บอร์ด กทค. เคาะแนวทางประมูลคลื่น 1800 ส่วนแรก ส.ค.นี้

บอร์ด กทค. เคาะแนวทางการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ส่วนแรก ประมูล ส.ค.นี้ จำนวน 25 MHz  คลื่นความถี่ 900 MHz ประมูล พ.ย.นี้ จำนวน 17.5 MHz 
              
10 เม.ย.2557 พ.อ. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึง ผลการประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ครั้งที่ 2/2557 ในวันพุธที่ 9 เมษายน 2557 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาผลการศึกษาของทางสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศและข้อเสนอของคณะทำงานศึกษาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และได้กำหนดแนวทางการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ดังนี้
              
แนวทางการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในส่วนของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ที่หมดสัญญาสัมปทานไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 จะจัดประมูลขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะนำคลื่นความถี่ทั้งหมด 25 MHz มาประมูล แบ่งเป็น 2  ล็อต คือ 12.5 MHz และ 12.5 MHz ซึ่งผู้ประมูลสามารถประมูลได้ชุดคลื่นความถี่เดียว โดยใบอนุญาตจะมีอายุ 19 ปี เริ่มนับตั้งแต่วันที่ กสทช. ให้อนุญาต ส่วนคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จะหมดสัมปทานในปี 2561 นั้น จะนำมาประมูลในเวลาที่เหมาะสมต่อไปโดยใบอนุญาตจะมีอายุ  15 ปี จึงทำให้ทั้งสองคลื่นหมดอายุการอนุญาตลงพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นการง่ายสำหรับการประมูลในครั้งต่อไป
              
ส่วนแนวทางการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในส่วนของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) ที่สัมปทานจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2558 นั้น จะจัดการประมูลขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2557 โดยจะประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมดจำนวน 17.5 MHz แบ่งเป็น 2 ล็อต (ชุดคลื่นความถี่) คือ 10 MHz และ 7.5 MHz ซึ่งผู้ประมูลสามารถประมูลได้ทั้ง 2 ล็อต โดยใบอนุญาตจะมีอายุ 15 ปีนับจากวันที่ กสทช. ให้อนุญาต ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาหลังจากวันที่คลื่นความถี่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
              
ประธาน กทค. กล่าวต่อว่า แนวทางการประมูลทั้งสองคลื่นมีแนวทางเหมือนกันคือ ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันสำหรับผู้ประกอบการทุกราย แต่ก็ได้มีการกำหนดการดำเนินการต่างๆ ในการประมูลที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด เช่น การวางหลักประกันการประมูลที่ต่ำ การผ่อนจ่ายค่าประมูล เป็นต้น รวมทั้งเรื่องของข้อกำหนดความครอบคลุมโครงข่าย โดยกำหนดให้ครอบคลุมโครงข่ายอย่างน้อย 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ภายใน 4 ปี สำหรับผู้ประกอบการทุกราย ซึ่งเป็นระดับที่ประกันว่าผู้ประกอบการจะมีการนำคลื่นความถี่ที่ประมูลได้ไปใช้งาน และเป็นระดับที่ไม่สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ที่เกินควร

ในส่วนของรูปแบบการประมูล ที่ประชุมเห็นชอบรูปแบบ Ascending Simultaneous Multi Round Ascending Auction (SMRA) ซึ่งเป็นการประมูลรูปแบบเดิมที่เคยใช้ในการประมูล 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz จึงเป็นวิธีที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจกับสังคม
              
ส่วนการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งต่อไปในวันที่ 18 เมษายน นี้ จะได้ทราบราคาตั้งต้นของการประมูลทั้งสองคลื่น จากนั้นจะเป็นกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กทค. อีกครั้ง ก่อนจะนำเข้าที่ประชุม กสทช. และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป
             

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท