Skip to main content
sharethis

หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ไม่แอบอ้างสถานการณ์ภัยแล้งเป็นเงื่อนไขในการถ่วงเวลาประตูน้ำ ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลก็คงเปิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ที่ผ่านมาแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ ที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล เป็นเวลา ๔ เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป  


แต่หลังจากเขื่อนปากมูล เปิดประตูน้ำเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ แก่งหินธรรมชาติที่ทอดยาวขวางแม่น้ำมูนกว่า 40 แก่ง ได้โผล่พ้นน้ำขึ้นมาทำหน้าที่เป็นเขื่อนธรรมชาติ รอยต่อระหว่างแก่งเป็นวังน้ำลึกเสมือนอ่างเก็บน้ำ น้ำที่ไหลรินตามธรรมชาติช่วยชำระโคลนตมที่อุดตันในร่องแก่งให้สะอาดหมดจด นอกจากจะเป็นที่พักอาศัยและแหล่งวางไข่ของปลาแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน แม้จะเพียงช่วงสั้นๆ ก็ตาม


ระยะเวลา ๒ เดือนกว่า ที่ประตูน้ำเขื่อนปากมูลเปิดขึ้น ชุมชนประมงที่เงียบเหงาคืนสู่ความคึกคัก ครอบครัวของชาวประมงที่เคยทนทุกข์อดอยากในช่วงเขื่อนปิดประตูน้ำ เปลี่ยนจากอดเป็นอิ่มพอกินเหลือขาย เมื่อปลานานาชนิดจากแม่น้ำโขงทะลักเข้ามาในแม่น้ำมูนเป็นจำนวนมาก เช่น ปลากา (อีตู๋) ปลาคัง ปลาเทโพ ปลาเนื้ออ่อน   เป็นต้น ซึ่งส่วนมากเป็นปลาขนาดใหญ่มีราคาอยู่ระหว่าง  ๗๐ - ๑๕๐ บาท


ด้วยวิถีของการทำประมงแบบพื้นบ้านที่ใช้เครืองมือประมงตามภูมิปัญญาเดิม ซึ่งหาจับปลาได้เพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น เมื่อเริ่มเข้าเดือนกรกฎาคม น้ำในแม่น้ำมูนเพิ่มปริมาณขึ้นสูงมากและไหลเชี่ยวการหาปลาของชาวบ้านก็ลดลงในขณะที่ช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่ปลามีความชุกชุมมากขึ้น การจับปลาของชาวประมงลุ่มน้ำมูนตอนปลายจึงเป็นการจับปลาที่มีความสมดุลกับธรรมชาติ เหลือปลาให้แพร่พันธุ์ต่อไป  แม้ว่าปัจจุบันตั้งแต่ปากแม่น้ำมูนจนถึง กิ่ง อ.สว่างวีรวงศ์จะมีเรือประมง กว่า ๑,๕๐๐ ลำ ก็ตาม


            แต่พิษภัยที่จะส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลา และระบบนิเวศน์แม่น้ำมูน ตลอดจนวิถีชีวิต อย่างรุนแรงคือการปิดประตูน้ำของเขื่อนปากมูนใน วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘ เพราะจะทำให้ปลาที่ขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูนไม่สามารถกลับคืนสู่แม่น้ำโขง นับเป็นการฆ่าตัดตอนระบบนิเวศน์อย่างรุนแรง


            ดังนั้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ วิถีชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูนให้คืนมาดังเดิมรัฐบาลจะต้องมีความกล้าหาญในการตัดสินใจ ยอมรับความผิดพลาดที่ผ่านมา เนื่องจากกรณีเขื่อนปากมูลนั้นได้มีข้อยุติทางวิชาการแล้วว่า ผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งการศึกษาของรัฐบาลที่จ้างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทำการศึกษา ก็ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดเขื่อนตลอดทั้งปีเช่นเดียวกัน โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯเปิดระตูน้ำเขื่อนปากมูลตลอดปี พร้อมทั้งดำเนินการฟื้นฟูวิถีชีวิติ ชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลโดยด่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net