Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ได้ฟัง คุณโจน จันได พูดในเวที Ted Talk สำหรับคนที่สนใจเปิดไปฟังได้ที่ http://m.youtube.com/watch?v=LovmKLQcQw4

ตัวฉันเองรู้จักคุณโจน ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าพี่โจน มักจะเห็นพี่โจนใส่เสื้อเก่าๆ ขาดๆ อย่างที่พี่เขาพูดบนเวทีนั่นแหละ

เคยไปบ้านดินของพี่โจนที่แม่แตง ยอมรับว่าพี่โจนไม่ใช่คน fake ไม่ใช่คนที่เทศนาให้คนอื่นอยู่แบบสมถะแต่ตัวเองรับเงินเดือนเป็นแสนเป็นล้าน

พี่โจนเขาใช้ชีวิตอย่างที่เขาพูดนั่นแหละ จำได้ว่าครั้งหนึ่งไปนั่งคุยกันบ้านพี่โจน แล้วก็นั่งฟังเสียงปลวกกินเสื่ออะไรสักอย่างในบ้านไปด้วยดังกร๊วบๆ กร๊วบๆ น่าอร่อยมาก

จำได้อีกว่าที่ศูนย์การเรียนรู้พันพันของพี่โจนนั้น แม้จะมีห้องน้ำที่ "พอใช้ได้" สำหรับคนที่ไปอยู่ที่นั่น แต่ห้องน้ำที่พี่โจนกับครอบครัวใช้เองเป็นส้วมหลุมตัวจริงเสียงจริง (แต่นั่นหลายปีแล้ว)

ความรู้สึกของฉันที่ไปบ้านพันพันของพี่โจน และเห็น "ฝรั่ง" กินมังสวิรัติ พยายามปลุกปั้นอบขนมเค้กกล้วยหอมจากเตาอบที่ใช้ฟืนคือ "ฮิปปี้"

ใน งานของ Ted Talk นั้น เขาแนะนำว่าพี่โจนคือคนที่อยู่กับเศรษฐกิจแบบยั่งยืนหรือ self sufficient economy ในภาษาไทยพยายามยัดเยียดตำแหน่ง "ปราชญ์" ให้พี่โจน ซึ่งฉันก็เชื่อว่าพี่โจนคงลำบากใจน่าดูกับฉายานี้

เพราะสำหรับฉัน พี่โจนไม่ใช่ปราชญ์ ไม่ใช่ผู้นำเศรษฐกิจแบบยั่งยืน แต่พี่โจนเป็นฮิปปี้

ฮิปปี้ ในความหมายของขบวนการคนหนุ่มสาวที่เกิดขึ้นในอเมริกายุคปลาย 60s เป็นต้นมา คือกลุ่มคนที่กบฏต่อวิถีชีวิตกระแสหลักที่บอกว่าคนเราเกิดมาต้องเรียน หนังสือ เข้ามหาวิทยาลัย ไปโบสถ์ หางานดีๆ ทำ แต่งงาน ซื้อบ้าน ซื้อรถ มีลูก เลี้ยงหมา

จากนั้นวนกลับมาที่รูปเดิมคือ ส่งลูกเรียนหนังสือดี ให้ลูกเข้ามหาวิทยาลัย ลูกของเราก็จะทำงานดีๆ แต่งงาน ซื้อรถ ซื้อบ้าน มีลูก เลี้ยงหมา วนไปอย่างนี้ไม่ที่สิ้นสุด

พวกฮิปปี้เขาเห็นว่าวิถี ชีวิตอย่างนี้คือกระบวนการที่ผูกคนให้เชื่องต่อกลไกการทำงานของรัฐที่เกี่ยว กันไปกับระบบเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาคือระบบตลาดเสรี

พูดให้หยาบ คือ มันดึงเราไปอยู่ในห่วงโซ่ของการขูดรีดผู้อื่นและตัวเอง และยั่วยวนเราไว้ด้วยความสุขสบายจากลัทธิบริโภคนิยม

คนเหล่านี้เลยปลดแอกตัวเองด้วยออกมาทำการผลิตเอง พยายามปลูกผักเอง ไม่สนใจแฟชั่น แต่งตัวง่ายๆ ยับๆ จะได้ไม่ต้องรีดผ้าให้เปลืองไฟ วิถีชีวิตของฮิปปี้ที่พัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดในระบบทุนนิยม (มันช่างย้อนแย้งอย่างน่าขัน) คือกระแส eco ทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นอีโคลิฟวิ่ง อีโคทัวริสซึ่ม อีโค่แฟชั่น ตลาดสินค้าออร์แกนิกที่มีมูลค่ามหาศาล

และสุดท้าย มันเป็นอย่างที่ บูดิเยอร์ อธิบายเรื่อง ชนชั้นกับรสนิยมในการบริโภค ว่า

ถ้าคุณเป็นคนชั้นกลางบ้านๆ คุณก็เดินห้างสรรพสินค้ากระแสหลัก คาร์ฟูร์ โลตัส กินบุฟเฟ่ต์ในโรงแรม บุฟเฟ่ต์โออิชิอะไรก็ว่าไป ถ้าเป็นชนชั้นกระแดะหน่อยก็กินมิชลินสตาร์

ถ้าคุณเป็นคนชั้นสูง คุณก็มี vineyard เป็นของตัวเองไปเลย มีไร่ มีฟาร์มอิชาบาลาโกะ กินอาหารง่ายๆ แต่หายาก เพราะผลิตมาเฉพาะของในไร่นาของตระกูลเท่านั้น

ส่วนบรรดาชนชั้นกลางปัญญาชนที่โดยมากจะรายได้ต่ำแต่รสนิยมสูง เพราะเสือกเรียนมาเยอะ รู้เยอะ อ่านเยอะ ก็ต้องการ "แยก" ตัวเองออกจากชนชั้นกลางบ้านๆ กับชนชั้นสูงรวยๆ ก็มักจะหันมาหาไลฟ์สไตล์แบบไม่ต้องใช้เงินเยอะแต่เข้าถึงยากนิดนึง

เช่นบรรดาคนที่ไปกินอาหารร้านพันพันของพี่โจนนั่นแหละ คือคนแบบฉันแบบเพื่อนๆ ของฉันอีกหลายคน ที่เราพยายามจะกวนแยมกินเอง ทำขนมปังกินเอง เย็บผ้าเองบ้าง ปั้นเซรามิกเองบ้าง อยากจะลองปลูกกาแฟสักต้นสองต้น เก็บเองคั่วเองบดเอง หาไวน์ออร์กานิกยังงี้อย่างงั้นมากิน หาผลไม้มาดองเหล้าเองเก๋ๆ เพื่อจะบอกว่า "ไม่รวยแต่มีรสนิยมนะจ๊ะ"

แต่ไอ้ประโยค "ไม่รวยแต่มีรสนิยม" เนี่ยะ โดยมากเราไม่ได้พูดออกมาดังๆ และเราก็ไม่ได้คิดว่าเราเป็นอย่างนั้นด้วย

โดยมากเราเชื่อว่าเราทำไปเพราะเราคือผู้บริโภคที่มี awareness ต่อกลุ่มทุนใหญ่ที่ใช้แรงงานทาสเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรต่างหากว้อยยย

อีกอย่างเราก็ไม่อยากกินผักจีเอ็มโอ หรือบุฟเฟ่ต์ห่วยๆ ที่ผลิตมาจากวัตถุดิบห่วยๆ ที่พวกชนชั้นกลางบ้านๆ เขาไปกินกันจริงๆ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่พี่โจนเป็น สิ่งที่พวกเราชนชั้นที่มักคิดว่าเรามี awareness รู้เท่าทันระบบตลาด เศรษฐกิจ ทุน บ้าบอคอแตกอะไรเหล่านี้มันคือเสรีภาพของมนุษย์ที่จะมี choice หรือทางเลือกที่จะใช้ชีวิต มันคือไลฟ์สไตล์ ทว่ามันไม่ใช่ "ศีลธรรม"

ความอึดอัดใจของฉันในขณะทีฟังพี่โจนพูดในเวที Ted Talk คือภาวะปริ่มๆ ของการพิพากษาว่า เฮ้ย พวกคุณที่ทำงานเก็บเงินซื้อบ้านซื้อรถเนี่ย พวกคุณแม่ง ทั้งโง่ทั้งบ้า

ในแง่นี้ ถ้าพ้นจากภาวะปริ่มๆ นี้ สิ่งที่พี่โจนพูดจะอันตรายมาก เพราะพี่โจนกำลังจะสถาปนาทางเลือกในการใช้ชีวิตของตนเอง ว่ามัน "ถูกต้อง" กว่าทางเลือกอื่นๆ ของมนุษย์คนอื่นๆ

แน่นอนว่าเราวิพากษ์ระบบทุนได้ เราวิพากษ์การครอบงำของมันได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องแทนที่ระบบที่เราวิพากษ์นั้นด้วยการบอกว่ามันมีอีก ระบบหนึ่งที่ถูกต้องและระบบนั้นคือสิ่งที่ "ผิด" โดยสิ้นเชิงด้วยตัวของมันเอง

ก่อนที่จะวิจารณ์ว่า ในสิ่งที่พี่โจนพูดมันจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดต่อประเด็นใดบ้าง จะสรุปเนื้อหาในการพูดก่อน ถ้าสรุปผิดพลาดไป ก็จะถือเป็นความรับผิดชอบของฉันเอง

พี่โจนพยายามบอกว่า ชีวิตมันง่ายจะตายไป ปัญหาคือคนเราทุกวันนี้ไปทำให้ชีวิตมันซับซ้อนมันยากไปเอง

พี่โจนยกตัวอย่างว่าสมัยพี่โจนเป็นเด็กอยู่บ้านนอก ชีวิตมันง่ายมาก มันสนุกมาก แต่ชีวิตเริ่มยาก เมื่อมีไอ้บ้าที่ไหนก็ไม่รู้มาบอกว่าไอ้ชีวิตง่ายๆ เนี่ยเขาเรียกว่า "จน" และ "ไม่พัฒนา" พี่โจนเลยพยายามตะเกียกตะกายออกไปจากความจนด้วยการไปกรุงเทพฯ ไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย ไปทำงานหนักมาก

แต่พบว่ายิ่งทำงานหนักก็ยิ่งจน ชีวิตก็ยิ่งลำบากมากขึ้น ไอ้ความสำเร็จที่ว่าก็ไม่เห็นมาถึงหรือมีอยู่จริง

สุดท้ายจึงกลับบ้าน และตระหนักว่าชีวิตชาวบ้านนอกจนๆ ทำงานปีละสองเดือนมีเวลาว่างเยอะๆ ต่างหาก คือความสุข

"คน บ้านนอกเราทำนาปีละสองเดือน มีข้าวกินทั้งปี คนบ้านนอกเลยมีเทศกาลงานบุญเยอะแยะไปหมด เพราะเขามีเวลามาก เมื่อเขามีเวลามากเขาก็มีเวลาที่จะมาทำความเข้าใจตัวเอง ทำให้เขารู้ว่าเขาต้องการอะไรในชีวิต และนั่นทำให้พวกเขารู้ว่าอะไรทำให้พวกเขามีความสุข เมื่อเขามีความสุข มีเวลา เขาก็สามารถทำงานสวยๆ ออกมาได้ เช่น การแกะสลัก การสานกระบุงตะกร้าสวยๆ การทอผ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ค่อยๆ หายไปจากวิถีชีวิตชาวบ้านไปแล้ว"

พี่โจนยังบอกอีกว่า พี่โจนทำนาปีละสองเดือน ทำสวนผักที่ใช้เวลาดูแลแค่วันละสิบห้านาที สรุปคือพี่โจนทำงานปีละสองเดือน ทำสวนวันละสิบห้านาที มีอาหารเลี้ยงคนหกคนในบ้านสบายๆ มีข้าวเหลือขาย (ส่วนฉันฟังก็อ้าปากหวอ อะเมซซิ่งมาก)

จากนั้นพี่โจนก็ทำบ้านดิน บ้านดินของพี่โจนง่ายมาก เด็กๆ ก็ทำได้ ทำวันละสองชั่วโมง สามเดือนก็เสร็จ ไม่ต้องผ่อนบ้านสามสิบปี มีความสุขจัง (แต่บ้านดินพี่โจนปลวกกินกร๊วบๆ เลยนะ บ้านดินของเพื่อนฉันก็มีดินร่วงลงมาตลอดเวลา แต่หลายๆ คนมีความสุขกับการอยู่บ้านแบบนี้ และฉันผิดตรงไหนฟะ ที่ยอมเป็นหนี้สามสิบปี เพราะอยากอยู่บ้านไม่มีปลวก และ "มาตรฐาน" ในแบบที่ฉันชอบ)

ให้ตายเถอะ บ้านดินแปดสิบเปอร์เซ็นต์ที่ฉันเคยเห็น เป็นบ้านที่อยู่ "ไม่สบาย" เผลอๆ อยู่ไม่ได้จริง

ส่วนบ้านดินที่สวยและอยู่ได้จริง โดยมากสร้างโดยนักสร้างบ้านมืออาชีพและต้องผสมผสานไปกับความรู้แบบสถาปนิก มืออาชีพและเทคโนโลยีที่ทันสมัยอื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่น เทคนิคในการทำหลังคาและการใช้วัสดุที่ไม่ "ธรรมชาติ" ผสมสิ่งเหล่านี้เข้าไป บ้านดินก็จะเป็นบ้านอยู่ได้จริงและสบาย

และแน่นอนว่าจะทำบ้านดินที่อยู่ได้สบายนี้มันไม่ได้ "ง่าย" และ "ถูก" อย่างที่พี่โจนพยายามบอกว่า โอ๊ยยย ทำเลย ใครๆ ก็ทำบ้านดินได้ เว้นแต่ว่าเราจะลาออกจากงาน อุทิศตัวให้กับการฝึกทำบ้านดิน ลองผิดลองถูก ทำไปสักยี่สิบหลัง เราก็จะได้ความชำนาญในการสร้างบ้านดิน บ้านดินหลังที่ยี่สบเอ็ดของเรา อาจจะเป็นบ้านที่อยู่ได้จริงขึ้นมาก็เป็นได้

แล้วไอ้กระบวนการฝึกทำบ้านดินด้วยตนเองสักยี่สิบสามสิบหลังจนสามรถตกผลึกในวิชา สร้างบ้านให้ตอบสนองความต้องการของตนเอง และได้บ้านที่ "อยู่ได้" มันก็ตือกระบวนการที่มนุษย์เราได้ค่อยสั่งสมความรู้มาตั้งแต่ยุคอยู่ถ้ำ อยู่เรือนชั่วคราว ค่อยๆ พัฒนาองค์ความรู้มาเป็นวิชาสถาปัตยกรรม วิศวกรรม

พัฒนาการ ของความรู้เรื่องการสร้างบ้าน สร้างอาคารของเรา ก็คือเพื่อจะตอบโจทย์ว่า สร้างบ้านอย่างไรให้ปกป้องเราจาก มด งู หนู แมลง จากอากาศร้อน อากาศหนาว พายุ ทำบ้านอย่างไรไม่ให้พายุมาแล้วพังครืนทันที

หรือสร้างบ้านอย่าง ไรไม่ต้องขึ้นไปเปลี่ยนหญ้าคาบนหลังคาทุกปี และนี่คือสิ่งที่พี่โจนบอกในการพูดบนเวทีนี้ว่า วิชาความรู้ที่สอนกันในมหาวิทยาลัย ล้วนแล้วแต่ destructive มากกกว่าจะ productive

วิชาพวกสถาปัตยกรรม วิศวกรรม มีแต่จะทำลายล้างผลาญโลก ทำให้ระเบิดภูเขามากขึ้น ฯลฯ

ฉันฟังแล้วรู้สึกว่า ไม่เถียงเรื่องนี้กับพี่โจนและผู้ฟังทุกคนที่ปรบมือชื่นชมพี่โจนในวันนั้นไม่ได้

แน่นอนว่าสิ่งที่โจนเลือกเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม

ไม่มีใครเถียงว่าพี่โจนกล้าหาญมากที่เลือกจะใช้ชีวิตอย่างนั้น

แต่ข้อเสนอของพี่โจนจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดหลายอย่าง

อย่างแรกที่สำคัญมากคือ พี่โจนกำลังสร้างคู่ตรงกันข้ามระหว่างธรรมกับอธรรม

นั่นคือ ชนบทดี กรุงเทพฯ เลว

วิถีชีวิตดั้งเดิมดี การพัฒนาเลว

ภูมิปัญญาท้องถิ่นดี ความรู้สมัยใหม่เลว

แต่ชีวิตโดยเฉพาะชีวิตทางสังคมการเมืองของเรามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

และหากจะพูดให้ถึงที่สุด ชีวิตจริงของเรามันไม่ง่าย และมนุษย์เราต้อง complicate

ต่อให้เราหนีไปสร้างบ้านดิน ปลูกผัก ทำนากินเอง แต่ในยุคที่เรามี "รัฐ" สมัยใหม่ มีความเป็น "พลเมือง" พี่โจนจะเดินทางก็ต้องมีพาสปอร์ต วีซ่า

เพราะฉะนั้น "เรา" ไม่ได้กำหนดชีวิตของตัวเราตามลำพัง แต่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กำกับชะตากรรมของเราอยู่เสมอ

แต่ ทั้งหมดที่พี่โจนพูดบนเวที Ted Talk พี่โจนกำลังเคลมความสำเร็จนี้ว่ามาจากศักยภาพของปัจเจกบุคคลที่เพียงแต่คุณ กล้าหาญจะเดินออกจากบ้านมาปลูกผักทำบ้านดิน คุณก็จะมีความสุขแบบผม

พอพูดแบบนี้ปุ๊บ ความเข้าใจที่ตามมาคือ บรรดาชาวบ้าน ชาวนาที่ทำนา แต่ยังจน เพราะว่าคุณไม่รู้จักพอเพียง?

เพราะว่าคุณเฝ้าตามแฟชั่น?

คำถามของฉันคือ มีคนจำนวนมากที่ทำเหมือนพี่โจนมาหลายชั่วอายุคนและยังยากจน เป็นหนี้เพราะเขาไม่รู้จักพอ?

เพราะเขาใช้สารเคมีมากเกินไป?

เพราะเขาทะเยอทะยานอยากส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย?

เพราะเขาไม่อยู่บ้านดิน?

เพราะเขากินเหล้า?

หรือจริงๆ แล้วเขาไม่ได้จน และมีคนมาบอกว่าเขาจน เขาเลยมีความทุกข์?

ฉัน ไม่เคยทำนา แต่ถ้าชีวิตชาวนามันสบายแบบที่พี่โจนบอก คือทำงานปีละสองเดือนที่เหลือเต้นระบำรำฟ้อน มีความสุขสนุกสนาน มีวิตชาวบ้านมีแต่งานบุญงานรื่นเริง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ฉันคิดว่าป่านนี้เราคงมีชาวนาสักร้อยละเก้าสิบของประเทศ

แต่เท่าที่ รู้คือ ไม่มีชาวนาคนไหนอยากให้ลูกเป็นชาวนา ค่านิยมแบบไทยๆ ที่อยากให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคนก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าการเป็นชาวนามัน "สบาย" มัน "สนุก" จริง คนเราต้องอยากให้ลูกหลานเป็นชาวนานี่แหละ ไม่มีวันอยากให้ลูกเป็นอย่างอื่น

ชีวิตชาวนามัน "ชิล" เป่าขลุ่ยบนหลังควาย มีสายลมเย็นกับช่อดอกโสนสีเหลืองลออโบกล้อกับเราระหว่างไถนา จริงหรือ?

เทศกาล งานบุญมากมายของชาวบ้านชาวนาที่พี่โจนว่ามานั้น ล้วนแต่เป็นกลไกของพิธีกรรมที่ช่วยให้ชาวบ้าน ชาวนา สามารถรับมือกับทุพภิกขภัยของชีวิตที่ไร้หลักประกันใด เพื่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรักพย์สินหรือไม่ใช่? ทั้งแห่นางแมวขอฝน บุญบั้งไฟ และอื่นๆ อันเกี่ยวมากับความ "กลัว" ว่าจะเกิดความแห้งแล้ง ความไม่อุดมสมบูรณ์ สภาวะธรรมชาติที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

ฉันไม่ได้บอกว่า โอ๊ยยยย เป็นชาวนามันแย่ เราควรเลิกเป็น ชาวนาควรหันไปทำอาชีพอื่น

แต่กำลังจะบอกว่า ข้อเสนอของพี่โจนที่บอกว่า - ไอ้พวกคนในเมือง คนในกรุงเทพฯ มันทุกข์ มันเหนื่อย เพราะมันไม่รู้ออกไปทำนา ขุดบ่อปลา สร้างบ้านดิน มันมัวแต่เรียนวิชาบ้าๆ บอๆ ในมหาวิทยาลัย มันเลยทุกข์

ถ้าข้อเสนอนี้จริง ทำไมชาวนาถึงไม่อยากให้ลูกเป็นชาวนา ทำไมลูกหลานชาวนาจำนวนมากไม่อยากเป็นชาวนา?

เวลาพี่โจนพูดว่าทำสวนผักวันละสิบห้านาที ทำนาปีละสองเดือน ฟังแล้วมันชวนเคลิ้มนะ ราวกับว่าโลกนี้คุณภาพดินสมบูรณ์เท่ากันหมดทั่วโลก โลกนี้ไม่มีศัตรูพืช โลกนี้ไม่มีน้ำท่วม โลกนี้ไม่มีฝนแล้ง และโลกนี้ทุกคนมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

ประสบการณ์ของฉันอาจจะผิด แต่ชาวนา ชาวบ้านนอกที่ฉันรู้จัก เขาไม่เคยวิ่งตามแฟชั่น เขาไม่เคยซื้อกางเกงยีนส์ เขาอยู่บ้านที่สร้างเอง เขาก็ใช้ชีวิตเหมือนพี่โจนทุกอย่างนั่นแหละ รวมทั้งเก็บเมล็ดพันธุ์พืชผักต่างๆ และไม่มีใครเชิญเขาขึ้นเวที Ted Talk ด้วย

เพราะว่าพวกเขาจนจริง ป่วยจริง ตายจริง และสมุนไพรก็ไม่ช่วยอะไร (สามสิบบาทรักษาทุกโรคต่างหากที่ช่วยได้จริง)


พี่โจนคะ โลกก่อนการพัฒนาและก่อนกำเนิดความรู้สารพัดที่พี่โจนบอกว่ามัน destructive นั้น คนมีอายุขัยเฉลี่ยแค่ไม่เกิน 40 นะ เพราะแค่เป็นหวัด หรือ ท้องร่วงก็ตายแล้ว คนครึ่งหนึ่งในพระราชวังแวร์ซายส์ก็หน้าปรุเพราะเป็นฝีดาษ

สิ่งที่พี่โจนควรจะพูดบนเวที Ted Talk คือ เงื่อนไขหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้ "ทางเลือก" ของพี่โจนเป็นไปได้สำหรับพี่โจน แต่เป็นไปไม่ได้สำหรับคนอื่น!

นอกเหนือไปจากเงื่อนไขแบบ อ๋อ เพราะผมรู้เท่าทันทุนนิยม

อ๋อ เพราะผมเลิกตามแฟชั่น อ๋อ เพราะผมเป็นตัวของตัวเอง

คน ฟังน่าจะอยากรู้ว่า พี่โจนมาทำที่แม่แตงได้อย่างไร ซื้อที่ดินอย่างไร ราคาเท่าไหร่ มีหลักในการเลือกที่ดินอย่างไร บริหารเงิน แรงงานของตนเองและครอบครัวอย่างไร เผชิญกับอุปสรรคอะไรบ้าง

จะแตกต่างไหม ถ้าพี่โจนไม่ได้เลือกเชียงใหม่ แต่เลือกจังหวัดอื่น?

ถ้าพันพันไม่ได้เปิดที่วัดสวนดอกในตอนแรก แต่ไปเปิดที่บึงกาฬแทน มันจะเวิร์กไหม

และหากฉันเป็นชาวนาที่บีงกาฬ ฉันอยากทำเหมือนพี่โจน ฉันต้องทำอย่างไร เงื่อนไขของครอบครัวมีผลต่อการเลือกวิถีชีวิตอย่างนี้หรือไม่?

ระหว่างมีแฟนเป็นเอ็นจีโอ เป็นชาวนา เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ แฟนอาชีพไหนจะเหมาะที่สุดสำหรับทางเลือกแบบนี้?

ถ้าแฟนเรามีภาระเลี้ยงน้อง ส่งน้องเรียนหนังสือ แม่ป่วย พ่อเป็นอัลไซเมอร์ เราควรเปลี่ยนแฟน หรือสั่งให้น้องแฟนออกจากมหาวิทยาลัย มาช่วยทำนา? แล้วเอาสมุนไพรไปรักษาแม่?

ฯลฯ

เหล่านี้คือตัวอย่างคำถาม สำหรับ "เงื่อนไข" ที่มากไปกว่าการที่มนุษย์คนหนึ่งจะดั๊นนนน โง่ ไม่รู้เท่าทันทุนนิยมที่มันหลอกให้เราทำงานหนักและตามล่าหาความสำเร็จใน ชีวิตอย่างที่พี่โจนพยายามจะบอก

สุดท้าย ฉันไม่เห็นด้วยอย่างแรง ว่าวิทยาการความรู้สมัยใหม่มัน destructive - ฉันนั่งอยู่ที่เกียวโตตอนนี้ เมืองที่มีการจัดการเมืองได้น่าอยู่ที่สุด สิ่งแวดล้อมดีที่สุด ผังเมืองงดงามที่สุด เป็นมิตร โอบอุ้มมนุษย์มากที่สุด

เบื้องหลังมันคือความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรม การวางผังเมืองที่ก้าวหน้าที่สุด ทันสมัยที่สุดต่างหาก หาใช่ภูมิปัญญา ชาวนา ซามูไรพื้นบ้านไม่

สองฝั่งแม่น้ำคาโม่ที่สวยกริ๊บ เป็นพื้นที่สาธารณะที่จรรโลงใจ เกิดขึ้นได้เพราะฝีมือของวิศวกร สถาปนิก นักออกแบบภูมิสถาปัตย์ เครื่องจักร เครื่องกลของงานก่อสร้างที่ทันสมัย แรงงานของผู้คนที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีในระบบ "สมัยใหม่"

และฉัน เชื่อว่าเมืองที่น่าอยู่เมืองอื่นๆ ในโลกนี้ ก็ล้วนแต่ถูกชำแรกความบริสุทธิ์โดยนักออกแบบเมืองและนักวางผังเมืองกันมา แล้วทั้งนั้น

เมืองสวยๆ ที่เราเห็นทั้งโลก ไม่ได้สวยอย่างนี้ตาม "ธรรมชาติ"

แต่สวยด้วยการจัดการและ "วิชาการ" ย้ำว่าเป็นวิชาการสมัยใหม่มากๆ ด้วย

สิ่งที่พี่โจนและผู้ฟังในเวที Ted Talk วันนั้น ไม่ได้ตระหนักเลยก็คือ ทุน และความเป็นสมัยใหม่ ไม่ได้ "เลว" แต่อุดมการณ์ในสังคมที่กำกับความรู้เหล่านั้นต่างหาก ที่จะแปรผันสิ่งเหล่านี้ให้ดีหรือเลว ให้ยุติธรรมหรืออยุติธรรม

น่าเสียดาย และน่าเสียใจ ที่อุดมการณ์ที่กำกับองค์ความรู้ของพี่โจน ผู้มีวิถีชีวิตตามความเป็นจริงที่น่านับถือยิ่งในคืนนั้น กลับคืออุดมการณ์ที่กำกับและผดุงความอยุติธรรมในสังคมไทยเอาไว้ภายใต้การ สร้างมายาคติว่าด้วยชนบทอันงดงาม VS ปีศาจของทุนและความรู้ตะวันตก

มึงจนเพราะมึงไม่รู้จักพอ

มึงทุกข์เพราะมึงทะเยอทะยาน

ย้ำ : ชีวิตที่ง่ายไม่จำเป็นต้องทิ้งความซับซ้อน โดยเฉพาะในวิธีคิด

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12-18 กันยายน 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net