'เหตุใดชายแดนใต้ยังใช้ความรุนแรง' คำถามของ Stein Tønnesson ในการประชุมวิชาการนานาชาติ CCPP

ศ.ดร.Stein Tønnesson กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน CCPP ฉายภาพแนวโน้มความขัดแย้งในเอเชียที่ลดลง จำนวนสงครามและความตายน้อยกว่าอดีต เกิดสันติภาพมากกว่าในทวีปอื่นๆ แต่เหตุใดการต่อสู้ในชายแดนใต้จึงยังมีการใช้ความรุนแรงแม้จะมีอัตราในการชนะต่ำ
 
ศ.ดร.Stein Tønnesson
 
21 ส.ค. 2557 เวลาประมาณ 09.20 น. ศ.ดร.Stein Tonnesson นักวิชาการที่ศึกษาวิจัยความขัดแย้งในประเทศเวียดนาม และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสถาบันวิจัยสันติภาพแห่งออสโล กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “จากระเบิดถึงป้ายผ้า? การเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธสู่การไม่ใช้อาวุธ” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง "การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ : ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย" (Communication, Conflicts and Peace Processes :Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ. ปัตตานี)
 
ศ.ดร.Stein นำเสนอผลงานวิจัยการรวบรวมสถิติการต่อสู้ในทวีปเอเชียในรูปแบบที่ใช้ความรุนแรงและสันติวิธี ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้ตอกย้ำถึงสถิติจากทั่วโลกว่า การต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงประสบผลสำเร็จมากกว่าการใช้ความรุนแรง และตั้งคำถามมากมายว่าเหตุใดกลุ่มต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงใช้ความรุนแรงในการต่อสู้
 
ดร.Stein ได้นำข้อคิดเห็นต่างๆ จากพื้นที่ความขัดแย้งจากพื้นที่ต่างๆ สู่สาธารณะ เริ่มการปาฐกถาด้วยการให้ข้อสังเกตถึงปัญหาความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ว่า มี 3 ประเด็น คือ 1.ความขัดแย้งระหว่างไทยกับประเทศกัมพูชา 2. ความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพฯ และ 3.ความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
 
เหตุใดในชายแดนใต้ยังใช้ความรุนแรง
 
ดร.Stein ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงยังมีการใช้ความรุนแรงอยู่? แต่อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 10 ปีของความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่ามีการเสียชีวิตน้อยกว่า หากเปรียบเทียบกับความรุนแรงในตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงที่มีสงครามระหว่างปี 1960 - 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ผู้คนมากมายถูกฆ่าตาย
ศ.ดร.Stein ยกคำกล่าวสุนทรพจน์ของดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศมาเลเซียที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่เมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า ภายหลังจากญี่ปุ่นยุติสงคราม ประเทศอื่นๆ อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่าซึ่งมีความรุนแรงที่ยืดเยื้อต่างก็พยายามจะหยุดสงครามเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลแต่ละประเทศมีการใช้นโยบายที่ก่อให้การพัฒนา และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ความรุนแรงลดลง
 
 
ภูมิภาคนี้มีสันติภาพมากขึ้น
 
ศ.ดร.Stein ยังกล่าวถึงข้อมูลจากหนังสือเล่มหนึ่งที่กล่าวถึงความสลับซับซ้อนของความมั่นคงที่ค้นพบ ซึ่งมีข้อมูลที่น่ายินดีว่า แม้ขณะนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีกลุ่มต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงบ้างก็ตาม แต่มีสถิติการก่อสงครามเกิดขึ้นเพียงปีละ 25 ครั้ง และมีการเสียชีวิตจากการต่อสู้โดยใช้อาวุธปีละ 1,000 คน ซึ่งหากเปรียบเทียบสถิตินี้กับในอดีตถือว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสันติภาพมากขึ้น
 
คำถามที่น่าสนใจของ ดร.Stein ก็คือ เหตุใดภูมิภาคใหญ่อย่างเอเชียมีสงครามจำนวนมาก แต่หากเปรียบเทียบกับจำนวนคนซึ่งมากกว่าทวีปอื่นๆ ถือว่ามีคนเสียชีวิตจากสงครามน้อย ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจาก สมดุลของอำนาจ วัฒนธรรมทางการเมืองของจีน และมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านหลักนิติรัฐมากขึ้น แต่ละประเทศมุ่งเน้นพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เหล่านี้เป็นขีดความสามารถของรัฐ ที่สามารถกดดันผู้ต่อต้านไม่ให้เกิดสงครามนั่นเอง
 
สำหรับกลุ่มที่ก่อเหตุความขัดแย้ง ศ.ดร.Stein ก็ได้ศึกษาว่า กลุ่มเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างไรบ้าง โดยการวิจัยเกี่ยวกับลัทธิของอำนาจของประชาชน งานวิจัยดังกล่าว มีสมมติฐานซึ่งบ่งบอกว่า เมื่อสงครามยุติลงก็ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งจะลดลง แต่ความขัดแย้งได้เปลี่ยนรูปแบบต่างหาก มีการเจรจาที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ
 
ศ.ดร.Stein ได้ยกกรณีตัวอย่างการเจรจาสันติภาพในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาที่ประเทศเกาหลีเมื่อปี ค.ศ. 1991 ซึ่งถือว่าล้มเหลว เพราะหลังจากนั้นมีการแยกประเทศเป็นเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ หรือปี ค.ศ.2005 ที่มีการเจรจาสันติภาพที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ถือว่าเป็นการเจรจาประสบความสำเร็จ เพราะทำให้ความขัดแย้งลดลง และเกิดการพัฒนามากขึ้น ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนับว่า ส่งผลต่อพื้นที่อื่นๆ ด้วย
 
 
การต่อสู้ด้วยอาวุธมีต้นทุนสูงขึ้น
 
ศ.ดร.Stein ยกเหตุผลว่าเหตุที่การต่อสู้โดยใช้อาวุธไม่ประสบความสำเร็จนั้น เนื่องมาจากการต่อสู้ในปัจจุบันต้องใช้ต้นทุนของการใช้อาวุธมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น สังคมกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น มีการสร้างถนนทำให้การคมนาคมสะดวกสบายมากขึ้น ดังนั้นกลุ่มกบฏจึงมีต้นทุนสูงขึ้นตามมาด้วย
 
ข้อสรุปการต่อสู้ที่ไม่ใช้อาวุธมีอัตราที่ประสบสำเร็จมากกว่าการใช้อาวุธ ด้วยเหตุผลที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางความคิด กล่าวคือ หากกลุ่มต่อสู้ใช้อาวุธรัฐมักจะตอบโต้โดยอาวุธในการปราบปราม ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ใช้ความรุนแรง รัฐอาจเห็นใจมากกว่า อย่างกรณีการต่อสู้ของพลังประชาชนในเมืองมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ต่อสู้ต่อต้านประธานาธิบดีมาร์กอส ถือเป็นประสบความสำเร็จของประชาชนเลยทีเดียว
 
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.Stein ให้ความกระจ่างว่า การต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรงก็ไม่ได้หมายถึงการไม่ใช้ความรุนแรงเสียทั้งหมด เพราะมีการใช้ยุทธวิธีที่ผสมผสานกัน อย่างกรณี เสื้อเหลือง เสื้อแดงในประเทศไทย มีการใช้ยุทธวิธีและกลยุทธ์ต่างๆ มากมาย เพื่อดึงมวลชนและเพื่อให้รัฐบาลเชื่อ การต่อสู้ดังกล่าวก็มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต หรือมีกรณีกลุ่มเสื้อดำ และผลสุดท้ายก็เกิดการเกิดรัฐประหารในท้ายที่สุด
 
ศ.ดร.Stein ให้ข้อสังเกตอีกว่า ภายหลังจากสงครามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอินโดจีน พม่า หรืออินโดนีเซีย หลายประเทศก็เกิดความสงบสุข โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียภายหลังจากซูฮาร์โต้หมดอำนาจลง มีนักวิจัยและนักวิชาการหลายคนต่างเขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับความรุนแรงที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีหนังสือเล่มไหนที่พูดถึงว่าทำไมอินโดนีเซียจึงมีสันติภาพมากขึ้น
 
 
คำถาม คำถาม คำถาม ต่อชายแดนใต้
 
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับปาฐกถาของ ศ.ดร.Stein ครั้งนี้ คือ “การตั้งคำถาม” หรือข้อสงสัยต่อความขัดแย้งยืดเยื้อในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ
 
เหตุใดในปีค.ศ.1990 กลุ่มต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้วิธีการฆ่าครู ลอบสังหาร วางระเบิดรายวัน และเหตุใดการก่อเหตุแต่ละครั้งไม่มีการประกาศตัวการที่อยู่เบื้องหลัง?
 
เหตุใดการต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงใช้ความรุนแรงแม้จะมีอัตราในการชนะต่ำ?
 
เป็นไปได้หรือไม่ว่ากลุ่มต่อสู้มองว่ารัฐไทยจะล่มสลายในอีกไม่ช้า?
 
เป็นไปได้หรือไม่ว่ากลุ่มต่อสู้หวังว่าจะมีการเรียกร้องกันในระดับโลก และมีการแทรกแซงจากต่างประเทศ? เหตุที่กลุ่มต่อสู้ยังใช้วิธีการรุนแรง เพราะไม่มีทางเลือกอื่นใดหรือ?
 
เป็นไปได้หรือไม่ว่า กลุ่มต่อสู้อาจมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ไม่ให้รัฐไทยเข้ามารุกรานโดยไม่ได้มุ่งเน้นความสำเร็จแต่อย่างใด หวังเพียงต้องการรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองไว้?
 
หรือกลุ่มต่อสู้คิดว่าการใช้อาวุธในเวลานานๆ เพื่อให้รัฐใช้วิธีที่นุ่มนวลเพื่อพูดคุยต่อไป?
 
ข้อสรุปของ ดร.Stein ต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ คือ การพูดคุยของบีอาร์เอ็นนั้นสิ่งสำคัญ ตัวแทนของบีอาร์เอ็นต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ในขณะที่องค์ภาคประชาสังคมต้องมองว่า ตนมีอำนาจในการต่อรองกับรัฐไทยอย่างไร ข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมต้องเน้นไปที่การไม่แบ่งแยกระหว่างกัน ต้องเรียกร้องเรื่องการไม่ใช้อาวุธระหว่างการพูดคุย ควรมีการอบรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ใช้ความรุนแรง
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท