Skip to main content
sharethis

แม้ว่าโจโค วิโดโด นักการเมืองสายบริหารผู้มีพื้นเพติดดินจะถูกประกาศให้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว แต่คู่แข่งคือปราโบโว สุเบียนโต อดีตทหารระดับสูงคนสนิทของ 'ซูฮาร์โต' ยังคงเดินหน้ากล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง จึงขอนำเสนอเกร็ดประวัติของทั้งสองคนรวมถึงข้อมูลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้


หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในอินโดนีเซียที่เพิ่งมีการประกาศผลคะแนนในช่วงวันที่ 22-23 ก.ค. ที่ผ่านมา อินโดนีเซียก็เดินทางมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง เนื่องจากในการขับเคี่ยวกันระหว่าง โจโค วิโดโด นักการเมืองผู้มีพื้นเพติดดินซึ่งสามารถสร้างผลงานได้อย่างมากก่อนหน้านี้ สังกัดพรรคพีดีไอพีกับปราโบโว สุเบียนโต นักการเมืองผู้เคยมีตำแหน่งทางการทหารและมีพื้นเพเกี่ยวโยงกับชนชั้นนำ สังกัดพรรคเกรินดรา

ก่อนหน้าการนับคะแนนมีการสำรวจที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้คือโจโค วิโดโด ทำให้ปราโบโวซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามไม่พอใจและเริ่มแสดงท่าทีไปในเชิงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง
ปราโบโวแสดงออกอย่างชัดเจนในวันที่ 22 ก.ค. ซึ่งเป็นวันประกาศผลคะแนนวันแรก เขากล่าวหาว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมี "การโกงกันในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ"

ปราโบโวกล่าวหาอีกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินโดนีเซียบกพร่องในหน้าที่ อย่างไรก็ตามเขาได้ประกาศถอนตัวจากการเลือกตั้งซึ่งทำให้เขาไม่สามารถฟ้องร้องเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียได้ นอกจากนี้การถอนตัวจากการเลือกตั้งประธานาธิบดียังถือว่าผิดกฎหมายในอินโดนีเซียซึ่งมีบทลงโทษจำคุก 6 ปี และปรับเป็นจำนวนเงิน 100,000 ล้านรูเปียห์ (ราว 270 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งอินโดนีเซียหลายแหล่งระบุตรงกันข้ามกับข้อกล่าวหา โดยบอกว่าการเลือกตั้งในอินโดนีเซียโดยทั่วไปมีความอิสระและเป็นไปอย่างยุติธรรม เช่นมาสวาดี รอฟ จากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียกล่าวว่าไม่มีสิ่งที่ส่อเค้าของการโกงการเลือกตั้งครั้งนี้เลย

หลังจากการถอนตัวของปราโบโว ทำให้ผู้สังเกตการณ์ของพรรคเกรินดราถอนตัวออกจากการเข้าร่วมพิธีการประกาศผลอย่างเป็นทางการด้วย

การประกาศผลการเลือกตั้งถูกเลื่อนเวลาออกไป 4 ชั่วโมงจากเวลาเดิม ผลเป็นไปตามคาดคือวิโดโดได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 70.99 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 53.15 ทางด้านปราโบโวได้รับคะแนนเสียง 62.57 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 46.85 ซึ่งเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งอิสระภายในอินโดนีเซียก่อนหน้านี้แล้ว ในครั้งนี้ถือว่ามีคะแนนเสียงใกล้เคียงกันที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของอินโดนีเซีย โดยในครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 69.58

หลังประกาศผลแล้วฝ่ายปราโบโวยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าพวกเขาไม่เชื่อถือผลการนับคะแนนของ กกต. อินโดนีเซีย แต่เชื่อการนับคะแนนของพรรคพีเคเอส ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายเดียวกับปราโบโวและเป็นพรรคการเมืองที่เคยมีเรื่องอื้อฉาวอย่างหนัก อย่างไรก็ตามทางด้านโจโค วิโดโด ยังคงกล่าวชื่นชมปราโบโวต่อสื่อหลังการประกาศผลแล้ว

"ผมเชื่อว่าคุณปราโบโวเป็นรัฐบุรุษผู้ที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่เหนือเรื่องอื่น" วิโดโดกล่าว

อย่างไรก็ตามวิโดโดคิดว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใสที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2548 เนื่องจากมีอาสาสมัครและผู้สังเกตการณ์สามารถตรวจสอบผลได้ แม้ว่าอาจจะมีข้อผิดพลาดในเรื่องกระบวนการนับคะแนนอยู่บ้าง

วิโดโดถือเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนแรกที่ไม่ได้มีประวัติมาจากกองทัพหรือจากชนชั้นนำทางการเมือง นักวิจารณ์การเมืองที่ชื่อซาลิม ซาอิด บอกว่า วิโดโดเป็นนักการเมืองที่เป็นเสมือน "คนที่เป็นเพื่อนบ้าน" สำหรับชาวอินโดนีเซีย

ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ แสดงความยินดีต่อผู้นำอินโดนีเซียคนใหม่ผ่านทวิตเตอร์ ขณะที่โทนี แอบบอตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวถึงการที่วิโดโดได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งว่าถือเป็นพัฒนาการสำคัญของประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย

ทางฝ่ายปราโบโวยังคงไม่ลดละ ในคืนวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาถึงขั้นจ้างหมอผีมาทำพิธีก่อนที่ปราโบโวจะแจ้งความเรื่องผลการเลือกตั้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยหมอผีที่ทำพิธีชื่อซูเรียว บูโวโน เปิดเผยว่าพวกเขาทำพิธีเพื่อขอร้องให้วิญญาณของอดีตผู้นำและคนในประวัติศาสตร์ชาติอินโดนีเซียช่วยเหลือให้ปราโบโวได้รับชัยชนะ

เรื่องนี้ทำให้ดูชัดเจนยิ่งขึ้นว่าปราโบโวพยายามแสดงออกถึงความเป็นตัวแทนของสิ่งที่เก่าและดั้งเดิม ขณะที่โจโค วิโดโด แสดงออกถึงความเป็นสมัยใหม่และได้รับความชื่นชมจากต่างชาติที่คิดเห็นไปในทางนี้


โจโค วิโดโด นักสร้างเมืองผู้มีพื้นเพติดดิน

โจโค วิโดโด มีชื่อเล่นที่มักจะเรียกย่อๆ ว่า โจโควี เป็นผู้มีประวัติได้รับการยกย่องทางการเมืองอย่างมากในอินโดนีเซีย เขาเคยเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองสุระการ์ตา (ชาวอินโดนีเซีย มักจะเรียกว่า "โซโล") และต่อมาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาในปี 2555

โจโควี ถูกมองว่าเขาเป็นภาพแทนที่แสดงให้เห็นว่าชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่นิยมผู้นำที่มี "ความใหม่" และ "ความสะอาด" มากกว่าผู้นำการเมือง "แบบเก่า" แม้ว่าในตอนนี้เขาจะอายุมากกว่า 50 ปีแล้ว

โจโควี มีเชื้อสายเป็นชาวชวาซึ่งเป็นเชื้อสายที่มีประชากรมากที่สุดในอินโดนีเซีย เขามีชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบากทางการเงิน ต้องทำงานพร้อมกับเรียนไปด้วยตั้งแต่ชั้นประถมเพื่อนำเงินมาซื้ออุปกรณ์การเรียนและเป็นเงินค่าขนมของตนเอง เขาเริ่มช่วยงานร้านเฟอร์นิเจอร์ของพ่อตั้งแต่อายุ 12 ปี

สื่ออินโดนีเซียระบุถึงวัยเด็กของโจโควีว่า เขามีประสบการณ์ที่ครอบครัวถูกไล่ที่ถึง 3 ครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อแนวความคิดของเขาเมื่อได้ตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีซูราการ์ตาในแง่ของการจัดการที่อยู่อาศัยในเมือง

โจโควี ยังได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการใช้งานของไม้ในขณะที่เขาศึกษาในคณะวนศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกัดจามาดา โดยมีผลงานวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

เขามีผลงานมากมายขณะที่ได้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองซูราการ์ตา ทั้งเรื่องการสร้างศูนย์ประชุมและจัดนิทรรศการ เรื่องสวัสดิการสุขภาพ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและขนส่งมวลชน การส่งเสริมสื่อท้องถิ่น การส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยการสร้างแบรนด์ให้เมืองว่า "โซโล จิตวิญญาณแห่งชวา" โดยผู้สนับสนุนโจโควีบอกว่าพวกเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงทางบวกอย่างมากเกิดขึ้นกับเมืองซูราการ์ตาในช่วงที่โจโควีเป็นนายกเทศมนตรี

แม้ว่าโจโควีจะไม่อ่อนข้อต่อนักลงทุนที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการของเขา แต่บุคลิกลักษณะแบบ "ทำได้" ของโจโควีทำให้เขามีลักษณะของนักประชานิยมที่สร้างความสัมพันธ์กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก และส่งผลต่อตัวเขาในอีกไม่กี่ปีถัดมา

โจโควียังเคยได้รับรางวัลและการจัดอันดับจากสื่อต่างๆ เช่น นิตยสาร 'เทมโพ' ในอินโดนีเซียจัดให้เขาติด 1 ใน 10 นายกเทศมนตรีดีเด่นประจำปี 2551 ถูกจัดเป็นหนึ่งในผู้นำนักคิดของโลกประจำปี 2556 โดยนิตยสาร Foreign Policy  อีกทั้งยังเคยได้รับรางวัลจากประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโนเมื่อปี 2554

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวเขาเล็กน้อยในแง่ที่เป็นคอเพลงร็อก โดยสื่อ The Economist ระบุว่าโจโควีเป็นคนชื่นชอบ "เพลงร็อกเสียงดังๆ" มาก เขาเป็นแฟนเพลงวงดนตรีอย่าง เมทัลลิกา, แลมป์ ออฟ ก็อด และเล็ด เซปเปลิน อีกทั้งยังมีเครื่องดนตรีเบสที่มีลายเซ็นของสมาชิกวงเมทัลลิกาด้วย

โจโควีลงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2557 ในสังกัดพรรคพีดีไอพี ซึ่งมีชื่อเต็มว่า "พรรคประชาธิปไตยการต่อสู้" ซึ่งมีผู้นำพรรคคือเมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี ผู้เคยเป็นประธานาธิบดีในช่วงปี 2544-2547 แต่ในคราวนี้พยายามวางตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากนัก พรรคพีดีไอพียังมีอุดมการณ์ของพรรคตามแนวหลักปัญจศีลา แต่ก็วางตัวเป็นพรรคสายเสรีนิยมกลางๆ


ปราโบโว สุเบียนโต ผู้เคยพ่ายแพ้ศึกชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ

ปราโบโว สุเบียนโต เป็นทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง และอดีตทหารยศพลโทของกองทัพอินโดนีเซีย เขาเป็นลูกของซุมิโตร โยโจฮาดิกุสุโม นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงของอินโดนีเซีย

ปราโบโวมีปู่ชื่อมาร์กาโนเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารเนการาอินโดนีเซีย เป็นผู้นำคนแรกของสภาที่ปรึกษาเฉพาะกาล และคณะกรรมการเพื่อการเตรียมการสู่เอกราชของอินโดนีเซีย ปราโบโวยังเคยแต่งงานกับลูกสาวคนหนึ่งของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตด้วย

หลังจากที่เขาเรียนจบจากวิทยาลัยในกรุงลอนดอนช่วงปี 2509-2511 สุมิโตร บิดาของปราโบโวก็ส่งเสริมให้เขาเข้าเรียนโรงเรียนทหาร โดยที่ปราโบโวมีต้นแบบในดวงใจคือ 'อตาเติร์ก' เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี กลุ่มเพื่อนและคนรู้จักกล่าวถึงปราโบโวว่าเขาเป็นคนที่เก่งในเรื่องกลอุบายและมีความ "กระหายอำนาจทางการเมือง"

ปราโบโวจบจากโรงเรียนทหารในปี 2517 พร้อมกับคนอื่นๆ ที่ต่อมากลายได้รับตำแหน่งผู้นำอินโดนีเซียเช่น ซุซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน

ปราโบโวเคยมีบทบาทในหน่วยพิเศษ 'คอมปาสซัส' ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยคอมมานโดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ติมอร์ตะวันออก เขาเคยนำทัพเข้าจับกุมรองประธานกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติมอร์ตะวันออกแต่ก็ยิงเป้าหมายจนเสียชีวิต

ด้วยความที่เขามีความใกล้ชิดกับซูอาร์โต ปราโบโวยังเคยมีอิทธิพลในการปิดปากสื่อและนักวิจารณ์ทางการเมือง ในช่วงราวปี 2533 โดยอาศัยของชายผู้เป็นเศรษฐีชื่อฮาชิม เป็นผู้ร่วมมือด้วย

นอกจากนี้ปราโบโวยังมีบทบาทในปฏิบัติการทหารอื่นๆ อีก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้กำลังกับกลุ่มต่อต้านในท้องถิ่นจนกระทั่งในปี 2541 เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการหน่วยยุทธศาสตร์กองหนุนที่ชื่อ 'คอนสตราด' ซึ่งเป็นหน่วยทหารสำคัญที่อดีตผู้นำซูฮาร์โตเคยเป็นผู้บัญชาการมาก่อน หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ "กบฏเดือนพฤษภาฯ 2541"

ในช่วงนั้นปราโบโวยังได้ท่าทีแบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนาอย่างโจ่งแจ้งในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและมีความไม่พอใจผู้นำซูฮาร์โตเพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชนช่วงปี 2541 ปราโบโวก็เป็นผู้นำออกมาเรียกร้องให้ชาวมุสลิมในอินโดนีเซียร่วมต่อสู้กับ "ผู้ทรยศต่อชาติ" โดยกล่าวหาว่าคนเชื้อสายจีนในอินโดนีเซียและผู้นับถือศาสนาคริสต์เป็นผู้ที่พยายามล้มล้างผู้นำซูฮาร์โต ซึ่งเป็นกลอุบายในการสร้างสถานการณ์โกลาหลและให้ร้ายฝ่ายตรงข้าม

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนมากเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการต่อสู้กันเองภายในของกลุ่มชนชั้นนำในวงการทหารเพื่อสืบทอดอำนาจจากซูฮาร์โตระหว่างผู้นำทหารระดับสูงสองคนคือปราโบโวและนายพลวิรานโต โดยหลังจากซูฮาร์โตลงจากตำแหน่งก็มีการแต่งตั้งให้บีเจ ฮาบีบี ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน ปราโบโวพยายามเรียกร้องให้ฮาบีบีมอบตำแหน่งผู้นำกองทัพแก่เขาแทนวิรานโต แต่ฮาบีบีไม่ยอมรับและสั่งลดตำแหน่งปราโบโวแทน

ในช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์ "กบฏเดือนพฤษภาฯ 2541" ไม่กี่เดือน กองกำลังในหน่วยของปราโบโวยังได้ลักพาตัวและทรมานนักกิจกรรมสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างน้อย 9 ราย ในเวลาต่อมาเขายอมรับต่อหน่วยสืบสวนของกองทัพว่าได้มีการลักพาตัวนักกิจกรรมจริง จนถูกปลดออกจากหน่วยทหาร

เมื่อปราโบโวคิดลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2557 หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าปราโบโวมีคุณสมบัติเพียงพอหรือไม่เนื่องจากเขาเคยถูกปลดจากการเป็นทหารในข้อหา "ตีความคำสั่งผิดพลาด" ในปี 2541

ปราโบโวยังมีอิทธิพลในด้านเศรษฐกิจ เขาและครอบครัวมีหุ้นในบริษัทด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ เขาเคยมีปัญหาขัดแย้งเรื่องใบอนุญาตกับบรรษัทเหมืองแร่เชอร์ชิลของชาวอังกฤษ มีการพยายามฟ้องร้องแต่ก็ไม่เป็นผล และบรรษัทเชอร์ชิลยังฟ้องกลับเรียกค่าชดเชยซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดี

ในช่วงระหว่างปี 2547 เป็นต้นมาปราโบโวยังเข้าไปมีบทบาทในกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอ เช่นกลุ่มสมาคมชาวนาอินโดนีเซียซึ่งเขาถูกเลือกให้เป็นประธาน 2 ครั้ง เขายังเคยถูกเลือกให้เป็นประธานสมาคมผู้ค้าตลาดสดเมื่อปี 2551 อีกทั้งยังเคยเป็นประธานสมาคมกีฬาปันจักสีลัต ซึ่งเป็นศิลปะป้องกันตัวประจำชาติอินโดนีเซียถึง 3 สมัย

ปราโบโวเคยลงสมัครเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับเมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี ในการเลือกตั้งปี 2553 แต่ก็พ่ายแพ้ต่อพรรคเดโมแครตซึ่งนำโดยซุซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปราโบโวสังกัดพรรคเกรินดรา หรือ "พรรคขบวนการอินโดนีเซียอันเกรียงไกร" ซึ่งมีนโยบายเน้นสร้างความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและอธิปไตยของอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยีงมีเป้าหมาย "ปฏิรูป" ประเทศโดยนำแนวทางรัฐธรรมนูญปี 2498 มาใช้เพราะกลัวว่าอินโดนีเซียกำลังกลายเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยมากเกินไป และเชื่อว่าอินโดนีเซียกำลังต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม นโยบายของพรรคเกรินดราในด้านอื่นๆ ดูจะเน้นไปที่การพัฒนาและค่อนข้างให้สิทธิในด้านต่างๆ เช่นเสรีภาพในการนับถือศาสนาและสิทธิสตรี แต่นโยบายในด้านสิทธิมนุษยชนยังระบุไว้ค่อนข้างวกวนและพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นโดยอ้างว่าพลเมืองของประเทศต้องมีความเคารพต่อ "สิทธิของรัฐ" เสียก่อน ฝ่ายรัฐจะเคารพต่อสิทธิของประชาชนตามกฎหมาย

 


เรียบเรียงจาก

Prabowo Subianto 'withdraws' from Indonesian presidential election on day vote was to be declared , Sydney Morning Herald, 22-07-2014
http://www.smh.com.au/world/prabowo-subianto-withdraws-from-indonesian-presidential-election-on-day-vote-was-to-be-declared-20140722-zvte5.html#ixzz38bdWUoQb

Jokowi praises Prabowo, Jakarta Post, 22-07-2014
http://www.thejakartapost.com/news/2014/07/22/jokowi-praises-prabowo.html

Shamans perform rituals while Prabowo files report at MK, Jakarta Post, 27-07-2014
http://www.thejakartapost.com/news/2014/07/27/shamans-perform-rituals-while-prabowo-files-report-mk.html

http://en.wikipedia.org/wiki/Joko_Widodo
http://en.wikipedia.org/wiki/Indonesian_presidential_election,_2014
http://en.wikipedia.org/wiki/Prosperous_Justice_Party
http://en.wikipedia.org/wiki/Prabowo_Subianto
http://en.wikipedia.org/wiki/Indonesian_Democratic_Party_%E2%80%93_Struggle
http://en.wikipedia.org/wiki/Great_Indonesia_Movement_Party

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net