Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
สาระสำคัญของแผนแม่บท
 
แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ถูกจัดทำขึ้นโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการมอบหมายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
 
หน่วยงานผู้จัดทำแผนวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทยว่า พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยได้ลดปริมาณลงจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่คงเหลือ 102.1 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ป่าไม้ และสถานภาพของพืชและสัตว์หลายชนิด ทั้งนี้ การลดลงของพื้นที่ป่าดังกล่าวข้างต้น มีสาเหตุมาจากการบุกรุกขยายพื้นที่ทำการเกษตร การบุกรุกจับจองพื้นที่ของนายทุน การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ การขาดจิตสำนึกสาธารณะ และการบริหารจัดการของหน่วยงานที่ขาดประสิทธิภาพ
 
นอกจากนี้ ยังประเมินสถานการณ์ว่าจะมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น โดยจัดลำดับความรุนแรงในจังหวัดต่างๆเป็น 3 ระดับ ได้แก่ พื้นที่วิกฤตรุนแรง 12 จังหวัด พื้นที่วิกฤต 33 จังหวัด และพื้นที่อื่นๆ 31 จังหวัด
 
จากสถานการณ์ปัญหาข้างต้น แผนแม่บทดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายคือ การพิทักษ์รักษาป่าไม้ให้มีสภาพสมบูรณ์ให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ภายใน 10 ปี ทั้งนี้ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเป็น 3 ระยะคือ
 
1.เพื่อหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า และทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุก ครอบครอง ให้ได้ตามที่เป้าหมายกำหนดภายใน 1 ปี
 
2.เพื่อให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และยั่งยืน ภายใน 2 ปี
 
3.เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ป่าเป้าหมายทั่วทั้งประเทศให้มีสภาพที่สมบูรณ์ ภายใน 2-10 ปี
 
ในการนี้ แผนแม่บทได้กำหนดกรอบความคิดในการทำงานตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่งที่ 66/2557 เรื่องเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม และหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยกำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติ ดังนี้
 
1.การกระทำใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่ง คสช. ที่ 66/ 2557 มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
 
2.ดำเนินการเร่งด่วนคือ การป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม ด้วยการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด
 
3.การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมาแต่เดิม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการ และวิธีการอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขต่อไป
 
4.กรณีใดๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ให้ดำเนินการต่อไป จนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการที่กำหนด
 
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน ให้ใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี ปี พ.ศ. 2545 เป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบความสมบูรณ์ของสภาพป่า แล้วนำเอาภาพถ่ายทางอากาศสี ปี พ.ศ. 2554 โล่งเตียนไปจากปี พ.ศ. 2545 แสดงว่าเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่อย่างแน่นอน ให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที
 
พร้อมกันนี้ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
 
1.ต้องไม่มีการบุกรุกเพิ่มเติมอีก นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
2.ดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่บุกรุกป่าไม้ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 และกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้อย่างเคร่งครัด
 
3.จัดลำดับความเร่งด่วนกับนายทุนหรือผู้บุกรุกรายใหญ่ที่บุกรุกป่าไม้เป็นลำดับแรก แล้วดำเนินการกับรายอื่นๆต่อไป
 
4.การดำเนินการใดๆ ต้องไม่กระทบต่อประชาชนที่ใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ ในพื้นที่ที่พิสูจน์แล้วควรได้รับสิทธิในที่ดินตามกฎหมาย หรือผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย หรือการดำเนินการของภาครัฐ และจะต้องเป็นการแก้ไขปัญหาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน
 
ในส่วนยุทธศาสตร์การพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์ผนึกกำลังป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ การปลุกจิตสำนึกรักผืนป่าของแผ่นดิน การปฏิรูประบบการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และการฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าไม้อย่างยั่งยืน
 
ทั้งนี้ ในประเด็นยุทธศาสตร์แรก ได้กำหนดกลยุทธ์สำคัญคือ การยึดคืนพื้นที่ป่า ยับยั้งการบุกรุกป่า และแก้ปัญหาป่าบุกรุกคน โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักฐานหลัก ร่วมกับหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายสี ปี พ.ศ. 2545 เป็นหลักฐานสภาพป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 นำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลแนวเขตป่าไม้ที่ปรากฏบนแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบัน เพื่อสรุปแนวเขตพื้นที่ที่มีการบุกรุกเพิ่มเติมในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ไม่มีมติหรือระเบียบใดๆ ผ่อนผันให้ทั้งสิ้น
 
ส่วนพื้นที่บุกรุกก่อนปี พ.ศ. 2545 ให้ดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ อาจมีมาตรการชดเชยที่เหมาะสม และเป็นธรรม และพื้นที่ที่ยึดคืนได้แล้ว ให้เร่งดำเนินการฟื้นฟูตามหลักวิชาการ
 
กรณีการแก้ไขปัญหาป่าบุกรุกคน ในพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียน ซึ่งลิดรอนสิทธิราษฎรที่ทำกินในที่ดินของตนมาช้านาน ก่อนการประกาศเขตป่าไม้ต่างๆ โดยเร่งรัดจัดทำและกำหนดเขตพื้นที่ป่าไม้ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ให้ชัดเจน โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2495 – 2499 ร่วมกับแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1 : 50000 ชุด L 708 จัดทำแปลงที่ดินทำกิน และแปลงที่อยู่อาศัยของราษฎรในพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ วิเคราะห์และตรวจสอบร่องรอยการใช้ประโยชน์ในพื้นที่กับแนวเขตป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเก่า และพิสูจน์สิทธิและคืนสิทธิในที่ดินให้กับราษฎร
 
 
ข้อสังเกตบางประการ
 
1.จากสาระสำคัญของแผ่นแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ พบว่า หัวใจสำคัญในการดำเนินการเพื่อให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศตามเป้าหมาย คือ การทวงคืนฝืนป่าจากผู้บุกรุก ครอบครอง ซึ่งกำหนดเวลาภายใน 1 ปี โดยมีมาตรการหลักคือ การใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี ปี พ.ศ. 2545 ตรวจสอบร่วมกับภาพถ่ายทางอากาศสีของกรมแผนที่ทหาร ปี พ.ศ. 2554 หากพบว่าโล่งเตียนไปจากปี พ.ศ. 2445 ถือเป็นการบุกรุกใหม่ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด แล้วนำพื้นที่มาฟื้นฟูสภาพป่าต่อไป
 
การทวงคืนผืนป่า โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ โดยไม่พิจารณาข้อมูลอื่นๆ ประกอบ อาจกระทบสิทธิต่อประชาชนหลายพื้นที่ที่เคยถือครอง ทำประโยชน์ที่ดินมาก่อน และถูกขับไล่ออกจากพื้นที่เดิมจากเจ้าหน้าที่ราชการ
 
ยกตัวอย่าง การปลูกสร้างสวนป่าคอนสารทับที่ดินทำกินของประชาชน ซึ่งผลการตรวจสอบของคณะกรรมการร่วมระดับพื้นที่ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า ราษฎรอยู่มาก่อนการปลูกสร้างส่วนป่า ให้ยกเลิกสวนป่า แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน แต่หากใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. 2545 ตรวจสอบร่วมกับปี พ.ศ. 2554 จะพบพื้นที่สีเขียวของสวนป่ายูคาลิปตัส ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เข้ามาดำเนินการในปี พ.ศ. 2521 ต่อมาเป็นพื้นที่โล่งเตียน เนื่องจากการเข้าพื้นที่ของประชาชนในปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ภายหลังมติ ข้อตกลงต่างๆ ไม่มีผลในทางปฏิบัติ
 
ข้อเท็จจริงเช่นกรณีข้างต้น มีอีกเป็นจำนวนมาก ที่รัฐบาลที่ผ่านมาหลายยุคสมัยไม่สามารถดำเนินการให้เป็นที่ยุติได้กระทั่งปัจจุบัน
 
หากแผนแม่บทดังกล่าวดำเนินการกับกลุ่มคนเหล่านี้ โดยไม่พิจารณาประวัติศาสตร์และพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่นั้นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐ ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิที่ดิน และต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้บุกรุกที่ดินของรัฐอย่างแน่นอน
 
2.หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบ พิสูจน์สิทธิของแผนแม่บทดังกล่าว มีนัยที่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541
 
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งสาระสำคัญของมติดังกล่าว ได้กำหนดพื้นที่ป่าไม้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าไม้อื่นๆ ที่สงวนไว้เพื่อกิจการป่าไม้ โดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ส่วนคือ การสำรวจการถือครอง การตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ และการรับรองสิทธิ์
 
จากการสำรวจข้อมูลการถือครองและทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้โดยกรมป่าไม้ พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 462,450 ครัวเรือน เนื้อที่ 8,166,184 ไร่ (ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้, 2544) ซึ่งการสำรวจดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ดังนั้นตัวเลขการถือครองทำประโยชน์ในเขตป่าของประชาชนจะมากกว่าเดิม
 
สภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น รัฐได้มีความพยายามในการกำหนดมาตรการแก้ไขมาโดยตลอด ทั้งการวางกรอบนโยบาย แผนงานระดับพื้นที่ รวมถึงการแก้ไขเฉพาะหน้าในรายพื้นที่ เช่น การดำเนินโครงการหมู่บ้านป่าไม้ (ปี พ.ศ. 2518 – 2534) โครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม (คจก.) (ปี พ.ศ. 2534 –2535) เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม บทเรียนสำคัญในการดำเนินการของรัฐ พบว่า ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังสร้างความขัดแย้งเรื้อรังมาจนกระทั่งปัจจุบัน ทั้งนี้สามารถชี้วัดได้จากปรากฏการณ์ชุมนุม เรียกร้องของชาวบ้านเพื่อคัดค้านโครงการเหล่านี้ของประชาชน เช่น การคัดค้านโครงการ คจก. ของชาวบ้านภาคอีสานในปี พ.ศ. 2534 – 2535 เป็นต้น ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุแห่งความขัดแย้ง จะพบว่า กรอบความคิด และแนวปฏิบัติของรัฐมุ่งผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว รวมทั้งทัศนะในการมองปัญหาว่าการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศเกิดจากการบุกรุกของราษฎร ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นศัตรูและไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่กับป่า หรือมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้
 
หากวิเคราะห์รายละเอียดของแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ จะพบว่ากรอบความคิด และแนวปฏิบัติไม่มีความแตกต่างจากโครงการที่ผ่านมาแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่าไม้ ที่กำหนดแนวทางปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
การกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ และผลการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ สาระสำคัญของมติดังกล่าว มีเจตนาเพื่อจำแนกเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่อิงหลักฐานทางราชการเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร (หากไม่มีให้ใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียม ) ที่ถ่ายไว้เป็นครั้งแรกภายหลังการประกาศสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก และตรวจสอบร่องรอยการทำประโยชน์ต่อเนื่องมาก่อนวันสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก และพิจารณาร่วมกับหลักฐานอื่นๆ ซึ่งแสดงว่าได้มีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาก่อนวันสงวนหวงห้ามนั้นๆ ด้วย ซึ่งในทางข้อเท็จจริง ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีการจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ในหลายลักษณะ เช่น การกำหนดพื้นที่เป็นป่าหัวไร่ปลายนา เพื่อเป็นแหล่งไม้ใช้สอยในครัวเรือน การเก็บหาของป่า หรือพื้นที่ทำกินก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ต่อเนื่องด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ รายได้ของครัวเรือน เป็นต้น
 
ผลการตรวจพิสูจน์สิทธิ์ พบว่าราษฎรอยู่อาศัยทำกินมาก่อน ให้เจ้าหน้าที่จัดทำขอบเขตบริเวณที่อยู่อาศัย ที่ทำกินให้ชัดเจน ห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติมโดยเด็ดขาด และดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้ราษฎรอยู่อาศัยทำกินตามความจำเป็นเพื่อการครองชีพ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อระบบนิเวศ พื้นที่ที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการคุ้มครองดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและตามมติคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาจัดหาที่อยู่อาศัย ที่ทำกินแห่งใหม่ หรือดำเนินการเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากบริเวณนั้นไปอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยในพื้นที่รองรับให้มีการสนับสนุนด้านสาธารณูปโภค การพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม พื้นที่ที่ราษฎรเคลื่อนย้ายออกไปแล้วให้ทำการปลูกฟื้นฟูสภาพป่าต่อไป
 
ในกรณีผลการตรวจพิสูจน์พบว่า ราษฎรอยู่อาศัย ทำกินหลังวันประกาศหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้น แล้วทำการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม การเคลื่อนย้ายราษฎรให้เตรียมแผนการรองรับในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยสนับสนุนด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค การพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพทั้งใน และนอกภาคเกษตรกรรม รวมทั้งการพิจารณารับรองสิทธิตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ได้ในทันที ให้ดำเนินการควบคุมขอบเขตพื้นที่มิให้ขยายเพิ่มเติมโดยเด็ดขาด และในระหว่างรอการเคลื่อนย้ายให้จัดระเบียบที่อยู่อาศัยที่ทำกินให้พอเพียงกับการดำรงชีพ
 
จากสาระสำคัญของแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ กล่าวได้ว่ามติดังกล่าวสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ผูกขาดอำนาจการจัดการป่า และที่ดินในเขตป่าอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และกล่าวหาชุมชนเป็นผู้ทำลายป่า ขาดความเข้าใจในประวัติศาสตร์และพัฒนาการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งสัมพันธ์กับนโยบายการพัฒนาประเทศ
 
การรับรองสิทธิในที่ดิน การรับรองสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินจะดำเนินการในรูปแบบ “แปลงรวม” โดย “ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ” ตามมาตรา 16 ทวิ และมาตรา 16 ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ถ้าเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ให้ประมวลเรื่องการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ในกรณีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ต้องเพิกถอนพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน ที่ทำกินและพื้นที่ป่าไม้หมู่บ้านออกจากเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายก่อน แล้วจึงขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ต่อไป
 
จากสาระสำคัญข้างต้น สรุปได้ว่า สิทธิที่ราษฎรจะได้รับ คือ สิทธิในการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 ทวิ และ 16 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ โดยการอยู่อาศัยและประกอบอาชีพเกษตรกรรม อนุญาตในจำนวนพื้นที่แต่ละคำขอไม่เกิน 20 ไร่ และกำหนดระยะเวลาคราวละไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี แต่ถ้าการขออนุญาตซึ่งเป็นรายใหญ่ ให้อนุญาตในจำนวนพื้นที่แต่ละคำขอตามความจำเป็นและเหมาะสมสำหรับกิจการที่ขออนุญาต โดยมีโครงการเสนอพร้อมคำขอ ทั้งนี้ พื้นที่ที่ขออนุญาตต้องไม่เป็นพื้นที่ป่าที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการป่าไม้ ไม่อยู่ในเขตต้นน้ำลำธารชั้น 1 เอ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 พฤษภาคม 2528 และวันที่ 21 ตุลาคม 2529
 
การได้สิทธิดังกล่าวจะมีขอบเขตเฉพาะผู้ที่ผ่านการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่พิสูจน์ได้ว่าอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนวันสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก และต้องไม่ใช่พื้นที่ที่มีความล่อแหลมต่อระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายต้องดำเนินการเพิกถอนพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกินออกจากเขตป่าอนุรักษ์ก่อนแล้วจึงขอเข้าทำประโยชน์ โดยผู้มีอำนาจอนุมัติการขอใช้ประโยชน์จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรีในกรณีพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
 
กล่าวโดยสรุป การรับรองสิทธิดังกล่าว คือการให้อนุญาตตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งขั้นตอนกระบวนการ และอำนาจตัดสินใจก่อนการพิจารณารับรองสิทธิ์ ถือเป็นเงื่อนไขจำกัดสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรและที่ดินของประชาชน
 
 
ข้อเสนอแนะ
 
1.ควรมีการระงับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนไว้ก่อน และดำเนินการทบทวน โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในช่วงที่ผ่านมา
 
2.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบ พิสูจน์สิทธิ์ ต้องมีความหลากหลาย ทั้งวัตถุพยาน พยานบุคคล หลักฐานทางราชการ และประวัติศาสตร์ และพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายการพัฒนาของรัฐในแต่ละยุคสมัย ทั้งนี้ ต้องมีลักษณะจำแนกแยกแยะให้ชัดเจน ระหว่างนายทุนที่ถือครองที่ดินในเขตป่า กับชาวบ้านที่มีกรณีพิพาทสิทธิในที่ดินกับรัฐ
 
3.ในกรณีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทดังกล่าว เช่น มีประกาศจังหวัดให้ราษฎรออกจากพื้นที่ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาท และมีกระบวนการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว แล้วกำหนดแนวทาง มาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ต่อไป ทั้งนี้ ให้ถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการตัดสินใจทางนโยบาย
 
4.หลักการแก้ไขปัญหา ควรคำนึงถึงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน โดยพิจารณามาตรการหลักๆ เพื่อผลักดันให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า กองทุนธนาคารที่ดิน และการส่งเสริมสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดิน เป็นต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net