นักวิจัยเคมบริดจ์คาดเทคโนโลยีใหม่ช่วยคนเห็นปัญหาสิทธิความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

ในขณะที่บรรษัทไอทียักษ์ใหญ่กำลังแข่งพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า 'อินเทอร์เน็ตของสิ่งต่างๆ รอบตัว' ซึ่งเป็นการเชื่อมโลกอินเทอร์เน็ตกับสิ่งของ อาทิผลิตภัณฑ์แบบกูเกิลกลาส ซึ่งสองนักวิจัยด้านกฎหมายและคอมพิวเตอร์จากเคมบริดจ์มองว่าจะทำให้โลกของข้อมูลข่าวสารดูจับต้องได้มากขึ้น ทำให้มองเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวได้ชัดเจนกว่าเดิม

28 ก.ค. 2557 สองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จัต สิงห์ ผู้วิจัยด้านคอมพิวเตอร์และจูเลีย พาวเลส จากคณะนิติศาสตร์ ซึ่งร่วมมือกันจัดตั้งโครงการศึกษาด้านเทคโนโลยี, กฎหมาย และนโยบาย เขียนบทความเกี่ยวกับ 'อินเทอร์เน็ตของสิ่งต่างๆ รอบตัว' และสิทธิความเป็นส่วนตัว
ลงในเดอะการ์เดียน

พวกเขาชี้ให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันดำเนินมาถึงยุคที่ "กระจายกว้างขวางไปถึงทุกที่" (Pervasive computing) ซึ่งหมายความว่าเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตถูกผูกติดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโลกความจริง มีความเกี่ยวข้องกับสภาพรอบข้างที่เป็นวัตถุแล้ว เรื่องนี้จะกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างไรบ้าง

ในบทความชี้ว่ายุคสมัยปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ถูกเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ถูกติดตามประวัติการค้นหาหรือประวัติการเข้าสู่เว็บต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลด้านการค้า และดูเหมือนว่ามีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่มากนักที่ให้เครื่องมือกับผู้ใช้ในการควบคุมข้อมูลของพวกเขาเอง

"ถ้าจะมีคำขวัญฟังดูน่าเศร้า ที่พูดถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการค้าในยุคปัจจุบัน มันคงเป็นคำขวัญว่า 'ความเป็นส่วนตัวตายไปแล้ว เลิกคร่ำครวญเสียที' " สองนักวิจัยเคมบริดจ์ระบุในบทความ

"การที่มีบริการอินเทอร์เน็ตมากขึ้นหมายถึงว่ามีข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นและถูกแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ปริมาณข้อมูลที่มากและซับซ้อนขึ้นอาจจะทำให้เกิดผลการควบคุมจัดการได้น้อยลง เป็นข้อสมมติฐานที่มีเหตุผลว่าเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวจะอยู่ในสภาพที่แย่" นักวิจัยระบุในบทความ

อย่างไรก็ตามนักวิจัยทั้งสองคนพยายามชี้ให้เห็นว่า อินเทอร์เน็ตในยุคต่อไปอาจทำให้คนมองเห็นเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวชัดเจนขึ้นกว่ายุคนี้

ก่อนหน้านี้มีบทความของนิตยสารฟอร์บส์ที่ระบุถึงเรื่อง 'อินเทอร์เน็ตของสิ่งต่างๆ รอบตัว' (Internet of Things) ซึ่งหมายถึงแนวคิดที่ต้องการใช้เทคโนโลยีติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ลงในสิ่งของเครื่องใช้รอบตัว อีกทั้งยังให้มันสามารถเชื่อมโยงกันเองได้ โดยบทความดังกล่าวระบุว่าเทคโนโลยีนี้เองที่ทำให้บรรษัทผู้ค้าเทคโนโลยีต่างๆ พยายามแย่งชิงพื้นที่พัฒนาผลิตภัณฑ์กันอย่างรวดเร็ว โดยมียักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลและกูเกิลกลายเป็นผู้นำด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้

สิงห์และพาวเลสพยายามประเมินเปรียบเทียบระหว่างยุคสมัยของเว็บ 2.0 (ยุคที่อินเทอร์เน็ตส่งเสริมให้ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์และนำเสนอข้อมูลของตัวเอง) กับยุคสมัยของอินเทอร์เน็ตที่กระจายไปตามสิ่งของต่างๆ รอบตัว โดยระบุว่าในยุคที่มีอุปกรณ์อย่างกูเกิลกลาสทำให้ผู้คนได้เห็นการเก็บรวบรวมข้อมูลในแบบที่เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้มากขึ้น อีกทั้งยังจะรู้สึกคุ้นเคย และทำให้มองเห็นเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวได้ชัดเจนขึ้น เมื่อเทียบกับยุคสมัยของเว็บ 2.0 ที่เรื่องของข้อมูลยังดูไม่เป็นรูปธรรมมากเท่า

สองนักวิจัยเคมบริดจ์ประเมินอีกว่ามีความเป็นไปได้ที่อินเทอร์เน็ตของสิ่งรอบตัวในยุคถัดไปจะให้ผู้คนสามารถปรับแต่งอะไรได้มากขึ้น ทำให้ผู้คนสามารถควบคุมการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตนเองได้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามสิงห์และพาวเลสก็ระบุในบทความว่า ในอีกแง่หนึ่งก็ยังมีความจำเป็นต้องสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้เทคโนโลยี

สองนักวิจัยระบุว่าบรรษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและกูเกิลมีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ด้วยวิธีการที่ไม่ได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ในยุคอินเทอร์เน็ตของสิ่งรอบตัวทำให้การแชร์ประสบการณ์หรือข้อมูลเห็นได้ชัดในโลกจริงมากขึ้น ทำให้คนต้องคำนึงถึงมาตรฐานทางสังคม เรื่องกาลเทศะ และเรื่องความเหมาะสม

มีการยกตัวอย่างในกรณีของกูเกิลกลาส ซึ่งเป็นแว่นตาที่เสริมด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต มีการเชื่อมต่อกับ GPS และสามารถตรวจจับสิ่งที่เห็นเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ แต่ยังไม่ทันที่แว่นตาล้ำสมัยชิ้นนี้จะได้ออกวางจำหน่ายก็มีการชี้แนะว่าควรใช้มันอย่างไรในลักษณะที่สังคมยอมรับได้ เช่น ไม่ใช้มันไล่ถ่ายภาพผู้คนโดยที่พวกเขาไม่อนุญาต หรือใช้ในการอื่นๆ ที่ผิดมารยาททางสังคม และดูเหมือนว่าสถานที่ต่างๆ อย่างร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ บาร์ และสถานบริการเปลื้องผ้า ได้สั่งห้ามใส่กูเกิลกลาสเข้าไปในสถานที่แล้ว

"เรื่องการประเมินและโต้ตอบต่อการใช้กูเกิลกลาสในแง่สิทธิความเป็นส่วนตัว แง่เศรษฐกิจ และแง่กฎหมาย เป็นไปอย่างรวดเร็วฉับไว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบเห็นกับการใช้เว็บ 2.0 และยังเป็นการชี้แนวทางแต่เนิ่นๆ ว่าอินเทอร์เน็ตของสิ่งต่างๆ รอบตัว ควรถูกพัฒนาให้ต่างจากเดิม" สองนักวิจัยระบุในบทความ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกพัฒนาให้สามารถอำนวยความสะดวกและปรับแต่งตามความต้องการของผู้ใช้ได้ผิดจากยุคเว็บ 2.0 และแอปพลิเคชันของโทรศัพท์มือถือที่วิธีการใช้ถูกกำหนดโดยผู้ค้า แต่ในขั้นตอนการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ถ้ามันอยู่ภายใต้การแข่งขันกันแค่ระหว่างบรรษัทใหญ่ๆ ไม่กี่แห่ง ก็จะทำให้พวกเขามีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขการใช้งานในขณะที่หลอกให้เรารู้สึกว่ามีทางเลือก ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลเสียต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวอีกทั้งยังเป็นการจำกัดประสิทธิภาพของเทคโนโลยีด้วย

 

เรียบเรียงจาก

The internet of things - the next big challenge to our privacy, The Guardian, 28-07-2014
http://www.theguardian.com/technology/2014/jul/28/internet-of-things-privacy

Google Glass advice: how to avoid being a glasshole, The Guardian, 19-02-2014
http://www.theguardian.com/technology/2014/feb/19/google-glass-advice-smartglasses-glasshole

Apple and Google Dominate 'Internet of Things' Influence with Home Automation Efforts, Forbes, 08-07-2014
http://www.forbes.com/sites/brucerogers/2014/07/08/apple-and-google-dominate-internet-of-things-influence-with-home-automation-efforts/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท