Skip to main content
sharethis

27 ส.ค. 2557 เว็บหรือบล็อกข่าวเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที ที่ใช้ชื่อ ‘Blognone’ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2557 เพื่อนำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ไอที โทรคมนาคม และชีวิตในโลกดิจิทัล โดยปัจจุบันมีเว็บในเครืออีก 2 แห่งคือ Jusci สำหรับเนื้อหาวิทยาศาสตร์และวิทยาการ และ Meconomics สำหรับเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ นโยบาย

และในวาระครบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้ง Blognone ได้เขียนบทความประเมินผลงานที่ผ่านมา ผ่านโจทย์ 3 ข้อที่ตั้งไว้คือ การเป็นสื่อไอทีที่ได้รับความเชื่อถือจากวงการ ความสามารถในการยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองในฐานะหน่วยงานทางธุรกิจ และการมีบทบาทผลักดันวงการไอทีไทยให้คุณภาพดีกว่าเดิมในภาพรวม พร้อมทั้งการวิเคราะห์ถึงอนาคตของตนเอง ผ่านกระแสเทคโนโลยีที่สำคัญ 2 ประการ คือ เว็บ และ โมบาย ผ่านบทความชื่อ ‘10 ปี Blognone - เหลียวหลังย้อนดูตัว และแลไปข้างหน้า’ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ครบรอบ 10 ปีของ Blognone ซึ่งจริงๆ เราก็ผ่านวันครบรอบทุกปีแต่ไม่ค่อยได้สนใจอะไรเท่าไรนัก แต่รอบนี้ตัวเลขลงตัวครบ 1 ทศวรรษพอดี ก็คิดว่าต้องบันทึกอะไรไว้เป็นหมุดหมายสักหน่อยนะครับ

10 ปีที่แล้ว นักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์สองคนมีความคิดว่า "ข่าวไอที" ในเมืองไทยยังมีคุณภาพในระดับที่ยังไม่ถูกใจตัวเองเท่าไรนัก (โพสต์ต้นฉบับถ้ายังไม่เคยอ่านตำนานต่อจากนั้น) ด้วยแนวคิดอย่ามัวแต่พร่ำบ่น "อยากได้ต้องทำเอง" ที่สืบทอดมาจนวันนี้ พวกเขาก็ไปจดโดเมน เช่าโฮสต์ เปิดเว็บ แล้วก็ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนกลายเป็น Blognone อย่างที่เห็นทุกวันนี้

มองย้อนกลับไปแล้ว มันเป็นช่วงเวลา 10 ปีที่จะว่าเร็วก็ได้ จะมองว่านานก็ถูก ผมคิดอยู่นานว่าจะเขียนโพสต์นี้อย่างไร (นั่งคิดมาหลายเดือนเลยนะ) สุดท้ายก็คิดว่าคงต้องย้อนกลับไปถึง เป้าหมาย 3 ประการ ที่เคยวาดฝันเอาไว้สมัยทำเว็บใหม่ๆ (หาโพสต์ต้นฉบับไม่เจอแล้ว T_T) และมาทบทวนกันดูว่าจากวันนั้นถึงวันนี้ มีอะไรที่คืบหน้าจากเดิมบ้าง

สมัยเริ่มต้น Blognone มาได้สักระยะหนึ่ง เรากำหนดโจทย์ให้ตัวเองไว้ 3 ข้อครับ

1.     เป็นสื่อไอทีที่ได้รับความเชื่อถือจากวงการ

2.     ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองในฐานะหน่วยงานทางธุรกิจ

3.     ผลักดันวงการไอทีไทยให้คุณภาพดีกว่าเดิมในภาพรวม

เป็นสื่อไอทีที่ได้รับความเชื่อถือจากวงการ

สถานะตั้งต้นของ Blognone คือ "เว็บ" หรือ "บล็อก" โนเนมที่ไม่มีใครรู้จัก ทุกอย่างเริ่มขึ้นจากศูนย์ ในเมื่อแนวคิดตั้งต้นคือ "ทำสื่อ" เราก็พยายามพัฒนาคุณภาพของเนื้อหาโดยรวมให้น่าพึงพอใจ (ในสายตาของตัวเอง) ให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ (และหวังว่าคนอื่นจะชอบแบบเดียวกัน) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเร็ว ความลึก ความแม่นยำในเชิงข้อมูลและเทคนิค

Blognone เกิดมาในยุคสื่อออนไลน์ที่ทุกคนเป็นสื่อได้ เราไม่คิดว่าโมเดลแบบเดิมที่กำหนดให้คนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตสื่อแค่ฝ่ายเดียว สื่อสารทางเดียว จะเป็นโมเดลที่ยังใช้ได้ในโลกอินเทอร์เน็ต (ที่คุณค่าของทุกคนเท่ากัน) ได้อีกต่อไป เราจึงเปิดช่องทางให้ผู้อ่านเข้ามามีส่วนร่วมกับเนื้อหาในรูปแบบต่างๆ มากมาย ตั้งแต่คอมเมนต์ไปจนถึงระบบ contributor/writer เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านที่อ่านเฉยๆ เข้ามาร่วมแชร์และสนทนาในประเด็นด้านไอทีที่ตัวเองสนใจ

เราเชื่อว่าโลกเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เนื้อหาหรือ content ก็ควรจะมีสภาพ dynamic ปรับตัวตามได้เสมอ เราจึงส่งเสริมการถกเถียงประเด็นทั้งในแง่ความถูกต้องของข้อมูลและการนำเสนอที่เหมาะสมในเนื้อหาข่าว และยินดีปรับแก้ไขเนื้อหานั้นอยู่ตลอดเวลาถ้ามีเหตุผลอันสมควร ทุกคนเขียนผิดได้ พลาดได้ แต่ก็ไม่เห็นเป็นไรเมื่อเราสามารถแก้ไขความผิดพลาดนั้นได้ "โดยทันที"

ผมคิดว่าด้วยนโยบายด้านเนื้อหาที่เน้นจับกลุ่มคนในวงการไอทีมาตั้งแต่ต้น และโมเดลการจัดการชุมชนที่พยายามดึงคนไอทีเข้าร่วม เป็นปัจจัยสำคัญที่ Blognone ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มคนด้านไอทีของประเทศไทย ประเด็นด้านการยอมรับนี้อาจดู subjective ตามการตีความแต่ละบุคคล แต่เท่าที่ผมเคยได้ยินได้ฟังมา ได้รับรู้ว่าองค์กรหรือหน่วยงานด้านไอทีหลายๆ แห่งในประเทศติดตามข้อมูลจาก Blognone อย่างต่อเนื่อง ฟังแล้วก็ดีใจครับที่บรรลุจุดประสงค์ตามเป้าหมายในระดับหนึ่ง และก็ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามมา ณ ที่นี้เลย

ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองในฐานะหน่วยงานทางธุรกิจ

Blognone เกิดขึ้นในฐานะงานอดิเรก ทำเอาสนุก (Just for Fun แบบที่ Linus พูดเอาไว้) แต่เมื่อมันสามารถเติบโตต่อมาได้ในเชิงธุรกิจ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่คว้าโอกาสนี้ และเท่าที่ติดตามวงการไอทีมานาน ผมคิดว่าการสร้างองค์กรที่ยั่งยืน ต้องตอบโจทย์ด้านการหารายได้เป็นตัวเงินมาหล่อเลี้ยงองค์กรให้เดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นถ้าเราต้องการเติบโตให้อยู่ได้นานๆ ก็คงแทบไม่มีทางอื่นเลยนอกจากขยายมันจากงานอดิเรกเวลาว่าง มาเป็นธุรกิจจริงจัง

เราจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในปี 2555 เมื่อไม่นานมานี้เอง และปัจจุบันก็มีรายได้จากโฆษณาเข้ามาในระดับหนึ่ง เป็นสื่อออนไลน์ขนาดเล็กๆ ที่แหวกว่ายท่ามกลางสื่อขนาดใหญ่จำนวนมาก ถึงแม้ตัวเงินอาจไม่เยอะ แต่ผมก็คิดว่าถ้ายึดตามโจทย์ "ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง" เราก็บรรลุเป้าหมายนี้แล้วเช่นกัน (ขอบคุณสปอนเซอร์ทุกท่าน)

ผลักดันวงการไอทีไทย

เป้าหมายข้อสุดท้ายนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด และตอนที่ผมเคยประกาศเป้าหมาย 3 ข้อเอาไว้ ก็คิดว่าเป้าหมายข้อนี้เป็นเป้าหมายที่ไม่มีวันบรรลุผล แต่เราก็มีภารกิจที่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีวันหยุดเช่นกัน

ในฐานะคนในแวดวงไอที ผมเชื่อว่าทุกคนคงเห็นแบบเดียวกันที่ "ไอที" หรือ "เทคโนโลยีสารสนเทศ" เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในระดับที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ไม่น้อยไปกว่าถ่านหิน เครื่องจักรไอน้ำ หรือไฟฟ้า มันเป็นพัฒนาการอีกขั้นที่สำคัญในแง่อารยธรรมของมนุษย์

ถ้ามองภาพรวมขนาดกว้างมากๆ ความสำคัญของ "ไอที" ไม่ใช่พลังในการขับเคลื่อนทางกายภาพในลักษณะเดียวกับเทคโนโลยีด้านพลังงานในอดีต แต่มันคือการบีบมิติทั้งเชิงกายภาพและเวลาให้หดแคบลง และขยายพลังในการประมวลผลข้อมูลของมนุษย์ให้ยิ่งใหญ่ขึ้น สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นในทุกๆ ด้าน และเราก็เคยเห็น "ความสำเร็จ" ของบริษัทไอทีที่สร้างนวัตกรรมพลิกโลกมาแล้วไม่รู้ต่อกี่ครั้ง นวัตกรรมและความก้าวหน้าเหล่านี้นำมาซึ่งชีวิตที่ดีขึ้นของคนมหาศาล ในขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความมั่งคั่งและชื่อเสียงแก่ผู้บุกเบิกเหล่านี้

น่าเสียดายว่าวงการไอทีในประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวไปถึงขั้นนั้นได้ด้วยเหตุผลหลายประการ (คงเขียนถึงตรงนี้ได้ไม่หมด) ในฐานะสื่อไอทีรายหนึ่งที่มีเป้าหมายเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก เราก็พยายามทุกทางเท่าที่จะทำได้ (แม้จะทำได้ไม่เยอะอย่างที่ควรจะเป็น) ในการสนับสนุนวงการไอทีบ้านเราให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอแนวโน้มทางด้านเทคโนโลยีที่น่าจะมาแรงผ่านเนื้อหาและงานสัมมนา, สนับสนุนการจ้างงานผ่าน Blognone Jobs, ประชาสัมพันธ์ผลงานของคนไอทีไทยผ่าน App.th และการสัมภาษณ์ รวมถึงการพยายามสร้างแรงบันดาลใจแก่คนไอทีรุ่นใหม่ โดยเล่าเรื่องราวของคนไอทีที่ประสบความสำเร็จทั้งจากในและต่างประเทศ

ในแง่นี้ ผมคิดว่า Blognone เป็นส่วนหนึ่งของ movement หรือการเคลื่อนไหวอันหนึ่งที่ฟอร์มตัวขึ้นจากคนทำงาน ผู้บริโภค และผู้สนใจด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย ไม่มีใครเป็นเจ้าของ movement อันนี้แต่ผมก็เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คิดเหมือนกันว่าเรายังอ่อนด้อยในเวทีโลก และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากก้มหน้าลง ทำการบ้านให้หนัก ปรับปรุงตัวเองให้เก่งฉกาจขึ้น เข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อออกไปต่อสู้กับคู่แข่งในตลาดโลกต่อไป ซึ่ง Blognone ก็สัญญาว่าจะช่วยสนับสนุนภารกิจเหล่านี้ต่อไปเช่นกัน

กล่าวโดยสรุปก็คือเราบรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ข้อในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังสามารถพัฒนาตัวต่อไปได้ทั้งใน 3 แง่มุมอีกมาก ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องเดินหน้ากันต่อไป

แต่เราก็ยังมีคำถามใหม่ที่ท้าทายเพิ่มเข้ามาอีกข้อ ว่า Blognone ในทศวรรษที่สองจะต้องปรับบทบาทหรือภารกิจของตัวเองอย่างไรบ้าง

ทศวรรษหน้า

ทศวรรษที่ผ่านมาของ Blognone เราผ่านกระแสเทคโนโลยีที่สำคัญ 2 ประการ คือ เว็บ และ โมบาย

Blognone ถือกำเนิดขึ้นในปี 2004 ที่กระแส "เว็บ 2.0" กำลังเริ่มถีบตัวขึ้นพอดี โลกไอทีเปลี่ยนจากแนวคิด fat client มุ่งสู่โลกออนไลน์ (ที่สุดท้ายก็กลายมาเป็นคำว่า คลาวด์) บริษัทออนไลน์อย่างกูเกิล ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ เกิดขึ้นมาในช่วงนั้น และกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในทุกวันนี้

กระแสของโมบายเริ่มขึ้นทีหลัง เราอาจนับหมุดหมายตั้งต้นเป็น iPhone รุ่นแรกในปี 2007 แต่ความสำคัญของโมบายไม่ได้มีแค่พลังของตัวอุปกรณ์ (device) แต่มันรวมไปถึงความครอบคลุมของเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงไปทั่วโลกในระยะเวลาอันสั้น แถมยังสามารถให้บริการในราคาที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ ทุกวันนี้เมื่อพูดถึง "คอมพิวติ้ง" โฉมหน้าของมันเปลี่ยนไปจาก "พีซีสีครีมในกล่องสีเหลี่ยม" มาก คอมพิวติ้งกลายร่างมาอยู่ในกระเป๋าของทุกคนไปเรียบร้อยแล้ว

คำถามต่อไปคือ 10 ปีข้างหน้าเราจะเจออะไรต่อไป?

ผมคิดว่าพลังขับเคลื่อนที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยี โมบาย+คลาวด์ ทำให้พลังประมวลผล (computing power) ถูกลงมาก และมีขนาดเล็กลงมาพอที่จะสามารถฝังตัวได้ในทุกสิ่ง เมื่อบวกกับเครือข่ายการสื่อสารที่ครอบคลุมพื้นที่สำคัญๆ ของโลกเกือบหมดแล้ว การจะฝังหน่วยประมวลผลไปในสิ่งของทุกอย่าง แล้วให้มันสื่อสารเชื่อมต่อกันเองได้จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝันนัก

Internet of Things อาจเป็นแนวคิดที่ดูเลื่อนลอยและจับต้องได้ยาก แต่ถ้าเรามองลงไปให้ใกล้กว่านั้น เราเริ่มเห็น "รูปธรรม" จากเทคโนโลยีพวก Smart Home, Smart Car, Wearable Computing ซึ่งถือเป็นหมวดหมู่ย่อยใน Internet of Things ด้วยกันทั้งสิ้น

ในอีกด้าน พลังแห่งการสร้างสรรค์ก็เข้าถึงง่ายในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน เทคโนโลยีอย่าง 3D Printing หรือคอมพิวเตอร์จิ๋วราคาถูกมากๆ ช่วยให้คนทั่วไปสามารถกลายเป็น "ผู้สร้าง" ผลงานในรูปแบบที่ตัวเองต้องการได้อย่างอิสระ จนกลายเป็นกระแส maker movement ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในปัจจุบัน (ใครยังไม่ได้อ่านบทความ และแล้วความเคลื่อนไหวก็เริ่มปรากฏ: รู้จักกับ Maker Movement ก็ควรอ่านนะครับ)

ด้วยพลังทางเทคโนโลยี 2 ประการข้างต้น ผมคิดว่าในทศวรรษต่อไปของ Blognone เราจะเห็นเทคโนโลยีเหล่านี้แทรกซึมไปในทุกอณูของชีวิต เมื่อสิ่งของรอบตัวเราสามารถคิดได้ สื่อสารได้ และเราสามารถ "สร้างมันได้เอง" ความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งรอบตัวทุกอย่าง (และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ผ่านตัวกลางที่เป็นสิ่งของเหล่านี้) จะถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ชนิดที่ไม่มีใครเคยนึกฝันมาก่อน (และนึกตอนนี้ก็นึกไม่ออกหรอก)

หน้าที่ของ Blognone ในทศวรรษที่สองคือตามหา "นิยามใหม่" ของสายสัมพันธ์เหล่านี้ ว่าบทบาทของเทคโนโลยีกับชีวิตของคนในทุกแง่มุม (ทุกแง่มุมจริงๆ นะ ย้ำหลายรอบแล้ว) เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และวิธีการที่เหมาะสมในการอยู่ด้วยกันคืออะไร (ซึ่งทุกวันนี้เราก็น่าจะเริ่มเห็นสัญญาณกันบ้างแล้วว่าชีวิตของตัวเองและสายสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สิ่งรอบตัว มันเปลี่ยนไปจากเดิมมาก)

Redefine Everything คือภารกิจลำดับถัดไปของเรา และขอเชิญทุกท่านที่อ่านบทความนี้อยู่ เดินทางไปด้วยกันครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net