Skip to main content
sharethis
ชาวบ้านคลิตี้ ร่วมนักกิจกรรม ไทยพีบีเอส จัดทำบุญลำห้วยคลิตี้-ฉายหนัง ‘สายน้ำติดเชื้อ’ พร้อมระดมทุนสร้างประปาภูเขาแก้ไขปัญหาน้ำกิน น้ำใช้ หลังกรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยไม่คืบหน้า ตะกั่วยังตกค้าง เอ็นจีโอจวก คพ.ห้ามชาวบ้านกินปลา ไม่ให้ใช้น้ำแก้แค่ปลายเหตุ
 
การทำบุญบรรพบุรุษในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง
 
เมื่อวันที่ 3 – 5 เม.ย. 2557 ชาวบ้านคลิตี้ เครือข่ายเพื่อนคลิตี้ มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (EnLAW) นักกิจกรรมกลุ่มดินสอสี กลุ่มแปลน และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกันจัดงาน “ทำบุญลำห้วย 16 ปี คลิตี้ ชนะคดีศาลปกครองและฉายหนังรอบปฐมทัศน์ภาพยนตร์สารคดี By the River สายน้ำติดเชื้อ” ที่หมู่บ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อทำบุญให้แก่บรรพบุรุษและลำห้วยคลิตี้ รวมทั้งมีเป้าหมายระดมทุนพัฒนาระบบน้ำประปาภูเขา เพื่อให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้มีน้ำสะอาดไว้ใช้อุปโภค บริโภค ในระหว่างการฟื้นฟูลำห้วยที่ปนเปื้อนสารพิษ
 
ลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนสารตะกั่วจากการลักลอบปล่อยน้ำทิ้งจากบ่อกักเก็บตะกอนหางแร่ของโรงงานแต่งแร่ซึ่งอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของบริษัทตะกั่วคอนแซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ลงสู่ลำห้วยคลิตี้บริเวณผืนป่าในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อกว่า 20 ปีก่อน และเป็นข่าวดังขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2541 จากนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้ฟ้องกรมควบคุมมลพิษกับศาลปกครอง
 
จนล่าสุดช่วงต้นปี 2556 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ กำหนดเวลาภายใน 3 ปี ปัจจุบันผ่านไป 1 ปีแล้ว แต่ลำห้วยคลิตี้ยังคงมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว
 
เด็กในหมู่บ้านคลิตี้ล่างกำลังเล่นน้ำในบริเวณน้ำตกธิดาดอยซึ่งยังคงมีการปนเปื้อนตะกั่วอยู่บ้างเช่นกัน
 
“งานครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่คนทั้งสามวัยในหมู่บ้านได้มารวมตัวกันเพื่อพูดคุย ปรึกษาหารือถึงปัญหาของหมู่บ้านในเวลานี้ เพื่อหาทางแก้ไขแล้ววาดอนาคตของหมู่บ้านคลิตี้ล่างร่วมกัน เพราะในปัจจุบันวิถีชีวิตไม่ว่าจะเป็นประเพณี และวัฒนธรรมของคนในหมู่บ้านได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากภายหลังจากที่เกิดปัญหาลำห้วยเป็นพิษ และเป้าหมายสำคัญของงานนี้คือต้องการระดมทุนจากภายนอกเพื่อสนับสนุนโครงการสร้างประปาภูเขา เพื่อให้หมู่บ้านได้มีน้ำที่สะอาดระหว่างฟื้นฟูลำห้วย” ธนกฤต โต้งฟ้า เยาวชนในหมู่บ้าน กล่าวถึงการจัดกิจกรรมครั้งนี้ซึ่งเขาได้มีส่วนร่วมในการคิดและจัดทำแผนงาน
 
ธนกฤต ยังกล่าวอีกว่า การสร้างและพัฒนาระบบประปาภูเขานั้น เป็นการทำขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมีน้ำที่สะอาดไว้ใช้อุปโภค ในระหว่างการฟื้นฟูลำห้วย เพราะในหมู่บ้านระบบประปายังไม่ทั่วถึง จึงทำให้ชาวบ้านบางส่วนยังคงต้องอาศัยน้ำในลำห้วย ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย โดยวิธีการดังกล่าวนั้นเกิดจากการที่ชาวบ้านในหมู่บ้านประชุมและปรึกษาหารือและระดมทุนกันเพื่อจะร่วมแก้ไขปัญหาในเรื่องของน้ำกิน น้ำใช้
 
ธนกฤต กล่าวย้ำว่า วิธีการนี้ไม่ได้อยู่ในแผนจัดการแก้ไขปัญหาของกรมควบคุมมลพิษ จึงเป็นที่มาของการจัดงานครั้งนี้เพื่อต้องการระดมทุนในการสร้างเพราะโครงการนี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เนื่องจากต้องจัดทำให้ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน
 
 
กิจกรรมทำบุญลำห้วย 16 ปี คลิตี้ฯ เริ่มต้นด้วยการทำบุญบรรพบุรุษของชาวคลิตี้ล่างซึ่งเป็นประเพณีประจำปีของหมู่บ้าน ต่อด้วยการเล่าประวัติของหมู่บ้านคลิตี้ล่างให้กับผู้ที่มาร่วมงานได้รับฟังและเรียนรู้ความเป็นมาของชุมชน โดยหม่องโจเณโท ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ณ สำนักสงฆ์คลิตี้ล่าง
 
ต่อด้วยวงคุยของคณะทำงานภาคประชาสังคมกับชาวบ้าน ในหัวข้อ “ชีวิต สายน้ำ และความหวัง คนคลิตี้ล่าง หลังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด” โดยประเด็นสำคัญที่วิทยากรหลายคนพูดถึงคือเรื่องความล่าช้า ไม่มีแผนจัดการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการดำเนินการของกรมควบคุมมลพิษ
 
วงคุยริมน้ำตกธิดาดอย
 
สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า แผนการฟื้นฟูของกรมควบคุมมลพิษ ที่ได้วางเอาไว้คือการขุดลอกตะกอนดินในลำห้วยและนำขึ้นมาฝังกลบข้างลำห้วยนั้น ชาวบ้านและคณะทำงานภาคประชาสังคมเห็นว่าเป็นวิธีการที่ไม่สามารถขจัดสารตะกั่วที่ปนเปื้อนในลำห้วยได้อย่างยั่งยืน เพราะการขุดลอกดังกล่าวยิ่งทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารพิษมากขึ้น เมื่อเกิดฝนตกหรือน้ำป่าไหลหลากก็จะทำให้สารพิษตะกั่วที่อยู่ในดินไหลย้อนกลับสู่ลำห้วย
 
หรือกรณีการสร้างเขื่อนดักตะกอนในลำห้วยก็ยังไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของสารพิษได้ เพราะเขื่อนดักตะกอนดังกล่าวเกิดการรั่วของชั้นหินทำให้น้ำที่ปนเปื้อนตะกั่วเกิดการทะลักลงสู่ลำห้วยเช่นเดิม
 
สุรชัย ตรงงาม ทนายความคดีคลิตี้ 
 
สุรชัย ตรงงาม ทนายความคดีห้วยคลิตี้ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษได้ละเลยการฟื้นฟู ถึงแม้จะมีการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบ แต่ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านก็ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำห้วยได้อย่างเช่นเดิม เพราะเมื่อมีการตรวจคุณภาพน้ำและวัดค่าปริมาณสารตะกั่วในตะกอนดินถึง 4 ครั้งก็ยังพบว่าปริมาณสารพิษตะกั่วมีปริมาณมาก อีกทั้งการตรวจในลำห้วยบริเวณก่อนถึงโรงแต่งแร่พบว่ามีการปนเปื้อนอยู่ระดับหลัก 100 แต่พอผ่านโรงแต่งแร่มาแล้ว พบค่าสูงสุดเกิน 200,000 สะท้อนให้เห็นว่ามีการปนเปื้อนเกินกว่าก่อนโรงแต่งถึงประมาณ 2,000 เท่า
 
แม้ต่อมาจะมีคำสั่งจากกรมควบคุมมลพิษให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขมาปิดประกาศเตือนให้ชาวบ้านงดใช้น้ำและหาอาหารในบริเวณลำห้วยก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวบ้านไม่อาจเลี่ยงการใช้ประโยชน์จากลำห้วยแห่งนี้ได้ เพราะวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนคลิตี้ล่างยังคงต้องผูกติดกับธรรมชาติและใช้ประโยชน์จากลำห้วย ไม่ว่าจะเป็นการหาอาหาร น้ำ เพื่ออุปโภค บริโภค เป็นต้น
 
“กรมควบคุมมลพิษจะมาห้ามให้ชาวบ้านไม่กินปลา ไม่ใช้น้ำไม่ได้ นี่มันเป็นวิธีแก้ไขที่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือต้องฟื้นฟูลำห้วยให้สะอาด และนี่ก็คือผลกระทบทางอ้อมที่ทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไป เพราะไม่สามารถหาอาหารได้จากลำห้วยตามเดิม จึงต้องซื้ออาหารจากรถเร่ของพ่อค้าที่เข้ามาในหมู่บ้าน ส่งผลให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น” สมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ กล่าวว่า
 
สมพร ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ทำให้ชาวบ้านได้ร่วมมือกันคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหา โดยการนำเงินชดเชยที่ได้รับบางส่วนมาจัดเป็นกองทุนสร้างและพัฒนาระบบประปาภูเขา เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำสะอาดในระหว่างฟื้นฟูลำห้วย แต่ต่อมาได้เกิดคำถามที่สำคัญว่า ปัญหาเหล่านี้ชาวบ้านควรจะมีส่วนในการรับผิดชอบหรือไม่? หรือให้เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษเป็นคนจัดการ?
 
ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ได้กล่าวว่า วิธีการฟื้นฟูของกรมควบคุมมลพิษจะต้องทำตามปัจจัยในประเมินการฟื้นฟูทั้ง 9 ปัจจัย ที่สหรัฐอเมริกาใช้และประเทศอื่นๆ นำมาเป็นต้นแบบคือ เริ่มแรกต้องเป็นวิธีการที่ปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ต้องสอดคล้องกับกฎหมายและมีประสิทธิภาพในระยะยาว โดยใช้วิธีการบำบัดเพื่อลดพิษและลดการแพร่กระจายของสารพิษ แทนการห้ามให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้น ซึ่งแผนจัดการดังกล่าวต้องชี้แจงให้สาธารณะชนทราบ ที่สำคัญต้องเกิดการยอบรับจากรัฐและชาวบ้านในพื้นที่ด้วย
 
สำนักสงฆ์ พื้นที่สำคัญในการประชุมของชาวบ้าน
 
นอกจากนี้ ในกิจกรรมทำบุญลำห้วย 16 ปีคลิตี้ฯ ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมกะเหรี่ยงของชาวคลิตี้ล่าง และการฉายภาพยนตร์สารคดี “By the River สายน้ำติดเชื้อ” ซึ่งได้รับรางวัล Special Mention ในสาย Concorso Cineasti del presente และถูกเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
 
เรื่องราวในสารคดีดังกล่าวนำเสนอเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านคลิตี้ล่างที่มีความผูกพันกับระบบนิเวศรอบๆ ลำห้วย ซึ่งต่อมาได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารตะกั่วจากกิจการโรงแต่งแร่ จึงทำให้ระบบนิเวศในบริเวณลำห้วยถูกทำลายและส่งผลต่อวิถีชีวิตของพวกเขาทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อด้วยวงสนทนาร่วมกับนักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ดังกล่าวที่ริมน้ำตกธิดาดอย
 
บรรยากาศการฉายหนังสายน้ำติดเชื้อ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net