Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 

 

 
1. การกล่าวโทษของ ก.ล.ต.
 
1.1 การกล่าวโทษครั้งที่หนึ่ง[1]
 
30 กรกฎาคม 2556 นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของเหมืองทองคำจังหวัดเลยตามสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำแปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ถูกกล่าวโทษโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จากความไม่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ THL ที่มิได้ดูแลจัดการให้ THL ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ต้องนำส่ง (1) งบการเงินไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2555 (2) งบการเงินไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2555 (3) งบการเงินประจำงวดการบัญชีประจำปี 2555 (4) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2555 (แบบ56-1) และ (5) รายงานประจำปี 2555 (แบบ 56-2) ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด จึงต้องรับโทษเช่นเดียวกับบริษัท 
 
ถึงแม้ว่าในระหว่างพิจารณาคดี THL จะนำส่ง (1) งบการเงินไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2556 (2) งบการเงินไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2556 (3) งบการเงินประจำงวดการบัญชี ประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2556 (4) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2555 (แบบ 56-1) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 และ (5) รายงานประจำปี 2555 (แบบ 56-2) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการตลาดทุนประกาศกำหนดใหม่ก็ตาม ก็ยังส่งผลให้ต้องรับโทษเช่นเดิม กล่าวคือ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 (THL) และจำเลยที่ 2 (นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล) มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 56 , 274 วรรคหนึ่ง ประกอบ 199 วรรคสอง เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษกรณีงบการเงินไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2555 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท รวม 313 วัน เป็นเงินคนละ 62,600 บาท กรณีงบการเงินไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2555 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท รวม 206 วัน เป็นเงินคนละ 41,200 บาท กรณีงบการเงินประจำงวดการบัญชี ประจำปี 2555 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท รวม 175 วัน เป็นเงินคนละ 35,000 บาท กรณีแบบแสดงรายการข้อมูล ประจำปี 2555 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท รวม 193 วัน เป็นเงินคนละ 38,600 บาท และกรณีรายงานประจำปี 2555 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท รวม 168 วัน เป็นเงินคนละ 33,600 รวมปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงินคนละ 311,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 155,500 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 โดยให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี
 
1.2 การกล่าวโทษครั้งที่สอง[2]
 
19 กันยายน 2556 นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ THL ถูกกล่าวโทษจาก ก.ล.ต. อีกครั้ง จากการที่มิได้ดูแลจัดการให้ THL ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ต้องนำส่ง (1) งบการเงินไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2556 และ (2) งบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2556 ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด จึงต้องรับโทษเช่นเดียวกับบริษัท 
 
ในการพิจารณาคดีวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 (THL) มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 56, 274 วรรคหนึ่ง, 199 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 (นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล) มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 56, 274 วรรคหนึ่ง, 199 วรรคสอง, และ 300 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันไม่จัดทำและส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2556 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท นับแต่วันฝ่าฝืนจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 363 วัน เป็นเงินคนละ 72,600 บาท ฐานร่วมกันไม่จัดทำและส่งงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2556 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท นับแต่วันฝ่าฝืนจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 273 วัน เป็นเงินคนละ 54,600 บาท รวมปรับจำเลยทั้งสองถึงวันฟ้องเป็นเงินคนละ 167,200 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 83,600 บาท และคงปรับรายวัน คนละวันละ 100 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้จัดทำและส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1 และที่ 2 ประจำปี 2556 หากไม่ชำระค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 สำหรับจำเลยที่ 2 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 หากกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 1 ปี 
 
ซึ่งไม่มีรายงานในหน้าเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ได้นำส่ง (1) งบการเงินไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2556 และ (2) งบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2556 ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดใหม่หรือไม่ อย่างไร
 
1.3 การกล่าวโทษครั้งที่สาม[3]
 
16 มิถุนายน 2557 นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ซึ่งรับผิดชอบเป็นกรรมการผู้จัดการ THL เช่นเดิม มิได้ดูแลจัดการให้ THL ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ต้องนำส่ง (1) งบการเงินประจำรอบปีบัญชีประจำปี 2556 และ (2) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2556 (แบบ56-1) ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด จึงต้องรับโทษเช่นเดียวกับบริษัท 
 
การพิจารณาคดีครั้งนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการของพนักงานสอบสวน และไม่มีรายงานในหน้าเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ได้นำส่ง (1) งบการเงินประจำรอบปีบัญชีประจำปี 2556 และ (2) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2556 (แบบ56-1) ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดใหม่หรือไม่ อย่างไร
 
 
2. ข้อกฎหมายของ ก.ล.ต.
 
ตามกฎหมายหลักทรัพย์ หรือ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ หรือพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ถูกกล่าวโทษตามมาตรา 300 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษผู้บริหารนิติบุคคลที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ดังนี้ “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตาม มาตรา 268 มาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 มาตรา 273 มาตรา 274 มาตรา 279 มาตรา 280 มาตรา 281 มาตรา 284 มาตรา 286 มาตรา 290 มาตรา 292 มาตรา 296 มาตรา 297 มาตรา 298 หรือมาตรา 299 เป็นนิติบุคคล ถ้าพิสูจน์ได้ว่าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการ การกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้ใดผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย”
 
สำหรับ THL ถูกกล่าวโทษตามมาตรา 56 และมาตรา 199 วรรคสอง ซึ่งมาตรา 56 เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน โดย
 
“ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตาม มาตรา 32 มาตรา 33 หรือมาตรา 34 จัดทำและส่งงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัทต่อสำนักงานดังต่อไปนี้
 
            (1) งบการเงินรายไตรมาสที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว
            (2) งบการเงินประจำงวดการบัญชีที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว
            (3) รายงานประจำปี
            (4) รายงานการเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับบริษัทตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
 
งบการเงินและรายงานตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด การกำหนดดังกล่าวให้คำนึงถึงมาตรฐานที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชีได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้วด้วย”
 
มาตรา 199 ทั้งมาตรา กำหนดไว้ว่า
 
“ให้นำความใน มาตรา 51 มาตรา 52 มาตรา 53 และมาตรา 55 รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับแก่การโอนและการจัดทำทะเบียนหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียนอันมิใช่ตั๋วเงินโดยอนุโลม
 
ให้นำความใน มาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 59 มาตรา 61 และมาตรา 62 รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้อง มาใช้บังคับแก่การเปิดเผยข้อมูลและผู้สอบบัญชีของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียนอันมิใช่พันธบัตรที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือหลักทรัพย์อื่นใดตามที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์กำหนดโดยอนุโลม แต่ในกรณีที่บริษัทดังกล่าวได้จัดทำและส่งรายงานการเปิดเผยข้อมูลต่อสำนักงานตาม มาตรา 56 ไว้แล้ว บริษัทจะส่งสำเนารายงานข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ก็ได้
 
ในกรณีที่บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้ถือว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ หรือคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แล้วแต่กรณี”
           
โดยจำเลยทั้งสองมีบทกำหนดโทษบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ผู้บริหารและผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยข้อมูลและการชี้แจงเพิ่มเติมตามมาตรา 274 คือ
 
“บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 56 มาตรา 57 หรือ มาตรา 58 (1) หรือ (3) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทใดไม่มาชี้แจงตามมาตรา 58 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
 
 
3. คำถาม
 
ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดในกฎหมายหลักทรัพย์ที่ระบุว่าการกล่าวโทษเช่นนี้จะมีได้กี่ครั้งถึงจะสิ้นสุด และเมื่อถูกพิจารณาคดีตามการกล่าวโทษกี่ครั้งจึงถือว่าผู้บริหารหมดความสามารถในการบริหารจัดการบริษัท หรือถ้าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่รับโทษเองให้ถือว่าบริษัทควรถูกปลดออกจากตลาดหลักทรัพย์ได้
 
คำถามที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมา เมื่อนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ไล่ทุบตี จับมัดมือไพล่หลังและกักขังชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในเขตตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จนถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสหลายราย ด้วยการใช้กองกำลังอำพรางใบหน้าจำนวน 300 คน พร้อมอาวุธครบมือ ทั้งท่อนเหล็ก มีด และปืน โดยการนำของ พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และลูกชาย คือพันโทปรมินทร์ ป้อมนาค เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 เพื่อขนแร่เถื่อน ซึ่งเป็นแร่ทองแดงผสมทองคำและเงิน 300 ตัน นั้น ก.ล.ต. จะสามารถกล่าวโทษต่อพฤติกรรมป่าเถื่อนของ THL เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไปได้อย่างไร.
 

[1] เนื้อหาในหัวข้อนี้คัดลอกจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เข้าถึงข้อมูลได้ที่ http://capital.sec.or.th/webapp/enforce/criminalquerythai_p2.php?trans_date=2013-07-30&offender_thai_name=&content_id=5&query_type= เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557
โดยผู้เขียนได้นำเนื้อหาที่คัดลอกมาเรียบเรียงและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่
[2] เนื้อหาในหัวข้อนี้คัดลอกจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เข้าถึงข้อมูลได้ที่ http://capital.sec.or.th/webapp/enforce/criminalquerythai_p2.php?trans_date=2013-09-19&offender_thai_name=&content_id=5&query_type= เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557
โดยผู้เขียนได้นำเนื้อหาที่คัดลอกมาเรียบเรียงและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่
[3] เนื้อหาในหัวข้อนี้คัดลอกจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เข้าถึงข้อมูลได้ที่ http://capital.sec.or.th/webapp/enforce/criminalquerythai_p2.php?trans_date=2014-06-16&offender_thai_name=&content_id=5&query_type= เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557
โดยผู้เขียนได้นำเนื้อหาที่คัดลอกมาเรียบเรียงและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net