รัฐประหาร 2549 ไม่เสียของ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 นี้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของชนชั้นนำไทยที่เข้าใจกันว่า การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2549 นั้น เป็นรัฐประหาร”เสียของ” เพราะไม่ประสบความสำเร็จในการกวาดล้าง”ระบอบทักษิณ” และคาดหมายว่า รัฐประหารครั้งใหม่นี้จะประสบความสำเร็จยิ่งกว่าในการบดขยี้”ระบอบทักษิณ” ในโอกาสที่วันที่ 19 กันยายน นี้จะเป็นวันครบรอบของการรัฐประหาร พ.ศ.2549 น่าจะลองกลับมาพิจารณาว่า การรัฐประหารครั้งนั้นเสียของจริงหรือไม่

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมเมื่อ พ.ศ.2535 มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ และมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามวิธีประชาธิปไตยเสมอมา และมีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นใน พ.ศ.2540 อันนำมาซึ่งการมีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริงชุดแรกในประวัติศาสตร์ ภายใต้วิถีทางเช่นนี้ ดูเหมือนว่าประชาธิปไตยไทยจะมั่นคงและเป็นแบบอย่างเช่นนานาประเทศ การเมืองแบบรัฐประหารควรที่จะหมดสิ้นไป

ในระบบเช่นนั้น พรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเมื่อ พ.ศ.2544 และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งที่ท่วมท้นกว่าเดิมใน พ.ศ.2548 แต่กลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลางจำนวนมาก ไม่พอใจวิธีการบริหารของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ในที่สุดก็มีการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อสร้างกระแสต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ รัฐบาลไทยรักไทยพยายามแก้สถานการณ์โดยเตรียมการจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในเดือนตุลาคม แต่กองทัพบก นำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ก่อการยึดอำนาจเสียก่อนในเดือนกันยายน

ฝ่ายที่ยึดอำนาจได้ตั้งตนเองเป็นคณะ คมช.ซึ่งมีชื่อเต็มอันยาวเหยียดว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จากนั้นก็ได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540 ล้มเลิกประชาธิปไตย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเผด็จการเป็นการชั่วคราว และตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้นบริหารประหารประเทศ นำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่คงจะต้องอธิบายว่า การรัฐประหารนั้นแสดงให้เห็นว่า ชนชั้นนำไทยนั้นสิ้นปัญญาที่จะเอาชัยชนะพรรคไทยรักไทยโดยผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และไม่รู้จักอดทนรอยคอยกระบวนการ ต้องการใช้วิธีการแบบฉับพลันในการล้มรัฐบาล จึงยอมรับวิธีการเช่นนี้

ยิ่งกว่านั้น การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2549 ก็เป็นการกระทำที่สวนทางประวัติศาสตร์โลกอยู่แล้ว เพราะในขณะนั้น ก็แทบจะไม่มีประเทศใดในโลกแก้ปัญหาการเมืองด้วยการยึดอำนาจ การรัฐประหารในประเทศไทยจึงถูกปฏิเสธโดยทันทีจากโลกนานาชาติ ดังนั้น แม้ว่ารัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์จะถูกอธิบายว่าเป็น”รัฐบาลคนดี” แต่ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างหมางเมินจากผู้นำต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเสียภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมาก

แต่กระบวนการทางการเมืองในประเทศยังดำเนินต่อไป ที่จะจัดการกับกลุ่มการเมืองที่ฝ่ายชนชั้นนำเห็นว่า เป็นเสี้ยนหนามของฝ่ายตน จึงได้ใช้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญดำเนินการยุบพรรคไทยรักไทยในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2550 แล้วลงโทษตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยอีก 111 คน เป็นเวลา 5 ปี โดยเป้าหมายในการดำเนินการ ก็เพื่อปิดฉากพรรคไทยรักไทยและทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับอดีตกรรมการพรรคไม่สามารถกลับมามีบทบาทได้ แล้วจึงดำเนินให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งจะเปิดโอกาสแก่พรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์มีมีบุคคลากรพร้อมกว่าสามารถที่จะเอาชนะในการเลือกตั้งได้

และเพื่อสร้างหลักประกันในการป้องกันการฟื้นอำนาจของ”ฝ่ายทักษิณ” ชนชั้นนำไทยยังได้ผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2550 ซึ่งมีมาตรการจำนวนมากในการควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมือง โดยเฉพาะการเปิดทางให้กับอำนาจตุลาการที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นตัวควบคุมทางการเมืองอย่างเต็มที่ โดยกำหนดให้มีวุฒิสภาจากการสรรหาโดยฝ่ายตุลาการ และยังให้ตุลาการเป็นฝ่ายสรรหาบุคคลในองค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการเลือกตั้ง(ก.ก.ต.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อควบคุมทิศทางการการเมืองให้เป็นตามกำหนดของชนชั้นนำ ลดอำนาจการแต่งตั้งข้าราชการของฝ่ายรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยกำหนดให้หน่วยงานสำคัญ เช่น กองทัพ ตำรวจ และธนาคารแห่งประเทศไทย มีกรรมการจัดตั้งฝ่ายบริหารของตนเอง ที่รัฐบาลแทรกแซงไม่ได้

เมื่อผ่านการดำเนินการทั้งหมดนี้แล้วก็เปิดให้มีการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2550 แต่กลับกลายเป็นว่า พรรคพลังประชาชน ที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดย”ฝ่ายทักษิณ” ก็ชนะการเลือกตั้งกลับมาจัดตั้งรัฐบาลได้อีก และนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จนต้องใช้อำนาจตุลาการยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคการเมืองอื่นอีกครั้งในเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 แล้วตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการพรรคอีก 110 คน เพื่อเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์มาจัดตั้งรัฐบาล แต่พอมีการเลือกตั้งใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 พรรคเพื่อไทยที่ตั้งมาจากพรรคพลังประชาชน ก็ชนะการเลือกตั้งอีก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณกลับได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี

ปัญหาก็คือ การที่พรรคการเมือง”ฝ่ายทักษิณ”ชนะเลือกตั้งได้อีก 2 ครั้งนั้น เป็นเพราะความล้มเหลวของการรัฐประหาร พ.ศ.2549 จริงหรือ ต้องตอบว่า การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2549 ก็ได้พยายามทำทุกอย่างในเงื่อนไขที่เป็นไปได้แล้ว ที่จะจัดการกับ”ระบอบทักษิณ” โดยสร้างระบบการเมืองที่หน้าตาพิกลพิการ ให้อำนาจแก่ฝ่ายตุลาการอย่างมหาศาลโดยไร้การตรวจสอบ แต่ควบคุมการดำเนินการของรัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างไร้เหตุผล ในกรณีที่รัฐบาลนั้นมาจากพรรคที่ไม่สอดคล้องกับฝ่ายชนชั้นนำ จึงได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเสมอมา แต่ฝ่ายชนชั้นนำก็ได้ใช้ศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นตัวขวางทางไม่ให้การแก้รัฐธรรมนูญบรรลุผล

ภายใต้ระบบเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารประเทศอย่างยากลำบาก นโยบายและการดำเนินการหลายอย่างต่างถูกขัดขวางจากองค์กรอิสระจนไม่อาจดำเนินการได้ และที่สำคัญก็คือชนชั้นนำได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มมวลชน กปปส.มาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็ถูกคณะกรรมการเลือกตั้งขัดขวางดำเนินการให้การเลือกตั้งไม่บรรลุผล เปิดทางให้องค์กรอิสระถอดถอนนายกรัฐมนตรี แต่กระนั้น ชนชั้นนำก็ยังไม่พอใจ ต้องสนับสนุนให้กองทัพบกทำการรัฐประหารครั้งที่สอง รื้อฟื้นระบบเผด็จการทหารดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ความผิดพลาดทั้งหมดนี้ มีเงื่อนไขประการเดียวเท่านั้น คือ ชนชั้นนำไทยประเมินประชาชนไทยผิด คิดว่าประชาชนไทยส่วนข้างมากยังว่าง่ายตามใจชนชั้นนำเช่นในอดีต สามารถอ้างเอาเรื่องคุณงามความดีมาเปลี่ยนใจประชาชน แต่เมื่อไม่สามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจประชาชน ก็ใช้วิธีการนอกกติกาเช่นบังคับด้วยอำนาจตุลาการ หรือในที่สุดก็บังคับด้วยอำนาจกองทัพ

เมื่อใช้วิธีการเช่นนี้ ก็มีอยู่ทางเดียวที่จะทำได้ คือต้องออกแบบระบบการเมืองที่พิกลพิการกว่าเดิม ขึ้นกับคะแนนเสียงของประชาชนน้อยกว่าเดิม หรือไม่ก็ใช้อำนาจเผด็จการบังคับประชาชนให้ยาวนานที่สุด ถ่วงเวลาการเลือกตั้งให้มากที่สุด เพราะกลัวว่ามีการเลือกตั้งครั้งใด ประชาชนก็จะยิ่งเลือก”ฝ่ายทักษิณ”ถล่มทลายยิ่งกว่าเดิม

สรุปได้ว่าการเมืองภายใต้ระบอบรัฐประหารเช่นนี้ แม้จะเป็นเรื่องอึดอัดสำหรับฝ่ายประชาชน แต่ดูเหมือนว่า ชะตากรรมของฝ่ายชนชั้นนำไทยจะน่าสงสารกว่า เพราะจนตรอกในวิธีการ ยิ่งฝืนกระแสประชาชนและฝืนกระแสโลก จะทำรัฐประหารอีกกี่ครั้งก็”เสียของ”

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 479 วันที่ 13 กันยายน 2557
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท