Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย-นักวิชาการ วอนชะลอร่างฯจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ชี้ช่องโหว่กม.ขาดอิสระ-การมีส่วนร่วม ไม่ตอบโจทย์แรงงาน

21 เม.ย. 2557 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงานจัดการประชุมหารือและติดตามความคืบหน้าร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ... ณ ห้องประชุมชั้น 16 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการและแรงงานร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยในสมัชชาคนจน ที่ขอให้ระงับร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ...ที่ยังขาดการมีส่วนร่วมของแรงงาน คปก.จึงมีความเป็นห่วงว่าหากออกร่างฯดังกล่าวมาอาจไม่เป็นผลดีนัก เนื่องจากเห็นชัดว่าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทุกฝ่ายนั้นเริ่มจากเจตนาที่ดี แต่หลายประเด็นในร่างฯยังมีปัญหาและมีความสลับซับซ้อน กระทรวงแรงงานจึงควรชะลอร่างฯ ดังกล่าวไว้เพื่อให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนอีกครั้ง โดยคปก.พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้ร่างฯ ดังกล่าวสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
 
“ต้องทบทวนให้ดีทั้งในเรื่องความเป็นมาและสาระสำคัญ ไม่อยากให้จำนนกับกรอบของการเขียนกฎหมาย การมีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ จะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่ามีเพื่ออะไร ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปเพื่อช่วยงานของกรมฯ เท่านั้น กระทรวงแรงงานควรจะนำเรื่องนี้ไปทบทวนน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด” นางสุนี กล่าว 
  
นางจุฑาพนิต  บุญดีกุล ผู้อำนวยการ กลุ่มงานส่งเสริมความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าของร่างฯว่า  ได้รับการจัดสรรงบประมาณเมื่อปี 2556  จึงได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน โดยที่ผ่านมาหลายๆเรื่องได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมหารือล่าสุดกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้มีการเชิญหน่วยงานต่างๆไปให้ความเห็นอีกครั้งและขณะนี้กฤษฎีกาอยู่ระหว่างการปรับแก้ไขร่างฯ  ในส่วนของภาคเอกชนเห็นด้วยกับการตั้งเป็นองค์การมหาชน ส่วนจะชะลอหรือทบทวนร่างฯนี้หรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่า เริ่มมีการพัฒนาด้วยกรอบและด้วยกติกา เราต้องหาวิธีการที่เห็นการพัฒนาไม่อยากให้เกิดการติดขัด
 
นางจุฑาพนิต  กล่าวด้วยว่า ไม่อยากมองว่าเรื่องนี้เป็นความขัดแย้ง แม้กระทั่งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นนั้นเป็นไปตามตามมาตรา 52 ของพระราชบัญญัติความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยให้เป็นองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เพราะองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัตินี้ต้องการให้เป็นหน่วยงานอิสระที่จัดทำบริการสาธารณะ ไม่แสวงหากำไร และอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรี จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน เราเน้นการทำงานเชิงรุกตามกรอบอำนาจหน้าที่ โดยผ่านช่องทางต่างๆที่คล่องตัว ภาครัฐจึงเห็นว่าสถาบันนี้จะทำให้ภาครัฐทำงานได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น ส่วนการรับเรื่องราวร้องทุกข์อาจจะไม่สามารถระบุไว้ในร่างฯ แต่ได้จัดเตรียมแนวทางอื่นๆไว้แล้ว
 
นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคราชการยังหวงอำนาจเอาไว้ สะท้อนจากตัวแทนแรงงานมีสัดส่วนอยู่ในคณะกรรมการเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น ซึ่งรู้สึกผิดหวังมากกับกฎหมายฉบับนี้ที่ไม่ได้ทำตามความต้องการของภาคประชาชนอย่างแท้จริง จึงอยากขอกระทรวงแรงงานชะลอร่างฯนี้ออกไปก่อนโดยให้มีการรับฟังความและข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมให้รอบด้าน และเพื่อบรรจุเนื้อหาเป้าหมายหลักเข้าไปในสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ดังกล่าว
 
รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ควรชะลอกฎหมายนี้ไว้ก่อนเพื่อให้รัฐบาลหน้าดำเนินการต่อ และรณรงค์ให้มีการออกเป็นพระราชบัญญัติอย่างน้อยให้เป็นกฎหมายที่ผ่านมาสภาเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านความปลอดภัยของแรงงาน ส่วนตัวเห็นว่าหลักการทำงานอย่างเป็นอิสระของสถาบัน นั้นไม่สามารถบรรลุในความเป็นจริงได้เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณและความมั่นคงทางการเงิน สะท้อนจากงบประมาณของสถาบันที่มาจาก 3 แหล่งใหญ่ๆคือ เงินอุดหนุนจากรัฐ เงินในส่วนที่กองทุนความปลอดภัยฯจัดสรรให้ตามพ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ และการขอเงินสนับสนุนจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งจะต้องทำเป็นโครงการเสนอไปแต่ละปี ตนมีความเห็นว่า สถาบันจะต้องมีความเป็นอิสระในการทำงาน การจัดสรรงบประมาณเป็นมิติสำคัญที่จะทำให้สถาบันทำงานได้อย่างอิสระ โดยตนเห็นว่า รัฐจะต้องจัดเงินสนับสนุนให้เป็นรายปี ประกอบกับกองทุนเงินทดแทนจะต้องจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับสถาบัน 15-20%ของดอกผลที่เกิดจากดอกเบี้ยฝาก เพราะการมีสถาบันที่ทำงานเชิงป้องกันจะช่วยลดอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยในการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและการจ่ายเงินทดแทน
 
นายพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า ภาคราชการต้องการให้สถาบันนี้เป็นเพียงสถาบันส่งเสริมความรู้ และเป็นเรื่องของหน่วยราชการเท่านั้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความขัดแย้งทางความคิดระหว่างภาคราชการกับภาคแรงงาน และนอกจากจะเป็นความขัดแย้งทางความคิดแล้วยังไม่นำไปสู่ความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งคาดว่ากระทรวงแรงงานคงจะต่อสู้จนถึงที่สุด ภาคประชาสังคมเองก็คงต้องต่อสู้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงฐานคิดนี้เช่นกัน ดังนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่เห็นว่าจะมีข้อยุติได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น
 
นายโกวิทย์ บุรพธานินทร์ นักวิชาการด้านแรงงานและกรรมการมูลนิธิคม จันทรวิทุร กล่าวว่า มีข้อสังเกต 3 ประเด็นคือ 1.องค์กรที่จะจัดตั้งโดยใช้ชื่อว่าสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน นั้นเกิดข้อสงสัยว่า องค์กรดังกล่าวจะเป็นอิสระได้จริงหรือไม่ 2.ดูเหมือนเป็นความต้องการที่จะตอบสนองเรื่องกฎเกณฑ์มากกว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในเรื่องความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  3.หากพิจารณาในส่วนของโครงสร้างพบว่า หัวใจของความปลอดภัยอยู่ที่ความร่วมมือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างแต่เหตุใดจึงมีภาคราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง ฉะนั้นอยากให้ศึกษาอนุสัญญาต่างๆให้ถ้วนถี่ และที่สำคัญที่สุดคือ ควรเน้นในเรื่องการป้องกันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ที่น่าเศร้าคือกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงการป้องกัน และไม่ได้ระบุถึงความร่วมมือระหว่างลูกจ้างและนายจ้างอีกทั้งไม่ได้เอาผู้มีส่วนได้เสียทั้งนายจ้างกับลูกจ้างเข้ามาจึงประสบความล้มเหลวมาตั้งแต่ต้น
 
นายชาลี ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า  เห็นควรให้ยับยั้งร่างฯดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากยังมีปัญหาหลายเรื่อง อีกทั้งหากมีองค์กรดังกล่าวจริงจะต้องมีการทำงานในเชิงรุก ไม่ใช่เหตุเกิดแล้วจึงเข้าไปตรวจสอบ ขณะเดียวกันจะต้องให้สัดส่วนคณะกรรมการฯที่มาจากตัวแทนของลูกจ้างเพิ่มขึ้นแต่กลับเพิ่มสัดส่วนกรรมการที่มาจากฝ่ายราชการ ตนจึงค่อนข้างเห็นขัดแย้งกับโครงสร้างที่ออกมาตามร่างฯนี้  ดังนั้นจึงอยากให้มีการระงับเอาไว้ก่อนและควรปรับปรุงโครงสร้างรวมถึงปรับปรุงบทบาทให้เป็นการทำงานในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net