Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

2 ตค. 2557 ที่ห้องบงกชรัตน์ บี โรงแรมรอยัลริเวอร์  คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลายทางเพศฯ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ : กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” ขึ้น เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับสาธารณชน เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่ามีผลกระทบอย่างไร ต่อกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ รวมทั้งคนโสดทั่วไป

สาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศได้แก่ในหมวด 3 การตั้งครรภ์แทน มาตรา 21 ข้อ 1 เขียนไว้ว่า "สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์ จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน ต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจที่จะเป็นบิดามารดาของเด็ก"

นั่นหมายความคนที่จะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ตามร่างพ.ร.บ.นี้ จะต้องเป็น "สามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น" ทำให้คู่เพศเดียวกัน รวมถึงสามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ถูกเลือกปฏิบัติในทันที โดยเฉพาะในคู่เพศเดียวกัน ที่ในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ได้มีสถานะ "สามีและภรรยา" แต่เป็น "คู่ชีวิต" แทน

ส่วนข้อ 3 เขียนว่า "หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น ถ้าหญิงนั้นมีสามีจะต้องได้รับความยินยอมจากสามีด้วย" นั่นหมายความว่าหญิงโสด หรือหญิงรักหญิงจะถูกตัดสิทธิดังกล่าวนี้ทันที เนื่องจากหญิงในกลุ่มนี้ย่อมไม่เคยมีสามีมาก่อน หรือหากเคยมีสามีมาแล้ว ก็ไม่อยู่ในสถานะ"สมรส" หรือใช้ชีวิตร่วมกัน นอกจากนั้น ในข้อนี้ก็ยังจะเป็นอุปสรรคต่อคู่หญิงรักหญิงในแง่ที่ว่าหากในคู่ชีวิตต้องการให้คนหนึ่งคนใดตั้งท้อง โดยการขอบริจาค สเปิร์มจากชายอื่น เพื่อนำมาผสมกับไข่ตัวเอง ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน

2 ข้อ นี้เป็นเพียงบางส่วนในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ ที่แสดงให้เห็นการจำกัดสิทธิบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ และอาจรวมไปถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่ต้องการมีบุตรด้วย และยังสร้างให้เกิดอคติ ลดคุณค่าต่อชายรักชาย หรือกลุ่มคนข้ามเพศ/แปลงเพศ ที่ไม่สามารถมีบุตรได้

ทั้งที่ปัจจุบันนี้มีคู่ชีวิตเพศเดียวกันจำนวนมากที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัวเฉกเช่น คู่ชายหญิงทั่วไป และมีความพร้อมและความสามารถในการมีบุตรทั้งในรูปแบบการขอรับอุปการะเด็กกำพร้ามาเป็นบุตรบุญธรรม และใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เพื่อมีบุตร

และตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งครอบครัวในรูปแบบครอบครัวตามธรรมชาติ หรือการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม

สิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองไว้อย่างชัดเจนทั้งตามกฎหมายภายใน และกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ในตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ.1966 รวมทั้งในหลักการยอกยาการ์ตา ข้อ 24 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า

“มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการสร้างครอบครัว โดยไม่ขึ้นกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศครอบครัวมีหลากหลายรูปแบบ ห้ามมิให้ครอบครัวใดตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฎิบัติจากสาเหตุแห่งวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ จากสมาชิกคนหนึ่งคนใดในครอบครัว"

รัฐจัก:
ใช้มาตรการทางนิติบัญญัติ ทางปกครอง และอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อรองรับสิทธิในการสร้างครอบครัว รวมทั้งให้มีโอกาสในการอุปการะบุตรบุญธรรม หรือการตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วย (รวมถึงการผสมเทียม) โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากสาเหตุแห่งวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ”

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. .... จึงไม่ได้ช่วยสนับสนุนเพื่อให้เกิดครอบครัวที่มีความหลากหลายตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมแต่ประการใด แต่กลับกีดกัน ตีตราจำกัดสิทธิ และเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศแทน.

 

 

หมายเหตุ: ท่านผู้อ่านสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือให้ข้อเสนอแนะได้ที่

มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ
4 ซอยเพชรเกษม 24 แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กทม.10160
Email : forsogi.thai@gmail.com,TKFthai@gmail.com
โทรศัพท์/โทรสาร: 02 868-4344

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net