Skip to main content
sharethis

บรรณาธิการฝ่ายข่าวอัฟกานิสถานและปากีสถานของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน เขียนบทความถึงบรรยากาศการเลือกตั้งในอัฟกานิสถานที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนี้ ระบุแม้มีการข่มขู่จากกลุ่มตอลีบันและความหวาดกลัวว่าจะเกิดเหตุร้าย แต่ชาวอัฟกานิสถานก็ดูกระตือรือร้น ในเมืองใหญ่มีคนไปใช้สิทธิคึกคักโดยไม่มีปัญหาเรื่องความรุนแรง

11 เม.ย. 2557 เอมม่า เกรแฮม-แฮร์ริสัน บรรณาธิการฝ่ายข่าวอัฟกานิสถานและปากีสถานของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน เขียนรายงานเล่าถึงสถานการณ์และบรรยากาศการเลือกตั้งในอัฟกานิสถานเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เกรแฮม-แฮร์ริสันเล่าว่าบรรยากาศในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งของอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยความหวาดกลัวจากการข่มขู่ของกลุ่มตอลีบัน ตัวเธอเองต้องตั้งนาฬิกาปลุกในวันเลือกตั้งไม่ใช่เพื่อต้องรีบไปให้ทันผู้มาลงคะแนนคนแรก แต่เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ระเบิดพลีชีพที่อาจจะเกิดขึ้น

บรรณาธิการเดอะการ์เดียนระบุว่า อัฟกานิสถานเริ่มฤดูกาลเลือกตั้งมาตั้งแต่หลายเดือนก่อน และถือว่าผ่านไปด้วยดีอย่างคาดไม่ถึง เรื่องราวการซ่อนเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองกับการสมคบคิดต่างๆ ก็คลายลงบ้างเล็กน้อยด้วยบรรยากาศของการแข่งขันจริงจังและทางเลือกที่เป็นประชาธิปไตยมีมากขึ้น

การเลือกตั้งในอัฟกานิสถานมีขึ้นก่อนที่ประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซ จะหมดวาระภายในเดือน พ.ค. นี้ เกรแฮม-แฮร์ริสัน บอกว่าแม้จะมีคนเชื่อว่าการ์ไซคอยให้ความช่วยเหลือคนที่เขาโปรดปราน แต่การ์ไซก็วางตัวเป็นกลางต่อหน้าสาธารณชน ขณะที่ผู้แข่งขันในการเลือกตั้งพากันรณรงค์เดินขบวนและต่อสู้กันผ่านการโต้วาทีทางโทรทัศน์

เกรแฮม-แฮร์ริสันเล่าว่าในบางสนามมีการพยายามขนคนเข้าไปฟังการโต้วาที มีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งบอกว่าพวกเธอไม่ได้อยู่ในทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและไม่มีความรู้มากพอที่จะเลือกใคร แต่ก็มีบางคนที่มีความตื่นเต้นขณะฟังการโต้วาทีโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ในการเดินทางหาเสียงของพรรคการเมืองมีคนมาร่วมฟังหลายหมื่นคนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็คิดว่าเป็นหน้าที่ๆ ต้องไปฟังเมื่อมีผู้สมัครมาหาเสียงเช่นในเมืองลัชคาร์การ์ ซึ่งไม่สนใจการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาและยังถือเป็นแหล่งอันตรายสำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

จากการได้ชมการโต้วาทีของผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เกรแฮม-แฮร์ริสันบอกว่าพวกเขาดูมีความศิวิไลซ์เมื่อเทียบกับนักการเมืองชาติตะวันตก มีการใช้คำพูดที่ระวังไม่กล่าวโจมตีศัตรูทางการเมืองโดยตรง ทั้งที่อัฟกานิสถานมีปริมาณผู้ครอบครองอาวุธปืนสูงมาก หรือไม่เช่นนั้นผู้สมัครต่างก็หลีกเลี่ยงจะเริ่มเปิดประเด็นโจมตีเพราะต่างฝ่ายต่างก็มีข้อด่างพร้อยที่ไม่อยากจะให้อีกฝ่ายยกมาโจมตี

แม้ว่าการโต้วาทีทางการเมืองจะดำเนินไปอย่างเข้มข้นขึ้นจนกระทั่งคนที่ชอบเรื่องการเมืองยังรู้สึกเบื่อได้ แต่เกรแฮม-แฮร์ริสัน ก็บอกว่า การโต้วาทีและการเดินสายปราศรัยก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอัฟกานิสถานมีสันติภาพ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นประชาธิปไตย และคนธรรมดามีสิทธิเลือกผู้นำคนต่อไป

"เมื่อวันเลือกตั้งใกล้เข้ามา ผู้คนก็เริ่มตื่นเต้นมากขึ้น ศูนย์ลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเต็มไปด้วยผู้คนล้นทะลัก มีคนมารอตั้งแต่เช้าตรู่ รอคิวทั้งวัน ก่อนจะกลับไปโดยยังไม่ได้ลงทะเบียน แล้วเขาก็ยังมารออีกในเช้าวันถัดไปโดยไม่สนใจการข่มขู่จากตอลีบัน" เกรแฮม-แฮร์ริสันระบุในรายงาน

ราเซีย อาห์มาดี คนทำงานที่สนามเลือกตั้งกล่าวว่า พวกเขาต้องเสี่ยงชีวิตแต่พวกเขาก็เชื่อในพระเจ้าว่าพวกเขาทำเพื่อบ้านเกิดเมืองนอน คนอายุ 80 อีกคนหนึ่งบอกว่า "คนเราเกิดมาก็ตายครั้งเดียว" แสดงท่าทีไม่สนใจคำขู่ของตอลีบันที่ต่อต้านการเลือกตั้ง

เกรแฮม-แฮร์ริสันมองว่าการก่อเหตุรุนแรงของตอลีบันเป็นทั้งการสร้างความหวาดกลัวและต้องการขัดขวางการเลือกตั้ง ก่อนหน้าการเลือกตั้งหนึ่งเดือน มีเหตุสังการนักข่าวเอเอฟพีชื่อ ซาร์ดาร์ อาห์หมัด และเหตุรุนแรงอื่นๆ อีกหลายระลอก แต่ผู้ที่ไม่ได้กลัวจนหนีออกจากประเทศก็ดูเหมือนจะโกรธแค้นต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นและสัญญาว่าจะไปเลือกตั้งให้ได้ อย่างไรก็ตามก่อนการเลือกตั้ง 1 วันก็มีเหตุตำรวจยิงโจมตีนักข่าวเอพีสองราย มีรายหนึ่งเสียชีวิตอีกรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งดูเป็นลางไม่ดีนัก

รัฐบาลอัฟกานิสถานได้วางกำลังทหารและตำรวจ 350,000 นายเพื่อปกป้องสนามเลือกตั้ง รวมทั้งตามประตูเมืองและด่านตรวจต่างๆ แต่ก็มีคนคิดว่าเจ้าหน้าที่คงไม่สามารถยับยั้งเหตุระเบิดพลีชีพได้

เมื่อถึงวันเลือกตั้งก็มีแต่รายงานข่าวคนรอเข้าคิวยาวหน้าคูหา ในโซเชียลมีเดียก็เต็มไปด้วยภาพของชาวอัฟกันชูนิ้วแสดงให้เห็นรอยหมึกที่เป็นหลักฐานว่าได้เข้าไปลงคะแนนเสียงมาแล้ว ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นปัญหาบัตรลงคะแนนหมดจนต้องมีการต่อเวลาเพื่อให้ทุกคนได้ลงคะแนนจนครบ

"ฉันเดินทางไปดูพวกเขา นึกว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรง แต่กลับเป็นคนต่อคิวยาวอย่างอดทน มีความรู้สึกตื่นเต้นและกังวล หลังจากเวลาผ่านไปก็เริ่มมีบรรยากาศรื่นเริง มีแม่พาเด็กมาดูการลงคะแนน ผู้หญิงหลายคนรอท่ามกลางสายฝนหลายชั่วโมงโดยเอาแผ่นพลาสติกกันฝน" เกรแฮม-แฮร์ริสันระบุในรายงาน

"การเลือกตั้งครั้งนี้ยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ มีการร้องเรียนหลายพันกรณีและเริ่มมีการตรวจสอบแล้ว ในพื้นที่ชนบทมีคูหาเลือกตั้งหลายแห่งปิดทำการเนื่องจากไม่สามารถรักษาความปลอดภัยได้ กลุ่มตอลีบันทำให้ผู้คนหวาดกลัวจนไม่เข้าคูหาที่ยังเปิดอยู่ และในบางแห่งก็มีผู้มีอิทธิพลเอาบัตรลงคะแนนและกล่องลงคะแนนไปทำตามอำเภอใจ" เกรแฮม-แฮร์ริสันระบุในรายงาน

ทั้งนี้ มีชาวอัฟกานิสถานราว 7 ล้านคนไปลงคะแนน ซึ่งเกรแฮม-แฮร์ริสันบอกว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าแม้การเลือกตั้งจะไม่สมบูรณ์แบบและทำให้ได้ผู้นำที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังดีกว่าวิธีอื่น


เรียบเรียงจาก

Afghanistan's voters needed patience more than protection, The Guardian, 08-04-2014
http://www.theguardian.com/commentisfree/2014/apr/08/afghanistan-voters-polling-day-election

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net