Skip to main content
sharethis

เราอาจจะเคยเห็นวัฒนธรรมรักๆ ใคร่ๆ จากละครเกาหลีใต้ แต่ในประเทศเผด็จการจัดและถูกมองว่าจำกัดสิทธิผู้คนอย่างมากอย่างเกาหลีเหนือล่ะ 'จีมินคัง' ชาวเกาหลีเหนืออพยพได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับการออกเดทและชีวิตรักท่ามกลางบรรยากาศ 'อนุรักษนิยมจัด' ของประเทศที่บีบให้คนมองกระทั่งคู่รักของตนเองว่าเป็น 'สหายผู้ร่วมปฏิวัติ'

 

23 เม.ย. 2557 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาสำนักข่าวเดอะการ์เดียน นำเสนอรายงานเกี่ยวกับ 'วัฒนธรรมการเดท' ในประเทศเกาหลีเหนือผ่านการสัมภาษณ์ชาวเกาหลีเหนือที่อพยพออกจากประเทศ

รายงานระบุว่ารัฐเกาหลีเหนือมักจะพยายามปลูกฝังเรื่องความสัมพันธ์แก่ชาวเกาหลีเหนือในแง่ "ความรักในสหายผู้ร่วมปฏิวัติ" มากกว่าเรื่องความรักหนุ่มสาว แต่ชาวเกาหลีเหนือพยายามปฏิเสธแนวคิดนี้

จีมินคัง ผู้ให้สัมภาษณ์ชาวเกาหลีเหนือเล่าว่าขณะที่เขาอาศัยอยู่ในกรุงเปียงยาง เขาไม่มีอิสระในการเดินทางไปยังที่อื่นและไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือจะสามารถกีดกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานไปได้ แต่ก็ไม่สามารถกีดกันเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ได้

ผู้ให้สัมภาษณ์ชาวเกาหลีเหนือยังได้เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่เขาอายุ 20-30 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคืองหลังเกิดภัยแล้งทำให้ชายแดนเกาหลีเหนือเริ่มมีช่องโหว่เปิดช่องให้กับวัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปในประเทศได้ ด้วยบรรยากาศแบบนี้ทำให้คนในเกาหลีเหนือไม่ยึดติดอยู่กับธรรมเนียมแบบอนุรักษนิยมจัดเช่นในอดีตในเวลาที่มีการเกี้ยวพาราสีกัน แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่ชอบใจเท่าไหร่

"ขณะที่รัฐบาลเกาหลีเหนือต้องการให้ประชาชนมองคนรักของตนว่าเป็น 'สหายผู้ร่วมปฏิวัติ' ความจริงคือความรู้สึกแบบนี้ไม่เคยมีอยู่จริงในหมู่พวกเรา พวกเราแค่แสร้งทำเพราะพวกเราถูกบังคับ" จีมินคังกล่าว เขาบอกอีกว่าทัศนคติแบบอนุรักษนิยมเรื่องนี้ในเกาหลีเหนือเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถเข้าใจและไม่สามารถถอดความหมายออกมาได้ทำให้พวกเขาต้องยอมรับเพราะถูกบังคับเท่านั้น

มีคำถามว่าเวลาชาวเกาหลีเหนือเริ่มต้นเจอคนรักของตนได้อย่างไร จีมินคังเล่าประสบการณ์ของตนซึ่งดูคล้ายประสบการณ์ของวัยรุ่นในที่อื่นๆ ของโลก เรียนโรงเรียนเดียวกัน มีความไร้เดียงสาและความทุ่มเทให้กับความรักมาก แม้ว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ฝ่ายหญิงเข้าไปทำงานเป็นทหารทำให้ต้องจากกัน

จีมินคัง เล่าถึงประสบการณ์ความรักในครั้งที่สองว่า ได้รู้จักกันผ่านเพื่อน เขาแปลกใจที่ฝ่ายหญิงเป็นคนจีบเขาก่อน เขาไม่เสียดายเมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตและรักคนรักคนที่สองมาก

"ในช่วงที่เรียนอยู่ไฮสคูล ผมเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวมาก เพื่อนผมแล้วก็ผมเองมักจะพาคนรักไปเดทกันในสวนสาธารณะเวลาที่ข้างนอกมืดสนิท นักเรียนไฮสคูลไม่ได้รับอนุญาตให้เดทกันอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ในบรรยากาศแบบนี้พวกเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องแอบพบกันหลังต้นไม้หรือหลังตึกในช่วงกลางดึก หรือพบกันเวลาจัดงานร่วมกับหลายๆ คนเช่นงานวันเกิด" จีมินคังกล่าว

อย่างไรก็ตาม จีมินคังกล่าวว่าพอหลังจากออกจากโรงเรียนแล้ว ชาวเกาหลีเหนือก็คบกับคนรักได้อย่างเปิดเผยขึ้น มีการพากันไปเดทตามโรงละคร สวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งที่ม้านั่งในลานสาธารณะต่อหน้าอนุสาวรีย์ของคิมอิลซุง

จีมินคังเล่าอีกว่าหนุ่มสาวชาวเกาหลีเหนือมักจะพบเจอกันที่สมาคม โดยจะมีงานสังสรรค์ใหญ่ๆ กันหลายที่รวมถึงที่จัตุรัสคิมอิลซุง ผู้คนพากันแต่งตัวดีๆ และรู้สึกตื่นเต้นกับงาน รวมถึงอาจมีการแลกเปลี่ยนเบอร์โทรกันระหว่างคู่ที่ชอบพอกัน

แต่ในเกาหลีเหนือก็มีปัญหาหนึ่งคือการต้องไปเข้ารับราชการทหารซึ่งกินเวลานานมาก ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่สามารถออกเดทได้เป็นเวลา 10 ปีหลังจากจบไฮสคูลแล้วเนื่องจากการเกณฑ์ทหารนี้ คนที่เข้าไปเป็นทหารมีโอกาสได้เจอผู้หญิงน้อยมาก ทำให้หลังจากออกราชการทหารแล้วผู้ชายจำนวนมากต้องแต่งงานกับคนที่พ่อแม่หามาให้ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งให้สามีชาวเกาหลีเหนือมักจะปฏิบัติห้วนๆ และไม่ใส่ใจภรรยา

จีมินคังเป็นชาวเกาหลีเหนือที่อพยพออกจากเปียงยางมาเมื่อปี 2548 เขาบอกอีกว่าถึงแม้ช่องทางที่ทำให้คนต่างประเทศรู้จักชีวิตในเกาหลีเหนือมีอยู่น้อยมาก แต่เขาก็อยากให้รู้ว่าผู้คนในเกาหลีเหนือใช้ชีวิตประจำวันแบบเดียวกับคนทั่วไปในประเทศอื่นๆ

"พวกเขามีความรัก พวกเขาแต่งงาน พวกเขามีลูก พวกเขาเคารพบิดามารดาตัวเอง แล้วพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท้องถิ่นที่พวกเขาอยู่" จีมินคังกล่าว

"วิถีชีวิตของขาวเกาหลีเหนือไม่ได้ต่างจากของพวกคุณนัก" จีมินคังกล่าว "พวกเขาแค่ไม่ได้รับเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน"

 

 


เรียบเรียงจาก

Dating, North Korean style, The Guardian, 22-04-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/apr/22/dating-north-korean-style

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net