Skip to main content
sharethis

ประชาไท—8  ส.ค.48       กรมเจรจาการค้าฯ ระบุปัญหาเอฟทีเอ เลิกสนใจใครได้-เสียประโยชน์ แต่ต้องเน้นความพร้อมการปรับตัว  เน้นความโปร่งใสในกติกาภายในระหว่างรัฐ-เอกชน


 


วันนี้ในเวทีสัมมนาเรื่อง "นโยบายการค้าระหว่างประเทศของไทย: ปัจจุบันและอนาคต" ที่คณะเศรษฐ ศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ดร.ภาวิญญ์ เถลิงศรี นักวิชาการพาณิชย์ 7 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์  กล่าวถึงอนาคตการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ที่ประเทศไทยทำกับประเทศต่างๆ และกำลังเจรจากับอีกหลายประเทศ


 


ดร.ภาวิญญ์  กล่าวถึงการเปิดเอฟทีเอว่า  "ผมฟันธง เปิดไม่เปิดไม่ใช่คำถาม และต้องเปิดต่อไป เพราะรัฐบาลมุ่งหน้าใช้ยุทธศาสตร์เอฟทีเอเป็นตัวชูโรง  ผมเชื่อว่าไทยดำเนินต่อไปแน่ทั้งทวิภาคีและในภูมิภาค  ซึ่งมันไม่สำคัญ  แต่สำคัญอยู่ที่ผู้ประกอบการหรือบรรดาชาวนา จะปรับตัวอย่างไรต่อกระแสการเปิดเสรี  ที่จะต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มากกว่า"


 


อย่างไรก็ตาม  นักวิชาการจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า  ประเด็นต่อจากนี้ไปขึ้นอยู่กับการดำเนินการและการรับรู้ของประชาชน ซึ่งนโยบายนำหน้าไปไกลแล้ว  ส่วนอื่นก็ต้องปรับตัวตาม  สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือใน 10-15 ปีนี้ ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการเจรจาในองค์การการค้าโลก (WTO) มากขึ้น แต่ขณะนี้มาตรการที่ต้องต่อสู้ในระดับทวิภาคีก็ต้องคุยกันมากขึ้น 


 


"ท้ายที่สุดไทยจะกลับสู่บ้านเก่า  และจะปฏิรูปอีกครั้งเมื่อตลาดสำคัญเราได้เปิดไปหมดแล้ว  ถ้าเรากลับไปใน WTO ก็ง่ายขึ้น  ผมเห็นว่าเมื่อเราทำเอฟทีเอกับสหรัฐแล้ว  ต่อไปเราก็จะทำได้กับทุกประเทศทั่วโลก"  ดร.ภาวิญญ์กล่าว


 


ด้านนางจันทวรรณ  สุจริตกุล  ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  ธนาคารแห่งประเทศไทย  มองว่า  โครงสร้างด้านกฎหมายที่ประเทศไทยยังต้องปรับยังมีอีกมาก  ซึ่งต้องใช้เวลาและต้องมีความโปร่งใสด้วย  เมื่อทุกคนเห็นประโยชน์นโยบายการค้าระหว่างประเทศแล้ว กฎหมายก็จำเป็นต้องมีการหารือกับภาคเอกชนด้วย  ขณะที่เอฟทีเอรุกคืบเข้ามา มีเรื่องใหม่ที่เรายังต้องปรับตัวการทำงานค่อนข้างเยอะ


 


"โดยรวมความโปร่งใส กลไกความพร้อมในการปฏิบัติ และการหารือกับเอกชน  ต้องสร้างให้เกิดขึ้น  ไม่เช่นนั้นจะเกิดการฟ้องร้องขึ้นได้  ทุกฝ่ายต้องหารือกันอย่างใกล้ชิด  เพราะเป็นเรื่องของการปรับตัวของกลไกการทำงานเพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน"  นางจันทวรรณกล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net