Skip to main content
sharethis

"รัฐเข้ามาจัดการเองหมด โดยไม่มีการทำประชาคมหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่รู้ว่า โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่นั้นมีความเป็นมาอย่างไร  ชาวบ้านจะได้อะไรและรัฐจะจัดการอย่างไร ที่ไปนำเสนอทางสื่อว่า หมู่บ้านห้วยปลาหลด ยกพื้นที่ทำกินให้รัฐ 4,000 ไร่ ลดพื้นที่ทำกินครอบครัวละ 2 ไร่ ก็อยู่ได้สบาย  ซึ่งความเป็นจริงก็คือ ขณะนี้ชาวบ้านห้วยปลาหลดกำลังเดือดร้อน ระส่ำระสาย" ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าว


 


หลังจาก มติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 27  ก.ค.2547  และเมื่อวันที่ 10  ส.ค.2547  ได้เห็นชอบให้มีการดำเนินการ  โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  ตามแนวพระราชดำริ  โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้แก่  กรมป่าไม้  กรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ซึ่งมีภารกิจรับผิดชอบโดยตรง 


 


โดยโครงการดังกล่าว  มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาการบุกรุกการทำลายป่า  ซึ่งส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ  สังคมและการเมืองของประเทศ  ดังนั้น  โครงการดังกล่าวจะช่วยหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าและฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับคืนมา  พร้อมให้ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันดูแลป้องกันรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน


 


ซึ่งโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  ได้สร้างความกังขา  สร้างความวิตกกังวลแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ากันอย่างมาก  เนื่องจากว่า มีพื้นที่เป้าหมายที่ครอบคลุมไปทั้งหมด  10,866  หมู่บ้าน  ในพื้นที่  7  จังหวัดทั่วประเทศ  และแน่นอนว่า  มีน้อยคนที่จะรู้และเข้าใจว่า  โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  นั้นเป็นอย่างไร  และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร  และจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายนั้นหรือไม่


 


ล่าสุด  เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา  ที่ศาลาประชาคมลุ่มน้ำปิง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่  ทางเครือข่ายป่าชุมชนลุ่มน้ำแม่ปิง  และโครงการจัดการลุ่มน้ำปิงตอนบน  มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทยในพระราชินูปถัมภ์ภาคเหนือ  ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ และการจัดการป่าชุมชน โดยมีตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  เครือข่ายทรัพยากรฯ ภาคเหนือ เครือข่ายป่าชุมชนลุ่มน้ำแม่ปิง  และตัวแทนชาวบ้านจากหมู่บ้านห้วยปลาหลด  ซึ่งเป็นหมู่บ้านนำร่องโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  เข้าร่วมประชุมกันอย่างคับคั่ง


 


นายไพรัช  บุญน้อม  ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติกล่าวยอมรับว่า  เป็นความกังวลใจของชาวบ้าน  เพราะเคยมีความหลังฝังใจที่เกิดปัญหากันมาครั้งก่อน เนื่องจากว่า ก่อนนั้นเคยมีโครงการหมู่บ้านป่าไม้ เมื่อปี 2518-2534  แต่โครงการล้มไป  แต่โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  ที่กำลังดำเนินการนั้น  มีกรอบชัดเจน คือมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  เพื่อหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าไม้  และฟื้นฟูสภาพป่าไม้  และให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันดูแล เฝ้าระวัง ป้องกันรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างยั่งยืน  โดยยึดตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 


 


"เป้าหมายก็คือ  เราต้องรักษาระบบนิเวศน์  เพื่อให้มนุษย์อยู่ได้อย่างมีความสุข ร่าเริงใจ  ไม่ต้องหวั่นเกรงว่าจะถูกขับไล่  เพราะหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่จะรวบรวมให้อยู่ร่วมกันและชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์  แต่ถ้าบางพื้นที่หากชุมชนทำไม่ได้ ก็จะให้รัฐเข้าไปจัดการร่วมกัน"


 


ในขณะที่ นายจักรพงษ์  มงคลคีรี  ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด  อ.แม่สอด  จ.ตาก  ซึ่งอยู่ในโครงการนำร่องหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  หมู่บ้านแรกในประเทศ  กล่าวว่า  ฟังตัวแทนของกรมอุทยานแห่งชาติพูดแล้ว  รู้สึกกรอบการทำงานนั้นดีมาก  แต่ว่าในทางปฏิบัติในพื้นที่จริงๆ  ยังไม่มีความชัดเจน  เพราะว่า  หลังจากที่รัฐประกาศเอาหมู่บ้านห้วยปลาหลดเข้าไปอยู่ในโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  ตั้งแต่วันที่ 18  ต.ค.ที่ผ่านมา  ก็มีปัญหาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว


 


"รัฐเข้ามาจัดการเองหมด  โดยไม่มีการทำประชาคมหมู่บ้าน  ชาวบ้านไม่รู้ว่า  โครงการนั้นมีความเป็นมาอย่างไร  ชาวบ้านจะได้อะไร  และรัฐจะจัดการอย่างไร  หลังจากที่ทางอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช มีคำสั่งให้ชาวบ้านลดพื้นที่ทำกิน  จากครอบครัวหนึ่งเคยปลูกข้าว  10  ไร่  ให้ลดเหลือ 2  ไร่  ชาวบ้านไม่พอกินอยู่แล้ว  ซึ่งหลังจากนั้นได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก ที่ไปนำเสนอทางสื่อว่า หมู่บ้านห้วยปลาหลด ยกพื้นที่ทำกินให้รัฐ  4,000  ไร่  ลดพื้นที่ทำกินครอบครัวละ  2  ไร่ก็อยู่ได้สบาย  ซึ่งความเป็นจริงก็คือ ขณะนี้ชาวบ้านห้วยปลาหลดกำลังระส่ำระสาย" ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด กล่าว


 


นายเกียรติศักดิ์  ม่วงมิตร นักวิชาการอิสระกล่าวว่า  ปัญหานั้นอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ  ที่ไม่เข้าใจโลกทัศน์  วิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่กับป่ามานาน เจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะเร่งทำหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  เพื่อต้องการเอาหน้า คิดอยู่อย่างเดียวว่า  จะเพิ่มพื้นที่ป่าและลดพื้นที่ทำกิน  แล้วพยายามสื่อให้เห็นว่า  ชาวบ้านลดพื้นที่ทำกินแล้วสามารถอยู่อย่างมีความสุข ซึ่งเป็นความมักง่ายและน่าเกลียดอย่างยิ่ง


 


นายไพรัช  บุญน้อม  ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าวว่า  ที่โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่บ้านห้วยปลาหลดมีปัญหานั้น  เนื่องจากเป็นปีแรกที่เริ่มต้น  ต่อไปก็คงจะดีขึ้นและไม่เชื่อว่าจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการข่มขู่  แต่ยอมรับว่าบางพื้นที่อาจจะโชคร้าย  ถ้าไปเจอกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่รู้จริง ซึ่งต้องพยายามหันหน้าเข้าหากัน


 


ด้านนายวิโรจน์  ติปิน  ตัวแทนเครือข่ายทรัพยากรฯ ภาคเหนือ  โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ไม่ได้มีการพูดถึงรัฐธรรม


นูญ ในมาตรา 46 ที่บอกว่า ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรม


ชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน นั่นหมายความว่า  โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  ไม่ได้มองถึงวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิม


 


"นอกจากนั้น  ขณะนี้ชาวบ้านต่างกังวลกันว่า  โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  จะส่งผลกระทบต่อการเข้าไปใช้ทรัพยากร  และไปขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่กำลังเดินหน้ากันอยู่  ที่สำคัญที่สุด  คือ  เรื่องการพิสูจน์สิทธิทำกินของชาวบ้าน  เนื่องจากโครงการดังกล่าว ยังคงใช้ มติครม.30 มิ.ย.2541 ซึ่งได้กำหนดให้กรมป่าไม้  ยึดและผูกขาดพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ล่อแหลมหรือพื้นที่อนุรักษ์ได้ โดยชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด"


 


นอกจากนั้น  ตัวแทนเครือข่ายทรัพยากรฯ ภาคเหนือ  โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่  ยังคงใช้ภาพถ่ายทางอากาศหรือเครื่องมือวิทยาศาสตร์  ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับหลักฐานความจริงในพื้นที่  ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการพิสูจน์สิทธิ์ในหลายพื้นที่ในขณะนี้  ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการของรัฐที่จะเข้าไปเพิกถอนแบบให้ชาวบ้านจำยอมอย่างจำนน


 


ในการประชุมการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ และการจัดการป่าชุมชน ในวันนั้น  เป็นที่สังเกตว่า  ทางด้านตัวแทนของกรมอุทยานแห่งชาติ  ได้พยายามชูนโยบายของโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ในกรอบแนวคิดกว้างๆ  โดยหยิบยกเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  มาพูดย้ำกับผู้เข้าร่วมประชุม  ในขณะที่กลุ่มตัวแทนชาวบ้านกว่า 200  คน  ก็พยายามเสนอประเด็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน  หากโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่เกิดขึ้นในอนาคต  ซึ่งขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงโดยเฉพาะการควบคุมการจำกัดสิทธิ์ในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน  ที่รัฐยังคงยึดหลักการ "เพิ่มพื้นที่ป่า  ลดพื้นที่ทำกิน" 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net