Skip to main content
sharethis
18 สิงหาคม 2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ออกแถลงการณ์ ต่อการจับกุมและตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ต่อ น.ส.ภรณ์ทิพย์ (สงวนนามสกุล) และ นายปติวัฒน์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งทั้งสองถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง และร่วมแสดง (ตามลำดับ) ละครเจ้าสาวหมาป่าในงานครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อปีที่แล้ว
 
สนส. เห็นว่าว่า การจับกุมและตั้งข้อหาดังกล่าว อาจคุกคามและละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และการดำเนินคดีอาจไม่เป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และเรียกร้องให้จ้เาหน้าที่ตำรวจและศาลเคารพในหลักการได้รับการสันนิฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และให้สิทธิผู้ต้องหาให้ได้รับการปล่วยตัวชั่วคราว
 
"การที่ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี โดยบุคคลทั้งสองมิได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือทำลายพยานหลักฐานนั้น เป็นการลิดรอนสิทธิของบุคคลทั้งสองที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องได้รับการเคารพและรับรองสิทธิในเสรีภาพและอิสรภาพตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาเป็นที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด" สนส. กล่าว
 
นอกจากนี้ สนส. ยังกล่าวอีกว่า ในการที่ศาลอาญา มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่า “ละครมีเนื้อหาล้อเลียนในลักษณะจาบจ้วง” และ “เป็นการนำความเสื่อมเสียสู่สถาบันและกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน” เป็นการให้ความเห็นในเนื้อหาแห่งคดีและย่อมไม่สามารถนำมาใช้เป็นเหตุผลในการคุมขังผู้ต้องหาได้ 
 
-----------------------------------------------------
 
แถลงการณ์
 
ให้ยุติการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
 
เคารพหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและปล่อยตัวชั่วคราวนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้งสองโดเร็ว
 
จากกรณีเมื่อวันที่ 15 – 16 สิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ได้จับกุมตัวนายปติวัฒน์ (ขอสงวนนามสกุล) นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนางสาวภรณ์ทิพย์ (ขอสงวนนามสกุล) นักกิจกรรมทางสังคม เพื่อดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนตุลาคม 2556 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคัดค้านการประกันตัว ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวและให้นำตัวทั้งสองไปฝากขังที่เรือนจำ โดยให้เหตุผลว่า “คดีมีพฤติการณ์ร้ายแรง เกรงจะหลบหนี” นั้น
 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เห็นว่าการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการกระทำที่อาจคุกคามและละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และไม่เป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
 
1. ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาชนทุกคนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงออก ผ่านการพูด เขียน การแสดง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อสื่อสารกับผู้อื่น รวมทั้งมีเสรีภาพในทางความคิด ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 18 และ 19 
 
การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งสอง โดยเหตุจากการแสดงละครเรื่องดังกล่าว จึงอาจเป็นการละเมิดเสรีภาพของบุคคลทั้งสองที่ได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่อสาธารณะโดยสันติตามขอบเขตแห่งเสรีภาพของตนที่ย่อมสามารถกระทำได้ ไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ หรือผ่านงานศิลปะ การละคร หรือการดนตรีก็ตาม
 
2. การที่ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี โดยบุคคลทั้งสองมิได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือทำลายพยานหลักฐานนั้น เป็นการลิดรอนสิทธิของบุคคลทั้งสองที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องได้รับการเคารพและรับรองสิทธิในเสรีภาพและอิสรภาพตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาเป็นที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เท่าเทียม และอย่างได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
การนำตัวบุคคลทั้งสองไปคุมขังไว้จึงเป็นการละเลยและบั่นทอนหลักประกันความยุติธรรมที่ศาลมีให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองตามหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งตามกฎหมายไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
 
3. การที่ศาลอาญา มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่า “ละครมีเนื้อหาล้อเลียนในลักษณะจาบจ้วง” และ “เป็นการนำความเสื่อมเสียสู่สถาบันและกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน” 
 
เป็นการให้ความเห็นในเนื้อหาแห่งคดีและย่อมไม่สามารถนำมาใช้เป็นเหตุผลในการคุมขังผู้ต้องหาได้ อีกทั้ง ยังเป็นการสรุปความฝ่ายเดียวในลักษณะปรักปรำบุคคลทั้งสอง โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือทนายความได้โต้แย้ง คัดค้าน ซึ่งนอกจากจะเป็นการละเลยต่อหลักการที่ผู้ต้องหาจะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ยังเป็นการละเมิดต่อหลักประกันความสามารถในการต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียมที่ผู้ต้องหาต้องได้รับโอกาส เวลา และข้อมูลที่เพียงพอในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
 
4. นับแต่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการใช้อำนาจและการดำเนินคดีต่อเหตุการณ์และกิจกรรมทางการเมือง ที่มีลักษณะเป็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ อิสรภาพของบุคคล เป็นการจำกัดพื้นที่ของการแสดงออกและการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสันติ ไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดองอย่างยั่งยืนที่สะท้อนต่อสภาพและรากเหง้าของความขัดแย้ง
 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) จึงขอเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมและการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้ 
 
1. ยุติการจับกุม คุมขัง การดำเนินคดี หรือการใช้อำนาจในรูปแบบใด ที่ส่งผลหรือมีวัตถุประสงค์คุกคาม ทำลาย หรือละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติภายใต้หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน 
 
2. ให้อัยการและศาลร่วมตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่มิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดำเนินกระบวนการยุติธรรมไปในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกลั่นแกล้งหรือให้ร้ายต่อกลุ่มบุคคลใด เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐนิติธรรมที่บ้านเมืองต้องรักษาไว้ในภาวะที่มีความขัดแย้งทางความคิด
 
3. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลเคารพในหลักการได้รับการสันนิฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ของผู้ต้องหาและให้มีคำสั่งอนุญาตการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองโดยเร็ว
 
ด้วยความเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net