พรรคการเมืองเสนอ กกต.จัดเลือกตั้งให้ไว-อภิสิทธิ์งดร่วม หวั่นไม่ปลอดภัย

58 พรรคร่วมหารือ กกต.เรื่องวันเลือกตั้ง โดยเสนอให้จัดเลือกตั้งให้เร็วที่สุดเพื่อรักษาระบอบ ปชต. ด้าน 'พุทธะอิสระ' พาคนมาค้าน ขอไม่ไปเลือกตั้งจนกว่าจะปฏิรูป ส่วนอภิสิทธิ์เขียนใบลา ไม่มาเพราะหวั่นความปลอดภัย 'สมชัย' ไม่รับปากเลือกตั้งแล้วจะเปิดสภาได้ทันทีหรือไม่

22 เม.ย. 2557 - ตามที่ กกต. นัดหารือพรรคการเมืองเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ในเวลา 14.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยจะมี 58 พรรคการเมืองเข้าร่วม และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่ได้ลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ก็จะเข้าร่วมด้วย โดยขอให้ทุกพรรคที่มาประชุมอย่าทะเลาะกัน ช่วยกันหาคำตอบให้ประเทศนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

อภิสิทธิ์แจ้ง กกต. ขอยกเลิกเข้าร่วมประชุมเพราะเกรงเรื่องความปลอดภัย

ล่าสุด เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ ที่ ปชป. 57900867 ลงวันที่ 22 เม.ย. เรื่อง "การประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้แทนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง" เรียนประธาน กกต. อ้างถึง หนังสือด่วนที่สุดที่ ลต.0401/ว739 ลงวันที่ 10 เม.ย. 57 มีเนื้อหาระบุว่า

"ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ตอบรับการเข้าร่วมประชุมหารือพรรคการเมืองเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ตามหนังสือเชิญของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น ต่อมามีข้อมูลในเชิงลึกว่า อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการประชุมดังกล่าว และหลังจากได้หารือเป็นการภายในกับคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว และมีความเห็นร่วมกันว่า การเข้าร่วมประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจริง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้แทน จึงไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ในกระบวนการพิจารณา ประเด็นการกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป โดยพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นในเบื้องต้นว่า วันเลือกตั้งที่เหมาะสมจะกำหนดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ทุกฝ่ายได้ร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์ของบ้านเมือง อันจะเป็นหลักประกันว่า การจัดการเลือกตั้ง จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประสบความสำเร็จ เสรี สุจริต และเที่ยงธรรม ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันที่จะมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ และฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการดังกล่าว

ในการนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ขอความอนุเคราะห์จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้โปรดจัดส่งรายงาน การหารือและแสดงความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในวันนี้ให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อประกอบการพิจารณาการให้ความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อไป ขอแสดงความนับถือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์"

ทั้งนี้ในเฟซบุ๊คของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการโพสต์ภาพจดหมายดังกล่าวด้วย พร้อมพิมพ์ข้อความว่า "คงต้องหาโอกาสอื่นต่อไป จะไม่ลดละความพยายามครับ"

 

กกต. ยืนยันไม่มีการถ่ายทอดสดเพราะจะทำให้คุมการประชุมลำบาก-เกิดการฟ้องร้อง

ขณะเดียวกันก่อนการประชุม สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงว่าที่ประชุมมีมติไม่อนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดการหารือดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมาการนัดหารือระหว่าง กกต. กับหัวหน้าหรือผู้แทนจากพรรคการเมืองไม่เคยให้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ การถ่ายทอดสดอาจทำให้การควบคุมการประชุมเป็นไปอย่างยากลำบาก และในการประชุมฝ่ายต่างๆ อาจมีการโต้แย้งด้วยอารมณ์ และคำพูดที่หากมีการเผยแพร่ไปแล้วอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีอาญาได้ ทั้งนี้ กกต.ได้อนุญาตให้สื่่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังได้ตลอดการประชุม

ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัย สำนักงาน กกต.ได้ประสานหน่วยงานความมั่นคง ทหารและตำรวจ นำโดยกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ให้ช่วยดูแลความเรียบร้อย โดยในการเข้าพื้นที่อาคาร เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบบุคคลเข้าออก และตรวจค้นไม่ให้มีการพกพาอาวุธอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการก่อเหตุร้าย

 

พุทธะอิสระพามวลชนแจ้งวัฒนะมาติดป้ายไม่ไปเลือกตั้งจนกว่าจะปฏิรูป

ในเวลาต่อมา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า ก่อนเริ่มการประชุมในเวลา 14.00 น. มีเหตุผู้ชุมนุม กปปส. ฝ่าย "พุทธะอิสระ" ได้นำมวลชนเคลื่อนมาจาก ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อมาคัดค้านการประชุมระหว่าง กกต.และผู้แทนพรรคการเมือง โดยนำป้ายผ้าคำว่า "คนไทยจะไม่ไปเลือกตั้งจนกว่าจะปฏิรูป" มามอบให้กับ กกต. ซึ่งมีนายภุชงค์ นุตตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เป็นผู้แทนรับมอบ

โดยพระพุทธะอิสระ กล่าวว่า กกต.ต้องนำป้ายผ้าดังกล่าวไปติดตั้งภายในห้องประชุม มิเช่นนั้นจะไม่เคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ ขณะเดียวกัน กกต.ได้นำป้ายผ้าดังกล่าวติดภายในห้องประชุมแล้ว เพื่อให้มวลชนเคลื่อนกลับ และเพื่อให้การประชุมสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ขณะที่นายภุชงค์ เปิดเผยว่าพรรคประชาธิปัตย์ยกเลิกไม่เข้าร่วมประชุมแล้ว เนื่องจากเกรงในเรื่องปัญหาความปลอดภัย ส่วนตัวแทนพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทยและพรรครักษ์สันติ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งรูปแบบการพูดคุยนั้น กกต.จะเปิดโอกาสให้แต่ละพรรคได้สะท้อนความคิดเห็นเพียงพรรคละ 1 นาทีครึ่ง พร้อมทั้งแบ่งช่วงเวลาให้ฝ่ายที่เห็นควรจัดการเลือกตั้งและฝ่ายที่ต้องการให้ชะลอการเลือกตั้ง แสดงความคิดเห็นฝ่ายละ 30 นาที ก่อนนำความเห็นจากทุกพรรคการเมืองไปหารือให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง

 

พรรคการเมืองส่วนใหญ่สนับสนุนให้รีบเลือกตั้ง 'สมชัย' ไม่รับปากจัดเลือกตั้งแล้วจะเปิดสภาได้หรือไม่

ส่วนบรรยากาศการประชุมนั้น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ได้กล่าวเปิดการประชุม ว่า ผลการหารือจะเป็นทางออกของปัญหา และจะตอบโจทย์ประเทศได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ กกต. ได้เสนอแนวทางจัดการเลือกตั้ง 3 แนวทางคือ

แนวทางที่ 1 กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 20 กรกฎาคม แนวทางที่ 2 กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 17 สิงหาคม และแนวทางที่ 3 กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 กันยายน 2557

จากนั้นตัวแทนพรรคการเมืองได้เริ่มการอภิปรายและแสดงความคิดเห็น โดยนายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นด้วยที่จะให้จัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 20 กรกฎาคม และควรจัดเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย พร้อมเรียกร้องให้ กกต. วางแนวทางแก้ไขปัญหาการขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้ง ส่วนตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่น ๆ แสดงความเห็น พร้อมจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และเห็นด้วยกับแนวทางจัดการเลือกตั้งของ กกต. แต่ขอให้ กกต. มีหลักประกันว่า การเลือกตั้งตามแนวทางดังกล่าว จะสำเร็จและไม่มีเหตุให้การเลือกตั้งต้องขัดรัฐธรรมนูญอีก

ด้านตัวแทนพรรคการเมืองขนาดเล็ก เสนอให้จัดเลือกตั้งวันที่ 25 มิถุนายน 2557 และขอให้ กกต. กำหนดสถานที่รับสมัครโดยใช้เป็นสถานที่ของกองทัพ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ยืนยันว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญในประเด็มเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อย่างแน่นอน เพราะ กกต. ได้วางกลไกการรับสมัครให้ทุกเขตมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหากเขตเลือกตั้งใดมีปัญหาเรื่องการขัดขวางการลงคะแนนเลือกตั้ง กกต. จะจัดการเลือกตั้งซ้ำในเขตดังกล่าวในกรอบเวลา 180 วัน แต่ทั้งนี้ กกต. ไม่สามารถยืนยันได้ว่า หลังการเลือกตั้งจะมีจำนวน ส.ส. ครบร้อยละ 95 เพื่อให้เปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ เนื่องจากการประกาศจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ กกต. ต้องคำนวนคะแนนจากทุกหน่วยเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ภายหลังใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง ที่ประชุมไม่ได้มีการลงมติ โดย ประธาน กกต. ระบุว่า จะนำความเห็นและข้อเสนอจากทุกพรรคการเมือง ไปสรุปและหารือในที่ประชุม กกต. เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เหมาะสม และนำไปหารือกับรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ยอมรับว่า ส่วนใหญ่พรรคการเมืองสนับสนุนให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 กรกฎาคม 2557 ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า หากสถานการณ์สงบ ก็สามารถเลื่อนวันจัดการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท