Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)  ได้รับแจ้งจากบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) (“ทุ่งคาฯ”)  เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557[1]  ว่าบริษัท ทุ่งคำ จำกัด (“ทุ่งคำ”)  บริษัทลูกซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองทองคำในเขตท้องที่ตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย  ตามสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว - ภูขุมทอง  ขอหยุดกิจการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2557  เป็นต้นไป  โดยอ้างเหตุการณ์คัดค้านการทำเหมืองของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน  ที่จัดสร้างสิ่งกีดขวางทางเข้าออกเหมือง  ทำให้พนักงาน  ลูกจ้าง และคู่ค้าไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานภายในเหมืองได้

วันที่ 4 มิถุนายน 2557  กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 8 ค่ายศรีสองรักจากจังหวัดเลย  ส่งหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวงมาปฏิบัติภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย  เพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชุมชน 6 หมู่บ้าน (บ้านห้วยผุก  บ้านกกสะทอน  บ้านนาหนองบง  บ้านแก่งหิน  บ้านภูทับฟ้า  และบ้านโนนผาพุง)  กับเหมืองแร่ทองคำของทุ่งคำทันที

ช่วงเวลาที่สอดคล้องกันเช่นนี้ ถ้าไม่เป็นความบังเอิญ ก็เป็นการสมคบคิดกันระหว่างทหารกับทุ่งคาฯ และทุ่งคำ  เพราะมีข่าวความเคลื่อนไหวในพื้นที่ว่า หน่วยเฉพาะกิจเขาหลวงจะเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเหมืองแร่ทองคำให้ได้ภายในสามเดือน นับแต่วันที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจ

หลังรัฐประหารอีกเช่นกัน  ข่าวที่ถูกปิดเงียบในเดือนกรกฎาคม 2557  มีความเคลื่อนไหวที่ปิดลับสุดขีดภายในสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  ว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของทุ่งคาฯ  คือ นางสาว Regina Wen Li Ng  ใช้กลไก ISDS ฟ้องรัฐบาลไทยต่อ UNCITRAL โดยใช้ผ่าน BIT ไทย - ฮ่องกง[2]  โดยอ้างว่าทุ่งคำไม่สามารถขนแร่ทองคำออกมาจากเหมืองได้ เพราะชาวบ้านต่อต้านจากเหตุที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตทองคำเกิดการรั่วไหล จนเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

จนเวลาล่วงเลยมาได้เดือนกว่า  ความลับที่ถูกปิดไว้ที่ ก.ล.ต. ก็ถูกเปิดเผยโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 – วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม 2557

ทั้งนี้ ISDS เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรือยกเลิกนโยบายสาธารณะของประเทศนั้นๆ ได้ หากพบว่าไปขัดขวางการดำเนินกิจการของเอกชน หรือทำให้กำไรของเอกชนที่คาดว่าจะได้ลดลง

ในเว็บไซต์ FTA Watch  ได้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณชนเกี่ยวกับ ISDS ไว้น่าสนใจ  ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนจากประเทศหนึ่งหอบเงินลงทุนมาตั้งโรงงานในประเทศไทย ถ้าอยู่ๆ รัฐบาลไปยึดที่ดินเขา  เขาก็ฟ้องร้องต่อศาลไทยได้  แต่นักลงทุนอาจจะไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของเรา  รวมถึงไม่อยากให้คดีล่าช้า  อยากให้เรื่องจบเร็วๆ ก็ไปฟ้องผ่านกลไก ISDS  เพราะการไปฟ้องผ่านกลไก ISDS ไม่ต้องผ่านศาลไทย ซึ่งใช้เวลานานกว่าคดีความในศาลชั้นต้นจะถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกา

โดย ISDS จะใช้ระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการพิจารณาและตัดสินคดี  โดยระบบของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามกลไก ISDS จะเป็นการพิจารณาข้อพิพาทของคน 3 คน คือ หนึ่ง - ตัวแทนนักลงทุน  สอง - ตัวแทนรัฐบาล  สาม - คนที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน  โดยสามคนนี้ไปประชุมกัน ศึกษาตัวสัญญา แล้วมีอำนาจตัดสินได้เลยว่า รัฐบาลผิดหรือไม่ ถ้าผิดแล้วจะต้องถูกลงโทษอย่างไร จ่ายค่าเสียหายเท่าไหร่ เป็นต้น

ทหารกับการระงับข้อพิพาทนอกศาลก่อนกระบวนการอนุญาโตตุลาการ

พันเอกสวราชย์ แสงผล  รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8  และในฐานะผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวง  ได้กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557  ในการเจรจาครั้งแรกกับราษฎรกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำว่า “พร้อมใช้กฎอัยการศึกเปิดทางเข้าเหมือง”[3]  เพื่อขนแร่ทองคำและแร่พลอยได้อื่นออกมา  ในครั้งนั้นถึงกับทำให้ชาวบ้านกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่  เพราะสับสนกับท่าทีแข็งกร้าวของนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาหน่วยเฉพาะกิจตั้งแต่การเจอกันครั้งแรกว่า มาเจรจาช่วยเหลือชาวบ้านจากเหตุการณ์ถูกทำร้ายร่างกายในคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557  โดยชายฉกรรจ์อำพรางใบหน้า 300 นาย ใช้กำลังประทุษร้ายชาวบ้าน เพื่อขนแร่ทองแดงผสมทองคำและเงินออกไปจากเหมืองแร่  หรือมาเจรจาเพื่อขนแร่รอบใหม่ให้ทุ่งคำ

แต่การขนแร่รอบใหม่โดยกฎอัยการศึกก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด  เพราะทหารระดับปฏิบัติการในพื้นที่กับทหารระดับนโยบายในกรุงเทพฯ ไม่ได้เห็นคล้อยตามกันในกรณีนี้เสียทีเดียว  เนื่องจากพื้นที่นี้มีการจับจ้อง สอดส่องจากสื่อมวลชนอย่างเกาะติด ต่อเนื่อง และถี่ยิบ  รวมถึงความพัวพันของคดีความต่างๆ ที่ทุ่งคำฟ้องต่อชาวบ้านถึง 6 คดี  รวมคดีที่ทุ่งคำกดดันให้นายก อบต. เขาหลวงเป็นฝ่ายฟ้องชาวบ้านอีก 1 คดี  เป็น 7 คดี ซึ่งล้วนเกิดขึ้นจากเหตุแห่งการสร้างสิ่งกีดขวางจนไม่สามารถขนแร่ได้ทั้งสิ้น 

ดังนั้น หากพันเอกสวราชย์ แสงผล จะขนแร่รอบใหม่ออกจากเหมืองทองคำจริงตามที่ขู่ไว้  ก็จะกลายเป็นว่า ข้ออ้างใช้กฎอัยการศึกครั้งนี้มีเหตุตรงกันกับเหตุแห่งคดีความทั้ง 7 คดี มากเกินไป

รวมถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557  ยังค้างคาใจ และอยู่ในความสนใจของชาวบ้านและสาธารณชนตลอดมา  เพราะจนถึงวันนี้ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้สักคนเดียว  แม้จะสามารถชี้ชัดจากหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นหลังคืนเกิดเหตุได้แล้วว่า หัวหน้ากองกำลังอำพรางใบหน้า 300 นาย นำโดยพลโทปรเมษฐ์ ป้อมนาค  และลูกชาย คือ พันโทปรมินทร์ ป้อมนาค  ก็ตาม

เหตุการณ์ประจวบเหมาะที่อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ หรือไม่ก็สมคบคิดกันก็บังเกิดอีกครั้ง  ก่อนเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการตามกลไก ISDS นั้น  มีแนวทางใหม่ที่ถูกนำมาปฏิบัติใช้  นั่นก็คือ  กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions – ADR)  ซึ่งก็คือ การระงับข้อพิพาทนอกศาลนั่นเอง 

จากความพยายามของทหารในพื้นที่ตลอดสองเดือนกว่าที่ผ่านมา  ที่พยายามเจรจา  หารือ และไกล่เกลี่ยด้วยท่าทีแข็งกร้าวกับชาวบ้าน  จนถึงขั้นบีบบังคับให้ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน  ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ระหว่างชุมชน 6 หมู่บ้าน กับเหมืองทองทุ่งคำ ในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา (สถานการณ์ล่าสุด  ทราบข่าวว่าการทำบันทึกข้อตกลงในวันดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปก่อน) เริ่มมีการตั้งคำถามจากพื้นที่แล้วว่า ความพยายามของทหารตลอดสองเดือนกว่าที่ผ่านมานั้นเป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามการระงับข้อพิพาทนอกศาลตามกลไก ISDS หรือไม่ อย่างไร? 

บันทึกข้อตกลงเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติระหว่างชุมชน 6 หมู่บ้าน กับเหมืองทองทุ่งคำ  ที่ทหารพยายามบีบบังคับให้ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน ทำการลงนาม มีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ที่ขอขนแร่ออกจากเหมืองทองคำก่อน  แล้วจึงค่อยทำการปิดเหมืองชั่วคราว  ฟื้นฟู และเยียวยาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ให้กับชุมชน 6 หมู่บ้าน  ในภายหลัง

คำถามที่ง่ายและพื้นฐานที่สุดต่อกรณีนี้ คือ 

หนึ่ง - หากขนแร่ออกไปแล้ว  จะมีหลักประกันใดว่า ทุ่งคำและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะทำการปิดเหมืองชั่วคราว  ฟื้นฟู และเยียวยาให้กับชุมชน 6 หมู่บ้าน  ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในบันทึกข้อตกลงฯ 

สอง - ลำพังเพียงลายมือชื่อของพลตรีวรทัต สุพัฒนานนท์  ผู้บังคับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเลย  พันเอกสวราชย์ แสงผล รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย  ตัวแทนทุ่งคาฯ และทุ่งคำ  และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง  ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ  จะส่งผลให้บันทึกข้อตกลงฯ มีสถานะที่จะต้องนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดได้หรือไม่ อย่างไร 

สาม - หากปล่อยปละละเลย เพิกเฉย ไม่นำข้อตกลงที่อยู่ในบันทึกข้อตกลงฯ ไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  จะมีผลทางกฎหมายที่สามารถเอาผิดต่อผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงได้หรือไม่ อย่างไร

ในเมื่อไม่สามารถตอบคำถามทั้งสามข้อนี้ได้  จึงเห็นว่า บันทึกข้อตกลงฯ มีความหละหลวม  มีลักษณะลวงให้เชื่อว่า ทหารจริงใจแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน  จึงเป็นเหตุให้ราษฎรกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน  ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.  รวมทั้งส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องว่า ไม่ยอมรับบันทึกข้อตกลงฯ เนื่องจากเห็นว่า ทหารกำลังลับ ลวง พราง  กับชาวบ้าน  ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา  จนเป็นเหตุให้ทหารต้องเลื่อนการเจรจาลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 ออกไปก่อน

อะไรคือแรงจูงใจ

หนึ่ง - ลำพังเพียงแค่ทหารใช้กฎอัยการศึกก็สามารถขนแร่ออกไปได้  เหมือนกับกรณีอื่นๆ ที่ทหารแสดงพฤติกรรมแข็งกร้าวกับประชาชนเสมอ  เช่น กรณีบังคับย้ายชาวบ้านออกจากสวนป่าโนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์  แต่สำหรับกรณีนี้  ทหารเรียนรู้การประสานผลประโยชน์  ในเมื่อนางสาว Regina Wen Li Ng  ฟ้องตามกลไก ISDS  โดยใช้องค์กร กฎระเบียบ และวิธีการที่กำหนดใน UNCITRAL Arbitration Rules  ของสหประชาชาติ  เรื่องนี้ก็กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ

และเรื่องนี้ทหารใช้สร้างภาพต่อนักลงทุนได้  และเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ  ด้วยแนวคิดที่ว่า ไม่ว่าการเมืองจะอยู่ในระบอบใด เช่นในระดับที่เลวร้ายที่สุดอย่างรัฐประหาร รัฐบาลไทยก็มุ่งมั่นที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุน  ถ้าหากสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยจนถึงขั้นประนีประนอมยอมความนอกศาลได้ ก็จะทำให้กรณีพิพาทนี้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเหมือนกรณีค่าโง่ทางด่วนในอดีต

สอง - หากแม้ไม่สามารถระงับข้อพิพาทนอกศาลได้  จนทำให้กรณีนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ  การที่ต้องขนแร่ออกจากเหมืองทองทุ่งคำด้วยคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการจะส่งผลดีต่อทหารมากกว่าที่จะขนแร่ด้วยการบังคับใช้กฎอัยการศึกแต่เพียงอย่างเดียว

สาม - เป็นที่น่าสังเกตว่านางสาว Regina Wen Li Ng  ที่ถือหุ้นทุ่งคาฯ ไว้ทั้งหมด 40,318,300 หุ้น  คิดเป็นร้อยละ 5.33  เป็นลูกสาวของนายโรนัลด์ อึ้ง วาย ชอย  อดีตกรรมการผู้จัดการทุ่งคาฯ (ปัจจุบันนายโรนัลด์  ครอบครองหุ้นของทุ่งคาฯ จำนวน 4,517,441 หุ้น  คิดเป็นร้อยละ 0.60)  ซึ่งทุ่งคาฯ ได้เคยฟ้องคดีต่อนายโรนัลด์ กับพวกรวม 7 คน  เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555  เพื่อขอให้ศาลแพ่งเพิกถอนสัญญาเงินกู้ที่นายโรนัลด์ทำกับบริษัท สินธนาโฮลดิ้งส์ จำกัด  และบริษัท ซิโนแพค ดีเวลอปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด  ให้ตกเป็นโมฆะ  ปัจจุบันไม่ทราบว่าคดีดังกล่าวสิ้นสุดแล้วหรือไม่

ในวันเดียวกันกับที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 – วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม 2557 ออกจำหน่ายเป็นวันแรก ทุ่งคาฯ ได้ทำหนังสือแจ้งต่อ ตลท.[4]  ว่าตามที่ปรากฏข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าผู้ถือหุ้นทุ่งคาฯ ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยนั้น  กรณีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติ  ส่วนในกรณีที่ว่าทุ่งคำซึ่งเป็นบริษัทในเครือของทุ่งคาฯ ได้รับประทานบัตรทำเหมืองทองคำแต่ไม่สามารถขนแร่ออกจากพื้นที่ได้  เพราะชาวบ้านต่อต้านจนส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจนั้น  ขณะนี้ทางทุ่งคาฯ และทุ่งคำอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติได้ใช้สิทธิดังกล่าวนั้น เป็นการใช้สิทธิที่มิได้รับทราบถึงปัญหาและไม่สอดคล้องกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาของทางทุ่งคาฯ และทุ่งคำ

ต่อเหตุการณ์นี้  อาจจะเป็นไปได้ว่านายโรนัลด์มีความขัดแย้งจริงกับทุ่งคาฯ  จนเป็นเหตุให้นางสาว Regina ซึ่งเป็นลูกสาวต้องทวงแค้นคืน  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจเป็นความลวงต่อสาธารณชนได้  เพราะมีอยู่มากมายหลายกรณีที่ความขัดแย้งของผลประโยชน์เป็นละครตบตาคนดู  จะเห็นได้ว่านายโรนัลด์เองก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในทุ่งคาฯ ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่  โดยไม่สะทกสะท้านต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ข้อเตือนสติ

หนึ่ง - เหตุแห่งการฟ้องคดีตามกลไก ISDS ของนางสาว Regina Wen Li Ng  คือ เหตุแห่งการสร้างสิ่งกีดขวางจนไม่สามารถขนแร่ได้นั้น  เป็นเหตุเดียวกันกับคดีความต่างๆ ที่ทุ่งคำฟ้องต่อชาวบ้านถึง 6 คดี  รวมคดีที่ทุ่งคำกดดันให้นายก อบต. เขาหลวงเป็นฝ่ายฟ้องชาวบ้านอีก 1 คดี เป็น 7 คดี  ดังนั้น คดีความตามกลไก ISDS ที่ต้องใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินคดี  และคดีทั้ง 7 คดี ตามกระบวนการยุติธรรมของระบบศาลไทยจึงซ้อนทับกัน

ถึงแม้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามกลไก ISDS จะเปิดโอกาสให้ข้ามหัวกระบวนการยุติธรรมของระบบศาลไทยได้  ซึ่งก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่า แท้จริงแล้ว กลไก ISDS สามารถข้ามหัวกระบวนการยุติธรรมของระบบศาลไทยได้จริงหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร  แต่อย่างไรก็ตาม  หากรัฐบาลทหาร คสช. ปล่อยให้กลไก ISDS ข้ามหัวกระบวนการยุติธรรมของระบบศาลไทยได้ ก็จะเป็นบทเรียนที่สร้างความถดถอยให้กับการปกครองของรัฐบาลทหาร คสช. ที่ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองผลประโยชน์นักลงทุน มากกว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ประชาชนในประเทศนี้ได้รับจากการทำเหมืองทองทุ่งคำ

สอง - ถึงแม้การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor - State Dispute Settlement – ISDS)  อันเป็นกลไกภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaties – BITs)  หรือความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements – FTAs)  กับรัฐบาลของประเทศที่ตนเข้าไปลงทุน  จะเปิดโอกาสให้ข้ามหัวกระบวนการยุติธรรมของระบบศาลไทยได้  แต่ ISDS ก็ยังต้องคำนึงถึงการให้ความคุ้มครองนักลงทุนเพียงแค่ผลกระทบจาก ‘มาตรการที่ออกโดยรัฐ’ เท่านั้น  โดยไม่คุ้มครองนักลงทุนจาก ‘ความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบธุรกิจตามปกติ’ แต่อย่างใด 

แต่ความเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชนในชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองทองทุ่งคำเกิดจากความอ่อนแอ และอ่อนด้อยประสิทธิภาพของมาตรการที่ออกโดยรัฐ จนเป็นเหตุให้ประชาชนต้องเผชิญความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบธุรกิจตามปกติของเหมืองทองทุ่งคำต่างหาก

 

 

อ้างอิง

[1] หนังสือบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน)  ที่ ทค. 151-081/6/2557  ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2557

[2] การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor - State Dispute Settlement – ISDS)  เป็นกลไกภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaties – BITs)  หรือความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements – FTAs)  กับรัฐบาลของประเทศที่ตนเข้าไปลงทุน เช่น หากรัฐภาคีละเมิดพันธกรณีตามที่กำหนดในความตกลงฯ และส่งผลให้การลงทุนของนักลงทุนได้รับความเสียหายอย่างแท้จริง นักลงทุนก็จะมีสิทธิใช้กลไก ISDS ในการระงับข้อพิพาท ซึ่งได้แก่ กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions)  และกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International Arbitration)  ภายใต้องค์กร กฎระเบียบ และวิธีดำเนินการที่กำหนดในความตกลงฯ เช่น UNCITRAL Arbitration Rules ของสหประชาชาติ หรือ ICSID Additional Facility ของธนาคารโลก

          ในส่วนของกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions – ADR)  คือการระงับข้อพิพาทนอกศาล โดยอาจใช้วิธีการเจรจาและการหารือ (Consultation and Negotiation)  การไกล่เกลี่ย (Mediation)  และการประนีประนอมยอมความ (Conciliation)  เช่น การระบุให้มีบุคคลที่สามเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาท โดยใช้วิธีการเชิงปฏิบัติการที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่าย มากกว่าการใช้ข้อบทกฎหมาย  การใช้วิธีการระงับข้อพิพาทนอกศาลเป็นแนวทางใหม่ในการบังคับใช้พันธกรณีการคุ้มครองการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ  รวดเร็ว  ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการระงับข้อพิพาท  และทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้น  เนื่องจากเป็นกลไกที่นักลงทุนและรัฐผู้รับการลงทุนชะลอการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้; คัดลอกจากแผ่นพับเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ "การคุ้มครองการลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน"  จัดทำโดย กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  กระทรวงการต่างประเทศ. 5/28/14.  คัดลอกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557; สืบค้นข้อมูลได้ที่  ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ   

[3] น.ส.พ.เลยไทม์ออนไลน์  สืบค้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557; ข้อความ “พร้อมใช้กฎอัยการศึกเปิดทางเข้าเหมือง”  ใส่เครื่องหมายคำพูดโดยผู้เขียน

[4] หนังสือบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน)  ที่ ทค.151-028/8/2557  ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net