แถลงการณ์กลุ่มอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่อง การออกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

 

สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้ตัดสินใจออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2548 และล่าสุดได้มีมติประกาศให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) เป็นดินแดนสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 นั้น คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความห่วงกังวลพร้อมกับมีความคิดเห็นว่า พระราชกำหนดฉบับนี้มีปัญหาหลายประการทั้งในเชิง กฎหมาย นโยบาย การปฏิบัติ และผลกระทบทางสังคมในระยะยาว ตราบเท่าที่ยังไม่มีการยกเลิก และอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหามากกว่าที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ที่กำลังดำเนินอยู่

 

ประการแรก   พระราชกำหนดฉบับนี้อาจจะเข้าข่ายการล่วงละเมิดหรือขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีบทบัญญัติหลายประการที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ การจับกุม คุมขัง ตรวจค้นเคหสถาน รวมไปถึงการละเมิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน การเดินทาง การแสดงความคิดเห็น การเสนอข่าว ฯลฯ ทั้งหมดนี้ขัดกับหลักการใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตย ที่อำนาจของรัฐจักต้องถูกกำกับควบคุมโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด รัฐควรระมัดระวังว่าในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ รัฐต้องไม่เลื่อนไถลกลายเป็นผู้ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองเสียเอง

 

ประการที่สอง แม้กลุ่มอาจารย์จะตระหนักดีว่าการออกพ.ร.ก.ฉบับนี้มาใช้กฎอัยการศึกที่บังคับใช้อยู่แต่เดิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแง่มุมที่ดีอยู่ในข้อที่ว่าเป็นการโอนย้ายอำนาจจากทหารมาสู่พลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การที่พ.ร.ก. ฉบับนี้ให้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมศูนย์ และขาดการตรวจสอบถ่วงดุลที่รัฐกุมเพียงพอแก่คณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี ก็ยังถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ให้อำนาจที่จะใช้ดุลยพินิจในการกำหนดว่าลักษณะหรือภาวะใดที่จะถือว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน การให้อำนาจในการประกาศสภาวะฉุกเฉินร้ายแรงตามมาตรา 11 โดยเฉพาะใน (6) ที่บัญญัติว่าให้นายกรัฐมนตรีมอำนาจห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้มีการกระทำใดๆ ก็ได้ที่จำเป็นภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ถือว่าเป็นการให้อำนาจอย่างกว้างขวางจนไม่มีขอบเขตแก่นายกรัฐมนตรี ที่สำคัญ ขอบเขตของการบังคับใช้สามารถครอบคลุมทั่วประเทศ และช่วงเวลาของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็สามารถขยายได้ครั้งละ 3 เดือน โดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด  อำนาจที่ไร้ขอบเขตนี้นับเป็นอันตรายทั้งต่อประชาชน และต่อรัฐบาลเองในฐานะผู้แบกรับความรับผิดชอบแต่เพียงลำพัง

 

ประการที่สาม การออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ขัดกับแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และสมานฉันท์ของรัฐบาลเอง โดยจำกัดสิทธิทางการเมืองของประชาชนและสื่อมวลชนที่จะแสดงความคิดเห็นโดยเสรี  และปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงความจริง รัฐหันกลับไปใช้มาตรการทางการทหารและความรุนแรงในการแก้ปัญหา  ทั้งๆ ที่เกือบ 2 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่ามาตรการทางการทหารเพียงลำพัง  ไม่สามารถยุติปัญหาความรุนแรงได้  มีแต่จะนำไปสู่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นไม่รู้จบ

 

ประการที่สี่  พ.ร.ก.ฉบับนี้จะสร้างความหวาดกลัว  ความหวาดระแวงและความรุนแรงในพื้นที่มากยิ่งขึ้น  ที่ผ่านมาหลายฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลเองก็ยอมรับว่า  สาเหตุหนึ่งของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาเกิดจากความไม่เป็นธรรมในพื้นที่  และการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ  เช่น  การจับกุมประชาชนอย่างเหวี่ยงแห  การทรมานผู้ต้องหา  วิสามัญฆาตกรรม  ไปจนถึงการอุ้มฆ่า  ซึ่งสร้างความขุ่นเคืองและไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นในจิตใจของประชาชน  พ.ร.ก.ฉบับนี้มิได้ช่วยแก้ปัญหาการใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรมและฉ้อฉลนี้แต่อย่างใด  กลับยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น  เพราะไปเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ความรุนแรงหรือละเมิดกฎหมายได้  โดยเฉพาะมาตรา 17 ที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.ก.นี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง  อาญา  หรือทางวินัย  และไม่ขึ้นต่ออำนาจของศาลปกครองด้วย (มาตรา 16) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมความพร้อมรับผิด (accountability) ของภาครัฐลงโดยสิ้นเชิง

 

กลุ่มอาจารย์เห็นว่าความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้  ไม่ได้เกิดจากการขาดกฎหมายหรือขาดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  แต่เกิดจากนโยบายที่ผิดพลาด  โครงสร้างการทำงานที่ไม่ชัดเจน  และการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิ ภาพ  ไม่เป็นเอกภาพ  และไม่เป็นธรรมของหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐ

 

ด้วยเหตุนี้คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

 

1. ล่าสุด  แม้รัฐบาลแสดงให้เห็นว่าไม่ผลีผลามในการประกาศหรือออกคำสั่งตาม พ.ร.ก.นี้  แต่เนื่องจาก พ.ร.ก. ฉบับนี้ให้อำนาจรัฐบาลไว้อย่างกว้างขวาง  จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.นี้ไม่ว่าจะเป็นมาตราใดๆ ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง  มิให้ละเมิดหลักนิติธรรมหรือนอกขอบเขตรัฐธรรมนูญ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ไม่ควรออกคำสั่งที่เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน  และควรนำ พ.ร.ก.เข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางรัฐสภาโดยเร็วที่สุด

 

2. รัฐบาลควรปรับนโยบายและวิธีการทำงานให้ชัดเจน  สอดคล้องเป็นเอกภาพโดยยึดแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีอย่างแน่วแน่  และเปิดโอกาสให้แนวทางสมานฉันท์ได้ทำงานต่อไป โดยเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา  พร้อมกับร่วมควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้มากยิ่งขึ้น แทนการผูกขาดรวมศูนย์อำนาจ  ปิดกั้นการมีส่วนร่วมและยึดถือวิถีแห่งความรุนแรงเป็นทางออก

 

3. เมื่อผ่านไป 3 เดือน  รัฐบาลควรทบทวนความจำเป็นและประเมินผลกระทบของการมีอยู่ของพ.ร.ก.ฉบับนี้ว่าสอดคล้องกับสถานการณ์และแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่  โดยเปิดโอกาสให้สาธารณชนมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลและทบทวนพ.ร.ก.ฉบับนี้ด้วย

 

 

รายชื่อกลุ่มอาจารย์คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


  1. เกษียร  เตชะพีระ

  2. ชลิดาภรณ์  ส่งสัมพันธ์

  3. ชัยวัฒน์  สถาอานันท์

  4. เดชา  ตั้งสีฟ้า

  5. ประจักษ์  ก้องกีรติ

  6. ศุภสวัสดิ์  ชัชวาล

  7. จุลชีพ  ชินวรรโณ

  8. ศิริพร  วัชชวัลคุ

  9. สีดา  สอนศรี

  10. สุรชัย  ศิริไกร

  11. จิรวรรณ    เดชานิพนธ์

  12. พัชรี  สิโรรส

  13. พิจิตรา  ศุภสวัสดิ์กุล

  14. ยุวดี  ศรีธรรมรัฐ

  15. สุพิณ  เกชาคุปต์

  16. โสภารัตน์  จารุสมบัติ

  17. อรทัย  ก๊กผล

  18. วิโรจน์  อาลี

  19. ม.ล.พินิตพันธุ์  บริพัตร

  20. ไตรรัตน์  โภคพลากรณ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท