Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

นักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่เคยกล่าวไว้ว่า ประวัติศาตร์โลกคือบทเรียนอันมีค่าที่คนรุ่นก่อนในสังคมต่าง ๆ ได้สั่งสมไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ศึกษา เก็บรับ เพื่อมิให้กระทำผิดซ้ำกับในอดีต และเพื่อให้แสวงหาทางออกที่เจ็บปวดน้อยที่สุด ซึ่งสังคมอื่นก่อนหน้าได้เดินไปก่อนแล้ว

ในบรรดาบทเรียนประวัติศาสตร์ ข้อคิดที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งตกทอดมาแต่ยุคกรีกโบราณก็คือ การกดขี่และความอยุติธรรมคือสิ่งที่ทำให้คนเราโกรธและเคียดแค้นรุนแรงที่สุด คนเราอาจยอมทนต่อเคราะห์ร้ายมากมายในชีวิต สูญเสียทรัพย์สินและคนในครอบครัวจากโรคภัยไข้เจ็บ ภัยธรรมชาติ แต่คนเราจะไม่ยอมทนต่อการกดขี่และความอยุติธรรมที่คนอื่นบังคับหยิบยื่นให้เป็นอันขาด

แต่นี่ก็เป็นบทเรียนที่ผู้ปกครองเผด็จอำนาจทั่วโลก ทั้งจักรพรรดิ์ กษัตริย์ ขุนศึก ไปจนถึงเผด็จการพลเรือนทั้งหลายไม่เคยเรียนรู้ ไม่เคยจดจำ และยังคงกระทำซ้ำซากในสังคมต่าง ๆ ถึงทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์โลกจึงเต็มไปด้วยตัวอย่างเหตุการณ์ที่ประชาชนไม่อาจทนต่อการกดขี่และอยุติธรรม แล้วลุกขึ้นสู้ ต่อต้านผู้ปกครองที่เป็นอธรรม แต่ในอดีต ส่วนใหญ่มักจะลงเอยเป็นการแทนที่ระบอบกดขี่เก่าด้วยระบอบกดขี่ใหม่ กระทั่งราว 250 ปีมานี้ ประชาชนจึงเริ่มกล้าแข็งขึ้น สามารถต่อสู้จนได้รับอิสรภาพและความยุติธรรม ซึ่งก็คือ ได้ประชาธิปไตยเสรีนิยม นักวิชาการรัฐศาสตร์ตะวันตกได้สรุปกระบวนการนี้ว่า เป็น “กระแสคลื่นการปฏิวัติประชาธิปไตย” สามระลอก

“คลื่นลูกที่หนึ่ง” ของการปฏิวัติประชาธิปไตยคือสงครามเพื่อเอกราชอเมริกัน และการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งมีลักษณะร่วมกันคือ การต่อต้านการกดขี่และความอยุติธรรมที่กษัตริย์อังกฤษกระทำต่อชาวเมืองขึ้นอเมริกัน และที่กษัตริย์ฝรั่งเศสกระทำต่อประชาชนฝรั่งเศส ชาวอเมริกันไม่อาจทนต่อการขูดรีดภาษี การบีบบังคับทางการค้า และการไร้สิทธิตัวแทนของชาวอเมริกันในรัฐสภาอังกฤษ จนระเบิดเป็นสงครามปฏิวัติเพื่อเอกราช ซึ่งก็เป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยอเมริกันไปพร้อมกันด้วย บรรลุเป็นการสถาปนาสาธารณรัฐยุคใหม่แห่งแรกของโลกคือ สหรัฐอเมริกา แม้ว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งนี้จะยังไม่สมบูรณ์และได้ยืดเยื้อจนถึงสงครามปลดปล่อยทาสในอีกร้อยปีต่อมา

ส่วนชาวฝรั่งเศสก็ต่อสู้กับการกดขี่และความอยุติธรรมที่กษัตริย์และชนชั้นขุนนางอำมาตย์ฝรั่งเศสกระทำต่อพวกเขามานานหลายร้อยปี จนระเบิดเป็นการทำลายคุกบาสตีลอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ นำไปสู่การยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศส และสถาปนาสาธารณรัฐ แต่ชาวฝรั่งเศสก็ยังต้องผ่านกระแสปฏิกิริยาและการฟื้นระบอบเก่าหลายครั้ง กว่าจะสถาปนาประชาธิปไตยอันมั่นคงขึ้นมาได้

ถึงกระนั้น “คลื่นลูกที่หนึ่ง” ของการปฏิวัติประชาธิปไตยก็ได้แผ่ขยายออกไปยังดินแดนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งอังกฤษและดินแดนโพ้นทะเล ซึ่งมีการปฏิรูปประชาธิปไตย ขยายสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ไปสู่ระบอบรัฐสภาสมัยใหม่

“คลื่นลูกที่สอง” ของการปฏิวัติประชาธิปไตยเกิดขึ้นในช่วงสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันตกยุติสงคราม ขจัดการกดขี่ของเผด็จการและลัทธิฟัสซิสต์ สถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมั่นคงขึ้น มุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เป็นแบบอย่างให้กับพลเมืองในประเทศและทวีปอื่น ๆ

“คลื่นลูกที่สาม” ของการปฏิวัติประชาธิปไตยเริ่มต้นขึ้นด้วยการโค่นล้มเผด็จการพลเรือนของโปร์ตุเกสในปี 1974 และการล่มสลายของเผด็จการฟรังโกของสเปน จากนั้น ประชาธิปไตยก็แผ่ขยายไปยังกรีซ ประเทศในละตินอเมริกาและเอเชียตะวันออก กระทั่งสิ้นสุดคลื่นลูกที่สามเมื่อค่ายสังคมนิยมยุโรปตะวันออกล่มสลายและทะยอยกันเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่คล้ายคลึงกับยุโรปตะวันตก

แต่ทว่า นับแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ก็ได้เกิดกระแสปฏิวัติประชาธิปไตยระลอกใหม่ เริ่มต้นจากประเทศไทยด้วยรัฐธรรมนูญ 2540 และพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544 (2001) นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างอำนาจจารีตนิยมจากระบอบเก่ากับอำนาจการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ปะทุเป็นรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการต่อสู้ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมองในระดับสากลจึงได้เห็นว่า เหตุการณ์ในประเทศไทยเป็นเพียงบทเริ่มแรกของ “คลื่นลูกใหม่” ของการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยแท้ โดยมีปี 2553 (2010) เป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ด้วยสองเหตุการณ์คือ ในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงก่อการเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ เรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการจารีตนิยม ซึ่งยุติลงเป็นการปราบปรามสังหารหมู่ประชาชนครั้งใหญ่โดยเผด็จการไทย

จากนั้นในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ก็เกิดการลุกขึ้นสู้ของประชาชนตูนิเซีย โค่นล้มเผด็จการของประธานาธิบดีเบน อาลี ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ฤดูใบไม้ผลิของอาหรับ” (Arab Spring) ลุกลามไปถึง 20 ประเทศในตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ โค่นล้มผู้ปกครองเผด็จการในลิเบีย อียิปต์ และเยเมน เกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อในซีเรีย และบังคับให้มีการปฏิรูปผ่อนคลายประชาธิปไตยในอีกหลายประเทศ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนไทยในขั้นตอนปัจจุบันจึงมิใช่โดดเดี่ยว หากแต่เป็นส่วนสำคัญของ “คลื่นประชาธิปไตยลูกล่าสุด” ที่กำลังพัดกวาดไปทั่วบริเวณเอเชีย ตะวันออกกลาง บางส่วนของอาฟริกาและละตินอเมริกา และล้วนมีลักษณะร่วมกันแม้จะเกิดขึ้นต่างทวีป ต่างประวัติศาสตร์ และต่างวัฒนธรรม

ประการแรก การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเหล่านี้ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวของมวลชนขนานใหญ่ที่มีกระแสหลักเป็นเสรีนิยม ต่อต้านการกดขี่และความอยุติธรรมที่ได้รับจากเผด็จการมายาวนาน ต้องการไปบรรลุระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งโดยเสรี และมีการแบ่งแยกตรวจสอบระหว่างอำนาจอธิปไตย แม้จะมีกระแสต่อต้านเสรีนิยมแทรกอยู่ (เช่น ลัทธิมาร์กซ หรือพวกคลั่งศาสนา) ก็ไม่มีผลต่ออุดมการและแนวทางหลักของขบวนประชาธิปไตย

ประการที่สอง ขบวนประชาธิปไตยเหล่านี้มีลักษณะการเคลื่อนไหวและการจัดตั้งที่เป็นแบบมวลชนอย่างแท้จริง ก่อตัวขึ้นกระจัดกระจายในระดับรากหญ้า ขยายตัวเชื่อมกันเป็นเครือข่ายในแนวนอน มีแกนนำท้องถิ่นที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แล้วก่อตัวในแนวตั้งไปสู่การรวมตัวระดับชาติอย่างหลวม ๆ ซึ่งลักษณะเหล่านี้แตกต่างจากขบวนการมวลชนในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นการก่อตัวในแนวตั้ง ขยายตัวจากบนสู่ล่าง มีรูปแบบการจัดตั้งที่เข้มงวดคล้ายทหาร โดยมีอุดมการที่ไม่เป็นเสรีนิยมเป็นธงนำ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิสังคมนิยม เป็นต้น

ประการที่สาม ขบวนประชาธิปไตยเหล่านี้มีอาวุธที่ใช้ในการก่อตัวทางความคิด เผยแพร่และต่อสู้ทางอุดมการที่สำคัญที่สุดคือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยผ่านเครือข่ายไร้สายอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เป็นหลัก อันเป็นพื้นที่ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยเข้มแข็ง แต่ฝ่ายเผด็จการอ่อนแอ ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถเอาชนะทางความคิดและทางอุดมการได้โดยง่าย ในขณะที่การเอาชนะทางการเมืองและทางการทหารยังคงประสบความยากลำบากยิ่งกว่า

ประการสุดท้าย ประสบการณ์จากคลื่นประชาธิปไตยสามระลอกแรกในช่วงสองร้อยปี และจากบางประเทศในตะวันออกกลางเมื่อเร็ว ๆ นี้ แสดงว่า การได้มาซึ่งประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ยาวนาน ยากลำบาก เจ็บปวด ล้วนต้องผ่านการปะทะสูญเสีย และจะบรรลุได้ด้วยการปฏิวัติของประชาชนที่ขจัดผู้ปกครองเผด็จการออกไปเท่านั้น แม้ว่าประชาชนจะพยายามเลี่ยงความรุนแรงอย่างถึงที่สุดและต้องการสันติภาพสักเพียงใดก็ตาม

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net