Skip to main content
sharethis

หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเทศ สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือการออกคำสั่งเรียกตัวบุคคลจำนวนมากเข้ารายงานตัวและกักตัวคนเหล่านั้น โดยวันที่ 1 มิ.ย. คสช.ได้ออกคำสั่งที่ 44/2557 โดยเรียกบุคคลจำนวน 28 ราย เข้ารายานตัว ที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ ในวันที่ 3 มิ.ย. เวลา 10.00-12.00 น. ซึ่งในจำนวนนั้นมีชื่อ ‘จิตรา คชเดช’ นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพฯ และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM และเธอเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นเมื่อต้นปี 54 หลังชูป้ายที่มีข้อความว่า ‘ดีแต่พูด’ ใส่ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ในวันสตรีสากล

อย่างไรก็ตามขณะที่ คสช. เรียกจิตรา เขารายงานตัวนั้น เธออยู่ระหว่างการเดินทางศึกษาการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสวัสดิการของคนงานในประเทศสวีเดน จึงไม่สามารถกลับมารายงานตัวได้ทัน แม้จะเดินทางไปรายงานตัวที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงสต๊อคโฮล์มแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 1 สัปดาห์เธอกลับถูกออกหมายจับด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. อย่างไรก็ตามเช้าวันที่ 13 มิ.ย. เธอก็ได้เดินทางกลับมาตามที่เคยประกาศไว้ พร้อมกับถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตั้งแต่ลงเครื่องบิน และถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว พ่วงด้วยเงื่อนไขการประกันตัวแถมมาด้วยว่า

“ห้ามชุนุมทางการเมืองอันก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร และห้ามแสดงความคิดเห็นด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใด หรือทำเป็นหนังสือเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน”

ประชาไทจึงสัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่เธอเดินทางกลับมา รวมถึงกระบวนการกักตัว การควบคุมตัวในทัณฑ์สถานหญิงกลางที่มีการทำให้กลายเป็นนักโทษ รวมไปถึงเงื่อนไขความยากลำบากในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสวัสดิการของสหภาพแรงงานที่เธอทำงาน ก่อนดีเดย์วันที่ 31 ก.ค. นี้ ที่จะครบกำหนดฝากขังผลัดที่ 4 ซึ่งเป็นผลัดสุดท้ายของพนักงานสอบสวนก่อนส่งฟ้องให้อัยการต่อไป

00000

ประชาไท : ทำไมถึงเดินทางไปสวีเดนในช่วงก่อนรัฐประหาร?

จิตรา : เนื่องจากมีคนไทยที่ตนรู้จักในสวีเดนเชิญไป จากที่เห็นว่าตนเป็นคนงานที่ทำงานด้านสหภาพแรงงาน ประกอบกับคนไทยเหล่านั้นอยู่ในสวีเดนก็เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน จึงอยากให้ตนได้เห็นวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนสวีเดน และการทำงานสหภาพแรงงานที่นั่น ซึ่งช่วงไปนั้นเป็นช่วงมีการจัดงานวันกรรมกรสากลที่นั่น โดยปีที่แล้วช่วงเดียวกันนี้ตนก็เดินทางไปมาแล้วครั้งหนึ่ง   

ซึ่งมีกำหนดการเดินทางไปกลับก่อนที่จะมีการรัฐประหารหรือการเรียกตัวจาก คสช. แล้ว การเดินทางไปครั้งนี้เพื่อศึกษาการทำงานของคนงาน เช่น ที่เมืองคีรูนา เพื่อดูวิถีการทำงานของคนทำงานเหมืองแร่ และการทำงานของสหภาพแรงงาน การจัดการระบบความปลอดภัยของคนงาน เป็นต้น

ทราบอย่างไรว่า คสช. มีคำสั่งเรียกให้มารายงานตัว?

ทราบจากข่าวในออนไลน์ เพราะหลังรัฐประหารก็มีการเรียกรายงานตัวเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมาพบว่ามีการเรียกให้ตนนั้นไปรายงานตัวในวันที่ 3 มิ.ย. ที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ ซึ่งขณะนั้นไม่สามารถเดินทางกลับมารายงานตัวได้ทัน เพราะจองตั๋วเครื่องบินกลับในวันที่ 12 มิ.ย. ซึ่งจองไว้ก่อนหน้าแล้ว

ทำไมถึงได้เลือกที่จะเดินทางกับเมืองไทย ทั้งที่มีหมายเรียกและหมายจับจาก คสช.?

ตนไม่มีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสวีเดนได้ เหตุที่ไม่ตัดสินใจกลับมาทันทีหลังจากมีคำสั่ง คสช. เรียกตัว เพราะค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนตั๋วแต่ละครั้ง 6,000 – 7,000 บาท และคิดว่าระยะเวลาจากวันที่ 3 มิ.ย. ที่ คสช. เรียกรายงานตัว ถึงวันที่ 12 มิ.ย. ตามกำหนดที่เราจองตั๋วกลับ ไม่ได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก พร้อมกับวันที่ 3 มิ.ย. ที่ คสช. เรียกนั้น ตนเองก็ไปรายงานตัวกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในสวีเดนแล้ว และใช้โทรศัพท์โทรมาที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ของ คสช. ตามเบอร์โทรที่มีการเผยแพร่ แต่กลับไม่มีการรับโทรศัพท์

รวมทั้งใช้วิธีการส่งจดหมายมาที่ คสช. โดยให้คนที่อยู่ไทยไปยื่นที่สโมสรกองทัพบก และส่งเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน

เหตุที่เดินทางเข้ารายงานตัวที่สถานเอกอัครราชทูตไทยเนื่องจากคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย ถึงแม้ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่รับหนังหนังสือ แต่ที่ปรึกษาทูตฯ ก็บอกว่าจะเขียนรายงานเรื่องที่ตนเดินทางมาส่งกระทรวงต่างประเทศ

นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว อาชีพหลักที่ตนทำอยู่นั้นคือเป็นที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ รวมทั้งเป็นผู้ประสานงานกลุ่มคนงาน TRY ARM ซึ่งเป็นอดีตคนงานไทรอัมพ์ที่ถูกเลิกจ้างตั้งแต่ปี 52 แล้วมารวมกลุ่มกันในรูปแบบสหกรณ์คนงานเพื่อผลิตชุดชั้นในขาย ประกอบกับขณะนี้เป็นช่วงที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เตรียมจะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลสภาพการจ้างงานต่อนายจ้างด้วย

รวมทั้งเห็นว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดอะไร เพราะหากไม่ได้อยู่ต่างประเทศตนก็ต้องเดินทางไปรายงานตัวตามวันเวลาและสถานที่ที่ คสช. กำหนดอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ได้ติดต่อมาทาง คสช. ทุกรูปแบบเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะมารายงานตัว

ไม่กลัวกับการต้องเข้ามารายงานตัวหรือถูกจับกุมหรือ?

ตอนนั้นเชื่อว่าไม่ได้กระทำความผิดอะไร และเชื่อว่า คสช. เอง มีการประกาศว่าจะมารัฐประหารเพื่อที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข ตนก็คิดว่าไม่มีทางเลี่ยงไปได้ที่จะไม่กลับมา จึงเป็นทางเลือกเดียวที่จะต้องกลับมาไม่ว่าจะเจอกลับอะไรก็ต้องพร้อมที่จะเผชิญกับมัน บวกกับเหตุผลที่กล่าวมาก่อนหน้าทำให้ต้องกลับมาแม้จะมีความกลัวอยู่ก็ตาม

“ว่ากันจริงๆเรายังมีเพื่อนมีพี่มีน้อง คนที่อยู่เมืองไทยเขายังอยู่กันได้ แล้วทำไมเราถึงอยู่ไม่ได้”

“เพราะเราคิดว่าการออกหมายจับ การเข้าสู่กระบวนการทางศาลเราคิดว่าเราสามารถอธิบายได้ ด้วยเหตุด้วยผลว่าเพราะอะไร เราไม่ได้ฝ่ายฝืน เราไม่ได้ขัดคำสั่งรายงานตัว และมั่นใจในสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เรากลับมาไม่ได้เราก็เลือกติดต่อ คสช. เท่าที่ทำได้”

สำหรับกรณีที่ตนถูกออกหมายจับนั้น แปลกใจที่บางคนถูก คสช. เรียกตัวก่อนหน้าตนตั้งหลายคน แต่ยังไม่มีการออกหมายจับ แต่ตนประกาศเรียกแค่สัปดาห์เดียวก็มีหมายจับแล้ว ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องการให้คนที่ถูกเรียกรายงานตัวก่อนหน้าจะต้องถูกออกหมายจับเหมือนตน แต่คิดว่าหมายจับของตนนั้นน่าจะเกิดจากความผิดพลาด จึงยิ่งมั่นใจว่าสามารถอธิบายสิ่งที่ตนเองทำได้

“ถ้าเราเจตนาฝ่าฝืนก็ไม่เดินทางกลับมาให้โดนจับแต่แรก”

แต่อย่างไรก็ตามการที่ คสช. ออกหมายจับเพิ่มจากคำสั่งเรียกรายงานตัวก็อาจทำให้บางคนรู้สึกหวาดกลัวเพิ่มขึ้น จึงเป็นการบีบให้เขาเหล่านั้นฝ่าฝืนคำสั่งไปในตัวด้วย ทั้งที่ตอนแรกพวกเขาอาจมีเจตนาที่จะเดินทางเข้ารายงานตัวอยู่แล้วก็ตาม

คิดอย่างไรกับคนที่ไม่รายงานตัวกับ คสช. ?

สำหรับคนที่ไม่มารายงานตัวกับ คสช. นั้น ตนเคารพสิทธิที่พวกเขาตัดสินใจ เพราะแต่ละคนมีสถานการณ์การรับรู้ สถานการณ์ทางการเมือง ญาติพี่น้อง คนรอบข้างของเขาแต่ละคนต่างกัน มีบริบทต่างกัน ดังนั้นจึงเคารพในการตัดสินใจของแต่ละคน เคารพทั้งคนที่ไปรายงานตัว คนที่กลับมามอบตัว คนที่หนี เพราะแต่ละคนย่อมมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป

ระหว่างถูกกักตัวที่ห้องขังกองปราบ

ช่วยเล่ากระบวนการถูกควบคุมตัวแต่แต่ถึงสนามบิน ว่าเป็นอย่างไร?

ก่อนหน้าที่จะเดินทางกลับได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. เพื่อบอกรายละเอียดการเดินทางแล้วว่า จะเดินทางกลับถึงไทยตั้งแต่เช้า วันเวลากี่โมง และจะเข้ารายงานตัวกับ คสช. แต่เมื่อถึงสนามบินแล้วผ่าน ตม. ตามปกติ แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ ตม. แจ้งว่าน่าจะมีปัญหาจึงขอควบคุมตัว และแจ้งว่าตนมีรายชื่อ จึงทำบันทึกการจับกุม อย่างไรก็ตามระหว่างบันทึกการจับกุมตนก็สามารถขอเข้าห้องน้ำหรือขอล้างหน้าแปรงฟันได้ โดยมีตำรวจหญิงเฝ่าตลอด

หลังจากนั้นจึงพาไปที่กองปราบปราม สอบปากคำ และฝากขังในห้องขังกองปราบ 1 คืน วันรุ่งเช้าวันต่อมาทหารและตำรวจได้นำตัวไปศาลทหาร โดยพนักงานสอบสวนไปขออำนาจศาลทหารฝากขังผลัดที่ 1 โดยอ้างถึงเหตุจำเป็นที่ยังไม่สามารถสอบปากคำพยานได้ทั้งหมด รวมถึงต้องการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมเพิ่มด้วย

เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจปฏิบัติอย่างไรในระหว่างควบคุมตัว?

โดยทั่วไปถือว่าปฏิบัติดี แต่ที่เราไม่มีคืออิสรภาพ จะกลับบ้านก่อนก็ไม่สามารถทำได้ ต้องหิ้วกระเป๋าเดินทางเข้ากองปราบเลย ไม่สามารถกลับบ้านเพื่อไปพักผ่อนก่อนแล้วมารายงานตัวหรือมอบตัวภายหลังได้ แม้ว่าตนไม่ได้มีเจตนาหนี

หลังจากที่ศาลทหารอนุญาตฝากขังได้ ตนจึงขอยื่นประกันตัว และศาลทหารก็ให้ประกันตัวด้วยเงินสด 20,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจากกลุ่มคนงาน TRY ARM พร้อมเงื่อนไขการประกันตัว

กระบวนการปล่อยตัวชั่วคราวนี้ไปปล่อยที่ไหนอย่างไร?

หลังจากนั้นเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่นำตัวตนไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง คลองเปรม เพื่อฝากขัง และรอคำสั่งศาลทหารว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่

ก่อนหน้านี้เคยถูกฝากขังในศาลปกติของพลเรือนที่จะนำตัวไปไว้ห้องขังใต้ถุนศาลเพื่อรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว รวมทั้งในกระบวนการปกติหากเป็นชั้นตำรวจหรือพนักงานสอบสวนนั้นหากให้ประกันตัวก็ปล่อยตัวได้ โดยไม่ต้องขังก่อน ซึ่งต่างจากกรณีนี้ที่นำตัวเข้าทัณฑสถานหญิงฯ ก่อน

“กลไกที่เข้าเรือนจำหรือทัณฑสถานหญิงฯ นั้น กระทำกับเราเหมือนนักโทษ เรียกได้ว่ามีกระบวนการทำให้กลายเป็นนักโทษ โดยปฏิบัติกับเราเท่ากับนักโทษที่ถูกศาลสั่งจำคุกในคดีอาญาทั่วไปแล้ว”

โดยกระบวนการเหล่านั้นเริ่มจากการตรวจร่างกาย ให้ถอดเสื้อผ้าหมดรวมทั้งชุดชั้นในกลางวงผู้คุม เมื่ออยู่ในสภาพเปลือยก็ต้องหมุนตัวให้ผู้คุมดู ตรวจนิ้วมือนิ้วเท้า ตรวจผม โดยผู้คุมจะยืนดูและมีนักโทษในเรือนจำที่เป็นผู้ช่วยผู้คุมคอยจัดการให้

หลังจากนั้นก็นุ่งผ้าถุง 1 ตัวที่เขาจัดให้ไปตรวจภายใน ตรวจช่องคลอด และต่อด้วยการทำประวัติสุขภาพ โดยจะเขียนน้ำหนักส่วนสูงที่ฝ่ามือ หลังจากนั้นผู้คุมได้ให้คนนำเสื้อมาให้ 1 ตัว และต่อด้วยการทำประวัตินักโทษ ในระหว่างนี้ตนได้ขอผู้คุมสวมเสื้อชั้นในและกางเกงใน แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยผู้คุมชี้แจงว่าเสื้อผ้าและสิ่งของที่เอาเข้าไปนั้นไม่สามารถใช้ได้เลย ต้องให้ญาติซื้อมาให้ภายหลัง ของที่ติดตัวมาทุกอยู่จะถูกเก็บและทำบัญชีไว้ตั้งแต่แรก โดยมีเพียงใบรายการของติดตัวมาเท่านั้น

หลังจากทำประวัตินักโทษเสร็จ มีคนรับตัวให้ไปที่แดนแรกรับ เมื่อถึงแดนแรกรับก็ต้องถอดเสื้อผ้าทั้งหมดเพื่อให้ผู้คุมที่นั่นดู หลังจากนั้นเขาให้ผ้าถุงเรา 1 ผืน เพื่อไปอาบน้ำโดยมีนักโทษคนหนึ่งเฝ้า หลังจากอาบน้ำเสร็จให้เสื้อผ้า 1 ชุด โดยเขียนว่าแดนแรกรับ จากนั้นก็ทำประวัติที่แดนแรกรับอีกครั้ง

ระหว่างการทำประวัติที่แดนแรกรับนั้น เวลาเดินทำประวัติถูกห้ามไม่ให้ยืน จึงต้องนั่งยองหรือถัดก้นไปตามกระบวนการและต่อแถวนักโทษคนอื่นๆประมาณ 10 กว่าคนที่ต้องทำประวัติขณะนั้น สิ่งที่ซักถาม เช่น มาจากศาลไหน คดีอะไร เพราะต้องแยกคดีของนักโทษ โดยตนอยู่ในกลุ่มนักโทษทั่วไป จากนั้นเขียนเลขที่หลังมือซึ่งเป็นเบอร์ล็อคเกอร์ของตนด้วย

จากนั้นผู้ช่วยผู้คุมจึงพาเข้าเรือนนอนในห้องคดีทั่วไป ซึ่งมีคนอยู่ 69 คน มีหัวหน้าห้องที่เป็นนักโทษ เรียกตนไปสอบประวัติอีกครั้งในห้อง คดีในนั้นส่วนมากเป็นคดีต่างด้าว แรงงานข้ามชาติ คดีฉ่อโกง โดยเฉพาะคดีต่างด้าวที่พูดไทยไม่ได้ก็มักถูกหัวหน้าห้องหงุดหงิดใส่และถูกด่าทอ

มีกิจกรรมให้ผู้ที่อยู่ในห้องทั้งหมดสวดมนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง และเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีเสร็จให้ทุกคนผ่อนคลาย มีการเปิดทีวีละครและมิวสิควีดีโอเก่าๆให้ดู เริ่มแจกที่นอนซึ่งมีเพียงผ้าห่มคนละ 1 ผืน โดยจะนำมาห่มหรือปูนอนหรือพับเป็นหมอนก็ได้  ซึ่งคนที่อยู่มาก่อนหน้าแนะนำให้พับหนุนหัวเพราะกลางคืนอากาศจะร้อน นอนกับพื้นที่ปูกระเบื้องธรรมดา และจัดระเบียบการนอนโดยแบ่งเป็น 3 แถว โดยด้านหนึ่งให้เอาหัวชนกัน อีกด้านเอาเท้าชนกัน ตอนนั้นเวลาประมาณ 21.00 น. และสักพักผู้คุมก็มาเรียกชื่อตนเพื่อปล่อยตัว

ก่อนหน้าที่ผู้คุมจะมาเรียกชื้อเพื่อปล่อยตัวนั้นคิดอะไรอยู่?

ในระหว่างที่อยู่ในห้องนั้น ซึ่งนอนไม่หลับ เพราะคิดหลายเรื่อง เช่น เตรียมการปรับตัวสำหรับพรุ่งนี้ เพราะหัวหน้าห้องแจ้งว่าจะปลุกเวลา 5.30 น. และมีการอบรมนักโทษใหม่ เพราะตอนนั้นคิดว่าตนเองไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากค่อนข้างดึกแล้ว จึงคิดเตรียมตัวสำหรับการอยู่ในเรือนจำว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เตรียมตัว วางแผน รวมไปถึงคิดเตรียมเสนอการจัดการแจกผ้าห่มในห้องนอนให้เป็นระบบที่ดีขึ้น รวมถึงการจัดคนในแถวที่จะนอนนั้นก็ควรมีการจัดการที่ดีกว่านี้ เพราะในวันนั้นใช้เวลานานมากในการจัดการ จนหัวหน้าห้องบ่นว่าจะไม่ให้ทุกคนนอน

การปล่อยตัวทำอย่างไรบ้าง?

หลังจากถูกเรียกปล่อยตัว ก็ต้องถอดเสื้อผ้าให้ผู้คุมดูอีก 1 รอบ แล้วหลังจากนั้นได้รับผ้าถุง 1 ผืน เพื่อใส่และเดินถือใบเอกสารออกไปที่ห้องปล่อยตัว โดยนั่งที่ห้องนั้นนานมาก จนกระทั่งมีคนเอาเสื้อผ้าและของต่างๆที่ติดตัวมาแต่ต้นมาให้ จึงได้ใส่เสื้อผ้าตรงนั้นท่ามกลางผู้คุม ทรัพย์สินที่ถูกคืนมานั้นมาตรวจภายหลัพบว่าจี้ของตนนั้นหายไป

ขั้นตอนการผ่านด่านแต่ละครั้งในการปล่อยตัวจะต้องมีรหัสปลดล็อค เช่น การถามชื่อ-นามสกุล ชื้อเพื่อนสนิท หมายเลขโทรศัพท์เพื่อสนิท ชื่อพ่อแม่ เป็นต้น ตามประวัติที่กรอกในรอบแรก เท่ากับว่าหากตอบผิดก็อาจจะไม่ได้ออก เพราะเขาต้องการเช็คว่าเป็นตัวจริงหรือไม่

ก่อนปล่อยตัวผู้คุมมาขอถ่ายเอกสารและบอกด้วยว่าพึ่งเป็นกรณีแรกที่มาจากศาลทหาร จึงเก็บข้อมูลไว้เป็นกรณีศึกษา

หลังจากถูกปล่อยตัวแล้วก็มารายงานตัวตามเงื่อนไขการประกันตัว ซึ่งฝากขังผลัดละ 12 วัน และถึงผลัดที่ 4 แล้ว ซึ่งจะครบในวันที่ 31 ก.ค. นี้  และทราบว่าพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องและส่งให้อัยการแล้ว

ภาพขณะถูกปล่อยตัวที่ทัณฑ์สถานหญิงกลาง

มีความกังวลหรือไม่ ว่าการถูกฝากขังในชั้นอัยการนั้นจะต้องผ่านกระบวนการทำให้เป็นนักโทษ ต้องเข้าเรือนจำอีกหรือไม่?

จากการสอบถามผู้ที่ถูกฝากขังในชั้นอัยการ การขอประกันตัวก็ต้องกลับไปที่เรือนจำอีก ซึ่งตนมีความกังวลและคิดว่าการปฏิบัติกับผู้ต้องหาเท่ากับเป็นนักโทษแล้ว ทั้งที่ยังไม่ถูกศาลตัดสิน รวมทั้งคดีของตนก็เป็นคดีการเมือง จึงมองว่าผู้ต้องหาไม่ว่าคดีอะไรควรได้รับการปฏิบัติที่ต่างจากนักโทษที่ศาลมีคำตัดสินแล้ว หรือแม้เป็นนักโทษแล้วก็ควรดูเป็นกรณีๆไปว่าเกี่ยวข้องกับอะไร หากสงสัยว่าจะซุกซ้อนสิ่งผิดกฏหมายเข้ามาอาจขอตรวจเป็นรายๆไป หรืออาจใช้เครื่องมือในการตรวจ เช่น เครืองสแกนก็ได้ สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือการบังคับให้ทุกคนคลานหรือถัดก้นหรือนั่งยองไปในขั้นตอนการซักประวัติ

การควบคุมตัวในเรือนจำนั้นแออัดจนเกินไป ห้องที่ตอนนอนนั้นมี 69 คน เป็นห้องขนาดที่นอนเบียดๆกันได้พอดีตัว ขาบางจุดอาจเกยกัน มีผ้าห่มแจกให้คนละผืน ไม่มีหมอนและนอนพับพื้นเปล่า มีห้องน้ำเพียงห้องเดียวที่ก่อกำแพงขึ้นมาประมาณเอว เวลานั่งหัวก็โผล่และไม่มีประตูที่ปิด โดยที่ทุกคนจะไปปัสสาวะก็ต้องเดินข้ามทุกคนที่นอนอยู่ไป ซึ่งระหว่างถ่ายก็มีทั้งเสียงและกลิ่น ถ้าวันนั้นในห้องมีคนท้องเสีย 5 คน คงยุ่ง

การปล่อยตัวชั่วคราวควรใช้แบบศาลพลเรือนที่ปล่อยที่ศาลเลย ไม่ควรนำตัวมาเข้าเรือนจำก่อน และที่สำคัญการควบคุมตัวผู้ต้องหาต้องแยกจากนักโทษ รวมทั้งผู้ต้องหาในคดีการเมืองก็ควรแยกออกจากคดีอื่นๆด้วย ต้องไม่มองว่าเขาเป็นอาชญากรเป็นเพียงคนที่ไม่คิดเหมือนกับที่รัฐคิด หรือหากรัฐคิดว่าจะมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของรัฐก็อาจควบคุมตัวโดยที่ไม่รวมไปกับผู้กระทำความผิดกฏหมายเรื่องอื่น

มองว่าตัวเองเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง?

“เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดรัฐประหารจึงมาเรียกตัวเรา ถ้าอยู่ในรัฐบาลปกติก็คงไม่มาเรียกเรา เราก็ใช้ชีวิตของเราตามปกติ เหตุที่เราถูกเรียกเพราะมันมีการรัฐประหาร”

ทั้งสถานการณ์ตอนนี้ที่มีการรัฐประหาร โดน คสช. เรียกรายงานตัวและเป็นผู้ต้องหามีเงื่อนไขการประกันตัวที่ถูกห้ามมากมาย ในขณะที่อาชีพของคุณเป็นเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานฯ มีความลำบากไหมกับการทำงาน ในสถานการณ์แบบนี้ ?

ลำบากมากขึ้น เพราะขณะนี้สหภาพแรงงานที่ตนเป็นที่ปรึกษาอยู่นั้นมีการยื่นข้อเรียกร้องและอยู่ในระหว่างพิพาทแรงงานทั้ง 2 ที่ ซึ่งการพิพาทแรงงานในระหว่างที่มีกฏอัยการศึกนั้น รัฐมนตรีฯ อาจมีความเห็นอะไรขึ้นมาก็ได้ เช่น ห้ามนัดหยุดงานหรือปิดงานในระหว่างนี้

ความยากลำบากในการทำงานตอนนี้กังกลว่าหากคนงานมีการนัดหยุดงานหรือปิดงานอาจถูกมองว่าเข้าเงื่อนไขการประกันตัว อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ดีนั้นตนก็ยังยืนยันว่าสามารถอธิบายได้ ด้วยเหตุและผล หากมองโลกในแง่ดีก็ยังเชื่อว่าเขาจะฟังเหตุและผล เพราะมนุษย์หากไม่ฟังเหตุและผลกันก็คงฆ่ากันตายหมด เชื่อว่ายังพูดคุยและสามารถอธิบายได้

ทำไมยังคงทำงานเคลื่อนไหวด้านสหภาพแรงงาน?

ตนเข้ามาทำงานในโรงงานเห็นว่าการมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งมันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนงาน ซึ่งก็เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัด อีกทั้งประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว ดังนั้นหากอยากเห็นคนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีการทำงานปลอดภัยก็ต้องมีสหภาพแรงงาน รวมทั้งตนเคยเห็นสภาพการทำงานของคนงานในยุโรปและอเมริกา จึงมีแรงบรรดาลใจที่อยากให้คนงานในประเทศนี้มีชีวิตที่ดีขึ้น และนำความรู้จากที่ได้ไปดูการทำงานสหภาพแรงงานของประเทศเหล่านั้นมาปรับปรุงการทำงานในประเทศไทย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการจัดการประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการ การจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งประเทศสวีเดนที่ตนเองได้ไปดูมานั้นถือเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นแม่แบบของการสร้างรัฐสวัสดิการที่ทำให้คนในสังคมมีสวัสดิการสภาพความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

การทำงานพรรคพลังประชาธิปไตยยังดำเนินต่อไปหรือไม่?

สำหรับพรรคตอนนี้ กกต. ยังส่งข่าวให้กับพรรคการเมืองต่างๆ เช่น กำหนดแนวทาง นโยบายพรรคการเมือง รวมถึงตอนนี้มีการห้ามรับสมัครสมาชิกพรรคการเมือง เป็นต้น พรรคตอนนี้ยังอยู่ แต่ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับพรรคได้

พรรคนี้ถือเป็นพรรคเกิดใหม่และเป็นพรรคเล็กมาก ถูกมองว่าเป็นพรรคคนยากคนจน แล้วการรณรงค์ในการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมาใช้เงิน ใช้แรง ใช้ทรัพยากรไปมากไหม แล้วคิดว่าสิ่งที่เสียไปเหล่านั้นจะเสียเปล่าหรือไม่?

คิดว่าไม่เสียเปล่า เพราะว่าตนเองก็รณรงค์ทางการเมืองหรือพูดเรื่องรัฐสวัสดิการมานานอยู่แล้ว แต่พอมีพรรคการเมืองที่มีนโยบายเรื่องนี้ก็เป็นอีกช่องทางที่จะได้พูดเรื่องนี้ได้มากขึ้น ดังนั้นการรณรงค์เลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.อย่างน้อยก็ให้คนได้เห็นประโยชน์ของการมีรัฐสวัสดิการ และให้คนเห็นถึงความสำคัญของความเสมอภาคในการใช้สิทธิใช้เสียงของคนในการเลือกตั้ง

ณ ตอนนี้ คิดอย่างไรกับการรัฐประหารครั้งนี้?

ไม่สามารถพูดอะไรได้เกี่ยวกับการรัฐประหาร เนื่องจากมีเงื่อนไขการประกันตัว 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net