Skip to main content
sharethis

 

อาจมีข้อกังขาต่อเรื่องความสม่ำเสมอในการติดตามวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและแนวการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของ’รัฐ’ในแต่ละช่วงสมัยจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนไทย  แต่สำหรับองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์Human Right Watch ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากลแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์จนอาจถูกทำให้มองเหมือนกับเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและ’รัฐไทย’มาโดยตลอด นับจากกรณีสงครามยาเสพติด ฆ่าตัดตอน ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในยุครัฐบาลสมัครและรัฐบาลอภิสิทธิ การผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การขัดขวางการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557โดยกลุ่มนิยมกษัตริย์  เรื่อยขึ้นมาถึง การประกาศกฏอัยการศึก และการทำรัฐประหารโดยคณะทหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

สุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโส และที่ปรึกษาประจำประเทศไทยขององค์การเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ เป็นผู้ที่เกาะติดสถานการณ์สิทธิในไทยมาโดยตลอด ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับประชาไท ถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย กับ 2 เดือน หลังการรัฐประหาร คสช
 

 

ประชาไท: Human Right Watch มองสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยหลังรัฐประหารเป็นอย่างไรบ้าง

สุณัย: ผมมองว่ามันเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงประกาศกฎอัยการศึกก่อนรัฐประหารแล้ว เพราะมันคือการดึงอำนาจจากประชาชนให้กลับไปอยู่กับกองทัพ เปรียบเหมือนกับการรัฐประหารโดยไม่มีรถถัง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนทั้งประเทศ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนถูกลิดรอน ซึ่งทาง Human Right Watch ก็ได้ออกมาต่อต้านการกระทำดังกล่าวตั้งแต่ต้น เมื่อเกิดการรัฐประหาร การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีการเรียกบุคคลไปรายงานตัว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ กลุ่มแกนนำของฝ่ายการเมืองต่างๆ ที่เข้าไปนั่งประชุมในเย็นวันที่เกิดรัฐประหาร และกลุ่มที่ถูกเรียกตัวมาภายหลัง ซึ่งเป้าหมายของการเรียกรายงานตัวดังกล่าวก็เพื่อขยายผลไปสู่การจับกุมเครือข่ายเสื้อแดงทั่วประเทศอีกทั้งรูปแบบการเรียกรายงานตัวก็มีปัญหาเช่นกัน ประการแรกคือ เป็นการใช้อำนาจบังคับให้บุคคลมารายงานตัวในลักษณะไม่มาไม่ได้ เพราะจะเป็นการขัดต่อกฎอัยการศึก

ประการที่สองคือ หลังจากเรียกไปรายงานตัวแล้ว กองทัพทำอะไรกับคนเหล่านี้ เนื่องจากกองทัพไม่เปิดเผยอะไรเลย ทั้งเป้าหมายของการเรียกรายงานตัว สถานที่ควบคุมตัว ไม่อนุญาตให้ติดต่อกับโลกภายนอก การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการบังคับควบคุมตัวโดยพลการในสถานที่ไม่เปิดเผย ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตย โดยสรุปแล้วเราจะสามารถเห็นได้ว่า ขอบเขตการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพเริ่มจากภาพกว้างคือการประกาศกฎอัยการศึกซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนทั้งประเทศ และภาพย่อยคือการเรียกบุคคลไปรายงานตัวโดยไม่แจงเหตุผล ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขณะนี้มีมากกว่า 300 คนแล้ว ยอดดังกล่าวยังไม่รวมคนที่ถูกจับกุม หรือคนที่ถูกเรียกรายงานตัวอย่างไม่เป็นทางการ

ประชาไท: บุคคลที่ถูกเรียกไปรายงานตัวส่วนมากมีทัศนะทางการเมืองไปในในทิศทางใด

สุณัย:  ในช่วงแรกจะเป็นทีมงาน และนักการเมืองของพรรคเพื่อไทย ต่อมาเริ่มขยายออกไปสู่แกนนำเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ จนไปถึงคนที่ไม่ใช่เสื้อแดง แต่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เช่น คุณประวิตร โรจนพฤกษ์ คุณธนาพล อิ่วสกุล แม้จะมีการเรียกแกนนำ นักวิชาการ กปปส. คปท. และพรรคประชาธิปัตย์ไปรายงานตัวด้วยเช่นกัน แต่ก็ในจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับฝ่ายเสื้อแดง ทั้งจำนวนผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัว และระยะเวลาที่ควบคุมตัว ซึ่งมันแสดงให้เห็นถึงความลำเอียงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ เราจะเห็นกองทัพออกมาแถลงข่าวเรื่องการตรวจพบอาวุธจากฝ่ายเสื้อแดงเยอะมาก ในขณะที่แทบไม่เห็นอาวุธจากทางฝ่าย กปปส. เลย ทั้งๆ ที่อาวุธใน คปท. กับ กปปส. ก็มีจำนวนมากไม่แพ้กัน

ประชาไท: มีกรณีใดบ้างที่ Human Right Watch คิดว่ารุนแรงที่สุด

สุณัย: กรณีของ กฤชสุดา ถือว่าหนักที่สุด เพราะมีการควบคุมตัวนานเกิน 7 วัน อีกทั้งยังมีสื่อสามารถจับภาพขณะที่เจ้าหน้าที่ทำการจับกุมได้ กรณีของกฤชสุดาน่าสนใจ เนื่องจากจริงอยู่ที่เธอเป็นนักเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักที่กองทัพต้องการตัว เหตุใดจึงต้องควบคุมนานเกินกว่า 7 วันด้วย ซึ่งทางญาติของเธอก็ได้เข้ามาติดต่อกับทาง Human Right Watch ทีมงานของเราก็ออกไปตามหาตามเรือนจำต่างๆ ที่กองทัพมักจะนำคนไปฝากขังก็ไม่เจอ แสดงว่าไม่มีการส่งฟ้อง เมื่อถามไปกับกองทัพก็ได้คำตอบแค่ว่าปลอดภัยดี แต่ไม่ยอมให้ข้อมูลกับหน่วยงานใดๆ ถึงแม้ทุกวันนี้กฤชสุดาได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการทำงาน (Due Process) ของกองทัพ และนำไปสู่คำถามที่ว่า ยังมีคนอย่างกฤชสุดาอีกกี่คนที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เพราะหากไม่มีนักข่าวสามารถถ่ายภาพเธอได้ในวันนั้น เธออาจจะยังหายสาบสูญอยู่ก็ได้ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การที่กฤชสุดาออกมาบอกว่า เธอเป็นคนที่ขออยู่ต่อเองหลังจากครบกำหนด 7 วัน โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัย ทาง Human Right Watch จึงอยากจะคุยกับกฤชสุดามากว่าอะไรเป็นเหตุให้เธอหวาดกลัวขนาดนั้น จนถึงขั้นยอมละทิ้งอิสรภาพ

นอกจากกรณีของกฤชสุดาแล้ว การจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงทั้งสิ้น หลังจากที่กองทัพออกแถลงการณ์มาว่า การกระทำใดๆ อันเป็นการต่อต้านกองทัพไม่สามารถทำได้ ก็เริ่มมีการจับกุมผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากการจับกุมซึ่งหน้า ณ จุดที่ชุมนุม จนกลายเป็นการตามไปจับนอกสถานที่ชุมนุม ซึ่งทางกองทัพใช้คำว่า “ปรับทัศนคติ” อีกทั้ง ยังมีการนำประชาชนขึ้นศาลทหารอีกด้วย ถึงแม้จะให้รอลงอาญา แต่ก็ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการนำตัวพลเมืองขึ้นศาลทหาร และมีการตัดสินโทษด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่สามารถทำได้

ประชาไท:  บทบาทการทำงานของ Human Right Watch ต่อการรัฐประหารในครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง

สุณัย: จริงๆ แล้วก็มิได้มีอะไรเป็นพิเศษ เราแค่ทำเหมือนมาตรฐานที่ผ่านมา คือเรายืนหยัดอยู่บนหลักการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนที่เชื่อว่า คนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะรวยหรือจน คนเมืองหรือชนบท ซึ่งเราออกมาตั้งคำถามในประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ กปปส. รวมถึงต่อต้านการขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เราออกมาทุกครั้งที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเราก็ยืนอยู่บนหลักการนี้มาโดยตลอดอย่างไม่มีการลำเอียงใดๆ ซึ่งเราก็ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เราพยายามชี้ให้เห็นว่าการกระทำใดคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่กองทัพก็มักจะตอบกลับมาว่า มันเป็นข้อจำกัดของเขา แต่เราถือว่ามันคือการละเมิด

กองทัพในครั้งนี้ค่อนข้างจะอ่อนไหวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะมันกระทบต่อภาพลักษณ์ในเวทีนานาชาติ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เขาใช้เกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชนในการปรับระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กองทัพจึงยังไม่ได้สั่งปิดหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนมากนัก แต่ใช้วิธีการแถลงข่าวตอบโต้แทน เราจึงยังพอที่จะทำงานได้ท่ามกลางแรงกดดันที่มีเข้ามาตลอดเวลา และในบรรยากาศแบบนี้เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจึงควรจะออกมาแสดงท่าทีได้แล้ว

 

ประชาไท: ปฏิกิริยาของต่างชาติในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนส่งผลต่อการทำงานของกองทัพอย่างไร

สุณัย: จะเห็นได้ว่าในตอนนี้ต่างชาติยังทำแค่ลดระดับความสัมพันธ์ และระงับความช่วยเหลือในบางด้าน เพื่อแสดงออกว่าไม่พอใจกับกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เรายังไม่เห็นภาพการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบในพม่า เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวจะกินเวลายาวนานหลายทศวรรษ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะทางกองทัพก็ออกมากำหนดเงื่อนเวลาชัดเจนว่าจะใช้เวลา 15 เดือน ซึ่งประกาศตรงนี้ก็ช่วยลดความตึงเครียดกับนานาชาติลงได้พอสมควร แต่ก็ต้องดูต่อไปอีกว่าธรรมนูญชั่วคราวที่จะออกมา จะเป็นการวางรากฐานอำนาจให้กองทัพสามารถอยู่ในอำนาจต่อหลังจาก 15 เดือนนี้หรือเปล่า

ประชาไท:  รู้สึกแปลกใจไหมที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนไม่ออกมาเคลื่อนไหวมากเท่าที่ควร

สุณัย:  ไม่แปลกใจ แต่ผิดหวัง เพราะองค์กรเหล่านี้ก็โดนสั่งห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกองทัพอยู่แล้ว หรือแม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งก็เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า พวกเขายอมรับอำนาจของกองทัพ และละทิ้งหลักการของตัวเองหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง เช่น องค์กรสิ่งแวดล้อมที่ไม่ออกมาสนับสนุนกลุ่มต่อต้านเหมืองแร่เมืองเลย ซึ่งถูกกดดันจนเงียบลงไปมากหลังการรัฐประหาร หรือกลุ่มที่ทำงานด้านสาธารณสุขที่ปกติจะเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งมากเมื่อมีการปรับโครงสร้างสาธารณสุขของประเทศ แต่ครั้งนี้กลับแผ่วๆ กับการที่ คสช. ประกาศจะยกเลิกโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านเก้าบาตร ก็ไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มใดเลย ทั้งๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิของคนในชุมชนอย่างชัดเจน แนวคิดเรื่องการจัดการตนเองก็ต้องหยุดชะงัก แต่เหล่าองค์กรที่เรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจก็นิ่งเฉย ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะสิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนท้องถิ่นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน มันเหมือนกับว่าตอนนี้ประเทศกำลังถูกปกคลุมไปด้วยบรรยากาศแห่งความกลัว จริงอยู่ว่ากลุ่มเหล่านี้ในบางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง จนกองทัพอ้างว่าจะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหาทางออกร่วมกัน แต่นี่คือการไปหยุดกระบวนการทุกอย่าง แล้วก็ตัดสินใจเองแทนเขา โดยที่ไม่มีใครกล้าแย้ง ซึ่งผมแปลกใจมาก เพราะกองทัพก็ยังไม่ได้มีท่าทีในการใช้ความรุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งมีการใช้อาวุธสงครามสังหารประชาชนอย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีกลุ่มที่ออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ในครั้งนี้กลับเงียบกันหมดซึ่งมันทำให้การเก็บข้อมูลทำได้ยากมาก จึงน่าสนใจว่าพวกเขากลัวอะไรกันอยู่

ประชาไท:  หลังจากการรัฐประหาร มีคนที่โดนจับในข้อหาคดี 112 เยอะมาก จนถึงตอนนี้ 16 คนแล้ว ทาง Human Right Watch มีความเห็นอย่างไรบ้าง

สุณัย:  มันทำให้เราเห็นถึงแนวโน้มใหม่ของกองทัพ เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะโดนคดี 112 มาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้ว แต่ก็มาเร่งรัดกันในช่วงรัฐประหาร ซึ่งทางเราก็เห็นถึงปัญหาในประเด็นนี้มานานแล้ว ในเรื่องของความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาคดี สิทธิในการประกันตัวที่ขัดต่อหลักการสากล

ประชาไท:  คุณสุณัยเคยให้สัมภาษณ์ว่า ทักษิณใช้ล็อบบี้ยิสต์ในการทำให้สหรัฐฯ เชิญตัวไปอธิบายสถานการณ์รัฐประหารในประเทศไทย อยากให้ช่วยขยายความประเด็นนี้หน่อย

สุณัย: เป็นการลงข่าวที่ไม่มีบริบทใดๆ เลย ผมไม่ได้บอกว่าทักษิณคนเดียวที่ใช้ล็อบบี้ยิสต์ ใครๆ ก็ใช้กันทั้งนั้น ทั้งกองทัพ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย เพียงแค่ล็อบบี้ยิสต์ของทักษิณเขาเก่งกว่า ใจถึงกว่า เพราะค่าตัวสูงกว่า ทักษิณก็เลยถูกเชิญไป ล็อบบี้ยิสต์ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย มันเป็นสิ่งจำเป็นด้วยซ้ำในการเมืองระหว่างประเทศ และทุกอย่างก็ทำภายใต้กรอบกฎหมายสามารถตรวจสอบได้

ประชาไท:  คิดว่าปัญหาของการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ณ ขณะนี้คืออะไร

สุณัย:  ผมว่าเรื่องสำคัญที่สุดคือ เรื่องทัศนคติของคนทั่วไป NGO ถูกคาดหวังจากสังคมให้ต้องสังกัดฝ่ายการเมืองใดการเมืองหนึ่ง และไม่สามารถแย้งได้ เคยมีเหมือนกันที่ NGO ออกมาแย้งฝ่ายที่ตัวเองเคยเชียร์ ผลสุดท้ายคือ โดนด่าจากทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อเป็นเช่นนี้การทำงานของ NGO จะลำบากมาก เพราะพวกเราทำงานโดยยืนอยู่บนหลักการที่เป็นกลาง เราวิพากษ์วิจารณ์ทุกฝ่ายที่ทำผิดไปจากหลักการของเรา เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพเช่นนี้ การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนก็จะยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ เพราะอำนาจทุกอย่างถูกรวบไว้กับกองทัพ และไม่มีใครสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ยิ่งการรวมอำนาจมีมากขึ้นเท่าไหร่ แนวโน้มที่รัฐบาลจะคืนอำนาจสู่ประชาชนก็จะน้อยลงเท่านั้น การปกครองประเทศด้วยความกลัวเช่นนี้ มันไม่ใช่การสลายสีเสื้อเหมือนที่กองทัพพยายามพูด แต่มันคือการปิดปากประชาชน

ประชาไท:  คิดอย่างไรกับกลุ่ม NGO ที่ออกมาสนับสนุนกองทัพ

สุณัย:  ผมคิดว่า มันเป็นภาพสะท้อนของอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องการกระจายอำนาจ กลุ่มเหล่านี้เริ่มไม่เห็นด้วยกับกระบวนการประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงที่ กปปส. ชุมนุมแล้ว รวมไปถึงเชื่อในแนวคิดคนไม่เท่ากันด้วย มันน่าสนใจว่า อะไรที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนความคิด อาจเป็นเพราะแนวคิดเรื่องคนเท่ากันยังไม่เคยเป็นที่พูดถึงมากนักในประวัติศาสตร์การถกเถียงทางการเมืองไทย

 

หมายเหตุ: ภายหลังการสัมภาษณ์ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้มีแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษย์ชนไทยออกมาด้วยเนื้อหาดังนี้ 
 

*******************

ประเทศไทย: รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้อำนาจอย่างกว้างขวาง
ผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับความคุ้มครองจากการรับผิด

(นิวยอร์ก 24 กรกฎาคม 2557) – ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองของไทยควรแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศใช้ และให้อำนาจกับพวกตนอย่างกว้างขวาง โดยปราศจากการต้องรับผิด หรือมาตรการสำหรับป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน 


เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งมี 48 มาตรา และได้รับการลงพระปรมาภิไธยโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อนึ่ง คณะที่ปรึกษาของคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ขึ้นโดยปราศจากการหารือใดๆ กับสาธารณะ 

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า "รัฐธรรมนูญชั่วคราวพยายามให้ความชอบธรรมทางกฎหมายกับอำนาจที่กว้างขวาง และปราศจากการต้องรับผิดของคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครอง" "แทนที่จะปูทางไปสู้การฟื้นฟูประชาธิปไตย คณะทหารกลับให้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบแก่พวกตนในการที่แทบจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่างตามต้องการ ซึ่งรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ต้องรับผิด" 

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีเนื้อหาที่อ่อนมากเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และยังอนุญาตให้ คสช. สามารถดำเนินนโยบาย และมาตรการต่างๆ โดยปราศจากการตรวจสอบควบคุมที่มีประสิทธิภาพเพือป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นก็ไม่ต้องมีการรับผิดใดๆ ทั้งนี้ ถึงแม้มาตรา 4 จะให้การยอมรับอย่างกว้างๆ ต่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพตามประเพณีประชาธิปไตย และพันธะกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย แต่ คสช.มีอำนาจตามมาตรา 44 และ 47 ในการจำกัด ระงับ หรือยับยั้งการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 

มาตรา 44 ให้อำนาจอย่างกว้างขวางต่อ คสช.ในการออกคำสั่ง และดำเนินการต่างๆ ตามที่เห็นสมควรได้ ไม่ว่าจะมีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไรก็ตาม กล่าวคือ "ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคี และความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายใน หรือภายนอกราชอาณาจักร" ให้หัวหน้า คสช. มีอํานาจ "สั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่ง หรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว ... ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด" อย่างไรก็ตาม อำนาจที่กว้างขวางเช่นนี้ไม่มีการตรวจสอบควบคุมจากฝ่ายตุลาการ หรือสถาบันอื่นใด หัวหน้า คสช. เพียงแค่ต้องรายงานการดําเนินการดังกล่าวให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีทราบหลังจากนั้นเท่านั้น 

มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้การกระทำทั้งหลายของสมาชิก คสช. และผู้ที่กระทำการในนาม คสช. ซึ่งรวมถึงการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม "พ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง" ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าววว่า ถึงแม้จะมีบทบัญญัติตามมาตรานี้ แต่กฏหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรับรองสิทธิในการได้รับการเยียวยาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกำหนดให้รัฐบาลต้องสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 6, 30 และ 32 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้สร้างระบบการเมืองแบบปิด และไม่เป็นประชาธิปไตย โดย คสช.เป็นผู้คัดเลือกบุคคลเป็นเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีข้อกำหนดให้ต้องทำการหารือใดๆ กับสาธารณะ หรือต้องผ่านการทำประชามติ ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้นมีหน้าที่ศึกษา และเสนอแนะเพื่อให้เกิดการสร้างความเป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรม และการปฏิรูปในด้านต่างๆ 

มาตรา 8 และ 33 กำหนดข้อห้ามอย่างกว้างๆ ไม่ให้ผู้ที่ดํารงตําแหน่ง หรือเคยดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาสามารถเป็นมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีข้อห้ามไม่ให้สมาชิก คสช. ทหาร ตำรวจ และข้าราชการอื่นๆ ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ข้อกำหนดเช่นนี้เปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์จะรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะที่ยังคงมีฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ถ้าหากเขาประสงค์ที่จะทำเช่นนั้น

ตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เก็บบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นโดยคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครอง คสช. ซึ่งประกอบด้วยเหล่าทัพต่างๆ และตำรวจได้ปิดกั้นการแสดงออกอย่างกว้างขวาง ควบคุมตัวบุคคลต่างๆ มากกว่า 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการตั้งข้อหาความผิด ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ และออกคำสั่งที่มีลักษณะกดขี่ข่มเหงต่อนักกิจกรรม และกลุ่มรากหญ้า มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย โดยระบุว่า ประกาศ หรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติทั้งหมดของ คสช. ตั้งแต่ที่มีการยึด และควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน "ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด"

แบรด อดัมส์ กล่าวว่า "คำกล่าวอ้างของ คสช.ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง และการปกครองโดยพลเรือนนั้นเป็นฉากบังหน้าให้คณะทหารควบคุมอำนาจต่อไป" "โดยการกระชับอำนาจการควบคุมมากขึ้น บรรดานายพลกำลังทำผิดคำสัญญาที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อเผด็จการ"


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net