กก.สิทธิฯ เร่งรัฐค้านสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอ

ประชาไท - 28 ก.ย.47 กรรมการสิทธิฯ-นักกฏหมาย-ไบโอไทย เห็นพ้อง 3 สิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอกระทบไทย ย้ำรัฐบาลรีบค้าน บริษัทมูลนิธิวิจัยคอร์แนล ก่อนซ้ำรอยกรณีข้าวจัสมาติก

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ จากโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากรกล่าวในงานสัมมนาเรื่องสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอว่า การยับยั้งการจดสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอ ที่ดร.เดนนิส กอนซาเวส กำลังยื่นคำขอทั้งในสหรัฐอเมริกาและภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty, PCT) เป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนกับกรณีข้าวจัสมาติกที่กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินกว่าจะดำเนินการได้

ผศ.สมชาย รัตนชื่อสกุล นักวิชาการด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา กล่าวว่า สหรัฐอเมริกากำลังผลักดันเรื่องสิทธิบัตร โดยผ่านข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ซึ่งน่าจะต้องกำหนดให้ไทยเข้าเป็นภาคีภายใต้สนธิสัญญา PCT

ผศ.สมชาย อธิบายเพิ่มเติมว่า สนธิสัญญา PCT เป็นการลดขั้นตอนในการจดสิทธิบัตรในกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิก โดยจะมีหน่วยงานกลางในการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตร หากได้รับการอนุมัติแล้ว ผู้ขอสามารถแปลคำขอไปยังประเทศสมาชิกต่างๆ ได้เลย แทนที่จะต้องทำเรื่องจดสิทธิบัตรทีละประเทศ อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศก็สามารถตรวจสอบ และพิจารณาได้อีกครั้งหนึ่ง

"ประเด็นที่น่าคิดก็คือ ไทยมีกรมทรัพย์สินทางปัญญาทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่หน่วยงานนี้ถูกต่อว่าต่อขานว่า ไม่มีความสามารถในการตรวจสอบคำขอจดสิทธิบัตร ดังนั้น มันจึงมีความหมายกลายๆ ว่า เมื่อคุณตรวจไม่เป็น ก็ไม่ต้องตรวจ เดี๋ยวผมตรวจให้ แล้วรับตามนั้น" ผศ.สมชายกล่าว

ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาตั้งข้อสังเกตว่า แม้ในสิทธิบัตรที่ดร.เดนนิส กอนซาเวส แห่งบริษัทมูลนิธิวิจัยมหาวิทยาลัยคอร์แนล ยื่นคำขอนั้นจะปรากฏชื่อนักวิจัยไทยเป็นผู้ร่วมประดิษฐ์อยู่ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีความเป็นเจ้าของร่วมโดยทันที จะต้องกลับไปดูข้อตกลงถ่ายโอนวัสดุตั้งแต่ครั้งที่นักวิจัยไปทำมะละกอจีเอ็มโอที่ม.คอร์แนล ว่าได้กำหนดสิทธิต่างๆ ไว้อย่างไร

นอกจากนั้น ดร. เจษฎ์ ยังกล่าวว่า ในสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอที่กำลังยื่นคำขออยู่นั้น มีขอบเขตครอบคลุมทั้งวิธีการทำจีเอ็มโอและผลผลิตที่เป็นจีเอ็มโอ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิบัตรได้เลย

"การยื่นคำขอผ่าน PCT แล้วระบุประเทศสมาชิก 40-50 ประเทศ สิทธิผูกขาดจะไปปรากฏอยู่ในประเทศเหล่านั้นทั้งหมด เจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิ์ทั้งการขาย-นำเข้า ถ้าไทยส่งไปขายยังประเทศที่เขาขอจด ก็จะถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิได้" ดร.เจษฎ์กล่าว

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากองค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) กล่าวว่า ไม่ว่าไทยจะเดินหน้าเรื่องจีเอ็มโอหรือไม่ก็ต้องต่อสู้เรื่องสิทธิบัตร เพราะทั้งไวรัส และพันธุ์มะละกอต่างๆ เป็นทรัพยากรของไทยที่ต้องปกป้องไว้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่าเม็กซิโกและโบลิเวีย เคยถูกสหรัฐอเมริกาจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพื้นเมือง จนทำให้ไม่สามารถส่งพืชพันธุ์เหล่านั้นเข้าสู่สหรัฐฯ ได้

นอกจากนั้นนายวิฑูรย์ยังมีความเห็นว่าประเทศไทยควรมีจุดยืนในการปฏิเสธการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันกฎหมายไทยจะยังไม่ยอมรับ แต่ในอนาคตสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มจะผลักดันให้ไทยยอมรับผ่านการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)

ส่วนแนวทางในการผลักดันให้รัฐบาลยับยั้งสิทธิบัตรดังกล่าวนั้น นายบัณฑูรกล่าวว่า อาจดำเนินการผ่านคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องสิทธิบัตรที่รมว.เกษตรฯ เพิ่งตั้งขึ้น พร้อมทั้งอาจนำเรื่องนี้เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภาในวันพรุ่งนี้(29 ก.ย.)

มุทิตา เชื้อชั่ง, ภาณุวัฒน์ อภิวัฒนชัย
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท