Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ เป็นคำที่พูดถึงกันมากในระยะเวลานี้ โดยเฉพาะในกระแสของกลุ่มคนที่เชื่อว่า ประชาธิปไตยที่เหมาะสมที่สุดคือประชาธิปไตยที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนไทย เพื่อคนไทย คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมประชาธิปไตยที่เป็นหลักสากลกลับถูกตั้งคำถามโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง

ประชาธิปไตยคือการปกครองที่ประชนทั้งหลายเป็นเเจ้าของอำนาจในการปกครองประเทศ ประชาธิปไตยจึงจำกัดความหมายได้ว่าเป็นการที่ประชาชนทั้งหลายปกครองตนเอง ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม สิ่งนี้เองที่เป็นการขัดต่อหลักความเชื่อของชาวตะวันออก ประวัติศาสตร์ของทางตะวันออกนั้นแสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่า บุคคลเพียงคนเดียวเป็นผู้ปกครองคนทั้งหลาย ความเชื่อนี้ผูกโยงอย่างแนบแน่นกับทั้งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในส่วนนี้ของโลก ดังนั้น เมื่อประชาธิปไตยซึ่งมีนิยามอันสุดโต่งจากหลักความเชื่อเดิมเผยแพร่เข้ามา ความกังขาจึงเกิดขึ้น

ประเทศทางตะวันออกคงไม่สามารถปฏิเสธประชาธิปไตยได้ ด้วยเหตุที่ประชาธิปไตยเป็นกระแสหลักของโลก แล้วจะทำเช่นไรที่จะรักษาความเชื่อที่ถูกสั่นคลอนไว้ ? การจะทำเช่นนั้นคงมีเพียงสองทางเลือก คือยอมรับกระแสแห่งประชาธิปไตย แล้วปรับตัวให้เข้ากับมัน หรืออีกทางหนึ่ง นำความเชื่อของตน มาห่มด้วยผ้าคลุมของประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่พูดถึงหลักความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมกันของคนในสังคม และสิทธิมนุษยชนซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์ทั้งหลายมาตั้งแต่เกิด ดังนั้น เมื่อประชาธิปไตยไหลเข้าสู่สังคมที่เชิดชูความไม่เท่าเทียมกัน เชื่อว่าคนบางกลุ่มเกิดมาโดยมีบางสิ่งมากกว่า ซึ่งล้วนแต่ขัดต่อหลักการแห่งประชาธิปไตย เพื่อรักษาแนวคิดดั้งเดิมไว้จึงมีการนำเอาหลักการดังกล่าวไปหุ้มห่มไว้ด้วยประชาธิปไตย และนำมาแสดงออกในฐานะประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง การหุ้มห่มทำโดยการปลูกฝังทางสังคม ผ่านความเชื่อทางศาสนา และความดีงาม โดยเชิดชูผู้ที่ตนเชื่อว่าดี(ไม่ว่าจะจริงหรือไม่) ให้อยู่เหนือผู้อื่น ปลูกฝังความเชื่อที่ให้คนทั้งหลายยอมตนให้อยู่ภายใต้ความอาวุโส และสอนว่าการตั้งคำถามต่อผู้ที่ผู้อาวุโสกว่า หรือต่อความเชื่อดั้งเดิมเป็นสิ่งที่ผิด รวมถึงให้ยอมรับว่าผู้ที่มีอาวุโส่อมสามารถปกครองผู้อื่นได้ดีกว่า หรือแม้กระทั่งการสร้างระบบอุปถัมภ์อันแข็งแรงเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในารเลือกตั้ง แนวคิดที่ได้รับการปลูกฝังซึ่งแทบจะขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับความเชื่อพื้นฐานของประชาธิปไตยนั้นกลับถูกนำไปรองไว้ในฐานะรากฐานของประชาธิปไตย(ไทย) จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาธิปไตยในความฝันของหลาย ๆ คนไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงในประเทศไทย

หากมีผู้ตั้งคำถามในลักษณะนี้เช่นเดียวกับผู้เขียนแล้ว คำถามที่จะตามมาคือแล้วท่านจะทำลายวัฒนธรรมอันแสนสวยงาม(?)ของไทยหรือ หรือท่านคิดว่าวัฒนธรรมตะวันตกดีงามกว่าวัฒนธรรมของบ้านเกิดเมืองนอน หรือท่านไม่รักชาติรักแผ่นดิน ? ในทัศนะของผูเขียน การยึดถือแนวทาวประชาธิปไตยมิใช่การไม่เคารพและคิดทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของไทย การยอมรับว่สทุกคนเท่าเทียมกันไม่ใช้การสอนสั่งให้ผู้น้อยไม่เคารพผู้ใหญ่ เพียงแต่การเชื่อในความเท่าเทียมกันจะเปิดโอกาสให้ผู้น้อยสามารถสอบถามข้อสงสัยที่ตนมีต่อผู้ใหญ่ได้โดยไม่ต้องเกรงโทษ ผู้เขียนเชื่อว่าความเคารพกันย่อมเกิดขึ้นได้เมื่อเชื่อในตัวหรือแนวคิดของผู้อื่นโดยปราศจากข้อสงสัย แต่สิ่งนั้นต้องเกิดจากความสมัครใจ มิใช่ปราศจากคำถามเพราะไม่สามารถถามได้เนื่องจากข้อกำหนดทางวัฒนธรรม

การยอมรับประชาธิปไตยของชาติตะวันตกมิใช่การคลั่งต่างชาติจนทำลายรากเหง้าของตน แต่เรายอมรับประชาธิปไตยในฐานหลักสากลที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาอย่างเท่าเทียมกัน ที่สำคัญการนำความเชื่อสองความเชื่อมาห่มคลุมกันภายใต้หน้ากากของประชาธิปไตย มีแต่จะทำให้ประชาธิปไตยเสื่อมโทรมลง และแปลเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ ว่าเป็นประชาธิปอะไร

ทางออกที่(อาจจะ)ดีที่สุดคือการยอมรับในหลักการพื้นฐานง่ายๆ ว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงหลักการที่ยอมรับว่า คนทุกคนเท่ากัน ไม่ใช่ในทางรายได้ ความคิด หรือแม้กระทั่งความเป็นคน แต่เราต่างเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ ที่ไม่สามารถไปบงการชีวิตใครได้ และต้องอยู่ร่วมกันภายใต้กติกากลางของสังคม และในฐานะของความเท่าเทียมดังกล่าว เราทุกคนต่างต้องเข้าใจความรับผิดชอบของเราที่มีต่อสังคม ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งที่มีส่วนผลักดันสังคมให้เป็นเช่นทุกวันนี้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net