Skip to main content
sharethis
จับตาสัญญาณอันตราย! ตัดโอที-จ่ายเงินเดือนช้า นักธุรกิจชี้โรงงาน"กลาง-ย่อย"กระทบแล้ว
 
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ร้านค้าย่อย (โชห่วย) ทั่วประเทศ เริ่มได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานผลิตสินค้าระดับล่างและโรงงานขนาดกลางและย่อย (เอสเอ็มอี) ลดเวลาทำงานจากปกติ (โอที) ลดสวัสดิการของพนักงาน และจ่ายเงินเดือนล่าช้า เพื่อลดภาระผู้ประกอบการและลดความเสี่ยงทางธุรกิจ หลังเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ซบเซา และการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมยอดขายของร้านค้าโชห่วยให้ลดลงอีก จากที่กำลังได้รับผลกระทบอยู่แล้ว จากกรณีรัฐบาลจ่ายชำระเงินค่าจำนำข้าวให้ชาวนาล่าช้าและยอดเงินที่ได้รับยังค่อนข้างน้อย และความเดือดร้อนของเกษตรกรกับสินค้าราคาเกษตรตกลง โดยเฉพาะข้าวฤดูกาลใหม่นาปรัง 2557 ราคารับซื้อต่ำเหลือแค่ตันละ 5,000 บาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนขายอย่างต่ำๆ ก็เกินตันละ 7,000-8,000 บาท และราคายางพารายังต่ำลงต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาจากภัยแล้ง ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะกระทบต่อผลผลิตที่เสียหายไปเท่าไหร่ 
 
"กังวลว่ากำลังซื้อจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานระดับล่างลดลง หรือเกิดการตกงาน ร้านค้าริมถนนจะได้รับผลกระทบเป็นด่านแรก เหมือนร้านค้าเล็กๆ ในต่างจังหวัด เริ่มเจอปัญหายอดขายลดลง ทำให้ต้องลดการสั่งซื้อสินค้าจากค้าส่ง ซึ่งยี่ปั๊วซาปั๊วอย่างเรา ก็ต้องลดการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตสินค้า ทำให้โรงงานก็ต้องลดเวลาทำงาน จ่ายเงินล่าช้า ยังไม่รวมปัญหาการเลิกจ้างและบัณฑิตใหม่ตกงาน เงินรายได้ที่จะหมุนเวียนในระบบ 3-4 รอบเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็หายไป เห็นได้จากการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ" นายสมชายกล่าว
 
นายสมชายกล่าวว่า สัญญาณเตือนภัยต่อระบบเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก คือ การแข่งขันจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย จัดรายการลด แลก แจก หรือแถมกันรุนแรงในขณะนี้ เพื่อเป็นการรักษาลูกค้าและพยุงรายได้บริษัท จึงอยากให้ปัญหาการเมืองจบลง เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะการบริโภคลดลง การท่องเที่ยวน้อยกว่าปกติ เงินฝืดเพราะคนระมัดระวังการใช้จ่ายกลัวรายได้อนาคตลดลงและตกงาน ตอนนี้ที่ดูว่าการค้าปลีกค้าส่งยังเดินได้ แต่ไม่ได้ขายได้ขายดีในทุกพื้นที่ 
 
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบภาวะการประกอบการของผู้ประกอบการธุรกิจ พบว่าภาคบริการในต่างจังหวัดมีการหดตัวบ้างแล้ว ซึ่งปัจจุบันสัดส่วน 70-80% เป็นธุรกิจต่างจังหวัด และส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานในการผลิตอยู่จำนวนมาก หากได้รับผลกระทบย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ซึ่งกรมกำลังเฝ้าติดตามและเตรียมหาแนวทางช่วยเหลือธุรกิจที่มีปัญหา โดยธุรกิจที่น่าห่วงคือธุรกิจที่ใช้แรงงานมาก เช่น การผลิตสิ่งทอ เครื่องเรือน เป็นต้น
 
(มติชนออนไลน์, 16-4-2557)
 
ก.แรงงานจัดโครงการสถานประกอบการต้นแบบด้านแรงงานสัมพันธ์ 
 
 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีมติเห็นชอบจัดทำโครงการสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานต้นแบบขึ้นเพื่อเป็นแบบอย่างและเผยแพร่แนวทางการดำเนินการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานให้แก่สถานประกอบการต่างๆ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกโดยกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้น เช่น ต้องเป็นสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเกินกว่า 10 ปีติดต่อกัน โดยคัดเลือกสถานประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเล็ก คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้และคัดเลือกสถานประกอบการดีเด่นฯในต้นปี พ.ศ. 2558
       
“หลังจากได้สถานประกอบการดีเด่นฯ คณะกรรมการจะจัดทำคู่มือเผยแพร่องค์ความรู้และกิจกรรมด้านแรงงานสัมพันธ์ของสถานประกอบการทั้งหมด รวมทั้งขอให้สถานประกอบการเหล่านี้จัดวิทยากรมาช่วยอบรมให้ความรู้แก่สถานประกอบการต่างๆ ที่ต้องการส่งเสริมด้านแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และอาจจะมีมีการเชิญสถานประกอบการต้นแบบไปจัดโรดโชว์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ให้แก่ประเทศต่างๆ ในอาเซียนด้วย” รองปลัด รง. กล่าว
       
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2556 มีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานจากกระทรวงแรงงาน 10 ปีติดต่อกัน (พ.ศ. 2547-2556) ทั้งหมด 16 แห่ง เช่น ประเภทที่มีสหภาพแรงงาน 7 แห่ง เช่น สถานประกอบการขนาดใหญ่ เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (สำนักงานใหญ่) จ.สมุทรปราการ บริษัท ไทยแอโรว์ จำกัด (โรงงานฉะเชิงเทรา) จ.ฉะเชิงเทรา สถานประกอบการขนาดกลาง เช่น บริษัท เทยินโพลีเอสเตอร์ จำกัด จ.ปทุมธานี บริษัท ลัคกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) โรงงาน 2 สมุทรปราการ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-4-2557)
 
จ่อตั้ง “กองอาเซียน” ดูแลแรงงานอาเซียน มิ.ย.ประเดิมยกร่างตราสาร
 
นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้จัดตั้ง “กองอาเซียน” ขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน โดยกองอาเซียนจะมีหน้าที่ในการจัดทำยุทธศาสตร์ นโยบายและข้อเสนอแนะ แนวทางการดำเนินงานด้านแรงงานในกรอบอาเซียน และความร่วมมือในกรอบพหุภาคีอื่นๆ รวมทั้งดำเนินการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งการกำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน ขณะเดียวกันทำหน้าที่ประสาน สนับสนุนความร่วมมือด้านแรงงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรอบอาเซียน และความร่วมมือในกรอบพหุภาคีอื่นๆ ทั้งการจัดการประชุม การเข้าร่วมประชุม จัดทำถ้อยแถลง กำกับท่าที และการเจรจาในระดับนานาชาติภายใต้กรอบดังกล่าว พร้อมทั้งทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์จัดทำเอกสารทางวิชาการ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินงานความร่วมมือในกรอบอาเซียน กรอบความร่วมมือในพหุภาคีอื่นๆ รวมถึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนกระทรวงแรงงานในคณะกรรมการด้านความร่วมมือในกรอบอาเซียน หรือกรอบความร่วมมือพหุภาคีอื่นๆ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ปลัดกระทรวงแรงงานมอบหมาย
       
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า งานแรกในเดือนมิถุนายน นี้ กระทรวงแรงงานจะเป็นเจ้าภาพจัดการการประชุมยกร่างตราสารอาเซียน เพื่อร่วมกันร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานแรงงานต่างด้าว ระดับล่าง ซึ่งจะช่วยให้ทั้งแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในไทยได้รับการคุ้มครอง ขณะเดียวกันแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศก็จะได้รับการคุ้มครองเช่นกัน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-4-2557)
 
ต่างชาติทำวุ่น! นับเด็กช่วยงานพ่อแม่เป็นการใช้แรงงาน จ่องัดประเพณีฉะกลับ
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องแนวทางความร่วมมือ เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับประเด็นการใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติฯ ได้รับข้อเสนอของกระทรวงแรงงานที่นำข้อคิดเห็นขององค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ในการเก็บข้อมูลการสำรวจการใช้แรงงานเด็กของไทยในการแยกประเภทเด็กทำงานและแรงงานเด็กให้ชัดเจน  โดยสำนักงานสถิติฯ จะดำเนินการปรับแบบสำรวจให้มีหัวข้อที่ชี้ชัดมากขึ้น รวมทั้งจะมีการนำแบบสำรวจการเก็บข้อมูลของต่างประเทศที่ใช้กันแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับมาใช้ในประเทศไทยด้วย ซึ่งสำนักงานสถิติฯมองแบบสำรวจของประเทศอินโดนีเซียไว้ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการนำแบบสำรวจใหม่มาเริ่มใช้เก็บข้อมูลเด็กทำงานในปี 2558
       
“การเก็บข้อมูลการใช้แรงงานเด็กในไทยยังเป็นปัญหา เนื่องจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เอ็นจีโอ มีการนับจำนวนแรงงานเด็กต่างจากไทย โดยนับเด็กที่ช่วยพ่อแม่ทำงานที่บ้านเป็นการใช้แรงงานเด็กด้วย ขณะที่วัฒนธรรมไทยปลูกฝังให้เด็กให้ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ซึ่งไทยเตรียมชี้แจงเรื่องศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีเอกสารชัดเจนกับนานาประเทศ เชื่อว่าหากไทยสามารถชี้แจงในเรื่องนี้ได้ สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ จะมองสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กของไทยในทางที่ดีขึ้น” รองปลัด รง. กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21-4-2557)
 
สปส.หาทางช่วยแรงงานสแตนเลย์ หวั่นขาดสิทธิประกันสังคม
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ได้เข้าหารือกับ นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.)และนายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสปส.ในเรื่องปัญหาสิทธิประกันสังคมของลูกจ้าง บริษัทสแตนเลย์ เวิร์คส์ จำกัด เนื่องจากมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างสหภาพแรงงานสแตนเลย์กับบริษัท 
 
ทางบริษัทจึงใช้สิทธิตามกฎหมายสั่งปิดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างนับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 5 เดือน แต่ระยะเวลาการขยายสิทธิประกันสังคมจะสิ้นสุดในวันที่ 25 เมษายน 2557 ซึ่งพ้นระยะเวลา 6 เดือนตามที่กฎหมายประกันสังคมกำหนดการให้สิทธิไว้ ทำให้ลูกจ้างบริษัทสแตนเล่ย์ 44 คนที่มีข้อพิพาทกับนายจ้างไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่างๆได้และส่งผลกระทบต่อชีวิตลูกจ้าง  
 
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวต่อไปว่า ได้ขอให้สปส.พิจารณาในแง่กฎหมายว่าจะสามารถออกระเบียบหรือประกาศให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็ขอให้พิจารณาว่าให้ลูกจ้างสามารถส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมเองได้หรือไม่ เพื่อจะได้สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อไปได้  
 
หากสามารถออกระเบียบรองรับได้ก็ให้ลูกจ้างส่งเงินสมทบแบบเดือนต่อเดือนเริ่มจากเดือนพฤษภาคมนี้และส่งเงินสมทบต่อเนื่องไปจนกว่าการแก้ปัญหาข้อพิพาทจะได้ข้อยุติ และได้ขอให้สปส.แจ้งผลการพิจารณาในแง่กฎหมายก่อนวันที่ 22 เมษายนนี้เพราะศาลแรงงานนัดไกล่เกลี่ยระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในวันดังกล่าว
 
ด้าน นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสปส. กล่าวว่า เลขาธิการสปส.ให้ตนไปศึกษาในแง่กฎหมายว่าจะสามารถออกประกาศหรือระเบียบเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างบริษัทสแตนเล่ย์ไม่ให้ขาดสิทธิประกันสังคมได้หรือไม่ รวมทั้งให้ไปหารือกับนายจ้างด้วย 
 
จากการหารือกับนายจ้างมีข้อกังวลในประเด็นกฎหมายคุ้มครองแรงงานในแง่ของการปิดงาน จึงขอให้สปส.พิจารณาในแง่กฎหมายว่าหากนายจ้างช่วยส่งเงินสมทบจะมีผลกระทบตามที่มีข้อกังวลหรือไม่ ซึ่งสปส.อยู่ระหว่างศึกษาในแง่กฎหมายของประกันสังคมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  จะให้ได้ข้อสรุปก่อนวันที่  25  เมษายนนี้
 
“ประเด็นปัญหาข้างต้นถือเป็นเรื่องใหม่ที่สปส.เพิ่งเคยจอเป็นครั้งแรกเพราะเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานกับกฎหมายประกันสังคม     จะต้องหาทางออกเพื่อช่วยลูกจ้างบริษัทสแตนเล่ย์ไม่ให้ขาดสิทธิประกันสังคมโดยพิจารณาในแง่กฎหมายให้รอบคอบและรัดกุม  ต่อไปในอนาคตอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมเพื่ออุดช่องโหว่ในเรื่องนี้” 
 
(มติชน, 21-4-2557)
 
ลูกจ้างโรงงานผลิตว่านกระป๋องส่งนอก ฮือประท้วงนายจ้างไม่จ่ายค่าแรง
 
(21 เม.ย.) ที่บริเวณหน้าสำนักงานฝ่ายบุคคลของโรงงานปราณบุรีสับปะรดกระป๋อง จำกัด หมู่ที่ 4 ต.หนองตาแต้ม อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีพนักงาน และลูกจ้างในส่วนของโรงงานผลิตว่านกระป๋องส่งนอกกว่า 300 คน ได้ร่วมตัวชุมนุมประท้วงนายจ้างหลังไม่ยอมจ่ายค่าแรงงานมานานเกือบ 2 เดือน จนทำให้ได้รับความเดือนร้อนอย่างหนัก และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้บริหารรายใดออกมาชี้แจงเหตุผลถึงสาเหตุที่ไม่สามารถจ่ายเงินเดือน และค่าแรงงานให้แก่พนักงาน และลูกจ้างแต่อย่างใด
       
อีกทั้งทางโรงงานก็ได้มีการปิดการผลิตว่านกระป๋องโดยไม่มีกำหนดเปิดทำงานที่แน่ชัด ทำให้พนักงาน และลูกจ้างเกิดความสับสน ประกอบกับใกล้เปิดเทอม จึงส่งผลกระทบต่อครอบครัวของพนักงาน และลูกจ้างที่ต้องแบ่งรับภาระหนี้สิน และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
       
โดยทางพนักงาน และลูกจ้างได้เรียกร้องขอให้ผู้บริหารยอมจ่ายเงินเดือนที่คงค้างไว้ภายในวันนี้ หากมีการชำระแล้วก็จะไม่ติดใจเอาความ หรือหากทางโรงงานจะมีการจ้างแรงงานออกก็ยินยอม แต่ขอให้จ่ายเงินค่าแรงก่อน
       
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชุมนุมของพนักงาน และลูกจ้างดังกล่าวจนถึงขณะนี้ (14.00 น.) นานหลายชั่วโมงแล้ว แต่ยังไม่มีผู้บริหารรายใด หรือหุ้นส่วนของโรงงานออกมาชี้แจง มีแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของโรงงานเท่านั้นที่ออกมาปฏิเสธไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้ ต้องรอฝ่ายบริหารเท่านั้น
       
นายอำนวย รักอู่ อายุ 46 ปี 49/3 หมู่ 2 ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ตนได้รับความเดือดร้อนมานานเกือบ 2 เดือน หลังจากที่โรงงานมีการผัดผ่อนการจ่ายค่าแรงมาโดยตลอด จนถึงขณะนี้ตนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายภายในครอบครัวก่อน ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง ซึ่งเราก็ทำงานมาโดยตลอด ลูกจ้างทั้งหมดในโรงงานกว่า 300 คน ยังไม่มีใครได้รับเงินค่าจ้างเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งนี้ เคยเรียกร้องไปทางสำนักงานแรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้มาตรวจสอบแต่เรื่องก็ยังเงียบหายไป ไม่มีคำตอบเช่นกัน
       
ด้านนางอารยา พุ่มพวง พนักงานอีกหนึ่งรายกล่าวว่า นอกจากได้รับผลกระทบจากค่าแรงงานแล้วตนจำเป็นต้องรักษาตัว ต้องเข้าโรงพยาบาลทุกเดือนเพื่อรักษาตัว แต่พบว่าทางโรงงานขาดส่งค่าประกันสังคม แต่มีการหักเงินประกันสังคมจากพนักงานทุกเดือน จึงเกรงจะไม่ได้รับการคุ้มครอง สร้างความเดือดร้อนเพิ่มขึ้น และจะเพิ่มภาระมากขึ้นในอนาคต
       
“อยากวิงวอนให้ผู้บริหารลงมาเจรจากับพนักงานโดยด่วน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน โดยการจราจาจะจ่ายเงินเท่าใดก่อนก็ขอให้มาพูดคุยตกลงกัน เพราะพวกเรายังไม่สามารถออกไปทำงานที่อื่นได้ นอกจากรับจ้างทั่วไปเพื่อนำเงินมาประทังชีวิตไปก่อน” นางอารยา กล่าว
       
ด้านนายสุกิจ ครุฑคง นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานแรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ในวันนี้ได้เดินทางมารับฟังปัญหาของพนักงานโรงงานดังกล่าว โดยทราบว่าลูกจ้างทั้งหมดยังไม่ได้รับค่าจ้างนานเกือบ 2 เดือน โดยล่าสุด ได้มีการประสานงานทางโทรศัพท์กับผู้บริหารโรงงานแล้วแต่ไม่สามารถติดต่อได้
        
โดยขั้นตอนต่อไปจะให้พนักงานทั้งหมดได้เขียนบันทึกคำร้องปากคำ กรณีไม่ได้รับเงินค่าแรงเพื่อรวบรวมประกอบการดำเนินการของสำนักงานแรงงานต่อไป โดยจะพยายามเร่งรัดให้โรงงานดำเนินการจ่ายค่าแรงงานที่ค้างชำระให้เร็วที่สุด แต่ถ้ายังเพิกเฉยก็จะต้องดำเนินการให้พนักงานลูกจ้างฟ้องศาลแรงงาน และแจ้งความดำเนินคดีต่อไป
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21-4-2557)
 
คนงานมิชลินปักหลักก.แรงงานต่อ หลังเจรจาไม่ได้ข้อยุติ นัดไกล่เกลี่ยอีกครั้ง 29 เม.ย.
 
เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่กระทรวงแรงงาน นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กล่าวว่า การเจรจาระหว่างตัวแทนสหภาพแรงงานบริษัทสยามมิชลิน จำกัด จ.ชลบุรี กับนายจ้างในเรื่องข้อพิพาทแรงงานเป็นครั้งที่ 8 โดยผู้แทนนายจ้างเสนออายุข้อตกลง 3 ปี เงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน เบี้ยขยัน รวม 900/1,000/1,200 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ตัวแทนสหภาพเสนออายุข้อตกลง 1 ปี โบนัส 4 เดือน บวกเงินอีก 20,000 ปรับค่าจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 และค่าเช่าบ้าน 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน จากเดิมเสนอขอโบนัส 3.3 เดือน บวกเงิน 15,000 บาท ค่าเช่าบ้าน 2,700 บาทและเบี้ยขยัน 1,500 บาท แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ จึงได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งต่อไปวันที่ 29 เมษายน เวลา 10.00 น. ที่สำนักแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนงานบริษัทสยามมิชลินหลายร้อยคนยังคงปักหลักชุมนุมเรียกร้องที่กระทรวงแรงงานต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ในเรื่องสภาพการจ้างงาน การขอเงินตอบแทนพิเศษประจำปี(โบนัส) โดยมีการเจรจามาแล้ว 7 ครั้ง โดยมีผู้นำแรงงานปราศรัยโจมตีบริษัทฯ ในเรื่องการเจรจาข้อเรียกร้อง เป็นระยะ
 
(มติชนออนไลน์, 22-4-2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net