Skip to main content
sharethis

23 เม.ย. 2557 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (23 เม.ย. 57) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบร่างประกาศประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1710-1722.5 MHz/1805-1817.5 MHz และ 1748-1760.5 MHz/1843-1855.5 MHz พ.ศ. .... และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 MHz พร้อมทั้งเห็นชอบแนวทางการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับ และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

สำหรับร่างประกาศทั้งสองฉบับเป็นร่างประกาศสำคัญที่จะครอบคลุมถึงการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ทั้งหมด โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 25 MHz  ตั้งแต่รูปแบบการประมูล การกำหนดคลื่นความถี่ที่จะให้อนุญาตออกเป็น 2 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2x12.5 MHz กำหนดจำนวนใบอนุญาตเป็น 2 ใบอนุญาต ด้วยราคาเริ่มต้นในการประมูลคลื่น 11,600 ล้านบาทสำหรับหนึ่งชุดคลื่นความถี่ หลักการกำหนดราคาเริ่มต้นในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz รวมถึงระยะเวลาการอนุญาต ข้อกำหนดความครอบคลุมโครงข่าย และการยกเลิกการประมูลกรณีมีผู้เข้าร่วมการประมูลน้อยกว่า หรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต

นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และคณะทำงานสนับสนุนภารกิจเพื่อเตรียมความพร้อมในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 2 คณะ ได้แก่

คณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และคณะทำงานกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบอันเกิดจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz โดยคณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz มีพันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค เป็นประธานอนุกรรมการ มี กทค. เลขาธิการ กสทช. รองเลขาธิการ กสทช. ภารกิจโทรคมนาคม พร้อมผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายแก้วสรร อติโพธิ ดร. สงขลา วิชัยขัทคะ นายเชิดชัย ขันธ์นะภา ร่วมเป็นอนุกรรมการ อำนาจหน้าที่ของอนุกรรมการชุดนี้ได้แก่ การศึกษา วิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทย เสนอแนะหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่าน 1800 MHz และสรุปข้อสนเทศ (Information Memorandum) ศึกษากฎหมาย ระเบียบด้านโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับการประมูล เสนอแนะแนวทางการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ แนะแนวทางการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และอื่นๆ

สำหรับคณะทำงานสนับสนุนภารกิจเพื่อเตรียมความพร้อมในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 2 คณะ คณะแรกได้แก่ คณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งมีนายแก้วสรร อติโพธิ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มีอำนาจหน้าที่ เสนอแผนประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรการเยียวยา การโอนย้ายผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการทั้งในประเภท Pre-paid และ Post-paid ต่อคณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz
และคณะที่ 2 ได้แก่ คณะทำงานกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบอันเกิดจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งมี ดร. สงขลา วิชัยขัทคะ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มีอำนาจหน้าที่ เสนอความเห็นเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายภายหลังการสิ้นสุดสัมปทาน ศึกษาข้อกฎหมายเรื่องสิทธิในการให้บริการสาธารณะหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบอันเกิดจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดยครอบคลุมถึงการกำหนดหลักการสำหรับการโอนย้ายผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการทั้งในประเภท Pre-paid และ Post-paid ศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz และต้องรายงานผลการดำเนินการให้คณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ทราบเป็นระยะ รวมถึงปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และ กทค. มอบหมาย

นายฐากร กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช. วันนี้ (23 เม.ย. 57) ที่ประชุม กสทช. อนุมัติในหลักการให้เปิดประชุม กสทช. วาระพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยเรื่องการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช. ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) แล้ว กำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเพื่อเข้าการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ซึ่งเมื่อผ่านจากพิจารณาก็จะเข้านำพิจารณาในที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษทันที หลังจากนั้นจึงจะสามารถแจ้งประชาชนได้อย่างชัดเจนในรายละเอียดการแจกจ่ายคูปองทั้งมูลค่าและขั้นตอนการแจกจ่ายให้กับประชาชน คาดว่า กสทช. จะสามารถเริ่มแจกคูปองสู่ครัวเรือนประชาชนได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อเดือนกรกฎาคม 2557 ได้ตามกำหนดเดิม
 

แจงกรณีสื่อลงข่าว กปปส.บุกถามแนวทางจัดการสถานีวิทยุโกตี๋
เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า จากเมื่อวานนี้ (22 เม.ย. 57) ที่หลวงปู่พุทธอิสระนำมวลชนมาสอบถามการดำเนินงานของ กสทช. กรณีสถานีวิทยุชุมชนหลายสถานีออกอากาศเนื้อหาหมิ่น จาบจ้วงสถาบัน เข้าข่ายกระทำผิดมาตรา 112 และปรากฏว่ามีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนบางแห่งกรณีสำนักงาน กสทช. ชี้แจงให้หลวงปู่พุทธะอิสระและมวลชนฟัง ประเด็นสำนักงาน กสทช. เข้าร่วมกับตำรวจกองปราบปรามซึ่งนำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมหมายศาลไปดำเนินคดีกับสถานีวิทยุของนายโกตี๋ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีกองกำลังติดอาวุธมาขวางนั้น

ข้อเท็จจริงคือ สำนักงาน กสทช. ไม่ได้ชี้แจงด้วยข้อความดังกล่าว แต่ได้ชี้แจงไปว่า สำนักงาน กสทช. เข้าร่วมกับตำรวจกองปราบปรามเดินทางไปดำเนินคดีกับสถานีวิทยุของนายโกตี๋ แต่ได้มีการนำมวลชนมาปิดล้อมเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินคดีกับสถานีดังกล่าวได้ เจ้าหน้าที่จึงเดินทางกลับ ทั้งนี้เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ไม่มีกองกำลังที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้

เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง สำนักงานฯ ขอเรียนว่า สำนักงาน กสทช. ได้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย ขึ้นเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2557 เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมบันทึกเก็บเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 112 หรือกรณีหมิ่นประมาท หรือโฆษณาเกินจริง โฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงเผยแพร่โฆษณาที่ไม่ได้ผ่านการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  สำนักงาน กสทช. จะเป็นศูนย์กลางจัดส่งข้อมูลที่รวบรวมเป็นรายงานประสานต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวต่อไป  ในขั้นตอนของปฏิบัติกรณีสถานีวิทยุหรือสถานีโทรทัศน์กระทำผิดมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อ กสทช. ได้รับแจ้งเบาะแสการออกอากาศเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมายมาตรา 112 จากประชาชน สำนักงานฯ จะให้ศูนย์ตรวจสอบเฝ้าฟังของสำนักงาน กสทช. หรือศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมายของสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตรวจสอบ จากนั้นสำนักงาน กสทช. จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากเรื่องนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ สตช. กรณีผิดกฎหมายอาหารและยาจะส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 

ส่วนกรณีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และพ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งอยู่ในอำนาจของสำนักงาน กสทช. ตามกฎหมาย เมื่อสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบแล้ว พบว่ากระทำความผิดจริง สำนักงานฯ จะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษไปยัง สตช. เพื่อให้ดำเนินคดีกับสถานีดังกล่าว และกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. สำนักงานฯ สามารถลงโทษทางปกครองได้ตั้งแต่ ปรับทางปกครอง พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net