อต้านในเรื่องนี้ยังไม่ทิศทางที่เลวร้ายมากนัก ถึงแม้จะมีการเต้นผสมระหว่างชายหญิงซึ่งมันยังคงผิดหลักศาสนาแต่เมื่อกระแสสังคมในยุคสมัยใหม่กลับเป็นเรื่องปกติทำให้ความท้าทายของประเด็นศาสนากับการเต้นซาปินยังคงถูกแช่แข็งต่อไป

 




[1]พรเทพ  บุญจันทร์เพ็ชร์. (2544). นาฏศิลป์พื้นบ้านของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้. หน้า 112

[2]ฑิลฎาคงพัฒน์. (2555). ซาปินแม่แบบในการสร้างสรรค์ ระบำพื้นบ้านภาคใต้ตอนล่าง. หน้า 11

[3]เอน.เจ.ไรอัน. (2526).การสร้างชาติมาเลเซียและสิงคโปร์. หน้า 20

[4]เจ็กโค ซิอมโป. (2552). TANZ CONNEIONS  ASIEN PAZIFIX –EUROP. หน้า 5

[5] Patricia Matusky and Tan SooiBeng.(2504). The music of Malaysia: The Classical, Folk, and Syncretic Traditions, Published. หน้า10

[6]MohdAnisMd Nor. (1993). Zapin: Folk Dance of the Malay World. Singapore: Oxford University Press. หน้า 30

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net